Skip to main content
sharethis

ไรเดอร์ ร้อง ‘เพื่อไทย’ ช่วยแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังถูกต้นสังกัดยกเลิกพักงาน 10 นาที

23 มิ.ย. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) สมาคมไรเดอร์ไทย นำโดยนายพรเทพ ชัชวาลอมรกุล นายกสมาคมไรเดอร์ไทย นำกลุ่มไรเดอร์ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค พท. เพื่อขอให้พรรค พท.ช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิแรงงานของไรเดอร์ โดยเฉพาะการยกเลิกพักงาน 10 นาทีโดยไม่มีเงื่อนไขจากระบบของบริษัทต้นสังกัด อีกทั้งที่ผ่านมาทางสมาคมไรเดอร์ไทยได้ยื่นหนังสือผ่านหลายหน่วยงานและรัฐบาลรักษาการแล้วแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด

ขณะที่ ตัวแทนสมาคมไรเดอร์ไทย กล่าวว่า ไรเดอร์ที่ส่งอาหารให้ลูกค้าขณะนี้ทำงานไม่มีประกันสังคมการรักษา เมื่อรถล้มก็ไม่มีการช่วยเหลือ แม้จะมีประกันช่วยเหลือแต่ก็ไม่คุ้ม และบางวันต้องต้องทำงานถึง 14 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำงานที่มากขึ้นเหนื่อยขึ้น แต่ค่าแรงน้อยลง ดังนั้น สิ่งที่ไรเดอร์เรียกร้องคือ ขอให้มีการพิจารณายกเลิกพักงานชั่วคราว 10 นาที จากรณีที่ลูกค้าที่ได้รับอาหารล่าช้า ซึ่งเกิดจากระบบรับงานพ่วงของบริษัทต้นสังกัด จนทำให้ไรเดอร์ขาดรายได้ อาทิ เหตุการณ์ที่ไรเดอร์รับงานที่ห้างแห่งหนึ่งแล้วต้องรอสินค้าที่เป็นน้ำหรืออาหาร 30 นาที ขณะนั้นบริษัทก็ส่งอีกงานหนึ่งเข้ามาทำให้ต้องไปรับสินค้าอีกแห่งหนึ่งในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งไม่ใช่ความผิดของไรเดอร์ และถ้าไรเดอร์ไม่รับงานลูกค้าต่อเนื่องก็จะเกิดปัญหาเนื่องจากจะถูกบริษัทปิดระบบรับงาน 10 นาทีไม่ให้รับงานต่อ ทำให้ขาดรายได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/6/2566

สลด พนักงานร้านสะดวกซื้อ โหมงานหนัก นอนเสียชีวิตหลังร้าน

วันที่ 23 มิ.ย.2566 พ.ต.ท.วัชรพงศ์ เทียนประถัมภ์ สารวัตรเวร(สอบสวน) สภ.สามโคก รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตภายในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หลังรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบพร้อมอาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และแพทย์เวรนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม

ที่เกิดเหตุภายในร้านสะดวกซื้อบริเวณด้านหลัง พบผู้เสียชีวิตชื่อ นายประภา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี สภาพศพนอนเสียชีวิตอยู่ข้างประตูด้านหลัง ใส่ชุดพนักงานร้านสะดวกซื้อ และสวมถุงมือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบชันสูตรพบศพพร้อมบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน ก่อนเชิญพนักงานเพื่อนร่วมงานไปสอบปากคำที่ สภ.สามโคก ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียด และให้อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนำร่างผู้เสียชีวิตส่งนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อตรวจสอบต่อไป

จากการสอบถามเพื่อนร่วมงานบอกว่า ตนเองและผู้ตายทำงานอยู่กะกลางคืน ผู้ตายเป็นทั้งพนักงานคิดเงินและขับรถจักรยานยนต์ส่งสินค้า ซึ่งผู้ตายบ่นว่าเหนื่อย และเดินไปหลังร้าน ตนเห็นว่าผู้ตาย หายไปนานจึงเดินไปดูด้านหลัง ก็พบว่าผู้ตายนอนเสียชีวิตอยู่ข้างประตูด้านหลัง จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ

ที่มา: ข่าวสด, 23/6/2566

โผล่อีก! ส่วยสติกเกอร์แรงงานนนทบุรี สารพัดรูปสัตว์“สิงโต-เป็ดไก่-เสือ” จ่ายเดือนละหลายพัน สมุทรปราการเจอส่วยเทศกิจ รีดเงินแผงลอย

จากกรณี “ส่วยกล้วยทอด”ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่ถูกเปิดประเด็นขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันก่อน ล่าสุดมีพบว่ายังมีส่วยสติกเกอร์รูปสัตว์โผล่มาอีก โดยเรียกเก็บเงินแบบรายเดือน

จากข้อมูลทราบว่าเป็นส่วยสติกเกอร์ที่เก็บจากพ่อค้าขายปลาหมึกบด โดยมีสติกเกอร์ 2 ใบ คือ รูปไก่ และ รูปเป็ด ติดไว้ด้านหลังโทรศัพท์มือถือ เพื่อง่ายต่อการหยิบมาแสดง ซึ่งแหล่งข่าวบอกว่าต้องจ่ายส่วยค่าสติกเกอร์ประมาณ 4,500 บาท และยังไม่รวมกับที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 8-9 หน่วยงาน หน่วยงานละ 500 บาท

ทั้งนี้สำหรับสติกเกอร์ส่วยที่พบในพื้นที่บางใหญ่ มี 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ สติกเกอร์สิงโต กลุ่มที่สอง เป็นสติกเกอร์สัญลักษณ์ รูปไก่ และ รูปเป็ด  และกลุ่มสุดท้ายเป็นสติกเกอร์รูปเสือโคร่ง และ เสือดำ  โดยคนที่มีสติกเกอร์ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเป็นแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้ส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ แต่ก็ต้องยอมจ่ายเงิน เพราะหากถูกปรับจะเสียเงินมากกว่านี้  และที่สำคัญถ้าถูกจับก็จะไม่ได้ทำงาน

ขณะที่ พ.ต.อ.เบญจพล รอดสวาสดิ ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลแรงงานต่างด้าว ให้ข้อมูลว่าจังหวัดนนทบุรี มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน 4 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมเกือบ 5,000 คน

ส่วนประเด็นเรื่องส่วยสติกเกอร์ ไม่ทราบว่าเป็นของใคร แต่ไม่ใช่ของ ตม.อย่างแน่นอน  เพราะที่ผ่านมากำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ให้มีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์  หากเจอแรงงานทำผิดกฎหมายก็จับดำเนินคดีและผลักดันส่งกลับ แต่หากมีใครแอบอ้างชื่อตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไปเรียกรับผลประโยชน์ สามารถแจ้งเข้ามาเพื่อตรวจสอบและจับดำเนินคดี

นอกจากนั้นยังมีส่วยเทศกิจ ที่ พ่อค้า-แม่ค้าแผงลอย ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ถูกเรียกรับเงินเดือนละ 1,000 - 1,500  บาท  อ้างว่าเป็นค่าจัดการเก็บขยะ ซึ่งทีมข่าวได้ข้อมูลเพิ่มว่า บางพื้นที่ต้องจ่าย  2  ต่อ  ทั้งเจ้าของพื้นที่และเทศกิจ  รวมเดือนนึงจ่ายถึง  6,000  บาท ซึ่งมีคลิปหลุดที่บันทึกพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ไปเรียกเก็บเงิน ที่เรานำเสนอไปเมื่อวานนี้ ล่าสุด  ตรวจสอบพบว่า คนที่แอบถ่ายคลิป  เป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วยกันเอง

โดยนายสาธิต  ยอมรับว่า เป็นคนปล่อยคลิปแฉการเรียกรับเงินเอง  เนื่องจากทนไม่ไหวกับการเรียกรับเงินที่ไม่ถูกต้อง   พร้อมยืนยันว่า  ไม่ใช่คนบงการที่ส่งคนไปเก็บเงินพ่อค้าแม่ค้า  แต่เป็นคนที่สั่งห้ามไม่ให้ขายของบนทางเท้า ส่วนคนที่เรียกรับเงิน เป็นเจ้าหน้าที่อีกคนชื่อ  ฐิติวัฒน์ และเป็นคนที่พาวัยรุ่นไปเก็บเงิน

ด้านนายวชิรเชษฐ์ รุ่งธวัฒน์วงศ์  นายกเทศมนตรีตำบลเทพารักษ์ ซ้ำอีกครั้งถึงเรื่องการดำเนินการ ซึ่งก็บอกเพียงว่า   มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว เมื่อสอบถามว่าการจะเก็บค่าขยะรายเดือนของเทศบาลมีจริงหรือไม่ นายกเทศมนตรีฯ  บอกว่า  มีทั้งรายเดือนและรายปี แต่ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องราคา  อยู่ระหว่างการตรวจสอบ  หากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินการวินัยร้ายแรง

ที่มา: PPTV, 23/6/2566

ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน-ชายหญิงก้าวไกล-สสส. สานพลังแก้ปัญหาพนันกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม พบพนันในโรงงานทั้งออฟไลน์ออนไลน์รุกหนัก เชื่อมเว็บเงินกู้

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา “การพนันในวิถีชีวิตประจำวันของแรงงานภาคอุตสาหกรรม”

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สสส. กล่าวว่า โครงสร้างการจ้างงาน ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การควบคุมของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด คนงานต้องหาวิธีปลดปล่อย ซึ่งมีหลายวิธีที่ไม่ได้เสี่ยง แต่ทำไมคนงานกลุ่มหนึ่งถึงเลือกผ่อนคลายกับสิ่งที่เป็นความเสี่ยง เช่นดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเป็นเรื่องไม่ดี ทำให้ชีวิตยิ่งเสี่ยง หลายคนได้รับผลกระทบก็ไม่หยุด

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา ต้องถามก่อนว่าใครคือคนแก้ไข กฎหมายแก้ไขได้ไหม ออกระเบียบจัดการได้จริงไหม บางคนบอกว่าถ้าขึ้นค่าจ้างแล้วคนงานจะเอาเงินไปเล่นพนันมากขึ้น ก็อาจจะมีบ้าง แต่เชื่อว่าสัดส่วนเงินรายได้ที่ใช้เล่นพนันจะลดลงแน่

“การมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถคาดหวังอนาคตได้ ทำให้การเล่นพนันของคนงานเป็นความหวังของกลุ่มคนที่สิ้นหวัง คนงานมีความเชื่อว่าชีวิตจะไม่มีทางดีขึ้นได้ นอกจากถูกหวย ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้างรายได้ของแรงงาน คนงานต้องได้ค่าจ้างที่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิต พอมีรายได้เพียงพอ ความเครียดลดลง ก็ไม่ต้องหวังลมๆแล้งๆ ไม่ต้องหวังออกจากกับดักรายได้ด้วยการเล่นหวย” รศ.แล กล่าว

ผศ.ปัทมาภรณ์ สุขสมโสด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า แรงงานมีวิถีชีวิตที่จำเจ ส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลาเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต หลายคนต้องส่งเงินกลับบ้าน ต้องใช้หนี้เงินผ่อน ผ่อนรถ ผ่อนของ โดยทั่วไปคนงานไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเล่นพนันกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ เริ่มจากเล่นตามการแนะนำของเพื่อนในโรงงาน เห็นเพื่อนเล่นได้ก็ตามไปเล่น เวลาที่ใช้เล่นพนันมีทั้งช่วงพักเบรก พักกลางวัน กลุ่มที่เล่นเสียมักจะขอยืมเงินจากเพื่อนก่อน หนักๆ เข้าก็ไปกู้ยืมเงินนอกระบบ กลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง

“เดี๋ยวนี้ทุกคนมีเฟซบุ๊ก หาข้อมูล คลิ๊กตามเข้าไปเล่นพนัน ระบบก็จะพบคุณแล้วเสนอเว็บพนันให้ตามเข้าไปเล่น มีสูตรเด็ด เว็บจ่ายจริง อะไรอีกสารพัด แถมมีไลน์กลุ่มให้บริการ 24 ชั่วโมง การเล่นพนันออนไลน์จึงสะดวก คนงานเข้าถึงได้ด้วยความรวดเร็ว แค่ไม่กี่วิ โอนเงินเข้าไปก็เล่นได้เลย บางคนหารายได้เสริมด้วยการแชร์หน้าเว็บ คนงานจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นปัญหา ไม่เคยจดจำว่าเสียไปแล้วเท่าไหร่ บางคนมีปัญหาหนี้สิน ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ความเครียดจากพนันทำให้เสียสุขภาพ เสียสมาธิในการทำงาน นายจ้างเองก็เห็นปัญหาและอยากร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ผศ.ปัทมาภรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการพนันในโรงงานคนจะคิดถึงหวย มวย พนันบอล แต่ปัจจุบันการพนันออนไลน์กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมแรงงาน ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ในงานวิจัยพยายามค้นหาว่าทำไมคนงานถึงเล่นพนัน พบว่า คนงานแบกความคาดหวังจากบ้านออกมาทำงาน คนงานไม่ได้ต้องการเป็นคนงานตลอดชีวิต คาดหวังจะมีเงินสักก้อนกลับไปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้านเกิด แต่ด้วยรายได้ที่ต่ำ ความสิ้นหวัง ความเครียด ทำให้คนงานเล่นพนัน ยิ่งเล่นก็ยิ่งเพิ่มเงินพนัน เสียพนันจนเป็นหนี้ก็ไม่เลิก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา

นายจิระศักดิ์ ล้ำเลิศ ประธานสหภาพแรงงานไทยนิปปอนสตีล กล่าวว่า คนงานเล่นพนันมี 3 กลุ่ม

1) เล่นเพื่อมีความสุข สนุกสนาน เผื่อฟลุ๊ค

2) เล่นเพราะโลภ อยากได้โดยไม่ต้องลงมือทำ

3) เล่นเพราะนิสัยไม่ยอม เสียแล้วอยากได้คืน เสียแล้วตาม พวกนี้มักจบลงด้วยปัญหา

ถึงโรงงานจะมีระเบียบห้ามเล่นพนัน ถ้าถูกเลิกจ้างเพราะเล่นพนันจะไม่ได้เงินชดเชย ก็ไม่กลัว คิดว่าทางแก้เรื่องแรกคือ รัฐต้องห้ามโฆษณา ห้ามการเชิญชวนในรายการทีวีต่างๆ อีกด้านต้องพยายามสื่อสารให้คนงานรู้เท่าทันปัญหาพนัน เข้าใจเรื่องสุขภาวะ เรื่องดีๆ ที่ สสส.ทำ ทุกวันนี้คนงานแทบจะไม่รู้ ต้องหาวิธีสื่อสารให้เข้าถึงคนงาน

นายธนกร พวยไพบูลย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ค่าจ้างต้องเป็นธรรม สวัสดิการต้องเป็นจริง ปัญหาเริ่มจากรายได้ไม่พอ เครียด แล้วก็ทำเรื่องเสี่ยงๆ ทำให้ยิ่งไม่พอ ยิ่งเครียด การพนันของคนงานมีมานานแล้ว แต่ออนไลน์ทำให้เล่นง่าย เล่นได้เร็วขึ้น เลยติดพนันกันมากขึ้น เดี๋ยวนี้คนปล่อยกู้ในโรงงานแปลงร่างเป็นเจ้ามือ กระตุ้นให้คนงานเล่นพนันหนักขึ้น หลายคนเล่นพนันจนเสียรถเครื่อง

ในเวทีตัวแทนแรงงานหลายพื้นที่ร่วมสะท้อนปัญหา หลายคนเล่าว่าได้เข้าร่วมโครงการลดละเลิกพนันของ สสส. สหภาพแรงงานร่วมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเล่นพนันอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ต้องรู้เท่าทันพนัน พวกสอนสูตร สอนว่าเล่นอย่างไรถึงชนะ เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น เจ้ามือไม่มีทางทำให้เราชนะ และตอนทำกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยกลุ่มที่มีปัญหาจากการพนัน ทำให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้เว็บพนันกับเว็บเงินกู้เป็นเครือข่ายเดียวกันกับ call center เป็นเรื่องมิจฉาชีพออนไลน์

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมช่วยกันสรุปข้อเสนอต่อแนวทางแก้ไขปัญหา

1) ต้องปรับโครงสร้างการจ้างงาน รวมถึงการจัดสวัสดิการ ทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอในการดูแลตนเองและครอบครัวได้จริง

2) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรู้เท่าทันพนัน ให้ความรู้เรื่องโทษของการเล่นพนันแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างทั่วถึง

3) ผู้ประกอบการควรปรับข้อตกลงในการจ้างหรือสัญญาการจ้างงาน ระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าเล่นการพนันในระหว่างทำงานจะถูกลงโทษอย่างไร และกรณีโดนเลิกจ้างเพราะเล่นการพนันในระหว่างทำงานจะเสียสิทธิ์ในการได้ค่าชดเชยอะไรบ้าง ส่วนข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้เลยคือ สหภาพแรงงานควรจับมือกับนายจ้างในการรณรงค์ “ห้ามเล่นการพนันและโทษของการเล่นพนันในสถานประกอบการ”

ที่มา: Thai PBS, 22/6/2566

แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเศรษฐกิจ ยืดเวลายื่นเอกสารการทำงานต่างด้าวต่อจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครอง ดูแลสิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. แรงงานต่างด้าว MOU 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และ เมียนมา) ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี และ 2. แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้สามารถอยู่ต่อและทำงานเป็นการชั่วคราวได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยแนวทางการจัดการดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสารได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังต้องการแรงงานเพื่อดำเนินกิจการในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการจัดการดังกล่าวของรัฐบาลได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นกระแสขอบคุณการทำงานของรัฐบาลที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที มีมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศ ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวกว่า 3-4 แสนคน ที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทัน รวมถึงเป็นการทำงานที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคแรงงาน รวมถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลให้การดูแล วางแนวทางเชิงรุกแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน เพื่อรองรับการฟื้นตัวโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า มาตรการที่สอดคล้องของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการและแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ภาคธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบ ซึ่งการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแบบแผนของรัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหา ดูแลแรงงานได้อย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายอนุชา กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/6/2566

รมว.แรงงานเตรียมเยือนเกาหลี MOU จัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เตรียมเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายนนี้ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล ร่วมกับเมืองท้องถิ่นของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือเป็นข่าวดีของแรงงานภาคเกษตรชาวไทย เนื่องจากเป็นการไปทำงานระยะสั้น และไม่ต้องทดสอบทักษะด้านภาษา ทำให้แรงงานไทยมีโอกาสไปทำงานเกาหลีใต้ได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาการว่างงาน และลดการลักลอบเข้าไปทำงานที่เกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ คุณสมบัติเบื้องต้นนั้น ต้องมีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 25-50 ปี และมีการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร หรือมีประสบการณ์งานเกษตร 1 ปีขึ้นไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/6/2566

2 ประเทศหารือ ปรับขั้นตอนนำเข้าแรงงาน เมียนมาขอไทยลดค่าวีซ่า 75%

20 มิถุนายน 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานประชุมหารือร่วมกับทางการเมียนมา เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาตาม MOU ที่วาระการจ้างงาน ครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565-31 กรกฎาคม 2566 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ให้มีการปรับลดขั้นตอนในการนำแรงงานเข้ามาทำงานตาม MOU

โดยให้แรงงานเดินทางกลับประเทศต้นทาง และสามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ในโอกาสแรกโดยไม่ต้องมีระยะเวลาพัก 30 วัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ก่อให้เกิดประโยชน์กับแรงงานและนายจ้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการนำเข้าแรงงาน นายจ้างมีแรงงานเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการสอดคล้องกับการฟื้นฟูการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ฝ่ายเมียนมายังได้หารือในประเด็นการปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราวีซ่าจาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และความร่วมมือในการดูแลและคุ้มครองแรงงาน

“รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดี และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ฝ่ายไทยเชื่อมั่นว่าการประชุมหารืออย่างสร้างสรรค์และมีไมตรีจิตในครั้งนี้ จะนำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/6/2566

ไทยเสนอเมียนมาปรับลดขั้นตอนการนำเข้าแรงงาน MOU ตามมติ ครม. วันที่ 30 พ.ค. 66

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานประชุมหารือร่วมกับทางการเมียนมาเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาตาม MOU ที่วาระการจ้างงาน ครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 กรกฎาคม 2566 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ให้มีการปรับลดขั้นตอนในการนำแรงงานเข้ามาทำงานตาม MOU โดยให้แรงงานเดินทางกลับประเทศต้นทางและสามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ในโอกาสแรกโดยไม่ต้องมีระยะเวลาพัก 30 วัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์กับแรงงานและนายจ้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการนำเข้าแรงงาน นายจ้างมีแรงงานเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการสอดคล้องกับการฟื้นฟูการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ฝ่ายเมียนมายังได้หารือในประเด็นการปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราวีซ่าจาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และความร่วมมือในการดูแลและคุ้มครองแรงงาน

“รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดี และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ฝ่ายไทยเชื่อมั่นว่าการประชุมหารืออย่างสร้างสรรค์และมีไมตรีจิตในครั้งนี้ จะนำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, 20/6/2566

สรุปผลหารือ สธ.ร่วม ก.พ. ตั้งคณะทำงาน 30 วัน เพิ่มอัตรากำลัง ความก้าวหน้า ปรับเกณฑ์สร้างขวัญกำลังใจทุกวิชาชีพ

วันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีการประชุมหารือทางออกภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.  นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. และนายสุวัฒน์ เอื้อเฟื้อ รองเลขาธิการ ก.พ.  ร่วมหารือทางออกร่วมกันเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมง

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกัน ได้มีความเห็นตรงกันว่า ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องรับบริการการแพทย์เพิ่มขึ้น การรองรับการดูแลผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความคาดหวังต่อระบบบริการสาธารณสุขที่มีมากขึ้น ทั้งการครอบคลุมสถานที่ คุณภาพ ห้วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ภาระงานบุคลากรฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน อีกประการที่เป็นเหตุย่อยๆ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้บางแห่งไม่สามารถจัดบริการประชาชนได้เหมือนเดิม ทำให้ต้องกลับมารับบริการที่รพ.ของสธ. แม้ที่ผ่านมาจะมีบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาลเพิ่ม แต่เมื่อเทียบภาระงาน ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหารือร่วมกันโดยใช้กรอบความคิด วิธิการใหม่ในการดำเนินการตรงนี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ข้อสรุปของการนำเสนอเรื่องนี้ อันดับแรก ที่ประชุมเห็นชอบในการเพิ่มอัตราตำแหน่งราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่งสธ.วางแต่ละวิชาชีพไม่เท่ากัน แต่เรามีหลักคิดตรงนี้อยู่ ยกตัวอย่าง แพทย์ วางเป้าไว้ที่ 35,578 คนภายในปี 2569  จากปัจจุบันอยู่ที่ 24,649 คน (ข้อมูล ณ 10 ก.ค.65) ส่วนพยาบาล ตั้งไว้ที่ 175,923 คนภายในปี 2569 จากปัจจุบัน 116,038 คน  ประการต่อมา เรื่องความก้าวหน้า ที่ประชุมเห็นด้วยเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง พยาบาล ที่รอการเป็นชำนาญการพิเศษ หรือซี 8 ซึ่งปัจจุบันติดอยู่ที่ชำนาญการหรือซี 7 แต่ทางผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกฯ มองว่า ควรขยายไปถึงเชี่ยวชาญในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะภูมิภาคต้องพิจารณา ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาเกณฑ์ จากเดิมมีเกณฑ์ติดขัด เช่น พยาบาลต้องครบ 4 คนจึงจะปรับเป็นชำนาญการพิเศษ ซึ่งน้อยอยู่แล้ว ไม่เพียงพอ จึงจะดูว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

นอกจากนี้   ในเรื่องอัตรากำลัง ซึ่งแพทย์ในระดับภูมิภาคจะหายไป 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ การลาไปฝึกอบรม อย่างแพทย์ประจำบ้านประมาณ 4 พันคน แบ่งออกเป็นไปอยู่ภาคมหาวิทยาลัย ซึ่งหากไปอยู่ส่วนกลาง ก็ทำให้จำนวนแพทย์ในภูมิภาคลดลง ดังนั้น ทางสธ.จึงเสนอให้อยู่ในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะปีที่ 2 และ 3 โดยผู้ที่มีทักษะมากควรอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะหารือกับแพทยสภา ส่วนประเด็นที่สอง สนับสนุนให้มีการลาฝึกอบรม และอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค ยกตัวอย่าง รพ.สังกัดสธ. ที่มีความสามารถเปิดเทรนนิ่ง โดยไม่ต้องลาศึกษาแต่ให้ทำงานฝึกอบรม และได้วุฒิบัตรพร้อมกัน ซึ่งก็จะคงอัตรากำลังทันที ในโควต้าสธ.มีประมาณ 1,500 กว่าที่นั่ง(ตำแหน่งที่ว่างเรียน) โดยจะขยายได้อีก เพราะเรามีรพ.สังกัดที่เป็นศูนย์แพทย์ประมาณ 48 แห่งที่มีศักยภาพในการเทรนนิ่งได้

ส่วนเรื่องการจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรืออินเทิร์น ให้เพียงพอกับภาระงาน โดยเราเสนอ 85% ซึ่งก็ต้องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ Consortium ส่วนเรื่องระยะยาว ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า CPIRD  หรือการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ทำให้มีอัตราคงอยู่ 80-90% จึงจะขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาให้ได้ปีละ 2 พันคน ซึ่งจะตรงกับความต้องการของสธ. ดังนั้น หากคำนวณแล้วก็จะประมาณ 30 กว่าคนต่อศูนย์แพทย์ 1 แห่ง ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า ลูกหลานที่เรียนแพทย์ได้ก็จะไปทำงานที่บ้าน ที่ภูมิลำเนาได้ด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถรักษาคนอยู่ในตรงนี้ได้

“ทั้งหมดจะให้เห็นผลภายใน 30 วัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง ขึ้นมาทำงานเกี่ยวกับเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จะเสนอ 85% ปัจจุบันได้เท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ไม่ถึง 70% แต่จะขอให้ได้ถึง 85% ซึ่งก็ต้องมีการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการ Consortium อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่เราดูประชากรบัตรทองถึง 88% 

“ส่วนเรื่องแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับการไม่ต้องขอลานั้น พูดง่ายๆ คือ ไปปฏิบัติงานได้โดยไม่ถูกแป้กเงินเดือน อย่างหน่วยราชการอื่นๆ ก็ไม่ถูกแป้ก แต่ได้รับเงินเดือนตามขั้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิชาชีพอื่นๆ” ปลัดสธ.กล่าว

นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมประชุมการบริหารงานบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะงานโควิด19 อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะทำงานภายใน 30 วันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน แม้จะมียุบสภา มีการเลือกตั้ง การรอจัดตั้งรัฐบาล แต่การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ประชาชนยังดำเนินการต่อไปได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมายกำหนด

นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ.  กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ. และสธ.ได้คุยกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยสำนักงาน ก.พ.สนับสนุนบุคลากรการแพทย์มาตลอด ทั้งอัตรากำลัง ค่าตอบแทน เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาเห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องมาแก้ไขให้ทันท่วงที โดยต้องพิจารณาทั้งประชาชนที่ต้องการได้รับบริการ ตัวระบบในเรื่องอัตรากำลัง ต้องเร่งแก้ไขและดูภาพรวม ว่า อัตรากำลังตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไรที่เราต้องบริหารจัดการ เราตระหนักดีว่า แรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง ทาง ก.พ.พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกับ สธ.

ผู้สื่อข่าวถามทางสำนักงาน ก.พ.ถึงความคืบหน้ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สธ.ต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการทบทวนร่วมกับกระทรวงฯ มาตลอด และพบว่า สธ.มีตำแหน่งว่างอยู่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1. วัตถุประสงค์การบรรจุ ว่า ยังคงหลักการแตกต่างจากรอบแรกหรือไม่ และ2.การบริหารอัตราว่างที่มีอยู่ จะบริหารอย่างไร และส่วนไหนจะขออัตราตั้งใหม่ เพื่อสำนักงาน ก.พ. ได้เสนอให้เหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามนพ.ทวีศิลป์ กรณีการวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังปี 69 สายวิชาชีพของคณะทำงานฯ มุ่งเน้นวิชาชีพใด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ให้ทุกวิชาชีพ เราพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาล เพียงแต่ตัวเลขไหนทำได้ก่อนก็จะดำเนินการก่อน แต่ย้ำว่า ให้ความสำคัญทุกวิชาชีพ

ที่มา: Hfocus, 20/6/2566

เร่งฝึกทักษะอาชีพผู้มีรายได้น้อย หวังสร้างรายได้หมุนเวียนให้ชุมชน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะแรงงานอิสระยุค 4.0 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานอิสระที่มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในการเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน นอกจากมีการฝึกทักษะอาชีพแล้ว ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับสิทธิ์รับมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่อยอดในการประกอบอาชีพ เป็นการันตีว่าเป็นโครงการที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 31,500 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 22,281 คน มีงานทำกว่าร้อยละ 88 และมีรายได้เฉลี่ย 8,384 บาทต่อเดือน ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ

ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จะคัดเลือกหลักสูตรที่แรงงานสนใจและสามารถต่อยอดด้านการประกอบอาชีพในพื้นที่ได้ ซึ่งในแต่ละหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมได้รับกระแสตอบรับที่ดีมีผู้สมัครเข้าเป็นจำนวนมาก และบางหลักสูตรมีผู้สมัครเกินกว่าที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการเพิ่มจำนวนรุ่นในการอบรม

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ยังได้รับเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อนำไปประกอบอาชีพด้วย นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีเป็นการติดอาวุธด้านทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมให้กลุ่มเหล่านี้มีอาชีพเท่ากับเป็นสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกิดขึ้นภายในชุมชน มีอาชีพหลากหลายมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ลดทอนปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 19/6/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net