แอปพลิเคชันหาคู่เลสเบียน HER ประกาศตัวยืนหยัดเคียงข้างทรานส์เลสเบียน ต่อต้านกลุ่มเหยียดคนข้ามเพศ

ควันหลงจากสัปดาห์แห่งการตระหนักรู้ตัวตนของหญิงรักหญิง ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เราได้เห็นความกล้าหาญของแอปพลิเคชันหาคู่เลสเบียน HER ที่กล้าชนกับกลุ่มเหยียดคนข้ามเพศอย่าง TERFs และประกาศปกป้องว่าสตรีข้ามเพศที่รักหญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของเลสเบียนด้วย แม้ว่าจะมีกระแสโต้ตอบอยู่บ้างแต่ซีอีโอของแอปฯ ก็ยังย้ำจุดยืนตัวเอง เราจึงชวนมาดูประวัติศาสตร์เบื้องลึกของความขัดแย้งนี้ที่สาวย้อนไปได้ถึง (การแตกแถว) ของ "สตรีนิยม" ยุคก่อนหน้า

ในวันแห่งการตระหนักรู้ตัวตนของหญิงรักหญิง หรือ Lesbian Visibility Day แอปพลิเคชันหาคู่สำหรับหญิงรักหญิงอย่าง HER ก็ได้ทำในสิ่งที่น้อยครั้งจะได้เห็นจากกลุ่มเลสเบียน นั่นคือการแถลงจุดยืนสนับสนุนผู้หญิงข้ามเพศที่รักผู้หญิงหรือ 'ทรานส์เลสเบียน' อย่างเปิดเผยและยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก รวมถึงแสดงจุดยืนต่อต้านกลุ่มเหยียดคนข้ามเพศอย่างชัดเจน ไม่มีการกระมิดกระเมี้ยน

"วันแห่งการตระหนักรู้ตัวตนของหญิงรักหญิงตรงกับวันที่ 26 เม.ย. ในปีนี้ พวกเราขอช่วงชิงเอาคำว่า 'เลสเบียน' คืนมาจากกลุ่มพวก TERFs และพวกใจแคบหัวรั้นที่พยายามจะฉกฉวยเอาคำๆ นี้ไปอ้างใช้เติมเชื้อไฟให้เกิดความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ" HER ประกาศในย่อหน้าแรกของคำแถลง

กลุ่ม TERFs ที่พูดถึงในที่นี้ หมายถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า trans-exclusionary radical “feminists,” (มีการใส่อัญประกาศคำว่า "feminists" ในต้นฉบับ) หรือพวกที่อ้างใช้แนวคิด "สตรีนิยม" มาใช้เหยียดหรือกีดกันคนข้ามเพศ ซึ่งคำแถลงของ HER ระบุว่าเป็นการอ้างใช้สตรีนิยมแบบบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนมาตีกรอบว่าเลสเบียนควรจะเป็นหรือไม่ควรจะเป็นแบบใด พวก TERFs มักจะชอบยืนยันว่ามีแต่คนที่มีเพศกำเนิดหญิงเท่านั้นถึงจะเป็นเลสเบียนได้

นี่ไม่ใช่เพียงแค่ about me หรือหน้า "เกี่ยวกับ" ของตัวแอปฯ เท่านั้น แต่เป็นคำแถลงอย่างจริงจังเนื่องในโอกาสวันแห่งการตระหนักรู้ตัวตนของหญิงรักหญิงโดยเฉพาะ เนื่องจากในหน้า about me ของแอปฯ HER เองซึ่งระบุไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์นั้น ก็ประกาศตัวชัดเจนอยู่แล้วว่าพวกเขา "ให้การต้อนรับผู้คนทุกคนที่มีอัตลักษณ์ เลสเบียน, ไบ, เควียร์, นอนไบนารี, คนข้ามเพศ และผู้แสดงออกทางเพศสภาพไม่ตรงตามขนบสังคม" ซึ่งมันจะกลายเป็นแค่คำโฆษณาเลื่อนลอย ถ้าหากว่าไม่มีปฏิบัติการที่จะขจัดความเกลียดกลัวต่อกลุ่มคนที่พวกเขาอ้างว่าให้การคุ้มครองอย่างจริงจัง

ในช่วงที่ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้แอปพลิเคชั่น HER ผู้เขียนก็มีโอกาสพบเจอกับคนมีแนวคิดแบบ TERFs ปรากฏตัวให้เห็นบ้างเป็นบางครั้ง และในส่วนที่เป็นพื้นที่ชุมชนของกลุ่ม Trans women หรือ ผู้หญิงข้ามเพศ ก็มี เสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างก่อนหน้านี้ว่า ทำไมถึงยังปล่อยให้มีคนที่แสดงออกแบบเหยียดและกีดกันคนข้ามเพศให้ยังคงเผยแพร่ถ้อยคำในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในแอปฯ นี้ได้

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เคยมีทีมงานของ HER ตอบกลับว่าพวกเขามีคนข้ามเพศเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครคนดูแลเนื้อหา (moderator) และทีมงานในส่วนอื่นๆ ตั้งแต่ผู้จัดการชุมชนไปจนถึงซีอีโอของ HER ก็เป็น "พันธมิตรที่ไว้ใจได้" กับคนข้ามเพศ ถ้ามีการพบเห็นเนื้อหาในเชิงเหยียดหรือกีดกันคนข้ามเพศก็สามารถรายงานผู้ดูแลเนื้อหาได้ หรือถ้าพวกเขาพบเห็นอะไรทำนองนี้ก็จะรายงานเรื่องนี้ต่อทีมงานทันที ซึ่งเคยมีการตอบข้อกังวลของผู้ใช้งานในเรื่องนี้ย้อนไปตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา*

คำแถลงของ HER ระบุว่ากลุ่มเหยียดคนข้ามเพศพวกนี้ไม่เพียงแค่ "เป็นตัวตลกที่น่าเศร้าและเต็มไปด้วยความเกลียดชังที่พ่นข้อมูลผิดๆ จำนวนมาก" เท่านั้น แต่ยังเป็น "ภัยต่อชุมชน LGBTQIA+" อย่างจริงจัง

โรบิน เอ็กซ์ตัน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแอปฯ HER ระบุว่า "การต่อสู้ปลดแอกของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีการเล็งเห็นว่าการโจมตีสมาชิกคนใดก็ตามหรือกลุ่มใดก็ตามในชุมชนของพวกเรา ก็จะนับเป็นการโจมตีต่อพวกเราทั้งหมด มันเป็นเรื่องของการยกระดับให้คนมีปากเสียงมากขึ้นและทำให้คนรับรู้มากขึ้นถึงเรื่องราวของผู้คนที่อัตลักษณ์ชายขอบแบบทับซ้อนกัน (เช่นความเป็นคนข้ามเพศ ทับซ้อนกับความเป็นหญิงรักหญิง-ผู้เขียน) โดยอาศัยความรักละการยอมรับเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อน"
 

คำว่า "เลสเบียน" ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ผ่านความเจ็บปวดและนับรวมคนข้ามเพศ

คำแถลงของ HER ระบุว่า คำว่า "เลสเบียน" นั้นมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ก่อนหน้านี้ในช่วงยุคต้นคริสตศตวรรษที่ 20 มันเคยเป็นคำด่าในเชิงตีตราสร้างความเจ็บปวดและทำให้ความรักระหว่างหญิงรักหญิงเสมือนเป็นโรคอย่างหนึ่ง แต่ทว่าขบวนการปลดแอก LGBTQIA+ ก็เริ่มจะมีพลังขับเคลื่อนมากขึ้นในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 ทำให้มีการ ทวงคำนี้กลับคืนมาเป็นของฝ่าย LGBTQIA+ เอง แบบที่เรียกว่ากระบวนการ "reclaim" ทำให้คำว่าเลสเบียนจากที่เคยเป็นคำด่ากลายเป็นคำที่มีความหมายเสริมพลังให้กับผู้มีอัตลักษณ์หญิงรักหญิงแทน

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคำว่า "เลสเบียน" ก็ถูกรับมาใช้โดยทั้งผู้หญิงชาวเควียร์ รวมถึงหญิงข้ามเพศและนอนไบนารีด้วย ในฐานะสิ่งที่แสดงถึงเพศวิถี (ที่หมายถึง "เรารักใคร" หรือ "เราดึงดูดทางเพศต่อเพศใด" คนละอย่างกับเพศสภาพที่หมายถึง "เราเป็นใคร" หรือ "เรามีสำนึกทางเพศเป็นเพศอะไร") ของพวกเขา

แต่ก็มีคำถามว่า ทั้งๆ ที่คำๆ นี้ถูกปลดแอกจากขบวนการต่อสู้จนมีความหมายเป็นบวกและนับรวมคนข้ามเพศกับนอนไบนารีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ทำไมมันถึงมีคนเอามาอ้างใช้เหยียดหรือกีดกันผู้หญิงข้ามเพศได้ ในเรื่องนี้ เอ็กซ์ตัน บอกว่ามันเป็นเพราะความใจแคบหัวรั้นของพวกเกลียดกลัวคนข้ามเพศที่จะเอาหัวข้ออะไรก็ได้มาอ้างใช้เพื่อที่จะให้ความชอบธรรมในความเกลียดชังของตัวเอง

ขณะเดียวความบิดเบี้ยวของขบวนการ (หรืออาจจะควรต้องเรียกว่าการแตกขบวน?) สตรีนิยมในบางยุคสมัยและในบางพื้นที่ อย่างเช่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ ก็ได้สร้างลัทธิ TERFs ขึ้นมาโดยมีรากฐานส่วนหนึ่งจากนักสตรีนิยมหญิงรักหญิงแบบถอนรากถอนโคน ที่เรียกตัวเองว่า "ขบวนการวิพากษ์เพศสภาพ" (Gender Critical) ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับขบวนการของผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย ในทางตรงกันข้าม เอ็กซ์ตันมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกตื่นตระหนกทางศีลธรรม ที่หลอนไปเองว่าพวกเขากำลัง "ปกป้องผู้หญิงและเด็ก" จากคนข้ามเพศที่พวกเขามองว่าน่ากลัว

ซึ่งน่าสนใจว่า เอ็กซ์ตัน ใช้คำว่า "clutching their shared string of pearls" ในการอธิบายความตื่นตระหนกทางศีลธรรมซึ่งเป็นกิริยาแบบพวก "ผู้หญิงผู้ดี" หรือชนชั้นสูงทั้งหลายที่มักจะทำท่าตื่นตระหนกเวลาเห็นอะไรที่พวกนางมองว่าผิดศีลธรรมด้วยการเอามือทาบอกจนจับต้องโดนสร้อยไข่มุกของพวกนางจนเป็นที่มาของวลี "pearl clutching" ที่มักจะเอาไว้อธิบายความตื่นตระหนกทางศีลธรรมของกลุ่มที่คิดว่าตัวเองเป็น "คนดี" หรือเป็น "สุภาพชน" มากกว่าคนอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านั้น วารสาร "คนข้ามเพศศึกษารายไตรมาส" ของมหาวิทยาลัยดุก นอร์ทแคโรไลนา ระบุว่ากลุ่ม TERFs ที่มักจะชอบเรียกตัวเองว่า Gender Critical นี้ยังเป็นพวกที่มักจะใช้วาทกรรมแบบเดียวกับพวกฝ่ายฟาสซิสต์-นาซี คือการแปะป้ายกลุ่มที่ตัวเองรังเกียจว่าเป็นพวก "ผู้ล่า" พวก "อนาจาร" หรือเป็นพวก "ทำสังคมเสื่อม" ซึ่งในที่นี้นำมาใช้แปะป้ายผู้หญิงข้ามเพศ ในทางตรงกันข้ามพวก TERFs จะอ้างว่าความเป็นหญิงตามเพศกำเนิดที่พวกเขาต้องการปกป้องนักหนานั้นคือความบริสุทธิ์ผุดผ่องและ "เป็นไปตามธรรมชาติ" ซึ่งเป็นวาทกรรมที่คล้ายกับของฟาสซิสต์อิตาลีและนาซีเยอรมนีที่นำมาอ้างใช้ขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตนเอง

พวก TERFs มาจากไหน ประวัติศาสตร์ของกลุ่มอ้าง 'สตรีนิยม' แตกแถวที่สร้างความเกลียดชัง

คำว่า TERFs นั้น มีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยนักกิจกรรมและนักเขียนที่ชื่อ วีฟ สมิทธ์ ในปี 2551 เธอนำมาใช้อธิบายสิ่งที่เธอมองว่าเป็นกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านคนข้ามเพศที่เพิ่มมากขึ้นในสื่ออังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ มีกลุ่มที่มีแนวคิดแบบเดียวกับ TERFs มานานแล้ว คือกลุ่มผู้ที่มองตัวเองว่าเป็น "นักสตรีนิยมถอนรากถอนโคน" (radical feminist) บางส่วนในยุคคริสตทศวรรษที่ 1970s-1980s (ราวระหว่าง พ.ศ. 2513-2533) หรือในช่วงสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง

ในยุคสมัยนั้นบางส่วน ของพวกที่มองว่าตัวเองเป็น "นักสตรีนิยมถอนรากถอนโคน" กลับมีมุมมองแบบคับแคบที่มองว่า "ชีวภาพคือชะตากรรม" (biological essentialism) ที่กลายเป็นการตีกรอบความเป็นสตรีเพศให้คับแคบกลายเป็นการบีบคั้นแม้แต่ผู้หญิงตามเพศ(ที่ถูกระบุโดย)กำเนิด ให้ต้องจำกัดกรองอยู่ในลักษณะทางชีวภาพเช่น การมีลูกได้ การมีอวัยวะบางอย่าง เป็นต้น ละเลยประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้หญิง คนกลุ่มนี้อ้างใช้เรื่องเพศกำเนิดหรือแนวคิดแบบชีวภาพคือชะตากรรมมากีดกันหรือกระทั่งเรียกร้องให้กำจัดคนข้ามเพศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในเชิงสิทธิมนุษยชน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดมาจากงานเขียนของ เจนิส เรย์มอนด์ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "นักสตรีนิยมถอนรากถอนโคน" เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "The Transsexual Empire" ปี 2522 ระบุวิพากษ์วิจารณ์การแพทย์สมัยใหม่ที่มีมุมมองสนับสนุนการแปลงเพศให้กับคนข้ามเพศ โดยที่เรย์มอนด์ระบุว่า "ปัญหาของแนวคิดแบบการข้ามเพศนั้น ควรจะแก้ไขด้วยวิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้อาณัติในเชิงศีลธรรมทำให้การมีอยู่ของมันหมดสิ้นไปเสีย"

ที่ชวนให้รู้สึกตลกร้ายคือแนวคิดแบบของ TERFs ในยุคนั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากนักสตรีนิยมถอนรากถอนโคนอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงนับว่าล้าหลังกว่าแนวคิดของนักสตรีนิยมบางคนในช่วงสมัยคลื่นลูกที่ 1 ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำไป เช่น เอ็มมา โกลด์แมน นักสตรีนิยมอนาธิปไตย เคยแถลงให้การสนับสนุนสถาบันทางการแพทย์ในการให้บริการสุขภาพแก่คนข้ามเพศ ซึ่งน่าเสียดายว่าสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ที่เคยให้การดูแลคนข้ามเพศถูกสั่งปิดโดยพวกเผด็จการนาซีในยุคต่อมาและมีการเผาทำลายเอกสารการศึกษาวิจัยเรื่องคนข้ามเพศทิ้งด้วย

แต่พอมาถึงในยุคสมัยสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 กับ 4 (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา) ก็เริ่มกลับมามีการให้การยอมรับสิทธิของคนข้ามเพศอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะมีการนำทฤษฎีเควียร์เข้ามาประกอบรวมถึงมุมมองแบบอำนาจทับซ้อน (intersectional) ที่มองเรื่องการถูกกระทำของกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ ได้ถี่ถ้วนมากขึ้น

หนึ่งในผู้ที่พูดถึงทฤษฎีเควียร์คือ จูดิธ บัทเลอร์ นักวิชาการผู้ที่ต่อมาในปี 2563 เปิดตัวว่าเป็นนอนไบนารี เขาระบุว่า การต่อสู้ปลดแอกสตรีนั้นต้องมาจากการตั้งคำถามต่อเพศสภาพเองด้วย ต้องมีการรับรองคนรักเพศเดียวกัน, คนข้ามเพศ และผู้แสดงออกทางเพศสภาพไม่ตรงตามขนบสังคมด้วย ในขณะที่นักเขียนสตรีนิยมอีกคนหนึ่งคือ เครสซิดา เฮเยส ก็มีการหาจุดร่วมเพื่อ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน" ระหว่างหญิงตามเพศกำเนิดและหญิงข้ามเพศ โดยการมองคำว่า "สตรีเพศ" ภายใต้แนวคิดของความเป็นสายใยที่เกี่ยวโยงกันแทนที่จะทำให้คำว่าสตรีเพศมีความหมายหนึ่งเดียวหรือมีความหมายแบบที่เป็นชะตากรรมกำหนดชีวิต

ซึ่งแน่นอนว่า แนวคิดของกลุ่มอ้าง "สตรีนิยม" เอามาเหยียดคนข้ามเพศยังคงส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน และแม้แต่กระทั่งกลุ่มสตรีนิยมแบบถอนรากถอนโคนเองก็มีการแสดงออกต่อต้านและไม่ยอมรับว่า TERF เป็นพวกเดียวกับพวกเขา รวมถึงมีการทำเว็บไซต์ชื่อ The TERFs เพื่อประณามแนวคิดของ TERFs ที่กลายเป็นการกดขี่แม้กระทั่งผู้หญิงตามเพศกำเนิดเอง รวมถึงมีการตีแผ่ความรุนแรงจากกลุ่ม TERFs ด้วย

ทำไม HER ถึงเลือกแถลงเช่นนี้ มีผลกระทบไหม ไม่กลัวเสียลูกค้าหรือ?

เป็นคำถามในใจของผู้เขียนเช่นกันว่าการที่แอพ HER ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหาคู่ที่เน้นความสัมพันธ์เลสเบียนหรือแซฟฟิก แต่กลับกล้าแถลงต่อต้านเลสเบียนบางกลุ่มเช่นนี้พวกเขาไม่กลัวเสียลูกค้าหรือ และพวกเขาต้องเผชิญกับแรงต้านอะไรหรือไม่

ในคำแถลงของเอ็กซ์ตันระบุว่า มันเป็นเรื่องน่าปวดใจที่เห็นว่าหญิงรักหญิงคนรุ่นใหม่หลายคนพยายามละทิ้งคำว่า "เลสเบียน" แล้วหันไปหาคำอื่นๆ แทน เพราะพวกเขาเข้าใจผิดมองว่า "เลสเบียน" เป็นคำที่ต่อต้านกลุ่มคนข้ามเพศ ในขณะเดียวกันในยุคปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็กล้าแสดงตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ มากขึ้นด้วย และหลายคนก็มีอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองแบบไม่ขึ้นอยู่กับสองเพศขั้วตรงข้าม

ในทางตรงกันข้าม เอ็กซ์ตัน ซีอีโอของ HER มองว่ากลุ่ม TERFs จะกลายเป็นกลุ่มที่ทำลายความก้าวหน้าในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่พวกเขาต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี คำแถลงระบุว่า "พวกเราควรจะต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต่อต้านกลุ่ม TERFs. ฟาสซิสต์ และพวกใจแคบหัวรั้น ที่กำลังทำการหยุดยังความเป็นไปได้ของพวกเราที่จะไปถึงวันพรุ่งนี้ที่มีการโอบรับความหลากหลายมากขึ้น"

"อนาคตของเลสเบียนคือคนข้ามเพศ คือนอนไบนารี มันคือการโอบรับความหลากหลาย" เอ็กซ์ตันระบุไว้เช่นนี้ในคำแถลงของ HER

คำแถลงจาก HER ระบุว่าพวกเขาต้องการทวงคืนคำว่า "เลสเบียน" จากการถูกเอาไปอ้างใช้ผิดๆ โดยกลุ่ม TERFs และต้องการส่งเสริมให้หญิงรักหญิงที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศและผู้แสดงออกทางเพศสภาพไม่ตรงตามขนบได้มีปากเสียงมากขึ้น และมีการคำนึงถึงประสบการณ์ของพวกเขามากขึ้น และจะทำการลบเนื้อหาอะไรก็ตามที่สื่อนัยไปในเชิงเหยียดคนข้ามเพศออกจากแอปฯ ของพวกเขา โดยมีการประณามว่ากลุ่ม TERFs เป็นพวกที่เอื้อประโยชน์ให้ประโยชน์กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเหยียดเพศหญิงด้วย

เอ็กซ์ตันบอกว่า มันเป็นวัตถุประสงค์ของเธอตั้งแต่แรกแล้วที่ต้องการจะสร้างแอปฯ โดยผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้กลุ่มคนข้ามเพศรู้สึกปลอดภัยและได้รับการนับรวมเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นแล้วแม้แต่การสื่อนัยเล็กๆ น้อยๆ ถึงการกีดกันแบ่งแยกคนข้ามเพศก็จะนับเป็นการทำลายวัตถุประสงค์นี้ และพวกเธอก็จะไม่ยอมอ่อนข้อถึงแม้ว่าจุดยืนเช่นนี้จะไปสร้างความขุ่นเคืองใจให้ใครก็ตาม เพราะพวกเขาเชื่อว่า "ความรักและการยอมรับจะชนะการกีดกันเลือกปฏิบัติและความเกลียดชังเสมอ"

ไม่เพียงเท่านั้นซีอีโอแอปพลิเคชัน HER ยังเรียกร้องให้บริษัทอื่นๆ ยกระดับมาตรฐานของตัวเองในเรื่องนี้ให้มากขึ้นในการแสดงการยืนหยีดเคียงข้างคนข้ามเพศและนอนไบนารี ขออย่าแค่ต่อสู้เพื่อช่วงชิงคำว่า "เลสเบียน" กลับมาโดยหลบแต่ในหลืบเท่านั้น แต่จง "ดุดัน ห้าวหาญไม่เกรงกลัวที่จะนำขบวนเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง"

ไม่ว่าคำแถลงของซีอีโอ HER จะดุดันกล้าหาญและท้าชนแม้แต่กลุ่มลูกค้าของตัวเองอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าคงต้องดูกันต่อไปว่าพวกเขาจะมีระบบการจัดการในแอปฯ ของตัวเองแบบเดียวกับที่พูดหรือไม่ และอาจจะต้องมองตรวจสอบไปถึงในระดับแรงงานด้วยว่าพวกเขาปฏิบัติต่อคนทำงานให้แอปฯ ของพวกเขาที่เป็นคนข้ามเพศและนอนไบนารีอย่างไรบ้าง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในตอนนี้คือมันทำให้ HER ถูกเล่นงานทางโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ จนเกิดการระงับการใช้งานบัญชีทวิตเตอร์ของ HER ชั่วคราวในวันเดียวกับที่ออกแถลงการณ์ (และที่น่าย้อนแย้งคือเป็นวันเดียวกับวันตระหนักรู้ตัวตนหญิงรักหญิงด้วย แต่แอปฯ หญิงรักหญิงอย่าง HER กลับถูกทวิตเตอร์ระงับการใช้งาน) ก่อนที่ต่อมาทวิตเตอร์จะยอมทำให้บัญชี HER กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

HER เป็นแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านราย นับตั้งแต่ที่มีคำแถลงต่อต้าน TERFs ทีมโซเชียลมีเดียของแอปฯ นี้ก็ต้องจัดการกับปัญหาที่มีพวกต่อต้านคนข้ามเพศแห่กันส่ง "ข้อความรุนแรง" เข้ามาทางโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงเท่านั้นพวกกลุ่มต่อต้านคนข้ามเพศยังทำการรุมรายงานบัญชี HER ให้กับทวิตเตอร์จนทำให้ทวิตเตอร์ระงับการใช้งานของบัญชี HER ชั่วคราว

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ทำให้ HER ล่าถอย หลังจากที่บัญชี HER กลับมาใช้งานทวิตเตอร์ได้อีกครั้งพวกเขาก็ส่งข้อความแบบขึ้นแจ้งเตือนระบุให้กลุ่มคนเกลียดกลัวคนข้ามเพศลบแอปฯ ของพวกเขาออกจากเครื่องเสีย ข้อความดังกล่าวระบุว่า "ข้อความถึงพวกเกลียดกลัวคนข้ามเพศ: ถึงเวลาแล้วที่คุณจะลบแอพ HER ออกไป ไปแล้วไปลับอย่ากลับมาล่ะ"

นอกจาก HER แล้วในตลาดแอปฯ ยังมีอีกบางส่วนที่โฆษณาตัวเองว่าเหมาะสมกับการหาคู่เลสเบียนอย่าง Lex, Fem หรือ Lesly แต่ไม่มีแอปฯ ไหนเลยที่พูดถึงการคุ้มครองคนข้ามเพศอย่างจริงจังแบบ HER (บางแอปฯ ไม่มีการพูดถึงคนข้ามเพศเลยแม้แต่น้อย)

เอ็กซ์ตัน ซีอีโอของ HER บอกว่าการที่แอปฯ ของพวกเขาเป็นพื้นที่โอบรับคนข้ามเพศและนอนไบนารี "ไม่ใช่เรื่องใหม่" แต่อย่างใด และบอกว่ามันเป็น "เรื่องน่าขัน" ที่พวกเขาถูกโจมตีเพราะบอกว่าแอพหาคู่เลสเบียนของพวกเขานับรวมผู้หญิงข้ามเพศเป็นส่วนหนึ่งของเลสเบียนด้วยทั้งๆ ที่พวกเขาก็ทำเช่นนี้มาตั้งแต่เปิดให้มีแอปฯ ในวันแรกแล้ว

เอ็กซ์ตันบอกอีกว่าถึงแม้จะเผชิญกับการถูกเล่นงานทางโซเชียลมีเดียแต่ HER ก็จะไม่ยอมลดละการสนับสนุนคนข้ามเพศ และอาจจะยิ่งย้ำจุดยืนสนับสนุนคนข้ามเพศของตัวเองยิ่งกว่าเดิ

มีการตั้งข้อสังเกตว่านับตั้งแต่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ก็มีเฮทสปีชมากขึ้น และในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ก็แอบละทิ้งนโยบายคุ้มครองคนข้ามเพศในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างเงียบๆ ทางกลุ่มองค์กรความหลากหลายทางเพศ GLAAD ระบุว่าเป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าทวิตเตอร์ "ไม่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ใข้งานและต่อผู้ใช้พื้นที่โฆษณา"

ทั้งนี้จากงานวิจัยของศูนย์เพื่อการโต้ตอบความเกลียดชังทางดิจิทัลระบุว่า นับตั้งแต่ที่มัสก์เข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ก็มีการปล่อยให้มีข้อความใส่ร้ายป้ายสีผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 119

การถูกกีดกันจากพื้นที่ทางสังคมถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ถึงแม้ว่าจุดยืนที่แตกต่างกันมากต่อคนข้ามเพศระหว่าง HER ภายใต้ เอ็กซ์ตัน และทวิตเตอร์ภายใต้มัสก์ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นแค่ภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจสองกลุ่มที่มีอุดมการณ์เพศสภาพแตกต่างกัน

แต่ทว่าเรื่องนี้ก็เกี่ยวพันกับประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเว็บหาคู่ หรือเว็บโซเชียลมีเดียก็ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ทางสังคมอย่างหนึ่ง การที่กลุ่มอัตลักษณ์ที่ถูกทำให้เป็นชายขอบอย่างคนข้ามเพศถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ (discrimination) จากพื้นที่ทางสังคม ก็นับเป็นการละเมิดหลักการความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชนได้ ดังที่ มิเชล บาเชเลต์ เคยแถลงไว้ในวันสิทธิมนุษยชน (10 ธ.ค.) ของปี 2564 ว่า "ความเสมอภาคเป็นหัวใจของสิทธิมนุษยชน" และนั่นหมายถึงการที่ "พวกเราทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันโดยไม่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติ"

ไม่เพียงเท่านั้นมูลนิธิองค์การสหประชาชาติ (UN Foundation) ยังเคยระบุว่า "สิทธิของคนข้ามเพศคือสิทธิมนุษยชน" อันเป็นไปตามหลักการมาตรา 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่า "มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ"

และในมุมมองของผู้เขียนแล้ว การกีดกันในพื้นที่ที่ดูเล็กน้อยอย่างเว็บหาคู่ ห้องน้ำ การแข่งกีฬา ฯลฯ มันก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทางร่างกาย จิตใจ และการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมของคนชายขอบได้ (ในที่นี้คือคนข้ามเพศ) และเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าการกีดกันที่ "ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย" (ซึ่งจริงๆ ไม่เล็กน้อย) นี้มันอาจจะสะท้อนอุดมการณ์ของฝ่ายใจแคบหัวรั้นที่มีโอกาสจะเป็นอันตรายต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้างยิ่งกว่านี้ก็เป็นไปได้

เรียบเรียงจาก
This Lesbian Visibility Day, We Are Reclaiming ‘Lesbian’, Robyn Exton, HER, 26-04-2023
https://weareher.com/lesbian-visibility-day-2023/
Lesbian dating app HER tells all transphobic users to delete their accounts, Pink News, 28-04-2023
https://www.thepinknews.com/2023/04/28/her-lesbian-trans-robyn-exton-dating-app/
Introduction: TERFs, Gender-Critical Movements, and Postfascist Feminisms, TSQ, 01-08-2022
https://read.dukeupress.edu/tsq/article/9/3/311/319375/IntroductionTERFs-Gender-Critical-Movements-and
เว็บไซต์ The TERFs (เว็บไซต์ของนักสตรีนิยมถอนรากถอนโคนที่ทำขึ้นเพื่อตีแผ่และประณาม TERFs)
http://theterfs.com/
หน้า about me ของ HER
https://weareher.com/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
The complex, divisive history of the word TERF, what it means and why it’s not actually a slur, Pink News, 02-03-2021
https://www.thepinknews.com/2021/03/02/terf-meaning-jk-rowling-definition-what-is-robert-webb-graham-linehan/
Equality is at the heart of human rights, United Nations, 10-12-2021
https://www.ohchr.org/en/2022/01/equality-heart-human-rights
11 Popular Lesbian Dating Apps That Are All Free to Download, Good Housekeeping, 18-04-2023
https://www.goodhousekeeping.com/life/relationships/g32070139/best-lesbian-dating-apps/
TRANSGENDER RIGHTS ARE HUMAN RIGHTS, UN Foundation, 23-02-2017
https://unfoundation.org/blog/post/transgender-rights-are-human-rights/
บทความนี้เขียนโดยคนดี: ศัพท์ว่าด้วยความหมกมุ่นกับการเป็นคนดี, โมเมนตัม
https://themomentum.co/wordodyssey-moralsuperiority/
https://en.wikipedia.org/wiki/Feminist_views_on_transgender_topics
https://en.wikipedia.org/wiki/Wikipedia:Pearl-clutching

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท