สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ส.ว. ออกไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้ว่าข้อเรียกร้องที่พุ่งเป้าไปที่ ส.ว. อยู่ในขณะนี้คือ บรรดา ส.ว. ควรจะต้องเห็นชอบตามผลการเลือกตั้งที่มาจากประชาชน ด้วยการ “ปิดสวิตท์” ตัวเองซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่การงดออกเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความเห็นชอบต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ผมมีความเห็นแตกต่างออกไปบนหลักการพื้นฐานว่า ส.ว. ชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมใดๆ รองรับ แม้ว่าสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะเป็นที่รับรู้กันแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการกดปราบประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงการใช้กลไกรัฐและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนในระหว่างการทำประชามติ

ทั้งกระบวนการคัดเลือก ส.ว. ก็เป็นคำถามมานับตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีขั้นตอนอย่างไร นอกจากบรรดา คสช. ที่ช่วยกันคัดเลือกกันอย่างขมีขมัน จนได้ ส.ว. ที่มีหน้าตาแบบที่สังคมเห็นกันในทุกวันนี้ โดยผลงานที่ชัดเจนก็คือ การยกมือสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่ในการปกป้องอำนาจนำดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องกล่าวถึงงบประมาณว่าสิ้นเปลืองไปเป็นจำนวนเท่าใดซึ่งถูกกระจายกันในระหว่างพวกพ้อง เครือญาติ พี่น้อง ผัวเมีย อย่างอิ่มหนำสำราญใจ

เมื่อสิ้นไร้ซึ่งความชอบธรรม ข้อเรียกร้องที่ควรจะเป็นก็คือ ส.ว. ทั้งหลายต้องออกไปจากตำแหน่ง 

บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การลงมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบ “มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” หมายความว่าหากจำนวนของ ส.ว. ลดลง หรือไม่เหลืออยู่เลย เสียงของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็จะดังขึ้น ยิ่งขับไล่ ส.ว. ออกไปได้มากเท่าไหร่ เสียงของประชาชนก็จะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถดำเนินไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

ในอดีต หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ภายหลังจากการขับไล่เผด็จการทหาร “ณรงค์ – ถนอม – ประภาส” ออกไปจากตำแหน่ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้ สนช. (ที่มาจากการแต่งตั้ง) ในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็เป็นผลให้มีการทยอยลาออกจนทำให้ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ลง

แม้จะมีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแต่การจะขับไล่ ส.ว. ออกไปก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ต้องร่วมมือกันอย่างน้อยใน 3 แง่มุม กล่าวคือ ขุดคุ้ย, เปิดโปง, และปฏิบัติการ

ขุดคุ้ย คือการแฉข้อมูลในทุกด้านที่เกี่ยวกับ ส.ว. ออกมาให้มากที่สุด ผลประโยชน์ เครือข่าย การใช้อำนาจหน้าที่ ส.ว. ในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น 

เปิดโปง คือการทำข้อมูลในเชิงปัจเจกของแต่ละคนกระจายออกมาให้เป็นที่รับรู้ ส่วนมากการวิจารณ์ ส.ว. มักจะกระทำในเชิงภาพรวมและมีเพียงบางคนที่ตกเป็นเป้าหมาย ทำให้ “ส.ว. อีแอบ” จำนวนมากหลุดลอยออกไป การเปิดเผยข้อมูลของ “บิดาแห่งการลาประชุม”, การเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา คือตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งที่ควรต้องกระทำให้มากขึ้น 

สุดท้ายคือ ปฏิบัติการ แต่ละคนแต่ละกลุ่มต้องกดดัน เรียกร้อง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. ต้องเกิดความสำนึกว่ากำลังทำหน้าที่ในตำแหน่งที่น่าละอายเป็นอย่างมาก เช่น การประกาศไม่คบค้าสมาคม, การแสดงสัญลักษณ์ปฏิเสธ, หรือการออกจดหมายเปิดผนึกถึงบุคคลที่ตนเองรู้จัก เช่น NGOs ควรออกจดหมายกดดันให้บรรดาขาใหญ่เส้นใหญ่ฝ่ายตนที่ได้รับใช้ คสช. ให้ลาออกจากตำแหน่ง สี่ปีสำหรับคนที่รับใช้มาอย่างต่อเนื่องน่าจะพอทำให้หายอดอยากปากแห้งได้พอสมควรแล้ว

ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่ ส.ว. จะมาทำให้กระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องแปดเปื้อน ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งต้องไปยืนก้มหัวให้กับลิ่วล้อเผด็จการเหล่านี้

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ, ส.ว. ต้องออกไปจากการเมือง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท