Skip to main content
sharethis

ร็อกแซนน์ ทิกเกิล ผู้หญิงข้ามเพศในออสเตรเลียถูกลบบัญชีจากแอปพลิเคชัน “Giggle For Girls” ซึ่งเป็นแอปโซเชียลมีเดียผู้หญิง หลังจากที่ซีอีโอของแอปอ้างว่าเธอ "ดูไม่เหมือนผู้หญิง" ทำให้ทิกเกิลฟ้องร้องจนกระทั่งชนะคดีเรียกค่าชดเชย และกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการกีดกันผู้หญิงข้ามเพศในอนาคต

 

29 ส.ค. 2567 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลออสเตรเลียได้ตัดสินให้ “ร็อกแซนน์ ทิกเกิล” ผู้หญิงข้ามเพศออสเตรเลียชนะคดีที่เธอฟ้องร้องว่าถูกกีดกันเลือกปฏิบัติจากโปรแกรมแอปพลิเคชัน Giggle For Girls ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับผู้หญิง โดยศาลระบุว่า การกีดกันผู้หญิงข้ามเพศจากแอปพลิเคชันสำหรับผู้หญิงนั้นถือเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย

คดีนี้นับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นคดีแรกของออสเตรเลียที่มีการตัดสินว่าการกีดกันผู้หญิงข้ามเพศจากพื้นที่ของผู้หญิงในโลกออนไลน์นั้นนับเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติหรือไม่

เรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ ร็อกแซนน์ ทิกเกิล ดาวน์โหลดโปรแกรมแอปพลิเคชัน Giggle for Girls เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งแอปนี้ระบุว่า ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น "แหล่งพักพิงออนไลน์" สำหรับผู้หญิง การที่จะเข้าใช้แอปนี้ผู้ใช้งานจะต้องถ่ายเซลฟีเพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอทำการวิเคราะห์ว่าพวกเขาเป็นผู้หญิงเสียก่อนถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าใช้

รูปถ่ายของทิกเกิลได้รับการยอมรับตอนที่เธอสมัครเข้าแอปพลิเคชัน แต่ในเวลาต่อมา แซลล์ โกรเวอร์ ซีอีโอของแอปนี้ก็ทำการสั่งลบแอคเคาน์ของทิกเกิลเนื่องจากเธอตัดสินด้วยตัวเองว่าทิกเกิล "ดูไม่เป็นผู้หญิง" ทำให้ทิกเกิลฟ้องร้องเรื่องการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศสภาพ ซึ่งเมื่อปี 2556 ประเทศออสเตรเลียได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศให้มีการคุ้มครองครอบคลุมเรื่องเพศสภาพด้วย

ฝ่ายทนายความของโกรเวอร์ผู้เป็นจำเลยให้การปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้กระทำการกีดกันเลือกปฏิบัติ โดยอ้างว่าแอปพลิเคชันของพวกเขาเป็นมาตรการพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงระหว่างชายกับหญิง

ผู้พิพากษา โรเบิร์ต บรอมวิช ได้ตัดสินว่าการกระทำของโกรเวอร์ที่กีดกันทิกเกิลออกจากแอปพลิเคชันบนฐานของรูปลักษณ์นั้นนับเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติทางอัตลักษณ์ทางเพศในทางอ้อม และได้สั่งให้ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับทิกเกิลเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 230,000 บาท) รวมถึงค่าใช้จ่ายในคดี

ก่อนหน้านี้ศาลได้รับทราบว่าทิกเกิลใช้ชีวิตแบบเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาก็ได้รับการรับรองเพศสภาพโดยระบุในเอกสารสูติบัตรว่าเป็นผู้หญิง และได้ผ่าตัดแปลงเพศเมื่อปี 2562 ทิกเกิลกล่าวให้การในศาลว่า "มาจนถึงตอนนี้ ทุกคนปฏิบัติต่อฉันแบบปฏิบัติต่อผู้หญิง"

 

จำเลยเรียกตัวเองว่าเป็น 'นักสตรีนิยม' แต่เหยียดรูปลักษณ์ของผู้หญิงต่อหน้าศาล

โกรเวอร์ ซีอีโอของ Giggle For Girls เรียกตัวเองว่าเป็น TERFs ที่ย่อมาจาก Trans-Exclusionary Radical Feminism หรือที่แปลตรงตัวว่า "นักสตรีนิยมถอนรากถอนโคนที่กีดกันคนข้ามเพศ" คือกลุ่มคนที่อ้างแนวคิดสตรีนิยมเพื่อเหยียดหรือกีดกันคนข้ามเพศ

ผู้พิพากษา บรอมวิช ตั้งข้อสังเกตว่าโกรเวอร์เองประพฤติตัวในศาลในทำนองแสดงออกอย่างกีดกันเลือกปฏิบัตืและใช้วาจาแบบทำร้ายจิตใจผู้หญิงข้ามเพศอย่างเปิดเผยช่วงที่มีการพิจารณาคดี เช่น มีการนำ "ภาพล้อในเชิงเหยียดหยาม" ทิกเกิลมาเผยแพร่ในศาลแล้วก็หัวเราะใส่

นอกจากนี้ยังมีการนำภาพล้อในเชิงเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทิกเกิลเอามาพิมพ์แปะเทียนหอมขายออนไลน์พร้อมคำขวัญว่า "Sweaty Balls Team Giggle"

ผู้พิพากษาบรอมวิชตั้งข้อสังเกตต่อโกรเวอร์อีกว่า การที่โกรเวอร์การล้อเลียนรูปภาพเหยียดทิกเกิลในศาลราวกับว่ามันเป็นเรื่องตลกขบขันนั้น แสดงให้เห็นถึง "ความไม่ซื่อตรง" ของโกรเวอร์ อีกทั้งโกรเวอร์ยังไม่ยอมเรียกทิกเกิลด้วยสรรพนามหรือคำนำหน้าผู้หญิงตามเพศสภาพของเธอในช่วงที่มีการพิจารณาคดีด้วย ซึ่งบรอมวิชมองว่ามันเป็นสิ่งที่ "ล่วงละเมิด, ดูถูก และเป็นพฤติกรรมที่ไร้ความชอบธรรมในการที่จำเลยจะนำมาใช้ว่าความ"

 

ผู้พิพากษาตีตก ข้อโต้แย้งที่ว่า "เพศสรีระเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

ผู้หญิงข้ามเพศ คือผู้หญิงที่มีเพศกำเนิดชายหรือเพศกำเนิดอื่นๆ แล้วข้ามเพศเป็นหญิงเพราะมีเจตจำนงหรือมีการรับรู้เพศสภาพตัวเองเป็นหญิง พูดง่ายๆ คือ "เป็นหญิงในทางจิตใจ" ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ทิกเกิลนำมาใช้อธิบายเพศสภาพตนเองเช่นกัน เธอบอกว่าเพศสภาพเป็นเรื่องในทางจิตวิทยาและในทางสังคม ไม่ใช่เรื่องในทางกายภาพหรือชีวภาพ แต่ทนายความของโกรเวอร์พยายามโต้แย้งโดยอ้างว่า เพศสรีระเป็นเรื่องชีวภาพและเพศสภาพเป็นสิ่งสร้างทางสังคม

จอร์จีนา คอสเทลโล เคซี ทนายความของทิกเกิลก็โต้ตอบวาทกรรมของจำเลย โดยบอกว่า บรรทัดฐานคำพิพากษาเคยระบุไว้ชัดเจนว่าเพศสรีระและเพศสภาพ ผู้ชายและผู้หญิง ไม่ใช่สิ่งที่แบ่งแยกหมวดหมู่เป็นสองขั้วตรงข้ามแบบไบนารีได้ อีกทั้งยังบอกอีกว่าข้ออ้างของทนายความฝ่ายจำเลยนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ "ข้ออ้างให้ความชอบธรรมเทียมๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง" เพื่อใช้อ้างกีดกันเลือกปฏิบัติต่อโจกท์

ผู้พิพากษา บรอมวิช ตัดสินในเรื่องนี้ว่า ฝ่ายจำเลยพยายามจะอ้างว่าเพศสรีระตามกำเนิดของบุคคลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น ถือเป็นข้ออ้างที่ผิด เพราะมีมุมมองในเรื่องนี้จากคดีต่างๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาที่ใชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยไม่เป็นความจริง

 

"ผู้หญิงทุกคนได้รับการคุ้มครองจากการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ" รวมถึงผู้หญิงข้ามเพศด้วย

ทิกเกิลกล่าวที่ด้านนอกศาลว่า คดีนี้ได้ "ขโมย" เวลาในชีวิตเธอไป 3 ปี เธอต้องเผชิญกับความคิดเห็นเกลียดชังในโลกออนไลน์ และมีการเอารูปเธอไปสร้างเป็นสินค้าเพื่อล้อเลียนและเหยียดหยามเธอ

"มีความเกลียดชังและความขุ่นเคืองต่อคนข้ามเพศกับบุคคลเพศสภาพหลากหลายเพียงเพราะว่าพวกเราเป็นตัวของตัวเอง ...  บางครั้งแล้วมันก็ยากที่จะเตือนตัวเองว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนี้" ทิกเกิลกล่าว

ทิกเกิลบอกอีกว่าคดีแบบนี้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ส่งผลตต่อเธอคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำร้ายคนข้ามเพศและบุคคลหลากหลายทางเพศสภาพอื่นๆ ด้วย เธอหวังว่าคำตัดสินคดีนี้จะเป็น "สิ่งเยียวยา" และเป็นสิ่งที่ "แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนได้รับการคุ้มครองจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ"

แอนนา โคดี กรรมาธิการด้านประเด็นการกีดกันเลือกปฏิบัติทางเพศในหน่วยงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอ"ยินดี" ที่คำตัดสินมีการเล็งเห็นเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น โคดีกล่าวว่า "พวกเราในตอนนี้ทราบดีว่า ... คุณไม่สามารถกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศวิถีหรือเพศสภาพได้"

"ฉันคิดว่าคำตัดสินนี้ได้ส่งสารว่าพวกเราต้องการสังคมที่นับรวมผู้คนเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และนั่นก็รวมถึงคนข้ามเพศผู้ที่มีเพศวิถีที่หลากหลายด้วย ... เธอ (ทิกเกิล) ต้องการที่จะสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่นๆ ในเรื่องการทำอาหาร, สูตรอาหาร, เรื่องที่พักอาศัย ... เพื่อที่จะสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน" โคดี กล่าว

พอลลา เกอร์เบอร์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโมแนชในเมลเบิร์น กล่าวว่า คำตัดสินนี้นับเป็น "ชัยชนะอย่างใหญ่หลวงสำหรับผู้หญิงข้ามเพศในออสเตรเลีย"

"คดีนี้ได้ส่งสารอย่างชัดเจนต่อชาวออสเตรเลียทุกคนว่ามันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศแตกต่างไปจากผู้หญิงตามเพศกำเนิด ... มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะทำการตัดสินว่าคนๆ หนึ่งเป็นผู้หญิงหรือไม่โดยตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าเขาดูเป็นหญิงมากน้อยเพียงใด" เกอร์เบอร์กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก

Judge Finds Self-Described TERF Who Banned a Trans Woman From Her App Discriminated, them, 23-08-2024

https://www.them.us/story/roxanne-tickle-sall-grover-giggle-for-girls-discrimination

Transgender woman's exclusion from female-only app was unlawful, judge finds, 23-08-2024

https://www.abc.net.au/news/2024-08-23/nsw-sydney-giggle-transgender-discrimination-court-judgment/104260546

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net