Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระเบียบทางสังคม (social order) ความหมายระดับพื้นผิว (surface structure) หมายถึงวิธีการที่สถาบัน กลุ่มและคุณค่าทางสังคมทำงานร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคมและให้เกิดความเป็นระเบียบ โดยมุ่งหมายให้สังคมทุกส่วนทำงานไปข้างหน้าด้วยกันได้ แต่สำหรับความหมายระดับลึก (deep structure) แล้ว ระเบียบทางสังคมเป็นเครื่องมือของอำนาจของผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ
    
ปัญหาของระเบียบสังคมจึงอยู่ที่ระเบียบทางสังคมไม่เคยเป็นกลาง มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) จึงบัญญัติศัพท์คำว่า “กรงเหล็ก” (iron cage) เพื่ออธิบายถึงความพยายามของระบบทุนนิยมที่เพิ่มความมีเหตุผลเข้าไปในชีวิตประจำวันของคน กฎระเบียบดังกล่าวกลายเป็น “กรงเหล็ก” ที่ขังคนเอาไว้ในระบบ โดยมีความมุ่งหมายเดียว คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ การคิดคำนวณคุณค่าของเหตุผลและการควบคุมสังคม แต่คนที่ระบุการเป็นเครื่องมือทางชนชั้นชัดเจนกว่าเวเบอร์อีก คือ คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ซึ่งเห็นว่าชนชั้นนำใช้ระเบียบทางสังคมเพื่อกดทับชนชั้นผู้ถูกปกครองให้สยบยอมอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองเอาไว้
    
นักวิชาการส่วนใหญ่ในโลกเห็นตรงกันว่าระเบียบทางสังคมไม่เคยเป็นกลางและสัมพันธ์กับอำนาจ แม้แต่นักวิชาการไทยที่มีชื่อเสียงที่ได้แสดงทัศนะผ่านสื่อสังคมเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการสร้างระเบียบทางสังคมจากบนลงล่าง โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อสำคัญ คือไม่สามารถอธิบายได้ว่าระเบียบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวผู้ถูกบังคับและสังคมโดยรวมอย่างไร นอกเหนือไปจากประโยชน์ของชนชั้นนำ
    
เมื่อกล่าวถึงการศึกษาไทย การสร้างระเบียบทางการศึกษามีมาช้านานแล้ว ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ การมีระเบียบที่จู้จี้ จุกจิก เพราะกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาเข้าใจว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย คือ กลไกการสร้างระเบียบทางสังคม ทำหน้าที่หลักตามกรอบตรรกะ คือ การแยกพฤติกรรมที่ไม่ต้องการออกจากพฤติกรรมที่ต้องการ ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นกลไกที่สอนให้นักเรียนและนิสิตนักศึกษายอมรับด้วยว่าพฤติกรรมใดถูกกฎหมายและพฤติกรรมใดผิดกฎหมาย ระเบียบจึงมีตั้งแต่ตรวจเสื้อผ้า หน้าผม รองเท้า ถุงเท้า เวลาเรียน เวลาทำงาน การเกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง คุณสมบัติของความเป็นครู มาตรฐานอาจารย์ ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ อนุวัติตาม อย่างน้อยต้องมีครูเวรอยู่หน้าประตู มีอาจารย์ตามสอดส่องตามห้องเรียน และไปไกลถึงการส่งคณะอนุกรรมการของกระทรวงออกไปตรวจสอดส่องโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 
    
ในทางสังคมวิทยา ระเบียบนี้ก็คือกลไกการปกครองอย่างหนึ่ง ถ้ามองออกนอกรั้วโรงเรียนที่กำลังเพิ่มระดับความสูงขึ้นไปบนฟ้าทุกที จะพบว่านักปรัชญามองกลับกัน ยิ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพิ่มระเบียบมากเข้าไปเท่าใด ความคิดสร้างสรรค์ของคนกลับลดน้อยถอยลง นีชเชอ (Nietzshce) อธิบายว่า “Culture, and the beliefs and values which characterize any group or class, can never be produced by education alone. The greatest peoples sometimes produce genius, but this rare event occurs more often in cultures where the State is less involved in the education of its subjects”.

ความข้างต้นของนีชเชอมีความหมายทำนองว่า วัฒนธรรม ความเชื่อและคุณค่าของกลุ่มหรือ   ชนชั้น ไม่ได้เกิดจากการศึกษาอย่างเดียว พวกอัจฉริยะที่สร้างสิ่งต่างๆ ให้กับโลก แทบไม่ได้มีผล  มาจากการศึกษาที่รัฐมาเกี่ยวข้อง ซึ่งขยายความต่อจากนีชเชอได้ว่า อัจฉริยะพวกนี้ต้องคิดนอกกรอบ แต่การศึกษาของรัฐจะพยายามสร้าง “กรงเหล็ก” ให้กับเขาตลอด เขาจึงไม่มีทางเป็นอัจฉริยะ

กรณีที่เป็นประเด็นทางสังคมขณะนี้ว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งปฏิเสธการเป็นนักเรียนของเด็กหญิงอายุ 15 ปี โดยอ้างระเบียบว่า การมอบตัวเข้าเรียนของเธอไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ปกครองไม่ได้มา   มอบตัวด้วย แต่มีคนอื่นมาอ้างเป็นผู้ปกครอง และคนอื่นนั้นอาจจะไม่ได้รับมอบอำนาจมา ทว่าเด็กหญิงคนนั้นยังยืนยันที่จะเข้าเรียน โดยขัดขืน ต่อต้านและพยายามปีนรั้วโรงเรียนเข้าไป พร้อมกับไม่ยอมแต่งเครื่องแบบนักเรียน หรือไม่เข้าชั้นเรียนวิชาจริยธรรม

เรื่องนี้มีความเห็นเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่ง เห็นว่า ระเบียบต้องเป็นระเบียบ ไม่เช่นนั้นก็ปกครองใครไม่ได้ ดาราหลายคนเห็นด้วย เขาถ่ายภาพตอนที่เขาจูงลูกเข้าประตูโรงเรียน แล้วเขียนคำบรรยายประกอบทำนองว่า “ไม่เห็นต้องปีนเลย” ความเห็นของขั้วนี้วิเคราะห์ได้ว่ามาจากการมองระเบียบทางสังคมว่ามีความเป็นกลาง

แต่อีกขั้วหนึ่ง เห็นว่า ประการแรก เครื่องแบบนักเรียนกลายเป็นความล้าสมัยของโลกและไม่ได้รับประกันว่าจะสร้างนักเรียนที่ดี ปัจจุบันแทบไม่มีประเทศก้าวหน้าที่ไหนบังคับการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ประการที่สอง การอ้างว่า การมอบตัวนักเรียนไม่สมบูรณ์ เพราะมีระเบียบกำหนดให้ต้องมีผู้ปกครองพามานั้น ไม่เป็นเรื่องที่หน่อมแน้มไปหน่อยหรือ?? เพราะโรงเรียนย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้ เช่น รับมอบตัวเด็กไปก่อน เพราะมีผู้รับผิดชอบเบื้องต้นแล้ว แล้วค่อยตามหาผู้ปกครองตัวจริงทีหลัง หากผู้ปกครองไม่ยอมเซ็นรับรองให้ในภายหลัง ก็อาจใช้วิธีการทางด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน เช่น ร้องขอต่อศาลเด็กและเยาวชนขอเป็นผู้ปกครองแทน โรงเรียนน่าจะมีวิธีคิดที่เป็นคุณกับเด็กมากกว่าเป็นศัตรู ตอนนี้ถึงขนาดเอาตำรวจหญิงมาเฝ้าประตูโรงเรียนเพื่อระวังไม่ให้เด็กหญิงคนนั้นเข้าโรงเรียน วิเคราะห์ได้ว่าขั้วหลังนี้ เห็นว่าระเบียบทางสังคมไม่เคยเป็นกลาง ระเบียบกำลังสนองอำนาจ!!

กรณีเด็กกับโรงเรียนนี้ ไม่ว่าใครจะเชื่อว่าระเบียบทางสังคมเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง และความคิดไหนถูกต้อง แต่สะท้อนถึงชุดความคิดและคุณค่าสองชุดที่กำลังปะทะกันในสังคมไทย ตรงนี้   ทำให้นึกถึงริกส์ (Fred W. Riggs) ที่เห็นว่าสังคมไทยยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าไปเป็นสังคมใหม่ จึงมีลักษณะสองอย่างของทั้งสองสังคมผสมปนเปกัน ริกส์กล่าวไว้ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ น่าอัศจรรย์ที่ยังใช้ได้กับพ.ศ. 2566 แม้การเปลี่ยนแปลงที่ริกส์ว่า เขาหมายถึงการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นอุตสาหกรรม ขณะนี้ไทยอยู่ในยุคที่เลยอุตสาหกรรมไปสู่สังคมดิจิทัลแล้วก็ตาม แต่ชุดความคิดเดิมๆ ของสังคมไทยยังย่ำอยู่กับที่!!

ที่จริงระเบียบมิใช่แก่นสารสาระของการเรียน เป็นเพียงครูหรือผู้มีอำนาจตีความเอาเองว่า “เครื่องแบบ” หมายถึง “การมีระเบียบ” และ “การไม่แต่งเครื่องแบบ” หมายถึง “การไม่มีระเบียบ” อีกทั้งเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผู้มีอำนาจที่ “ขวางหูขวางตา” กับคนไม่แต่งเครื่องแบบ แต่ถ้ามองเลยออกนอกสังคมไทยไปสู่อารยธรรมโลกยุคศตวรรษที่ 21 คนอื่นทั้งหลายใน “พหุภพ!!” กลับไม่คิดว่า การไม่แต่งเครื่องแบบเป็นเรื่องขวางหูขวางตา เขากลับคิดถึง “ความสวยงาม” อันเกิดจากความหลากหลาย และสะท้อนถึงเสรีภาพของนักเรียนและนิสิตนักศึกษา โดยนัยนี้ ระเบียบจึงไม่ได้เป็นกลางที่มุ่งหวังที่จะสร้างเอกภาพและเสถียรภาพให้สังคม แต่เป็นเครื่องมือของอำนาจ สะท้อนเพียงว่า “ให้รู้ไว้ว่าใครใหญ่-ใครเล็ก”

คนรุ่นใหม่หลายคนได้ต่อสู้กับเรื่องนี้มานานแล้ว ตัวอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. 2473-2509) ได้ต่อสู้กับประเพณีคร่ำครึและเรียกร้องเสรีภาพทั้งระดับมหาวิทยาลัยและการเมืองภายนอก ขณะเดียวกัน จิตร ภูมิศักดิ์ สามารถสร้างผลงานทางวิชาการในระดับโลก ปัจจุบัน เครก เรย์โนลส์ (Craig J. Reynolds) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล นำเอางานของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทย” (เขียนโดยใช้นามปากกา “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ”) ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ “Thai Radical Discourse The Real Face of Thai Feudalism Today” (ค.ศ. 1994) พร้อมกับบทวิจารณ์และยกย่องว่าเป็นงานวิเคราะห์สังคมตามแนวมาร์กเซียนที่วิเคราะห์วาทกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการผลิต แบบวิธีการครอบงำและความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองอย่างลุ่มลึก เป็นตัวอย่างที่คนไทยได้ต่อสู้เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง มากกว่าเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง แม้จิตรตายไปนานแล้ว แต่ผลงานจิตรยังได้รับการยอมรับอย่างสูงในต่างประเทศ มีการนำไปอ้างอิงและศึกษาต่อกันมากมาย ชนิดที่กล่าวได้เต็มปากว่าอีกหลายร้อยปีจึงจะมีคนไทยที่มีความสามารถเช่นนี้หรือไม่?? แน่ละช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ การต่อสู้กับระบบเดิมของเขาเป็นไปอย่างลำบาก และในที่สุด เขาถูกยิงตายในฐานที่เป็นคอมมิวนิสต์ในราวป่าเทือกเขาภูพาน ตอนนี้ก็มีคนรุ่นใหม่หลายคนกำลังต่อสู้ทำนองเดียวกัน โดยมีประเด็น “สิทธิและเสรีภาพ” ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยละเลยมานาน เห็นได้ชัดว่าฝ่ายโรงเรียนหรือกระทรวงที่รับผิดชอบไม่เคยตระหนักถึงปัญหานี้

ผู้ใหญ่หลายคนเป็นห่วง จึงออกปากเตือนเด็กหญิงคนนั้นว่าเธอต้องแพ้ ขอให้เธอปรับตัวเข้ากับระบบ เพราะผู้ใหญ่ที่เตือนก็เคยเจอ แต่พอปรับตัวได้ในวัยผู้ใหญ่ดังคนเตือนก็สามารถสร้างฐานะที่มั่นคงและอยู่ได้ในสังคม บางคนแสดงความเห็นว่าระบบการศึกษาไทยยืดหยุ่นสามารถเลือกเรียนระบบอื่นที่ไม่ใช่การศึกษาพื้นฐานก็ได้นี่นา?? แต่ดูเหมือนเด็กหญิงคนนั้นจะก้าวไปข้างหน้า... ความคิดเธอออก   ล้ำกว่ายุคสมัย น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “the radical discourse” อีกคนเหมือนกัน บางคนกล่าวว่า นี่แหละ คือ คนที่สังคมสมัยใหม่ต้องการ!!
 
หันมาทางปรัชญา นีชเชอ มีความเห็นตรงกันข้ามกับที่คนไทยกำลังเชื่อในปัจจุบัน เขาอธิบายว่า วัฒนธรรมไม่ได้สร้างโดยการเมืองและเศรษฐกิจ ยิ่งมีการเมืองและเศรษฐกิจมากวัฒนธรรมยิ่งเสื่อม ในทางกลับกัน เมื่อการเมืองเสื่อม วัฒนธรรมกลับยิ่งเจริญ ดังที่เขากล่าวว่า “All great periods of culture have been periods of political decline.” The energy required for politics on a large scale, or in economy, usually reduces the level of culture of a people. 

เหตุผลสนับสนุนนีชเชอก็ง่ายๆ หากการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม การเมืองก็จะนำเอาวัฒนธรรมไปเป็นเครื่องมือทางการปกครอง ส่วนเศรษฐกิจก็จะเอาวัฒนธรรมไปขายเพื่อผลิตเป็นสินค้าวัฒนธรรม (modification of culture) ดังเช่น ตลาดพระ หรือบรรดาซอฟท์พาวเวอร์ที่เราคิดว่าจะนำเงินเข้าประเทศ

ในเวลาเดียวกัน นีชเชอ เห็นว่า การศึกษาก็ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมการค้นหาจิตวิญญาณเสรี ตรงกันข้าม คนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและการศึกษาต่างหาก ที่สามารถค้นหาจิตวิญญาณเสรีได้ เพราะการไม่สนใจวัฒนธรรมและการศึกษาเดิมของสังคม ช่วยให้คนฟื้นคืนกลับมาเป็นมีความ เป็นคนที่แท้จริงและสามารถค้นหาวัฒนธรรมจิตวิญญาณเสรีได้ เขาไม่ใช่เป็นเพียง “เงา” ของมนุษยชาติอีกต่อไป (This indifference to history and education will finally produce a genuinely vital culture: a freedom of spirit, “ At the end of the cure they are men again and have ceased to be mere shadows of humanities.)

นีชเชอก็เหมือนนักปรัชญาอีกหลายคน เขาตายไปแล้วเป็นเวลาเป็นร้อยปี คนทั้งโลกจึงเห็นว่า   สิ่งที่เขาได้กล่าวเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อและคุณค่าของสังคม นั้น เป็นความจริงทุกอย่าง ดังที่เกิดเป็นที่ประจักษ์และการยอมรับกันทั่วไปในสังคมตะวันตกในปัจจุบัน นีชเชอจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น นักปรัชญาตะวันตกที่ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามคนของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นอกเหนือไปจากคาร์ล มาร์กซ และซิกมุนด์ ฟรอยด์
    
ฉะนั้น การพูดถึงปรัชญาของนีชเชอและงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่กล่าว จึงไม่ใช่เป็นการให้ท้ายเด็กอย่างที่มีคนค่อนขอด แต่เป็นการให้ข้อคิดและข้อความจริงที่สังคมไทยจะต้องเผชิญในเวลาอีกไม่ช้า ไม่นาน แน่นอนว่า--ไม่มีใครเปลี่ยนกงจักรปีศาจแห่งกาลเวลาได้!!!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net