Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ “กมลา แฮร์ริส” ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ สื่อด้านความหลากหลายทางเพศชวนมองว่าแฮร์ริสมีประวัติการทำงานและจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง

 

2 ส.ค. 2567 หลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 ผู้คนก็หันไปจับตามองรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ในฐานะตัวเต็งที่อาจจะลงชิงตำแหน่งแทนไบเดน ในขณะเดียวกันผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากก็สงสัยว่าแฮร์ริสสนับสนุนสิทธิของพวกเขามากแค่ไหน

กมลา แฮร์ริส ภาพจาก วิกิพีเดีย

ประวัติของ กมลา แฮร์ริส ในเรื่องสิทธิ LGBTQ+

ข่าวดีก็คือ กมลา แฮร์ริส มีประวัติยาวนานในเรื่องการเรียกร้องเพื่อความหลากหลายทางเพศ

เธอมีประวัติเริ่มต้นกิจกรรมทาง LGBTQ+ มาตั้งแต่ปี 2546 หลังจากที่เธอได้รับเลือกตั้งเป็นอัยการเขตในซานฟรานซิสโก ปีหนึ่งถัดจากนั้น หลังจากที่ซานฟรานซิสโกประกาศว่าการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แฮร์ริสก็เข้าร่วมในพิธีแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งเธอบอกว่าเป็น "หนึ่งในช่วงเวลาที่สนุกที่สุด" ในชีวิตการทำงานของเธอ

หลังจากที่แฮร์ริสได้ดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐ เธอก็ทำงานส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+ และเรื่องการสมรสเท่าเทียมให้ทั่วถึงในรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอร่วมมือกับผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เจอร์รี่ บราวน์ ในการต่อต้าน "ญัตติ 8" เมื่อปี 2551 ที่เป็นญัตติว่าด้วยการยกเลิกการสมรสเท่าเทียม

การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวนี้ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2556 จนถึงตอนนั้นประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ส่งสัญญาณสนับสนุนอย่างมากในการทำให้สมรสเท่าเทียมประสบความสำเร็จทั่วประเทศ แล้วก็ทำให้เกิดขึ้นได้จริงในปีต่อๆ มา

ขณะเดียวกัน แฮร์ริส ก็ยังคงต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมในทุกรูปแบบต่อไป รวมถึงการแก้กฎหมาย "แพนิค ดีเฟนซ์" ที่หมายถึงการให้ความชอบธรรมต่อการทำร้ายหรือสังหารบุคคลหลากหลายทางเพศหลังจากที่รับรู้ตัวตนของบุคคลดังกล่าว เช่นความเป็นคนข้ามเพศของพวกเขาแล้ว ซึ่งแพนิค ดีเฟนซ์ นี้ยังถูกระบุไว้ในกฎหมายให้มีการลดโทษให้กับผู้ก่อเหตุทำร้ายหรือสังหารชาว LGBTQ+ โดยอ้างเรื่องความตระหนกต่ออัตลักษณ์ของเหยื่อ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประวัติของแฮร์ริสดูเหมือนจะสื่อให้เห็นว่าเธอสนับสนุน LGBTQ+ แต่ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี 2563 ก็มีเรื่องที่ทำให้ความเชื่อมั่นของ LGBTQ+ สั่นคลอน จากประวัติของเธอตอนสมัยที่เป็นอัยการมีเรื่องที่เธอเคยทำแล้วถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดในประเด็นของคนข้ามเพศและของงานบริการทางเพศ

เชส สแตรงกิโอ ทนายความอเมริกันและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เคยระบุไว้ในบทความเมื่อปี 2562 ว่าเขายังไม่พร้อมที่จะเชื่อมั่นในแฮร์ริส เนื่องจากงานของแฮร์ริสคือ "การเป็นแขนขาให้รัฐในการปราบปรามจับผู้คนเข้าห้องขัง และปกป้องนโยบายที่ทำลายชีวิตแล้วก็ทำลายชุมชน"

สแตรงกิโอระบุอีกว่า "มาตอนนี้(แฮร์ริส)พยายามวางจุดยืนตัวเองเป็นนักปฏิรูประบบกฎหมายอาญา และเป็นพันธมิตรของชุมชน LGBTQ+ แฮร์ริสแค่ต้องการที่จะเขียนอดีตตัวเองขึ้นมาใหม่เท่านั้น แทนที่จะยอมรับมัน"

ความผิดพลาดที่แฮร์ริสเคยทำไว้คือการที่ในปี 2558 เธอเคยสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐในการปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงในเรือนจำได้รับบริการสุขภาพเพื่อการข้ามเพศ แฮร์ริสอ้างว่าในตอนนั้นมีการรับรองการตัดสินใจดังกล่าวนี้โดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับเธอ และบอกว่าเธอถูกบีบให้ต้องปกป้องการตัดสินใจของรัฐ

ทั้งนี้ชาว LGBTQ+ ที่เป็นคนทำงานบริการทางเพศก็วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสด้วยในเรื่องที่แฮร์ริสสนับสนุนชุดกฎหมายที่ออกมาในปี 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นเว็บไซต์ที่คนทำงานบริการทางเพศใช้งาน

คอร์ทนีย์ ทราเบิล นอนไบนารีผู้ทำงานบริการทางเพศกล่าวว่า เธอรู้สึกว่าแฮร์ริสดูจะภาคภูมิใจกับงานที่เธอทำในเรื่องการสนับสนุนกฎหมายเหล่านี้ และมันเป็นอะไรที่ "ควรจะต้องมีการหารือกับเธอ" ทราเบิลกล่าวเสริมอีกว่า "ถ้าหากว่านี่เป็นสิ่งที่แฮร์ริสรู้สึกกับเรื่องสิทธิคนทำงานบริการทางเพศแล้ว มันก็หมายความว่าเธอได้ละเลยกลุ่มชุมชนด้านหนึ่งของสังคมโดยทั้งหมดทั้งที่พวกเขามีโอกาสจะกลายเป็นผู้สนับสนุนเธอก็ได้"

กมลา แฮร์ริส ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีการระบุว่าอาสาสมัครชาว LGBTQ+ เกือบ 11,000 รายที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้พรรคเดโมแครตกลับมาครองทำเนียบขาวอีกครั้ง

นับตั้งแต่ที่ไบเดนและแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง พวกเขาก็ทำการส่งเสริม, จัดระบบ และออกกฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองชาว LGBTQ+ ในสหรัฐฯ และในที่อื่นๆ

สิ่งที่น่าจะเป็นปฏิบัติการที่สำคัญที่สุดจากไบเดน-แฮร์ริส คือการที่พวกเขาพยายามยกเลิกกฎหมาย "เคารพในการแต่งงาน" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งโดยศาลสูงสุดเพื่อพยายามจะทำลายการคุ้มครองด้านสมรสเท่าเทียมในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติหลายฉบับเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายในการคุ้มครองเยาวชนคนข้ามเพศ

แฮร์ริสยังได้เปิดให้มีโครงการริเริ่มหลายโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีตัวแทนและการนับรวม LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาล ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเรื่องโวหารในเชิงต่อต้าน LGBTQ+

เมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่แฮร์ริสเดินทางเยือนประเทศในแอฟริกา เธอได้แสดงออกต่อต้านกฎหมายในประเทศยูกันดาที่เป็นกฎหมายสั่งแบนการระบุตัวตนของ LGBTQ+ อย่างเปิดเผย และในกานา เธอได้กล่าวไว้ว่าเธอ "มีความหนักแน่น" ในเรื่องการสนับสนุนพัฒนาการของสิทธิความหลากหลายทางเพศในทวีปแอฟริกาและเธอมองว่ามันเป็น "ประเด็นสิทธิมนุษยชน"

มีกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม, ดารา LGBTQ+, นักการเมืองหลายคน และนักวิชาการตามหน้าสื่อ ที่ให้การสนับสนุนเป็นพันธมิตรกับแฮร์ริส เมื่อไม่นานนี้ ชาร์ลี เอ็กซีเอ็ก ได้แสดงการสนับสนุนแฮร์ริสโดยใช้ประโยคที่อ้างอิงถึงอัลบั้มเพลงล่าสุดของเธอด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่ง ของ ไบเดน-แฮร์ริส ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เห็นว่าพวกเขายังต้องทำให้ดีกว่านี้ในเรื่อง LGBTQ+ เพราะการใช้โวหารต่อต้าน LGBTQ+ ยังคงเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ จำนวนมากที่ยังมีอยู่ เช่น เรื่องการแบนหนังสือและการออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ จำนวนมาก ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข

 

เรียบเรียงจาก

Where does Kamala Harris stand on LGBTQ+ rights, and does she support the queer community?, Pink News, 22-07-2024

https://www.thepinknews.com/2024/07/22/kamala-harris-lgbtq-rights-explainer-trans-lgbt/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net