Skip to main content
sharethis

วิษณุย้ำถึงศาล รธน.ปัด พ.ร.ก.เลื่อนใช้ 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ตกเพราะผิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ไม่ได้ต้องรับผิดชอบอะไรเพราะยุบสภาแล้ว ถ้าใครอยากฟ้องก็ทำได้แต่ไม่รู้จะผิดข้อหาอะไรได้

31 พ.ค.2566 หลายสื่อเช่น Voice TV และ ไทยโพสต์ รายงานถึงประเด็นที่วิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ก่อนเข้าประชุมนัดแรกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย

วิษณุระบุว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากล่าช้าไป 3 เดือนทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพอมีเวลาจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์หลังจากได้รับงบประมาณไปแล้ว จึงไม่ได้มีปัญหามากนัก และในกฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติจึงได้เวลาประชุมเพื่อวางแผนว่าจะต้องทำงานอย่างไรและต้องออกกฎหมายลูกให้มีประสิทธิภาพ เช่นเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการบันทึกภาพวิดีโอขณะจับกุมตามที่กฎหมายกำหนด

รองนายกฯ ยังได้กล่าวถึงเรื่องงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าได้อนุมัติไปตั้งยังไม่ยุบสภาแล้ว แต่ขณะนี้ยังได้อุปกรณ์ไม่ครบถ้วนเนื่องจากต้องจัดซื้อเป็นจำนวนมาก แม้จะมีงบสำหรับจัดซื้ออยู่แต่ก็ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตว่ามีอุปกรณ์เพียงพอหรือไม่ โดยการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องเป็นในรูปแบบของการประมูลเพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วเกิดขึ้น

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้วิษณุยังตอบคำถามนักข่าวในประเด็นที่พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ เขาตอบในประเด็นนี้ว่าหากยังไม่ได้ยุบสภาก่อนก็จะมีผลกระทบและรัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อถ้าไม่ผ่านโดยสภาแสดงว่าสภาไม่เห็นชอบ แต่เมื่อ พ.ร.ก.ไม่ผ่านโดยศาลก็มีนัยยะที่แตกต่างกันคือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่าเมื่อรัฐบาลยุบสภาฯ แล้วจะลาออกซ้ำก็ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีรัฐบาลรักษาการ การแสดงความรับผิดชอบไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายแต่เป็นมารยาททางการเมือง แต่หากมีคนไปร้องเรียนเอาผิดกับรัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่ตนก็ไม่ทราบว่าจะเอาผิดในข้อหาตามกฎหมายมาตราอะไร

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานเสวนาในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานขัดกับรัฐธรรมนูญจะต้องมีคนรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ มีนักกฎหมายที่ร่วมแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเรื่องนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบแม้ว่าเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดกฎหมายของรัฐบาลตกช่วงที่ยุบสภาไปแล้วจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เพียงแค่พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูย แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัววิษณุเอง รวมถึงคณะรัฐมนตรีไม่มีการตรวจสอบคำขอของ สตช.ที่เป็นผู้ขอให้มีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทาง สตช.เองก็เคยมีการออกคำสั่ง สตช.ในเรื่องของการติดกล้องไว้แล้ว

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายมานานหลายปี ยังให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่าที่ผ่านมาทางตำรวจเองก็รับทราบเรื่องการออกฎหมายนี้มาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ อีกทั้งเขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.มาเลื่อนกฎหมายแต่ก็เป็นเพียง 4 มาตราของกฎหมายทั้งฉบับเท่านั้น แต่ในระหว่างช่วง 3 เดือนที่ผ่านก็ยังเกิดเหตุเช่นกรณีรัฐไทยผลักดันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า 3 คนกลับไปเผชิญความเสี่ยงและยังปรากฏข่าวว่ามี 1 ใน 3 สียชีวิตแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่บังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net