Skip to main content
sharethis

สหภาพคนทำงาน ปฏิเสธข้อหา ไม่จดแจ้งชุมนุม สู้คดีต่อชั้นศาล ปมจัดชุมนุมวันแรงงานสากล หวังพิทักษ์สิทธิการรวมตัวของแรงงาน ด้านแรงงานข้ามชาติที่ร่วมกิจกรรมถูก ตร.คุกคามหนัก

 

16 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (15 พ.ค.) ว่า ที่ สน.ปทุมวัน ฉัตรชัย พุ่มพวง หรือ ‘แชมป์’  สมาชิกสหภาพคนทำงาน พริม มณีโชติ สมาชิกสหภาพคนทำงาน สุรัช กีรี แรงงานข้ามชาติ จากกลุ่ม Bright Future (ไบร์ทฟิวเจอร์) เดินเข้ารับทราบพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ‘ไม่แจ้งการชุมนุม’ และ ‘ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต’ จากการเข้าร่วมการชุมนุมวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. 2566 เดินพาเหรดจากแยกราชประสงค์ไปที่แยกปทุมวัน หน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC เมื่อช่วง 16.00-20.00 น.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาชิกสหภาพคนทำงาน มีมติร่วมกันให้สมาชิก 1 คน สุรัช กีรี สมาชิกกลุ่ม ‘Bright Future’ ชำระค่าปรับจำนวน 2,100 บาท และยอมความ และอีก 2 คน อาสาต่อสู้คดีต่อ โดยการปฏิเสธข้อกล่าวหา เพื่อนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป 

บรรยากาศการรับทราบข้อหาที่ สน.ปทุมวัน

ฉัตรชัย พุ่มพวงสมาชิกสหภาพคนทำงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลังรับทราบข้อหา ระบุว่าเหตุผลที่เขาสู้คดีต่อ เพื่อให้ปีถัดๆ ไป ตำรวจจะไม่หยิบกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมเรื่องนี้ถูกกลับมาใช้อีก และเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชนผู้ใช้แรงงานในการเดินขบวนวันเมย์เดย์ทุกปีต่อไป 

ฉัตรชัย ระบุด้วยว่า ตอนไปที่รับทราบข้อกล่าวหา ทางตำรวจมีการพูดว่า “ดีนะเอาแค่นี้ ไม่เอา 112” ทำให้แชมป์ มองด้วยว่า พอได้ฟังแบบนี้ทำให้เขารู้สึกว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาสำหรับการรวมกลุ่ม เพื่อเรียกร้องสิทธิและคุณภาพชีวิตของคนทำงาน 

แชมป์ หวังว่าครั้งนี้จะเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทำให้แรงงานมองเห็นปัญหาการใช้มาตรา 112 และมองว่าการเมืองและแรงงานเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้มีข้อโต้แย้งว่าแรงงานไม่ได้อะไรจากการแก้ไขมาตรา 112

แรงงานข้ามชาติถูก ตร.รังควาน

ฉัตรชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 หรือวันแรงงานสากล ถูกตำรวจรังควาน โดยแรงงานข้ามชาติเล่าให้ฟังว่า ตำรวจแถวบางบอนติดตามและโทร.หา ทำให้แรงงานข้ามชาติเกิดความเครียด และรู้สึกถึงความไม่มั่นคงเรื่องการทำงานและการอยู่อาศัยในประเทศไทย 

ฉัตรชัย พุ่มพวง

นอกจากนี้ ฉัตรชัย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การคุกคามเกิดขึ้นหลังมีสื่อบางสื่อรายงานข่าว แรงงานข้ามชาติเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องในวาระการเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล โดยแฝงทัศนคติแบบชาตินิยม ปลุกความรักชาติ ทำให้ประชาชนเกิดอคติต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

"คนพวกนี้ไม่รู้เลยจริงๆ ที่มีชีวิตกันได้สะดวกสบายราบรื่นหลายสิ่งหลายอย่างก็มาจากพี่น้องแรงงานข้ามชาติเป็นคนสร้าง เป็นคนดำเนินการให้มันเกิดขึ้น แรงงานประมง เช่นที่คนกรุงเทพฯ คนเมืองมีกุ้งราคาไม่แพงกิน ก็เพราะพวกเขา (แรงงานข้ามชาติ) 

"หรือว่าตึกรามบ้านช่องทั้งเมืองกรุงเทพฯ วันที่ 1 ก.พ. วันครบรอบการรัฐประหารหน้าสถานทูตเมียนมา ก็มีพี่น้องแรงงานชูคำว่า ‘พม่าไม่ได้เผากรุงศรีฯ แต่มาสร้างกรุงเทพฯ’ คือมันไม่ได้เกินจริงเลย คนพวกนี้ชาตินิยมเป็นหลัก แต่ไม่ได้สำนึกถึงข้อเท็จจริงเลยว่า คนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นคนร่วมสร้างเมืองนี้สร้างประเทศนี้ เสาหลักที่เขาอ้างมา มันไม่ได้สร้างกรุงเทพฯ แต่คนที่สร้างกรุงเทพฯ คือแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอะไร พวกเราเป็นคนสร้างทุกอย่างขึ้นมา" ฉัตรชัย กล่าวถึงการรายงานของสื่อ

แชมป์ กล่าวด้วยว่า ทางสหภาพพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมกิจกรรมวันเมย์เดย์ทุกคน เพื่อปกป้องสิทธิของคนที่เข้าร่วมขบวน ไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตาม

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน องค์กรเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (MGW) และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ เคยอ่านแถลงการณ์ตำหนิการรายงานข่าวของสื่อบางสื่อ โดยมีการระบุชื่อสำนักงานข่าว TOP News และไทยโพสต์ เนื่องจากสื่อทั้งสองสำนักมีการรายข่าวที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง

เมื่อ 2 พ.ค. 2566 ยูทูบช่อง TOP News เผยแพร่รายการ 'ข่าวมีคม' โดยมี สันติสุข มะโรงศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ มีการหยิบยกข่าวการทำกิจกรรม 'สาปส่งรัฐปีศาจ สร้างชาติด้วยสวัสดิการ' เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ขึ้นมาพูดถึง

รายการ ‘ข่าวมีคม’ อ้างเพจเฟซบุ๊ก ‘METTAD’ ซึ่งอ้างผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ @ekkkrub1 เผยว่าแรงงานข้ามชาติกัมพูชากล่าวปราศรัย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

โดยสันติสุข มะโรงศรี ได้ให้ความเห็นประกอบด้วยว่า แรงงานชาวกัมพูชามีสิทธิอะไรมาก้าวก่ายไม่มีสิทธิที่จะมาบอกว่า 'ปฏิรูปกษัตริย์' เพื่อเอาเงินมาสร้างรัฐสวัสดิการ พร้อมเรียกร้องให้แรงงานกัมพูชาเคารพศักดิ์ศรีของคนไทยบนแผ่นดินไทย

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้จัดกิจกรรมออกมาชี้แจงว่า แรงงานกัมพูชากล่าวปราศรัยพูดถึงปัญหาการทำงานจากการถูกเหยียดเชื้อชาติ และเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐานในฐานะ 'แรงงานต่างด้าว' โดยมีผู้ชุมนุมชาวไทยจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ชูป้าย 'ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ' เป็นฉากหลัง ซึ่งข้อความบนป้ายไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าวปราศรัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net