Skip to main content
sharethis

โนม ชอมสกี้ ให้สัมภาษณ์ปวิน ชัชชาลพงศ์พันธ์เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยชอมสกี้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองไทย และเปรียบเทียบถึงปัญหาในไทยที่สหรัฐอเมริกาก็เคยประสบมาก่อน พร้อมชี้ให้เห็นบทบาทในอดีตของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยไทย การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการลดบทบาทของกองทัพกับการเมืองที่เขาเสนอว่าแม้นเป็นการเดินทางอันยาวนานแต่ก็ต้องเริ่มทำ

ศาสตราจารย์โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) แห่งมหาวิทยาลัยอาริโซน่า ได้ให้สัมภาษณ์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 โดยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Southeast Asia Globe เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 25 นาที ชอมสกี้ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาครั้งแรก ได้มีการเปรียบเทียบถึงปัญหาการเมืองไทยกับปัญหาที่สหรัฐอเมริกาเคยประสบมาก่อน ตอบคำถามเรื่องสถาบันกษัตริย์จะอยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่อย่างไรและสถาบันกษัตริย์จะอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการพูดคุยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐประหาร การเข้าแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทยซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาช้านาน เรื่องสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อไทย ปัญหาที่เกิดจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทย ที่แม้อาจจะเป็นความหวังของสังคม แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นเดียวกัน

ตอนหนึ่งชอมสกี้กล่าวถึงบริบทในอดีตของสหรัฐอเมริกาว่า แม้จะไม่มีราชวงศ์อย่างเป็นทางการ แต่ความรู้สึกของอเมริกันชนส่วนหนึ่งกลับโหยหาความเป็นเจ้า ในกรณีของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แม้ไม่ได้รับความนิยมในช่วงดำรงตำแหน่ง แต่หลังจากเสียชีวิตกลับถูกยกย่องเป็น "กึ่งเทพ" ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและเรื่องมรดกตกทอดจากเรแกน โดยเฉพาะความเห็นจากนักวิชาการชั้นนำที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือสถาบันฮูเวอร์ ที่ตีพิมพ์งานยกย่องว่าเรแกนเป็นบุคคลอ่อนโยน เป็นปิยมิตรที่คอยพิทักษ์ประชาชน หรือครั้งที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา เรแกนก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นราชวงศ์ด้วย

น่าเสียใจต่อบทบาทสหรัฐฯ หนุนเผด็จการไทยช่วงสงครามเย็น

ต่อในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทย ชอมสกี้กล่าวว่าน่าเสียใจที่สหรัฐอเมริกา เคยสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่ไทยเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ช่วงสงครามอินโดจีน สหรัฐฯ สนับสนุนเผด็จการไทย เพราะต้องการให้ไทยมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศ กองกำลัง ถือเป็นประวัติศาสตร์อันน่าขยะแขยง ผมไม่สามารถให้คำแนะนำแก่ไทยได้ พวกคุณต้องหาหนทางกันเอง แต่จากมุมมองของพลเมืองอเมริกัน บทบาทของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างเป็นอันตรายต่อไทยและประชาธิปไตยไทย

การคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ว่าไม่อาจประณามรัฐด้วยคำพูด เป็นวิธีการที่ล้าหลังไม่ควรปรากฏขึ้นอีกแล้ว แต่พึงระลึกว่าการยกเลิกไม่ใช่เรื่องง่าย ในความเห็นผม ในโลกตะวันตก สหรัฐอเมริกาอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออก แต่ศาลฎีกาก็คงไว้ด้วยหลักปฏิบัติการคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ ในปี 2507 ในบริบทการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง ประธานฝ่ายชาติพันธุ์ของรัฐอาลาบามาฟ้องมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ และขบวนการสิทธิพลเมืองด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เพราะกลุ่มคนเหล่านี้โจมตีรัฐด้วยคำพูด จุดนั้นศาลฎีกาอิงหลักการคุ้มกันรัฐฏาธิปัตย์ นี่คือสหรัฐอเมริกา

 

ไทยเคยมุ่งลดบทบาททหารทางการเมือง แต่กลับเลือกถอยหลังเข้าคลอง

ต่อคำถามที่ว่าอะไรที่ควรทำหากเราต้องการก้าวไปข้างหน้าเพื่อลดบทบาททหารทางการเมือง ชอมสกี้เสนอว่า ที่จริงแล้วไทยเองได้เดินทางไปในแนวทางนั้นแต่กลับเลือกถอยหลังเข้าคลอง เกาหลีใต้เคยมีเผด็จการโหดร้าย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทศวรรษที่ 1980 สามารถล้มเผด็จการได้ อาศัยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ถึงกระนั้นความสำเร็จ มันนำไปสู่การเกิดของเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่อมาก็ถูกกำจัดเช่นกัน

อินโดนีเซีย เผด็จการทหารยึดอำนาจปี 2508 สังหารโหดประชาชนนับแสน นสพ.นิวยอร์กไทม์พาดหัวว่า "เป็นการสังหารหมู่ขนาดใหญ่" รัฐบาลซูฮาร์โตมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายที่สุดประเทศหนึ่งในโลก บุกรุกติมอร์ตะวันออก เกือบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกสมัยใหม่แล้ว ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ทำผิดและต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรม การทำทารุณกรรมครั้งนั้นเป็นวิกฤตศีลธรรมที่รุนแรงในโลกตะวันตก สุดท้ายเกิดการลุกฮือในอินโดนีเซีย กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มอื่นๆ โค่นล้มเผด็จการได้ เกิดกระบวนการเผชิญหน้ากับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต เริ่มประชาธิปไตยระดับหนึ่ง 

หากเรามองประเทศอื่น เราจะเห็นสิ่งที่คล้ายกัน การรวมตัวของประชาชนหลายครั้ง สามารถล้มเผด็จการได้ หากย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ตะวันตก คุณจะพบสิ่งเดียวกัน นี่คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แม้ไม่ง่าย แต่พิสูจน์วาสามารถทำได้ด้วยความกล้าหาญและการอุทิศตน เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งหน้ากระดาน

ที่อังกฤษก็มีหลักปฏิบัติคล้ายกัน แม้ไม่ได้ใช้บ่อยนัก แต่หลักการนี้ก็ไม่อาจยอมรับได้

ในระบบสังคมการเมือง หรือวัฒนธรรม ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ควรถูกวิจารณ์ เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากแม้แต่ประเทศที่การต่อสู้ก้าวหน้าไปมาก พึงสังวรณ์เถิด แม้นเป็นการเดินทางอันยาวนานแต่ก็ต้องเริ่มทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net