Skip to main content
sharethis

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี้ ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบัน กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปและการต่อต้านการปฏิรูปในไทย มาตรา 112 ระหว่างทหารและระบอบกษัตริย์  รวมทั้งบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการโปรโมทประชาธิปไตย

ภาพปวิน สัมภาษณ์ชอมสกี้เมื่อธันวาคม 2560 (แฟ้มภาพ)

10 พ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับบทสัมภาษณ์จาก ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์แห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิชาการฝ่ายซ้ายผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายอำนาจนิยมหลายเรื่องของสหรัฐฯ โดยบทสัมภาษณ์ขนาดสั้นเป็นการพูดคุยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบัน กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปและการต่อต้านการปฏิรูปในไทย มาตรา 112 ระหว่างทหารและระบอบกษัตริย์  รวมทั้งบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการโปรโมทประชาธิปไตย

โดยมีรายละเอียดบทสนทนาดังนี้

ปวิน : ในความคิดเห็นของคุณ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในยุคปัจจุบันคืออะไร

ชอมสกี้ : สังคมมนุษย์ได้พยายามหาทางจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวกับระบอบกษัตริย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ที่ผ่านมาระบอบกษัตริย์มีทั้งที่อยู่รอดเฟื่องฟู และที่ไม่มีการก้าวหน้าและถูกล้มล้างลงไป มีบางประเทศในฝั่งตะวันตกที่ระบอบกษัตริย์ยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ เช่น สหราชอาณาจักรฯ และสวีเดน ซึ่งเป็นเพราะว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศเหล่านี้มีหน้าที่และอำนาจที่จำกัด ส่วนมากมีอยู่เพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีบทบาทในการเข้ามาแทรกแทรงทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรถือว่าเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ความสามารถในการปรับตัว เป็นหนึ่งในสิ่งหลักที่ทำให้ยังมีสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษมาถึงทุกวันนี้ เช่น การปรับให้ราชวงศ์สามารถมีครอบครัวแต่งงานกับคนธรรมดาได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่ง ประเทศไทยจะสามารถหาจุดยืนร่วมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

ปวิน ถามถึงมุมมองต่อข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มเยาวชนในไทยไม่ได้รับการตอบรับ ชอมสกี้ ตอบว่า ที่ผ่านมาในอดีต ผู้นำทางการเมืองหลายๆ คนมักจะขยายอำนาจให้ตัวเอง สถาบันกษัตริย์ของไทยกำลังจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก สังคมไทยและคนไทยต้องช่วยกันหาทางออก สถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เป็นอยู่ตอนนี้เคยมีให้พบเห็นมาแล้วในประเทศอื่นที่มีการรวมกำลังกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันทหาร ในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ ก็มีส่วนในการรวบกำลังระหว่างสองสถาบันนี้ เนื่องจากต้องการต้องการความร่วมมือจากไทยในการต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น

ปวิน : มาตรา 112 ส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่ออิสรภาพ และสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย คุณมีคำแนะนำอย่างไรบ้างในการจัดการปัญหานี้

ชอมสกี้ : มาตรา 112 ช่วยในการสร้างเกาะคุ้มกันสถาบันกษัตริย์ในไทยเป็นอย่างดี ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์สถาบันได้เลย ผมเชื่อว่าบทลงโทษใด ๆ ก็ตามที่เกิดจากมาตรา 112 ไม่ควรมีอยู่ อย่างไรก็ตามการยกเลิกมาตรา 112 นี้ ถือว่าเป็นเรื่องยาก ในสหรัฐ ฯ ศาลสูงสุดยังคงให้ความคุ้มครองในลักษณะเดียวกันกับรัฐ ส่วนในสหราชอาณาจักรฯ แม้ว่ากฎหมายในรูปแบบนี้ยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่เคยมีการนำมาบังคับใช้ ผมยังคงเชื่อว่าระบบการเมืองและวัฒนธรรมไม่ควรถูกยกเว้นจากการวิจารณ์

ปวิน : คุณพูดถึงการควบรวมกันระหว่างทหารและระบอบกษัตริย์ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับบทบาทของทหารไทย โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองของสถาบันทหาร

ชอมสกี้ : อินโดนีเซียเคยแสดงให้เห็นแล้วว่าสถาบันทหารสามารถถูกแยกออกมาจากสถาบันการเมืองได้ ในปี 1965 ภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โต มีการสังหารหมู่ของผู้บริสุทธิ์ ทำให้ประเทศอินโดนีเซียก้าวถอยหลังเป็นอย่างมาก โดยที่การปกครองของนายพลซูฮาร์โตนี้มีการสนับสนุนมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามกลุ่มนักเรียน นักศึกษาได้นำการปฏิวัติ และทำให้สามารถดึงสถาบันทหารออกจากการเมืองได้สำเร็จ ผมหวังว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวตามรอยเท้าของประเทศอินโดนีเซียได้ในสักวัน

ปวิน : คุณเห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการโปรโมทประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง

ชอมสกี้ : คนรุ่นใหม่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะว่าส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่จะนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีภาระด้านครอบครัว ทำให้เยาวชนหลายๆ คนเลือกที่จะมานำการเปลี่ยนแปลง ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา ซึ่งนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายที่ทำให้สังคมมีอารยะมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวจากกลุ่มเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในช่วงปี 1950 นักศึกษาส่วนใหญ่เชื่อฟัง และปฏิบัติตามมาตรฐานที่มีอยู่ ส่วนในช่วงปี 1960 นักศึกษามีส่วนในการปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น มันค่อนข้างยากที่จะอธิบายว่าทำไมนักศึกษาเหล่านี้จึงเลือกที่จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของประเทศไทย ผมหวังว่าจะได้เห็นเยาวชนรุ่นใหม่ออกมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หวังว่าความพยายามของนักศึกษาที่ออกมานั้น จะมีคนรับช่วงต่อและช่วยทำให้สังคนไทยดีขึ้นในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net