Skip to main content
sharethis

11 พรรคร่วมแสดงจุดยืน-เสนอไอเดียในการจัดการแรงงานข้ามชาติ-ผู้อพยพ เห็นตรงกันควรใช้เลนส์สิทธิมนุษยชน-เศรษฐกิจนำความมั่นคง แต่ไม่มีตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ

7 เม.ย. 66 ที่ The Fort สุขุมวิท 51 วานนี้ (6 เม.ย.) ตัวแทนจาก 11 พรรคการเมืองร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์พรรคการเมืองไทยในประชาคมระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงและการจัดการแรงงาน เห็นตรงกันต้องใช้เลนส์สิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจนำความมั่นคง แต่ไม่มีตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ

โดยตัวแทนจาก 11 พรรคการเมือง ดังนี้

  • ปณิธ ปวรางกูร กรรมการบริหารพรรคสามัญชน
  • จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย
  • กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม
  • นาดา ไชยจิตต์ พรรคเสมอภาค
  • น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย
  • เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
  • ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดปทุมธานี เขต 3 พรรคก้าวไกล
  • ปรเมศวร์ กุมารบุญ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา
  • ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ
  • วรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
  • คริส โปตระนันท์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย

สรุปจุดยืนและข้อเสนอแต่ละพรรค

พรรคสามัญชน

ปณิธ กรรมการบริหารพรรคสามัญชน กล่าวว่า พรรคเน้น 3 หลักการหลักคือ ต้องเป็นธรรม เน้นประชาธิปไตยฐานรากเน้นการเติบโตทางการเมืองของประชาชน และยึดหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต แรงงาน 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาไทยตั้งนานแล้ว แต่รัฐไทยไม่เคยดูแลอย่างจริงจังทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสนอให้รัฐทำให้กระบวนการรับแรงงานเข้ามานั้นโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานเชิงรุกมีส่วนร่วมกับประเทศต้นทางด้วย

“จะไม่ใช้คำว่านำเข้าแรงงาน แต่จะใช้คำว่านโยบายการรับแรงงานแทน เพราะว่าพวกเขาเป็นคนไม่ใช่สินค้า”

ปณิธ เล่าเพิ่มเติมอีกว่าจากประสบการณ์ที่อาศัยใน จ.เชียงใหม่ และได้ลงพื้นที่พูดคุยกับแรงงาน ปัญหาที่พบคือการเข้าถึงเอกสาร กำแพงภาษา การข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ 

“ยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติไม่ได้แย่งงานคนในประเทศ เพราะกฎหมายบางอย่างให้สิทธิแค่คนไทยเท่านั้น ซึ่งการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ควรจำกัดแค่คนไทย”

  • ปณิธ เสนอแก้พระราชกำหนดการทำงานแรงงานต่างด้าว จากที่ตนเข้าไปดูรายชื่อคณะกรรมการทำให้เห็นว่าเป็นหน่วยงานส่วนความมั่นคงเสียส่วนมาก ในเรื่องท่าทีของไทยควรเน้นกระบวนการทางการทูตมากกว่าความมั่นคง หารือกับประเด็นต้นทาง และควรต้องรับผู้ลี้ภัย
  • ส่วนประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย ปณิธบอกว่าต้นเหตุของผู้ลี้ภัยเกิดจากสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบ ฉะนั้นกระบวนการกดดันทางการเมืองควรเข้าไปมีบทบาทด้วย ไทยเน้นตั้งรับอย่างเดียวอย่างที่ทำอยู่นั้นไม่เพียงพอ

พรรคเพื่อไทย

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าใน 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 57 บทบาทของไทยในเวทีโลกตกต่ำมาก ทำให้ไทยไม่สามารถคบค้ากับประชาธิปไตย จึงจำต้องเบนเข็มไปอิงแอบกับประเทศที่เป็นมหามิตรนั่นก็คือเมียนมา

  • สำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทยจะต้องเปลี่ยนบทบาทของไทย คือทำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
  • สำหรับกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน ที่ไทยมีท่าทีไม่ชัดเจนว่าเลือกข้างไหน ตนมองว่าควรต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าไม่เห็นด้วยต่อการรุกราน เคารพบูรณภาพเหนือดินแดน 
  • กรณีพม่าไทยควรใช้เวทีระหว่างประเทศกดดันรัฐบาลพม่าให้ลดความรุนแรง รวมทั้งอำนวยความสะดวกในองค์กรต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในไทยและเมียนมา
  • กรณีผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาที่เข้ามา ไทยต้องไม่ผลักดันกลับ แต่ควรต้องทำให้เขาอยู่ได้อย่างถูกกฎหมาย ส่งเสริมให้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยโดยเคารพคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เพราะไทยก็ต้องการแรงงาน
  • จาตุรนต์กล่าวว่า การทำให้แรงงานข้ามชาติถูกต้องตามกฎหมายถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจ และจะส่งผลต่อรายได้ ‘ค่าหัว’ ที่ขูดรีดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการ
  • เสนอปฏิรูประบบ ‘ค่าหัว’ เพราะค่าหัวที่สูงเกินจริงเป็นภาระกับแรงงานและผู้ประกอบการ บีบให้แรงงานข้ามชาติหลายแสนคนเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย เพราะเข้ามาได้ง่าย นายจ้างก็จ่ายถูก ทำให้แรงงานหลายแสนคนในไทยถูกปฏิบัติต่ำกว่าพลเมืองชั้นสอง เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ
  • สำหรับปัญหาคนเข้าเมือง เสนอแก้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อผ่อนปรนการบังคับใช้ เพราะถ้าหากแก้ด้วยการปิดพรมแดนอาจให้โทษมากกว่า ยิ่งให้อำนาจทหารยิ่งเลยเถิด เพราะทหาร ตำรวจ ตม. คือต้นเหตุของการทำนาบนหลังคน

พรรคประชาธิปัตย์

เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “การต่างประเทศแบบตั้งรับ ไม่เวิร์ค ต้องเป็นเชิงรุก” เพื่อให้ไทยอยู่ในประชาคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี เรื่องผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศมีหลัก Non-refoulement คือไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับ

  • ผู้อพยพเข้ามาที่ไทยมีหลายประเภท ชายแดนยาวหลายพันกิโลเมตรไม่มีทางเลี่ยงที่จะมีคนลี้ภัยเข้ามา ได้แก่ กลุ่มแรกเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง กลุ่มนี้จะต้องจ่ายแพง ไม่สะดวก เงื่อนไขเยอะ ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นคนที่อพยพเข้ามาชั่วคราว จากเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเขา เช่น มีระเบิด มียิงกัน แต่ภายหลังเหตุการณ์สงบก็กลับบ้าน ส่วนอีกกลุ่มคืออพยพมาแล้วไม่อยากกลับ อยากไปประเทศที่ 3 
  • กลุ่มหลังสุด อย่างเช่นโรฮิงญาที่เป็นมรดกจากอาณานิคมอังกฤษทิ้งไว้ ก็คือปัญหาร่วมกันของนานาชาติ ไม่ใช่ปัญหาของไทยเท่านั้น ต้องร่วมกันแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของไทยและชี้นิ้วสั่ง นี่จึงเป็นเหตุผลให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องเก่ง ทำงานเชิงรุกและแม่นยำ ส่วนการสังหารผู้เห็นต่างของกองทัพพม่า มองว่าท่าทีของไทยและอาเซียนอ่อนเกินไป

เกียรติ ในฐานะตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามกรณีป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาครที่มีข้อความว่า ‘หยุดต่างชาติ แย่งอาชีพคนไทย’ ยืนยันว่ามีกรณีแบบนั้นเกิดขึ้นจริง “แต่การใช้คำแบบนั้นก็ไม่ค่อยน่ารัก”

พรรคชาติพัฒนากล้า

วรนัย วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่าตนมองเป็น 2 ประเด็น คือสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการที่ไทยไม่ยึดถือทั้งคู่  ที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์คือนายทุนที่ได้แรงงานราคาถูก และเจ้าหน้าที่รัฐได้เงินจากระบบที่ไม่โปร่งใส

“คนไทยเองยังถูกลิดรอนทางกฎหมาย คนต่างชาติ คนลี้ภัย จะไปเหลืออะไร”

วรนัยยังสะท้อนว่าถ้าไปดูในข้อกฎหมาย คำที่เจอบ่อยๆ คือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทย ความสงบสุขเรียบร้อย และความมั่นคงของรัฐ ทำให้เห็นว่าทัศนคติของภาครัฐต่อเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมิตรต่อการแก้ปัญหา

  • สำหรับข้อเสนอการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอให้มีพาสปอร์ตอาเซียน ยึดหลักสิทธิมนุษยชน “right to live and freedom to move” เพราะมองว่าพวกเขามีสิทธิที่ข้ามแดนมาแล้วมีชีวิตต่อ ช่วยคนที่อพยพลี้ภัย ไทยเองก็จะได้รับแรงงานเพิ่มอย่างถูกกฎหมาย เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาค

พรรคชาติไทยพัฒนา

“สิ่งที่ได้จากวันนี้ ในทุกโผจะมีพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นรัฐบาล และพร้อมนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมทันที”

ปรเมศวร์ กุมารบุญ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา ยอมรับว่าไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้แต่ตั้งใจมารับฟังปัญหา พร้อมเล่าว่าตนเติบโตที่อุบลราชธานีใกล้ชิดกับพี่น้องชาวลาว ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีสายสัมพันธ์เสมือนญาติ ควรต้องดูแลกันหากเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น

“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม พรรคเรามีวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดตั้งแต่มีมา เราสนใจปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง และพร้อมแก้ปัญหา”

พรรคเป็นธรรม

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรมกล่าวว่า เสียงของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองไม่เคยได้ยิน เพราะมันถูกมองว่าไม่มีผลต่อคะแนนโหวต

  • เขามองว่า โครงสร้างที่ทำให้มีปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยคือจุดยืนทางการทูตที่ยังย่ำอยู่กับที่ มองผู้อพยพที่เข้ามาในไทยและไม่มีสัญชาติไทยเป็นภัยความมั่นคงจึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาแบบยั่งยืนได้ พรรคเป็นธรรมมองว่าต้องเข้าไปเปลี่ยนกรอบความคิด
  • “การปิดประเทศเพื่อจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติอาจยังไม่ถึงเวลา ต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว ควบคุมจัดการดูแลให้ได้ ไม่เอาความมั่นคงเป็นเรื่องหลัก พรรคใดเข้าไปต้องเปลี่ยนจุดยืนให้ได้ เข้าสู่พหุภาคี และใช้หลักสิทธิมนุษยชนนำในการแก้ปัญหา”
  • กัณวีร์อธิบายว่าตามตัวบทกฏหมายของไทยยังไม่มีผู้ลี้ภัย ไทยยังไม่ลงนามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 แต่ไทยมีผู้หนีภัยการสู้รบ กว่า 9.1 หมื่นคน อยู่ในค่ายอพยพชายแดนไทยมากว่า 43 ปี อยู่มาหลายรุ่นแล้ว ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิต มีการศึกษาเพิ่มเติม
  • ฉะนั้นการแก้ไขปัญหามนุษยธรรมจึงไม่ใช่แค่เอาของไปบริจาค หรือทำให้เขากินอิ่ม แต่จำเป็นต้องมีสะพานเชื่อม เน้นโยงการแก้ไขปัญหามนุษยธรรมกับการพัฒนา 
  • "ชาวพม่าอยู่ในค่ายอพยพมากกว่า 43 ปี จำนวนเกือบ 1 แสนคน มีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้กลับพม่าในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน ถ้าเราบอกว่าอยากปิดค่าย ง่ายนิดเดียวครับ เราก็เปิดค่ายสิครับ ถ้าเปิดให้เขากลับไม่ได้ ก็เปิดให้เขาได้ทำงานได้เป็นแรงงานที่ถูกกฏหมาย ก็จะทำให้ 4.5 หมื่นคนได้ออกมาทำงาน อีก 1 หมื่นคนได้เรียนหนังสือ รัฐไทยก็ได้เงินภาษีมาพัฒนาประเทศด้วย"

พรรคเสมอภาค

นาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนพรรคเสมอภาคชี้ความจริงใจของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ ชี้ไม่ควรแบ่งแยกแรงงาน ที่กำลังเป็นอยู่คือแรงงานฝีมือรัฐทรีตเขาเป็น Expat แต่แรงงานแรกรับตามแนวตะเข็บชายแดน เรากลับใช้กฎหมายอีกอันหนึ่ง มีไอเดียเสนอ 3 จิ๊กซอว์ ได้แก่

  • พันธะกรณีระหว่างประเทศต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด “แต่เรามีความกล้าหาญพอหรือเปล่า สถานการณ์ค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติเริ่มดีขึ้นตอนโดนเทียร์ 3 นายทุนต้องโดนลงดาบก่อนจึงจะแก้ไข” 
  • แก้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แนะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการเพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่จากประสบการณ์การทำงานมา 15 ปี ทำให้เห็นว่า “มักแพ้เสียงนายทุน”
  • เสนอยกระดับแผนสิทธิมนุษยชนเป็นแผนเกรด A เพราะที่ผ่านมาแผนปฏิบัติการของไทยเรื่องแรงงานเป็นแผนเกรด C ใช้แค่ตอนไปรายงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น พรรคเสมอภาคจะเสนอให้เป็นแผนเกรด A ผลักดันให้ออกกฎหมายให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง หมดเวลาเอื้อนายทุน ทำกฎหมาย-นโยบายให้สอดคล้องกับประชาชน

พรรคไทยสร้างไทย

น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ชี้ประชาคมโลกมีหน้าที่ต้องดูแลผู้อพยพ ราว 1% ของโลก ประเทศต้นทาง ประเทศที่ 2 และ 3 ต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณและที่อยู่อาศัย ติง ผู้นำไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจะต้องตอบสนองใน 2 เรื่องคือการซ้อมทรมานและพ.ร.บ.อุ้มหาย แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับยังไม่ผ่านสภา โดยอ้างเรื่องความไม่พร้อมของกล้อง CCTV 

กรณีที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจส่ง ผู้อพยพอุยกูร์กลับประเทศซึ่งสร้างความไม่พอใจจนนำมาสู่ เหตุระเบิดกลางใจเมืองกรุงเทพมหานครซึ่งสร้างความเคียดแค้นให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเลย

พรรคเส้นด้าย

คริส โปตระนันท์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย กล่าวว่า พรรคยึดหลัก 3 อย่าง คือ กำจัดงบเส้นสายในประเทศไทย เอาผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง และยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย

เสนอ 2 ข้อ นำเงินเข้าระบบ - เลิกจ่ายให้คนมีเส้น

  • ให้แรงงานข้ามชาติเสียภาษี 10-15 ปีเข้ารัฐบาล แทนที่การจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีการสอบวัดความรู้ภาษาไทยและความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย จากนั้นให้สิทธิในการพักพิงถาวรในไทย
  • ปิดชายแดนก่อน หากจัดการแรงงานในประเทศให้ถูกกฎหมายยังไม่ได้ก็ไม่ควรเปิดให้เข้ามาเรื่อย ๆ เพราะจะส่งผลต่อค่าแรงคนไทยเพิ่มขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้ตนไม่ได้ต่อต้านการรับแรงงาน เพียงแต่มองตามหลักเศรษฐศาสตร์หลักอุปสงค์อุปทาน ไม่มีประเทศไหนที่ปล่อยให้แรงงานเข้าประเทศแบบเสรี

พรรคก้าวไกล 

ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ปทุมธานี เขต 3 มองว่าไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

จากการลงพื้นที่ในปทุมธานีพบว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติมีอาชีพหลักที่ทำคือ อาชีพแบกหาม อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสกปรก และงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เธอยืนยันแรงงานข้ามชาติไม่แย่งงานคนในประเทศไทยอย่างแน่นอน

“พี่น้องในท่าโขลง ช่วงวันตรุษจีนมีเจ้าหน้าที่รัฐไทยขับรถเข้าไปตามบริษัท รับถุงแดง ค่าปิดปาก จ่ายเงินนะ แล้วฉันจะไม่ไปยุ่งกับแรงงานข้ามชาติที่เธอจ้างมาผิดกฎหมาย”

ชลธิชา บอกว่าจุดยืนของก้าวไกลคือทุนและแรงงานเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

  • เสนอใช้เลนส์สิทธิมนุษยชนแก้ปัญหา รัฐต้องสนับสนุนลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ทำให้อยู่ในระบบและแก้ปัญหาคอรัปชั่น ร่วมผลักดันการลงนามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสิทธิของแรงงานทั้งผอง 
  • เสนอทบทวนหลักการไม่แทรกแซงในอาเซียน เพราะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ดำเนินนโยบายความร่วมมือปกปิดความลับ หลังรัฐประหารมีนักกิจกรรมจากประเทศเพื่อนบ้านถูกอุ้มหายในไทย ส่วนนักกิจกรรมไทย 7 คนก็ถูกอุ้มหาย บางส่วนพบศพในแม่น้ำโขง “รัฐบาลประเทศอาเซียนต่างหลับตาให้กันและกัน คุกคามเสรีภาพนักกิจกรรมทางการเมือง”

พรรคเพื่อชาติ

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ระบุว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มีมาแต่เกิดไม่ควรมีใครมาพรากไปได้ รัฐต้องแสดงความจริงในการลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

  • เสนอแก้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตั้ง one-stop service ด้านแรงงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้รวดเร็ว จบในที่เดียว  
  • หนุนการกระจายอำนาจในแต่ละพื้นที่ให้จัดการตนเอง เน้นทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย รัฐ-เอกชน-เอ็นจีโอในแม่สอด เชียงราย เชียงใหม่ เพราะผู้ประกอบการเอกชนจะรู้ว่าต้องการแรงงานเท่าไหร่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net