ย้อนดู 'พระราชหัตถเลขา' 3 ฉบับ ในราชกิจจาฯ ก่อนหน้านี้ ไม่ปรากฏชื่อผู้ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่ฉบับพระราชทานอภัยลดโทษล่าสุดมีชื่อ 'ประยุทธ์' ในฐานะนายกฯ เป็นผู้ลงนาม อีกประเด็นน่าสนใจคือพระราชหัตถเลขาที่เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนหน้านี้ต้องย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 7
จากกรณี วันนี้ (1 ก.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ 'พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ' ให้ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร จาก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษาเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป นั้น
โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อผู้ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนหน้านี้พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 ฉบับ ไม่ปรากฏชื่อผู้ลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกอบด้วย
- พระราชหัตถเลขา เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ [ชุดใหม่] 11 ม.ค. 2564 ดูรายละเอียด https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17155055.pdf
- พระราชหัตถเลขา เรื่อง แต่งตั้งประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. 14 ต.ค. 2562 ดูรายละเอียด https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17107900.pdf
- พระราชหัตถเลขา เรื่อง แต่งตั้งประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว 14 ต.ค. 2562 ดูรายละเอียด https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17107902.pdf
ผลการสืบค้นในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
สำหรับพระราชหัตถเลขาที่เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนหน้านี้ต้องย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 7 หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นพระราชหัตถเลขาถึงกรณีการตรวจรายงานสร้างพระไตรปิฎก เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2470