พิธีกร 'วอยซ์ทีวี' เสริม 'ปิยบุตร' กลไกป้องกัน รปห.ไม่ได้จบแค่กฎหมาย แต่ต้องปลูกฝังวัฒนธรรม ปชต.

ลักขณา และวิโรจน์ สองพิธีกรวอยซ์ทีวี เสริมความเห็น 'ปิยบุตร' มองกลไกป้องกันการรัฐประหารไม่ได้จบแค่แก้กฎหมาย แต่ต้องปลูกฝังวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยคู่ขนานกัน ให้เป็นปราการป้องกันการทำรัฐประหาร

 

8 เม.ย. 2566 ลักขณา ปันวิชัย และวิโรจน์ อาลี สองพิธีกรรายการ "Talking Thailand" ประจำวันที่ 6 เม.ย. 2566 ออกอากาศผ่านช่องยูทูบ "Voice TV" แสดงความเห็นเสริมข้อเสนอจากที่ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์วิจารณ์ไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย ตั้งใจลบล้างผลพวงการทำรัฐประหารจริง

สำหรับรายการ Talking Thailand ดังกล่าวออกอากาศหลังจากเมื่อ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 คือ ชัยเกษม นิติสิริ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ คือ แก้กฎหมายเพื่อล้มล้างผลพวงการทำรัฐประหาร

ชัยเกษม ระบุว่า เขาเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต้องมีมาตรการสำหรับการป้องกันรัฐประหารให้เป็นความผิดฐานกบฏไม่มีกำหนดอายุความ ตามที่พรรคเพื่อไทย เคยเสนอ เพื่อให้รัฐธรรมนูญของไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังเฟซบุ๊ก จำนวน 2 โพสต์โดยใจความสำคัญคือ ปิยบุตร ระบุว่าเขาดีใจที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายล้มล้างผลพวงการทำรัฐประหาร แต่เขาไม่เชื่อนักว่าทำจริง เนื่องจากตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีโอกาสแก้กฎหมายหลายครั้งในสมัยที่เป็นรัฐบาล แต่ไม่ทำ โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จากเพื่อไทย แต่สุดท้าย กลับเสนอการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และสุดท้ายถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อีกประเด็นคือ ปิยบุตร เสนอว่าการแก้กฎหมายไม่กำหนดอายุคดีความในความผิดฐานการทำรัฐประหารยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ และดำเนินคดีคณะรัฐประหารในฐานกบฏ

ทั้งนี้ ปิยบุตร ระบุด้วยว่า เขาเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่ ต่อมากลายเป็นพรรคก้าวไกล หลังอนาคตใหม่ถูกยุบ จะเป็นพรรคที่เอาจริงเรื่องการลบล้างผลพวงการทำรัฐประหาร

ปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยในสังคม เกราะป้องกัน รปห.ที่ยั่งยืน

พิธีกรจากวอยซ์ทีวี มองข้อเสนอของปิยบุตรว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สามารถเป็นลายลักษณ์อักษร และการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม 

ลักขณา และวิโรจน์ เห็นตรงกันว่า ข้อเสนอของปิยบุตรไม่ผิดที่เน้นการแก้กฎหมายป้องกันการทำรัฐประหาร แต่การสร้างกลไกการป้องกันการทำรัฐประหารไม่ได้จบแค่การแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่มีเรื่องการปลูกฝังแนวคิดเชิงวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะถ้าวัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่แข็งแกร่ง ระบบกลไกที่เอื้อต่อการทำรัฐประหารจะสามารถกลับมาอีกเมื่อไรก็ได้

"ถ้าคุณเปลี่ยนเฉพาะกฎหมาย จิตสำนึกไม่เปลี่ยน กฎหมายที่คุณแก้ มันถูกฉีกทิ้งได้ทุกครั้งที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมาเรืองอำนาจ

"สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง แล้วอยากจะมาลบ (กฎหมาย) แต่ประชาชนไม่อนุญาตให้ลบ ประชาชนไม่อนุญาตให้ลบ อันนี้นี่คือสิ่งที่เรียกว่า จิตสำนึกหรือวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย มันต้องแข็งแกร่งในสังคม มันถึงจะไปปกป้องการเปลี่ยนแปลงเชิงลายลักษณ์อักษรที่คุณโฟกัส" ลักขณา กล่าว

พิธีกรวอยซ์ฯ คนเดิม ระบุต่อว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำไม่ว่าจะเรื่องสังคม หรือเศรษฐกิจ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม สุดท้ายจะมาเป็นรูปร่างหรือจิตสำนึก หรือสังคมประชาธิปไตยที่ติดตัวอยู่กับประชาชน และลักขณา เชื่อว่านี่จะเป็นเกราะป้องกันประชาธิปไตย เปรียบเสมือนด่านปราการที่ใครก็ฉีกทิ้งลงไปไม่ได้ เพราะมันอยู่ในตัวของประชาชน 

โทษ พท.ไม่หนุน รธน.ล้มล้างผลพวง รปห. อาจไม่แฟร์เท่าไร

ลักขณา และวิโรจน์ ตั้งคำถามอ้างอิงทวีตข้อความของปิยบุตร บนแพลตฟอร์ม 'ทวิตเตอร์' ที่ระบุข้อความว่า

"อันนี้ต้องขอเคลม ที่แต่ละพรรคพูดๆกัน ผมยกร่างอยู่ใน รธน หมดแล้ว แต่ อนค เสียงไม่พอ แล้วตอนนั้น ไม่มีใครหนุน สิ่งที่ อนค เสนอเลย ผมมาทำร่าง รธน กับ Resolution รื้อระบอบประยุทธ์ มีเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ไม่ผ่าน (3/4)"

 

 

ลักขณา มองเห็นว่า กลุ่มนิติราษฎร์ และปิยบุตร เป็นคนที่มีคุณูปการกับวงการการเมืองและสังคมไทย ในด้านการปฏิรูปทางการเมือง และเสนอกฎหมายล้มล้างผลพวงการทำรัฐประหารเป็นครั้งแรก ตลอดจนทำให้สังคมตระหนักและสามารถจินตนาการถึงสังคมประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกทางการเมืองใหม่

(ซ้าย) วิโรจน์ อาลี และ (ขวา) ลักขณา ปันวิชัย

แต่ในประเด็นที่เลขาฯ คณะก้าวหน้า ระบุว่าไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญของปิยบุตรนั้น พิธีกรวอยซ์ฯ ระบุว่า ปิยบุตรอาจต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยหรือไม่ และต่อให้ทุกพรรครวมตัวกันและได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากเพียงพอ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ คือไม่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เกิน 1 ใน 3 เสียง ดังนั้น การโยนเสมือนว่าเป็นความผิดของพรรคเพื่อไทย ไม่ทำอะไร อาจจะไม่แฟร์เท่าไร  

สำหรับคณะนิติราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อราวปี 2549 มีสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, สาวิตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล และปูนเทพ ศิรินุพงศ์ โดยนอกจากเสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมายล้มล้างผลพวงรัฐประหารแล้ว พวกเขายังเคยเสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท