Skip to main content
sharethis
  • เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือถึง ‘อนุทิน’ หาทางช่วยเหลือ คนงานที่ถูกลอยแพ 3 บริษัท บอดี้แฟชั่น AMC สปินนิ่ง และ แอลฟ่า สปินนิ่ง รวมเงินจำนวนเงิน 161 ล้าน หลังเคยไปร้องที่กระทรวงแรงงานแต่ไร้ความคืบหน้า
  • กรมสวัสดิการฯ รับเสนอกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างขยายวงเงิน และที่ประชุม ครม. อนุมัติงบฯ กลาง เยียวยาคนงานถูกลอยแพ 3 บริษัทอีกครั้ง

9 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก "The reporters" ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (8 ก.ค.) ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ตัวลูกจ้างที่ถูกลอยแพ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสหภาพคนทำงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ก่อนการยื่นหนังสื่อถึง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กรณีนายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

สุทัศน์ เอี่ยมแสง ประธานอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บผ้า แห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาที่ไปของการยื่นหนังสือถึงอนุทิน ครั้งนี้ว่า การยื่นหนังสือวันนี้สืบเนื่องจากส่วนของบริษัท บอดี้แฟชั่น ผู้ผลิตชุดชั้นในให้ วิกตอเรียซีเคร็ต ไทรอัมป์ มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ และอื่นๆ เลิกจ้างไม่จ่ายคนชดเชยจำนวน 1,174 คน รวมเป็นจำนวนเงินขึ้นต่ำกว่า 100.9 ล้านบาท บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง 115 ราย ไม่จ่ายค่าชดเชย 50 ล้านบาท และมีบริษัท AMC สปินนิ่ง 153 คน ไม่ได้จ่ายค่าชดเชย 18 ล้านเศษ 

โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถบังคับจ่ายค่าชดเชยมาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทำให้คนงานทั้ง 3 บริษัทยังไม่ได้รับค่าจ้าง และค่าชดเชยตามกฎหมาย กระทรวงแรงงานปล่อยให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นไปตามอย่างล่าช้า และไม่ได้ติดตามยึดทรัพย์นายจ้างทำให้มีการโยกย้ายทรัพย์สินออกไป รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการขายทรัพย์สิน 3 แห่ง

บรรยากาศการมายื่นหนังสือ และป้ายรณรงค์ (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

ผู้ตกงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหางานใหม่ยาก และมีหนี้สินมากมาย โดยที่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพียงแค่ 43 ล้านบาทเท่านั้น และไม่เป็นไปตามกฎหมายสิทธิแรงงาน ทำให้แรงงานทุกข์ยากเดือดร้อน

กระทั่งเมื่อวันที่ ธ.ค. 2566 คนงานทั้ง 3 บริษัทเดินทางมาเรียกร้องให้พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และมีอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ได้ประชุมหารือตามข้อเรียกร้อง ได้ข้อสรุป

  1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในวันที่ 28 ธ.ค. 2566 เพื่อแก้ไขระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายในปี 2565 ให้ในอัตราสูงขึ้นกว่าระเบียบเดิม
  2. เสนอ ครม.เพื่อจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลาง รวมถึงรายการเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นมาจ่ายให้กับลูกจ้างทั้ง 3 บริษัท เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมายครบถ้วน โดยเร็วที่สุด แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้

ในฐานะที่พรรคภูมิใจไทยกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ไม่เพียงแต่กระทรวงแรงงานจะล้มเหลวในการปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของแรงงาน ปล่อยให้นายทุนคดโกงแรงงานแล้ว และยังไม่รับผิดชอบต่อข้อตกลงเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 อันเป็นการกระทำจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้พรรคภูมิใจไทยนั้นดำเนินการเพื่อให้

  1. คนงาน 3 บริษัทได้รับค่าชดเชยเป็นไปตามกฎหมาย ให้ รมต.ดำเนินการเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับคนงานไว้ 
  2. กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ตามกองทุนประกันความเสี่ยงของการเลิกจ้างด้วย การจัดเก็บเงินจากนายจ้างล่วงหน้า 
  3. เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้สามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นในอัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

ต้องการหารือ ไม่ได้มาหาเรื่อง

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก 3 บริษัท กล่าวว่า แรงงาน 3 บริษัทถูกลอยตั้งแต่ปี 2562-2567 รวมระยะเวลา 5 ปีแล้ว ยังไม่ได้รับเงินชดเชยทั้งหมด พวกเธอเคยไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน และมีบันทึกข้อตกลงว่าจะมีการเสนอคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง ขยายวงเงินจ่ายเยียวยาให้ลูกจ้าง 3 บริษัทที่ถูกลอยแพ

(กลาง) ธนพร วิจันทร์ (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

ธนพร ระบุต่อว่า เงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างขณะนั้นเหลือเพียง 160 ล้านบาท จึงเสนอให้ทางกระทรวงแรงงานยื่นเรื่องถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลาง ในการนำมาเป็นเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างที่ถูกลอยแพ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อนำเงินมาเติมในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

ธนพร ระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีมติไม่ขยายวงเงิน และผลปรากฏว่าเรื่องพิจารณาอนุมัติงบฯ กลางช่วยเหลือแรงงาน 3 บริษัท ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การประชุมของ ครม. จึงเป็นที่มาที่มาพบกับอนุทินในวันนี้ และพรรคถภูมิใจไทย เพราะว่าต้องการมาหาทางออกร่วมกัน ไม่ได้มาต่อว่าพรรคภูมิใจไทย และกระทรวงแรงงาน แต่เรามาหาทางออกว่าทำอย่างไร สินทรัพย์ที่ถูกอายัดที่ถูกขายทอดตลาดและไม่มีคนมาซื้อ ให้อย่างน้อยประชาชนคนงานเขาจะได้เอาเงินส่วนนั้นมาใช้จ่าย

อารี ไกรนรา กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานให้เข้า ครม.ตามที่ตกลงกันไว้ และมีการคุยให้สมคิด เชื้อคง เอาเข้าที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลาง จำนวน 2,200 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเอามาเป็นกองทุนด้วย ไม่ได้แค่ช่วยเหลือแรงงานถูกลอยแพ 3 บริษัท แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล

รับเสนออีกครั้งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ ครม.อีกครั้ง

สมพงษ์ คล้อยแคล้ว ผู้ตรวจราชการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ข้อเสนอให้ขยายอัตราวงเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จะเยียวยาให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพทั้ง 3 บริษัทนั้น ได้มีการประชุมปรึกษาหารือโดยเป็นการหารือระหว่างคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ได้มีมติว่าอัตราเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างทั้ง 3 บริษัทเหมาะสมกับภาระของกองทุนฯ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพราะตอนนี้กองทุนฯ มีเงินในการช่วยลูกจ้างในอนาคตต่อๆ ไปมีอยู่เพียง 149 ล้านบาทเศษ จึงจ่ายให้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะต้องช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มอื่นๆ ที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการฯ ระบุต่อว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะรับเรื่องไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเพิ่มอัตราการจ่ายอีกครั้งเยียวยาลูกจ้างกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากงบประมาณของกองทุนฯ ไม่เพียงพอโดยเหลือเงิน 149 ล้านบาท (จากที่นายจ้างค้างจ่าย 3 บริษัท 279 ล้านบาท) ทางกองทุนฯ จะทำหนังสืออีกรอบเพื่อของบประมาณรายจ่ายกลางของรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อนำมาเยียวยาลูกจ้างที่ถูกลอยแพทั้ง 3 บริษัท

กรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อว่า อยากประชาสัมพันธ์ในการขายสินทรัพย์ของนายจ้าง 169 ล้านบาท เพราะถ้าขายได้ทั้งหมด ก็จะสามารถช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกลอยแพได้  

(ซ้าย) สมพงษ์ คล้อยแคล้ว (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

เสนอตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ช่วยลูกจ้างถูกลอยแพ แต่ฝั่งนายจ้างต้านหนัก

ธนพร เสนอกระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะว่าสถานการณ์การเลิกจ้างมีสูงขึ้นและเยอะขึ้น กระทรวงแรงงานควรจะมีกองทุนประกันความเสี่ยง อาจจะเป็นเงินอุดหนุน เงินค่าปรับ หรืออะไรก็แล้วแต่ เอามาอยู่ในกองทุนนี้ เมื่อกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่สามารถแก้ไขระเบียบได้ ควรจะต้องเอาเงินกองทุนมาจ่ายแทนให้ลูกจ้างถูกลอยแพ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และคนบังคับใช้กฎหมายคือกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สมพงษ์ ผู้ตรวจราชการ กรมสวัสดิการฯ ระบุว่า ข้อเสนอกองทุนประกันความเสี่ยง ได้มีการประชุมคณะทำงาน และยกร่างของกองทุนประกันความเสี่ยงเข้า โดยการเก็บเงินจากนายจ้างอย่างเดียว แต่ปัญหาคือพอเอาเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี ปรากฏว่านายจ้างไม่เห็นด้วยอย่างแรง และทางที่ประชุมให้กรมสวัสดิการฯ เอากลับมาทบทวน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก The reporters ระบุว่า ปัจจุบัน โรงงานปิดกิจการพุ่งสูงถึง 367 แห่ง ทำให้สูญเสียเงินลงทุนรวมกว่า 9,417.27 ล้านบาท พนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,066 คน และมากกว่าครึ่งนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

หลังจากแถลงข่าวแล้ว ได้มีการมอบหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน และอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย

อารี เป็นตัวแทนรับหนังสือจากแรงงาน (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

เตรียมเข้าหารือทำเนียบ-พรรคเพื่อไทย

หลังจากจบงาน ธนพร สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า จะมีไปที่ทำเนียบรัฐบาลพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) เพราะว่าเคยตกลงกับสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ว่าจะนำเรื่องอนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลาง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีความคืบหน้า 

สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ จะมีไปพรรคเพื่อไทยด้วย เนื่องจากเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และมีนโยบายด้านแรงงาน เพื่อหารือว่าพรรคจะมีการช่วยเหลือแรงงานการถูกเลิกจ้าง และไม่จ่ายค่าชดเชย ตามกฎหมายได้อย่างไร

ธนพร มองว่า จะนำเรื่องกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาขยายเพิ่มอีกครั้ง แน่นอนว่าเราเคยเรียกร้องมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ซึ่งวันนี้กรมสวัสดิการฯ จะนำเรื่องเสนออีกครั้ง แต่จะเข้าที่ประชุมเมื่อไรยังไม่มีความชัดเจน
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net