Skip to main content
sharethis

ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวจากสื่อออนไลน์ 'Space Bar' ผู้เกาะติดการชุมนุมร้องเรียนสมาคมนักข่าวฯ ถูกตำรวจคุกคามถึงคอนโด เผย จนท.ถึงกับมีหนังสือไปที่นิติบุคคลของคอนโด ระบุว่าตนเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ” 

 

19 เม.ย.2566 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานว่า วานนี้ (18 เม.ย.) ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการคุกคามสื่อจาก ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวจากสื่อออนไลน์ 'Space Bar' โดยระบุว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งนำกำลังมาเฝ้าสังเกตการณ์ถึงที่คอนโด และแสดงพฤติกรรมคุกคาม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว (รายละเอียด: ช่างภาพข่าวถูก ตร.สส.บก.น.5 คุกคามหนัก เฝ้าคอนโดที่พักเกือบ 2 สัปดาห์ กดดันนิติเอาข้อมูลของสื่อ)  

อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ จึงได้เชิญณัฐพลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ณ ที่ทำการชั่วคราวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนของสมาคมจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการพูดคุยและหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในกรณีดังกล่าว

ณัฐพลได้ให้ข้อมูลแก่อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ว่า ตนเป็นช่างภาพที่ทำข่าวเกาะติดการชุมนุมและเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ตำรวจจับตาตน ถึงกับมีหนังสือไปที่นิติบุคคลของคอนโด ระบุว่าตนเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ” และส่งกำลังมาเฝ้าถึงที่พัก ซึ่งตนมองว่าเป็นการคุกคามคนทำงานสื่อ เพราะที่ผ่านมาตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ 

ณัฐพลกล่าวด้วยว่าพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตนรู้สึกกังวลต่อความปลอดภัย และได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ณ สถานีตำรวจในพื้นที่ แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ จึงได้ติดต่อร้องเรียนมายังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผ่านทางช่องทางร้องเรียนคุกคามสื่อของสมาคม เพื่อขอให้สมาคมช่วยตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น

หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นลง ธีรนัยกล่าวสรุปว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการคุกคามต่อคนทำงานสื่อ เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนายณัฐพลโดยตรง และอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในวงการสื่อมวลชนว่า จะมีคนทำงานสื่อคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตาอย่างใกล้ชิดในลักษณะเดียวกัน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานสื่อมวลชนด้วยหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังปรากฎคลิปวิดีโอบุคคลที่อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ แสดงกิริยาไม่เหมาะสมในเชิงคุกคามต่อณัฐพล ซึ่งถ้าหากบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ก็ต้องนับว่าเป็นพฤติกรรมที่เจ้าหน้าที่ไม่ควรกระทำต่อใครทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นประชาชนหรือสื่อมวลชนก็ตาม 

ธีรนัยกล่าวว่า ในขั้นตอนถัดไป ทางสมาคมจะทำหนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในข่าว เช่น กองกำกับการตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาล 5, กองบังคับการตำรวจนครบาล 5, และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่พบเจอพฤติกรรมการคุกคามสื่อ ไม่ว่าจากฝ่ายใดหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม สามารถส่งเรื่องมาให้อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ทางช่องทางแบบฟอร์มออนไลน์ของสมาคมได้ โดยข้อมูลต่างๆ จะเก็บเป็นความลับอย่างเคร่งครัด 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net