Skip to main content
sharethis

'เวลาที่เรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายคนอาจคิดถึงตำรา และวิชาเรียนในห้องเรียน' แต่เมื่อ 3 พ.ค. 2566 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มูลนิธิฟรีดิช เนามันฯ และ WeVis จัดงาน 'เกม การเมือง และการเลือกตั้ง' นำเสนอการเรียนเรื่องแนวคิดประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่าน 2 บอร์ดเกม 'Sim Democracy' และ 'Timeline Thai Democracy'

 

5 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อ 3 พ.ค. 2566 ที่ห้องเรียน Smart Classroom ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวาระใกล้การเลือกตั้งปี 2566 ที่จะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ องค์กรมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ร่วมด้วยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน 'WeVis' จัดงาน 'เกม การเมือง และการเลือกตั้ง' เพื่อเชิญชวนทุกคนมาสนทนาเรื่องการเลือกตั้ง การมองนโยบาย และการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านการ์ดเกม และบอร์ดเกม  

บรรยากาศการเสวนา เกม การเมือง และการเลือกตั้ง (ที่มา: WeVis)

แนวคิดบอร์ดเกม 'เมืองประชาธิปไตย'

พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF Thailand) แนะนำเกม 'Sim Democracy' และ 'Timeline Thai Democracy' ว่า เวลาเรียนเรื่องแนวคิดประชาธิปไตย หลายคนอาจนึกถึงตำราเรียน แต่อาจไม่ได้นึกถึงเกมในฐานะสื่อการเรียนการสอน แต่ในประเทศเยอรมนี มีการเรียนเรื่องประชาธิปไตยมานานแล้วตั้งแต่ยังเด็ก และเป็นการเรียนผ่านเกม 

ทางมูลนิธิ จึงลองศึกษาดู และพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีคนที่ทำเกมเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตย ก็เลยลองทำเรื่องนวัตกรรมประชาธิปไตยสักชิ้น ก็ได้พัฒนาเกมร่วมกันกับภาคประชาสังคม และพัฒนาเกมแรกออกมาชื่อ "Sim Democracy" ซึ่งเป็นเกมเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2553 

บอร์ดเกม Sim Democracy หรือเกมจำลองเมืองประชาธิปไตยในอุดมคติ เป็นเกมขนาดกลางแนวยุทธศาสตร์ (Strategy Board Game) ตัวเกมจะให้เราเรียนรู้เรื่องระบอบการปกครองประชาธิปไตยผ่านบอร์ดเกมโดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ 'First Time Voter' หรือคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 

พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล (ที่มา: WeVis)

เกมจะให้ผู้เล่นได้มีโอกาสจำลองบทบาทเป็นพรรคการเมืองในเมืองหนึ่งที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ผู้เล่นจะได้ออกแบบนโยบายด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการสอบถามคนในพื้นที่ ตรวจสอบปัญหา หรืออื่นๆ จากนั้น ก็เอานโยบายที่คิดมาไปหาเสียง และเข้าสู้ศึกการเลือกตั้ง 

หลังจากเลือกตั้ง ผู้เล่นจะได้จำลองบทบาทเป็นรัฐบาลหากชนะการเลือกตั้ง และประชาชนหากแพ้การเลือกตั้ง ถ้าเป็นรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร เพื่อดูแลทุกภาคส่วนให้มีความสุข หลังหมดสมัยรัฐบาล ประชาชนจะมาร่วมประเมินว่า รัฐบาลชุดนี้บริหารเป็นอย่างไร ทำตามคำสัญญาตอนหาเสียงไว้หรือไม่ บริหารประเทศโปร่งใสไหม และประชาชนกินดีอยู่ดีหรือไม่ 

ปัจจุบัน เกมถูกนำไปแปลหลายภาษา และนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เมียนมา อินโดนีเซีย อินเดีย เยอรมนี และอื่นๆ และในงาน World Forum Democracy เมื่อปี 2557 เกม 'Sim Democracy' ได้รับเลือกให้เป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยอีกด้วย 

บรรยากาศการเล่นเกม Sim Democracy (ที่มา: WeVis)

พิมพ์รภัช ระบุด้วยว่า นอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ก็สามารถเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยผ่านเกมนี้ได้เช่นกัน 

สำหรับผลตอบรับหรือฟีดแบ็กที่ได้กลับมาจากการเล่นเกม พิมพ์รภัช ระบุว่า ถ้าเป็นเด็กเขาก็เข้าใจมากขึ้นว่าการใช้ภาษี หรือเส้นทางภาษีมันทำงานอย่างไร ขณะที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจการทำงานของพรรคการเมืองมากขึ้น

Timeline Thai Democracy:

เกมที่บรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน

สำหรับเกมไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย หรือ Timeline Thai Democracy เล่นได้ตั้งแต่ 1-8 คน เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นผลัดกันเรียงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยตามปี พ.ศ. ระหว่างปี 2475 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงปี 2565 หรือสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ทั้งนี้ เกมประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย มีด้วยกัน 2 เวอร์ชัน โดยรุ่นแรกจะกินระยะเวลาตั้งแต่ 2475-2562 แต่ที่นำมาเล่นวันนี้เป็นรุ่นที่ 2 กินเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475-2565 

พิมพ์รภัช มองว่า เกมนี้เป็นเรื่องของการเรียนประวัติศาสตร์ทางลัด เพราะว่ากว่าจะไปค้นคว้าตำราว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองออกมาเมื่อไร ตอนนี้เรามีนายกฯ กี่คนแล้ว มีรัฐประหาร กบฏ กี่ครั้ง ก็ใช้เวลานาน เล่นเกมนี้ก็จะได้เห็นภาพรวมประวัติศาสตร์การเมือง

บรรยากาศการเล่นเกม ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เมื่อ 3 พ.ค. 2566 (ที่มา: WeVis)

พิมพ์รภัช กล่าวถึงจุดเด่นต่อว่า ประวัติศาสตร์การเมืองเราจะได้เรียนรู้จากตำรา แต่เกมนี้จะมีการพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน คือเราไม่ได้เน้นแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลัก แต่ยังมีความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนในห้วงเวลาต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยได้เห็นถ้าอ่านในตำรา

"ส่วนใหญ่เรามักจะใช้เกม Democracy Timeline เป็นตัวตั้งต้น ให้เห็นว่าภาพใหญ่ของพัฒนาการประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 เราปักหมุดเรื่องประชาธิปไตย 2475 มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มันมีอะไรที่เป็น key milestone เป็นอะไรที่เราควรรู้ เราอาจจะจำไม่ได้" พิมพ์รภัช กล่าว 

ขณะที่นวลน้อย ตรีรัตน์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า เธอไม่มีความรู้เรื่องเกม แต่อยากทราบว่าเราจะมีวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ใหม่ๆ อย่างไร และมองว่าเกมประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เป็นเกมที่น่าสนใจ เพราะมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชน และต้องยอมรับว่าประชาชนแทบไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเลย แม้ว่าจะไปหาอ่านเองได้ แต่มันไม่เคยถูกสอนในโรงเรียนที่เป็นทางการ 

นวลน้อย ระบุต่อว่า เวลาเราเรียนเราจะเรียนตามประวัติศาสตร์กระแสหลักชนชั้นนำคือตั้งกรุงเมื่อไร เสียเพราะอะไร เสียกี่ครัั้ง แต่ละรัชสมัยมีผลงานอะไร แต่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่เราจะไม่ทราบอะไรมากนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาคประชาชน อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ว่าจะมีการเขียนภายหลัง แต่ยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียง เพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายผิดในหน้าประวัติศาสตร์ การเล่นเกมประวัติศาสตร์การเมืองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เล่นได้ค้นหา ได้เปิดข้อมูล และต่อยอดเป็นบทสนาใหม่ๆ ในสังคมไทย 

คอมโพเนนต์ของเกม ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย (ที่มา: WeVis)

จุดประกาย ต่อยอด

พิมพ์รภัช กล่าวต่อว่า เวลาเล่นเกมประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ครั้งแรกเมื่อปี 2562 เป็นตัวจุดประกายให้เธออยากสืบค้นข้อมูลของเหตุการณ์ต่อไปเรื่อยๆ ว่ามันสำคัญอย่างไร และทำไมต้องมาทำเป็นการ์ด 

"นี่ละมันเป็นทางลัดของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แค่อยากให้คนสนใจ อยากเรียนรู้ รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีผลอย่างไร มันมีความสำคัญยังไง และก็ทำให้คนที่เล่นเกมอันนี้ไปศึกษาเรียนรู้ต่อ" พิมพ์รภัช กล่าว 

หลังจากนั้น เป็นการเปิดเวทีเสวนาต่อยอดจากเกมโดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นวลน้อย ตรีรัตน์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา อาจารย์พิเศษสอนเกมดีไซน์ จากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ และธนิสรา เรืองเดช เป็นผู้ดำเนินรายการ 

เสวนา: เกม การเมือง และการเลือกตั้ง

การเมืองไทยถอยหลัง แต่ไม่เสียเปล่า

สื่อ The Active รายงานสรุปเสวนา 'เกม การเมือง และการเลือกตั้ง' ซึ่งเป็นช่วงที่ 2 ของงาน นวลน้อย อาจารย์จากจุฬาฯ ระบุว่า เธอมองในเกมว่าทำให้เห็นภาพรวมประวัติศาสตร์การเมืองไทยภาคประชาชน ซึ่งไม่มีสอนในตำราเรียนกระแสหลัก และมองว่าตอนนี้เป็นช่วงที่การเมืองถอยหลัง แต่ไม่ใช่ภาคประชาชนไม่ได้เรียนรู้บทเรียน แน่นอนว่าการรัฐประหารบ่อยๆ ก็ทำให้เราสูญเสียอะไรหลายอย่าง แต่การเก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์ของเรา ต้องนำมาเป็นประสบการณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

นวลน้อย ตรีรัตน์ (ที่มา: WeVis)

นวลน้อย ระบุว่า ประชาธิปไตยของทุกประเทศมีพื้นฐานของการกระจายอำนาจที่แข็งแรง แต่ว่าจากมุมมองของเธอ ประเทศเราเรื่องกระจายอำนาจมันอ่อนแอ เมื่อฐานเราไม่ได้แข็งแรง มันก็มีปัญหาตามมา 

รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา อาจารย์พิเศษ Game Design, CommDe คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เคยสร้างเกมเกี่ยวกับการรัฐประหาร ระบุว่า ไทยมีการทำรัฐประหาร 13 ครั้ง แต่ละครั้งมีบริบท มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน คนที่ทำรัฐประหารเองก็มีเหตุผลต่างกัน เช่นเดียวกับความคิดเห็นฝั่งประชาชนที่แตกต่างกัน การย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย การสร้างเกมเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เด็กเยาวชนเกิดการเรียนรู้ และตัดสินในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยเอง โดยเกมให้เพียงข้อมูล ไม่ได้ใส่ความคิดเห็นลงไปในเกม 

มองเกม มองการเมือง

ประชาชนเลือกพรรคที่นโยบายจริงหรือไม่

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ก่อตั้ง WeVis ตั้งคำถามจากเกม Sim Democracy ว่าช่วงการเลือกตั้งปี 2566 จะเห็นว่านโยบายของพรรคการเมือง มีการหาเสียงเลือกตั้งอย่างคึกคัก และเห็นนโยบายเยอะแยะไปหมด คำถามคือ คนไทยเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายจริงหรือไม่

นวลน้อย ระบุว่า ก่อนยุคปี 2540 พรรคการเมืองค่อนข้างมีการนำเสนอนโยบายคล้ายกันหมด แต่จุดเปลี่ยนคือเมื่อปี 2540 การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พรรคการเมืองมีการแข่งขันด้านนโยบายที่จับต้องได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้คิดว่ากระแสประชาชนมองนโยบายพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

งานศึกษาบางชิ้นพยายามถามว่า เวลาคิดถึงนโยบายของพรรคคิดถึงอะไร ซึ่งงานพบว่าประชาชนสามารถตอบนโยบายของพรรคการเมืองได้ถูกต้องว่านโยบายนี้ของพรรคนี้ โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย เพราะเป็นนโยบายเปลี่ยนชีวิตของคนที่มีรายได้น้อย 

นวลน้อย ระบุว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองแข่งขันนโยบายสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ ซึ่งสะท้อนความสำเร็จของนโยบาย 30 รักษาทุกโรคยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ ทุกคนอยากให้เป็นที่จดจำ เมื่อจำนโยบายได้ ก็จะจำพรรคได้ ดังนั้น ปีนี้พรรคการเมืองออกนโยบายด้านสวัสดิการเยอะ แต่ก็มีคำถามว่าทางการคลังจะไปไหวหรือไม่ และจะยั่งยืนหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่ประชาชนต้องถามว่าจะทำยังไง

พิมพ์รภัช กล่าวว่า บทเรียนจากเกม Sim Democracy ผู้เล่นมักมีภาพในหัวว่า การนำเสนอนโยบายประชานิยม เช่น เรียนฟรี หรือรักษาฟรี จะทำให้ชนะการเลือกตั้ง แต่เวลาเล่นเกม เราเป็นคนนำเกมก็จะคอยกระตุ้นคำถามว่า ทำนโยบายตามที่สัญญาไว้กับประชาชนรึยัง เช่นเรียนฟรี หรือรักษาฟรี แต่ถ้าเงินหมดแล้วจะต้องทำยังไง แน่นอนว่ารัฐบาลหนึ่งไม่สามารถดูแลทุกอย่างได้หมด ในเวลาที่รัฐบาลมือเติบ หรือมีนโยบายประชานิยมมากๆ ก็อาจจบเกมด้วยการติดหนี้

พิมพ์รภัช ระบุต่อว่า เกมอนุญาตให้แก้ปัญหาโดยการกู้เงินได้ โดยที่รัฐบาลสมัยของเราไม่ต้องจ่าย และผลักภาระไปให้รัฐบาลถัดไปได้ ซึ่งรัฐบาลที่รับไม้ต่อต้องรับผิดชอบในกรณีที่เราไม่ได้ถูกเลือกเป็นรัฐบาลอีกสมัย รัฐบาลใหม่ก็ต้องกู้ต่อ เพื่อจัดการภาระทางการคลังเมื่อสมัยที่แล้ว เกม Sim Democracy จะเล่นเป็นรัฐบาลทั้งหมด 4 สมัย แต่บางกรณีรัฐบาลสมัยที่ 3 หรือ 4 มีสิทธิล้มละลาย เพราะรับภาระทางการคลังไม่ไหว ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนการฉุกคิดการวางแผนอย่างครอบคลุมก่อนสร้างนโยบาย

บอร์ดเกม 'Sim Democracy' (ที่มา: WeVis)

รักษิต กล่าวเสริมว่า พรรคการเมืองเวลาต้องการให้คนโหวต เขาจะขาย 2 อย่าง คือ ผลประโยชน์หรือนโยบาย และความเชื่อมั่นว่านโยบายจะทำได้จริง ในการเลือกตั้ง พรรคบางพรรคขายนโยบายเยอะมากกว่า 100 นโยบาย ทำนโยบายไหนได้ และสร้างผลกระทบต่อประชาชนได้ ประชาชนก็จะเชื่อมั่น ต้นทุนพรรคก็จะสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน พรรคที่ขายนโยบายเยอะมากแต่ทำไม่ได้เลย ต้นทุนความนิยมของพรรคนั้นจะต่ำลง 

ในอีกกรณี บางพรรคการเมืองอาจจะมีนโยบายเยอะมาก แต่จับต้องไม่ได้ พรรคการเมืองเขาก็จะขายความเชื่อมั่น พยายามทำให้ประชาชนเชื่อว่าถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล เขาจะทำนโยบายให้สำเร็จได้ ประชาชนก็จะเลือกด้วยความเชื่อใจ แต่ถ้า 4 ปี ไม่สามารถทำได้ ประชาชนก็จะขาดความเชื่อมั่น ต้นทุนความนิยมจะน้อยลงไป เราจะเห็นว่าพรรคบางพรรคที่ไม่สามารถทำนโยบายได้ จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป

รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา (ที่มา: WeVis)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net