Skip to main content
sharethis

สธ.ดูแลความก้าวหน้า "พยาบาล" เร่งประเมินกลุ่มหัวหน้างานเข้าสู่ตำแหน่ง "ชำนาญการพิเศษ-เชี่ยวชาญ"

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ความก้าวหน้าการกระจายตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ "ชำนาญการพิเศษ" 10,124 ตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ ก.พ. ลำดับแรกจะกำหนดให้หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้างาน หัวหน้าหอผู้ป่วย รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปให้ครบตามโครงสร้าง และหัวหน้างานต่างๆ ใน รพ.ชุมชน พร้อมเพิ่มระดับ "เชี่ยวชาญ" เฉพาะสาขาให้ครบทุกกลุ่มงาน เร่งประเมินบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งภายในปีนี้ เพิ่มความก้าวหน้าในวิชาชีพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลความก้าวหน้าของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลทุกวิชาชีพ ทั้งเรื่องค่าตอบแทน ความก้าวหน้า และสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ล่าสุดเรื่องระดับชำนาญการพิเศษของพยาบาลวิชาชีพ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อนุมัติตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษของพยาบาลให้แก่กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10,124 ตำแหน่ง โดยให้กระจายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม กำหนดตำแหน่งตามภาระงานที่แท้จริง จึงได้ส่งข้อมูลให้หน่วยงานร่วมกันตรวจสอบโดยต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ และส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2566 นี้ เพื่อเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข กำหนดตำแหน่งต่อไป หลังจากนั้นจะเป็นการประกาศเพื่อคัดเลือกและประเมินบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง

โดยลำดับแรกในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กำหนดเพิ่มตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษให้หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้างาน หัวหน้าหอผู้ป่วย ให้ครบ 16 กลุ่มงานตามโครงสร้าง ส่วนโรงพยาบาลชุมชน เดิมมีระดับชำนาญการพิเศษเฉพาะหัวหน้าพยาบาลและหัวหน้ากลุ่มงานบริการปฐมภูมิและองค์รวม ได้เพิ่มตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษในส่วนของหัวหน้างานผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยใน และอาจมีงานพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัด งานการพยาบาลผู้คลอด งานพยาบาลผู้ป่วยหนัก และงานการพยาบาลควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยพิจารณาตามภาระงานและหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าของพยาบาล

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ยังอนุมัติกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญของพยาบาลเพิ่ม โดยกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เดิมมีหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล 78 แห่ง และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา 5 ด้าน จำนวน 72 ตำแหน่ง จะเพิ่มพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาให้ครบ 16 กลุ่มงานตามโครงสร้าง ขณะที่โรงพยาบาลชุมชน ระดับแม่ข่าย เดิมหัวหน้าพยาบาลเป็นระดับชำนาญการพิเศษ จะเพิ่มเป็นระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 ตำแหน่ง ทั้งนี้ กระบวนการประเมินคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งจะดำเนินการอย่างรอบคอบ เป็นธรรม โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 จากนั้นจะให้ส่งผลงานประเมินภายใน 6 เดือน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาผลงานและเสนอออกคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

ที่มา: Hfocus, 2/9/2566

‘เศรษฐา’ ควง ‘ธรรมนัส’แก้ปัญหาประมง-ตั้งวันสต๊อปช็อปแก้ปัญหาแรงงานประมง ย้ำขึ้นค่าแรงจำเป็นแต่เน้นเพิ่มรายได้ ย้ำเป็น รบ.ของ ปชช.ทุกคน

ที่ท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี ว่าที่รมช.คมนาคม และรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายไผ่ ลิกค์ ว่าที่รมช.พาณิชย์ เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวประมงในพื้นที่ ที่ได้รับถึงผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง พร้อมกันนี้ยังมีคณะทำงานด้านการประมงของพรรคเพื่อไทยอาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ร่วมคณะ

โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รอให้การต้อนรับ โดยทันทีที่มาถึง นายกฯและคณะได้เดินไปยังบริเวณท่าเรือเพื่อดูเรือประมงที่จอดไว้โดยไม่สามารถออกไปทำประมงได้ รวมถึงดูการขึ้นปลา และการตรวจนับลูกเรือที่ออกไปทำประมงที่มีความสำคัญ หากไม่เป็นไปตามที่ IUU จะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก

นายเศรษฐา กล่าวทักทายประชาชนว่า วันนี้ตนมาในอีกสถานะหนึ่ง ตอนมาหาเสียงเลือกตั้ง ได้มาพูดคุยเรื่องการประมงที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ก่อนมี IUU ไทยส่งออกสินค้าด้านการประมง 3.5 แสนล้าน แต่ตอนนี้เรานำเข้า 1.5 แสนล้าน ทำให้เราเสียหายจำนวนมาก วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เรามั่นใจว่าที่รัฐมนตรี ที่มาด้วยกันวันนี้มีความสามารถ มีความรู้ทำงานเรื่องการประมงมานาน เราต้องการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ทั้งกฎหมายภายในและการเจรจาระหว่างประเทศควบคู่กันไป

จากนั้นตัวแทนกลุ่มประมงได้สะท้อนปัญหาการทำประมงแก่นายกฯและคณะ เช่นขอให้แก้กฎหมายต่างๆที่เป็นปัญหาต่อการทำประมง จำนวน 13 ฉบับ ที่จะสามารถทำให้การประมงสามารถขับเคลื่อนได้ และขอให้การบังคับใช้แรงงานต่างด้าวในภาคประมงเหมือนกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนฝั่งที่ภาคประมงจะใช้เวลานานรวมถึงเสนอว่าการขึ้นค่าแรงที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ขอให้ทำทีละขั้นไม่ให้ภาคธุรกิจสะดุด

โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ได้เห็นถึงความลำบากและปัญหา ตั้งแต่ตนรับสนองพระบรมราชโองการมาไปดูเรื่องการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาหนี้สิน และเรื่องที่สามคือเรื่องประมง เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด เรื่องปัญหาแรงงานเราจะแก้ปัญหา ให้เอกสารอยู่ในวันสต๊อปช็อปได้ อะไรอยู่ในอำนาจคระรัฐมนตรี จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้า และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน หลายอย่างอาจทำไม่ได้ในคราวเดียวขอให้อดทน

พร้อมทั้งขอให้มั่นใจรัฐบาลเพื่อไทยอะไรทำได้เราจะทะยอยทำไปก่อนเพื่อให้ท่านลืมตาอ้าปากได้ เรื่องใหญ่ๆอย่างเช่นเรื่องน่านน้ำ ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีทรัพยากรเยอะมาก แต่ไม่มีความสามารถในการจับสัตว์น้ำ ดังนั้นขอให้ความมั่นใจเราจะเดินหน้าเต็มที่ในการเปิดประตูการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญ

จากนั้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ กรณีการจัดการวันสต็อปช๊อปรูปแบบจะเป็นอย่างไร ตอบว่า ต้องให้คณะทำงานดูก่อน วันนี้มาดูแล้วเห็นปัญหาว่าแรงงานที่จะทำงานต้องมีเอกสารจำนวนมาก มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเอกสารขาดก็เห็นใจ อีกทั้งเอกสารต่างๆก็ยังเป็นกระดาษก็อยากให้เข้าระบบออนไลน์ทั้งหมดเพื่อความสะดวก และในแง่การตรวจก็จะดีขึ้น

เมื่อถามว่าที่ระบุให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ดูแลเรื่องประมง จะดูแลเฉพาะเรื่องประมง หรือหมายรวมไปถึงเรื่องเกษตรทั้งหมด นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อเป็นว่าที่รมว.เกษตรและสหกรณ์ก็ต้องดูทั้งหมดด้วย และจากที่ตนเรียนไป สัปดาห์ก่อนไปดูเรื่องท่องเที่ยว ตามด้วยเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน เรื่องประมงเป็นเรื่องที่สามที่ตนมาดูเอง เชื่อว่าเรื่องนี้เราพร้อมช่วยเหลือเต็มที่เข้ามาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและจัดการแก้ปัญหาโดยเร็ว ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ปัญหาเยอะ อะไรที่ทำได้เราจะทำก่อน

เมื่อถามว่าเท่าที่รับฟังปัญหาอะไรทำได้ทำทันที นายเศรษฐา กล่าวว่าขอพิจารณา อะไรที่เกี่ยวกับกฎกระทรวงทบวงกรม หรือเข้าคณะรัฐมนตรี และต้องเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็อาจจะนานหน่อย เช่นเรื่องวิทยุมดขาด มดดำ ที่เพิ่งมีการบังคับใช้ในระยะหลังทั้งทีเรามีการสื่อสารทางวิทยุกันอยู่แล้ว เมื่อถามถึง พ.ร.บ.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มาตรา 14 ที่เป็นปัญหาสำหรับแรงงานต่างด้าวจะสามารถแก้ได้ทันทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าต้องศึกษาร่วมกับกระทรวงแรงงานด้วย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมาพูดคุยกันทุกฝ่าย

เมื่อถามว่าน่านนำ้อินโดนิเซีย จะสามารถเข้าไปเจรจาได้เลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอดูก่อน แต่ถือเป็นประเทศอาเซียนด้วยเหมือนกัน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา และไม่ถึอว่าแย่งกันทำงานเพราะเขามีทรัพยากร เรามีความรู้ทางการทำประมง ถ้ามาร่วมกันได้กันแบ่งปันผลประโยชน์ก็น่าจะลงตัวและเดินหน้าด้วยกันได้

เมื่อถามว่าที่มามุ่งปัญหาประมงเพราะปัญหา 8-9 ปีทำให้ประเทศติดหล่มใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเทศเสียหายรายได้เป็นจำนวนปีละ 5 แลนล้านผ่านมากี่ปีแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ เราก็ต้องมาแก้ไขเดินหน้าดีกว่าอย่ามองเรื่องปัญหาเก่าอย่าไปว่าใครเลยดีกว่า และมั่นใจว่ากฎหมายต่างๆที่ผู้กระกอบการประมงเสนอมามั่นใจสามารถแก้ไขได้ ต้องฝาก ร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับเรื่องค่าแรงที่ทางผู้ประกอบการบอกว่าจะหมุนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องค่าแรกเป็นนโยบายหลักของทุกพรรคการขึ้นค่าแรงก็ต้องระมัดระวังในการขึ้นเพราะเป็นการขึ้นภาระค่าใช้จ่ายของทุกภาคส่วน แต่มีความจำเป็นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการเน้นเพิ่มรายได้ ถ้าเราเพิ่มรายได้ให้เอสเอ็มอีได้เขาก็จะสามารถเพิ่มค่าแรงได้ ซึ่งจะเร่งทำทันทีก็อาจจะช่วงปีใหม่แต่ต้องคุยกับพรรคร่วมอีกครั้ง เพราะเราทำงานเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วม

เมื่อถามว่าลักษณะการทำงานของนายกฯหลังจากนี้จะไปควบคู่กับรัฐมนตรีที่มาจากพรรคต่างๆใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าเป็นธรรมดา ที่ต้องร่วมกับรัฐมนตรี อยากให้มองเป็นองค์รวมว่าไม่ใช่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นรัฐบาลของประชาชน ประกอบกับหลายพรรคการเมือง เชื่อว่าทุกรัฐมนตรีที่ได้รับการพูดถึงทุกท่านมีความเป็นห่วงปัญหาปากท้องของประชาชนและมีความปราถนาดีของประเทศขอแค่โอกาส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง จากนั้น นายกฯและคณะ ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเมนูอาหารประกอบด้วย แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ผัดกระเพราทะเล และปลาทูทอดหวาน โดยนายกฯได้ลงมือตักอาหารรับประทานด้วยตัวเองด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/9/2566

คอนโดนิคมฯ ชลบุรีฟื้น แรงงานแฝงหนุนดีมานด์ซื้อ-เช่าเพิ่ม

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่าจากงานวิจัย บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด พบว่าตลาดอสังหาฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มีผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการจำนวนมากตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวโครงการ และอยู่ระหว่างการขายในพื้นที่ บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, อมตะซิตี้ ชลบุรี อ.เมืองชลบุรีและอ.ศรีราชา - แหลมฉบัง จ.ชลบุรี รวม 9,495 หน่วย มูลค่า 35,000 ล้านบาท

จากผลการสำรวจพบว่าเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อในทำเลนี้ เป็นทั้งกลุ่มนักลงทุนและพนักงานที่ทำงานอยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่มีรายได้เฉลี่ย 20,000 - 50,000 บาทต่อเดือนนอกจากนี้ยังพบว่าแต่ละปี มีแรงงานแฝงเข้ามาในนิคมฯ จ.ชลบุรี 100,000 คน โดยประมาณ 10% หรือ 10,000 คนอยู่ในนิคมฯ อมตะ

ขณะที่การซื้อเพื่อการลงทุนอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5-6 % โดยค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500-9,000 บาทต่อหน่วย สำหรับห้องชุดขนาด 26 - 30 ตร.ม.โดยความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในทำเล EEC สูง อัตราการเช่าอพาร์ตเมนต์ และเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ มีสัดส่วนเฉลี่ย 80-90% สะท้อนถึงความต้องการที่พักอาศัย จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อเพื่อการลงทุนและปล่อยเช่า

โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า จากแนวโน้มดังกล่าวบริษัทจึงพัฒนาโครงการ เอิร์น บาย แอล.พี.เอ็น. มูลค่า 2,124 ล้านบาท เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 25-30 ปีที่ต้องการที่อยู่อาศัยในย่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเรื่องของการทำงาน และการใช้ชีวิต รวมถึงกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นลงทุนในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ และรองรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทำงานในนิคมฯ มีสัดส่วน 50:50

โดยนำโมเดลการลงทุนของโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 มาให้บริการแก่นักลงทุนเป็นแพกเกจหาผู้เช่าพร้อมปล่อยเช่าในโครงการเอิร์น บาย แอล.พี.เอ็น. ใกล้นิคมอมตะซิตี้ บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ประกอบด้วย อาคารพักอาศัย สูง 8 ชั้น จำนวน 6 อาคาร, อาคารสูง 6 ชั้น 1 อาคาร โดยมีจำนวนรวม 1,810 ยูนิต ประกอบไปด้วยห้องพักอาศัย 3 รูปแบบ จำนวน 1,796 ยูนิต แบ่งเป็น แบบสตูดิโอ, 1 ห้องนอน และ 1 ห้องนอนพลัส ขนาดเริ่มต้น 24- 36ตร.ม. และพื้นที่ร้านค้า 14 ยูนิต ในราคาเริ่มต้น 1.1- 1.69 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,124 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2567

“ในรอบ VVIP ที่ผ่านมามียอดขาย 100 ล้านบาท คาดว่า เฟสแรกที่พรีเซลล์เดือน ก.ย.นี้จะมียอดขาย 200-300 ล้านบาท”

นอกจากนี้ปี 2567 บริษัทมีแผนเปิดโครงการที่ จ.อยุธยา พร้อมกับแตกแบรนด์ใหม่ออกมาเพื่อรองรับกลุ่มนักศึกษา ในทำเลใกล้กับมหาวิทยาลัยเพื่อขยายฐานลูกค้า ที่ต้องการลงทุนปล่อยเช่า นอกเหนือจากทำเลในนิคมต่างๆทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนักลงทุน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ จึงไม่มีปัญหาการถูกปฏิเสธสินเชื่อเพียงแต่ว่าต้องพัฒนาโครงการในทำเลที่มีศักยภาพในการปล่อยเช่า

โอภาสกล่าวว่าปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขาย 13,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้แล้ว 7,000 ล้านบาท เกินกว่า 50% ของเป้าหมายทั้งปี

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่อีก 12 โครงการ เป็นโครงการแนวราบ 10 โครงการ และคอนโดมิเนียม 2 โครงการด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้ ตั้งเป้า 7,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. มียอดขายรอโอน (Backlog) 2,750 ล้านบาทมาจากโครงการคอนโด จำนวน 2,360 ล้านบาท คิดเป็น 85% และมาจากโครงการแนวราบ จำนวน 390 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของยอดขายรอโอน ทั้งหมด ซึ่งจะทยอยรับรู้รายในปี 2566 และ 2567

“ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว โดยปัญหาเร่งด่วนที่น่าจะให้ความสำคัญในการแก้ไขก่อน คือ 1. การท่องเที่ยว ซึ่งทำได้ง่าย เร็ว และเห็นผลทันที 2. ภาคการส่งออก และ 3. ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการต่างๆ น่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่เดือน ต.ค. หรือ พ.ย.นี้เป็นต้นไป” โอภาส กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/9/2566

สนค. เตือน รับมือโลกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ กว่าครึ่งพึ่งพา ‘เอไอ’ แทนแรงงานคน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ต้นทุนการเข้าถึงอุปกรณ์หรือข้อมูลข่าวสารที่ลดต่ำลง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิมถูกขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่พึ่งพาพื้นที่ทางกายภาพเหมือนอดีต ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจตลอดจนรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างหรือพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ในขณะเดียวกันเป็นความท้าทายสำหรับภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสและความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำเดิมที่มีอยู่

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม อาทิ บริการขนส่ง ที่พัก การซื้อขายออนไลน์ และเครือข่ายสังคม เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันคือเป็น “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเอง แต่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” และโยกย้าย “ตลาด” ที่เคยเป็นพื้นที่ทางกายภาพเข้าสู่โลกดิจิทัล ตลอดจนทำหน้าที่ “จับคู่” ผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกิจดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้แรงงาน อาทิ แรงงานที่ทำงานบนระบบคลาวด์โดยไม่ยึดโยงกับพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ทักษะสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจแพลตฟอร์เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักร ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แต่รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับการบริหารงาน ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปนับจากนี้ เนื่องจากมีความสามารถในการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้จะมีเพียงทักษะบางประการที่จะถูกทดแทนด้วยการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักรได้ แต่ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องจักรทำงานแทนคนในทักษะต่าง ๆ มากขึ้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/9/2566

สนค. เตือน รับมือโลกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ กว่าครึ่งพึ่งพา ‘เอไอ’ แทนแรงงานคน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ต้นทุนการเข้าถึงอุปกรณ์หรือข้อมูลข่าวสารที่ลดต่ำลง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิมถูกขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่พึ่งพาพื้นที่ทางกายภาพเหมือนอดีต ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจตลอดจนรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างหรือพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ในขณะเดียวกันเป็นความท้าทายสำหรับภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสและความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำเดิมที่มีอยู่

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม อาทิ บริการขนส่ง ที่พัก การซื้อขายออนไลน์ และเครือข่ายสังคม เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันคือเป็น “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเอง แต่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” และโยกย้าย “ตลาด” ที่เคยเป็นพื้นที่ทางกายภาพเข้าสู่โลกดิจิทัล ตลอดจนทำหน้าที่ “จับคู่” ผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกิจดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้แรงงาน อาทิ แรงงานที่ทำงานบนระบบคลาวด์โดยไม่ยึดโยงกับพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ทักษะสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจแพลตฟอร์เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักร ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แต่รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับการบริหารงาน ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปนับจากนี้ เนื่องจากมีความสามารถในการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้จะมีเพียงทักษะบางประการที่จะถูกทดแทนด้วยการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักรได้ แต่ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องจักรทำงานแทนคนในทักษะต่าง ๆ มากขึ้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/9/2566

ผลสำรวจพบ 72% ของพนักงานบูมเมอแรง (Boomerang Workforce) ในประเทศไทย มีความยินดีที่จะกลับไปทำงานกับบริษัทเก่า

บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางาน เปิดเผยผลสำรวจระบุว่าพนักงานจำนวนเกือบสามในสี่ (72%) ในประเทศไทยกล่าวว่า พวกเขาเปิดใจที่จะกลับไปทำงานกับนายจ้างคนเก่า โดยที่พวกเขามีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดีเพราะนายจ้างจำนวนถึง 80% ยินดีที่จะรับพนักงานเก่ากลับมาทำงานด้วย

จากผลสำรวจล่าสุดของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (โดยสำรวจจากพนักงานเกือบ 1,000 คน ใน 6 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง 130 คน มาจากประเทศไทย) พนักงาน 41% ในประเทศไทยลาออกจากงานในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพราะต้องการค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น ส่วนพนักงานอีก 40% ถัดมาลาออกเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 26% ตั้งใจที่จะกลับไปร่วมงานกับนายจ้างเก่าอีกครั้ง ถ้าหากได้รับข้อเสนอทางโอกาสก้าวหน้าในอาชีพที่ดี และอีก 25% กล่าวว่าพวกเขาเปิดกว้างต่อข้อเสนอถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้นำหรือทีม นอกจากนี้ พนักงานจำนวน 14% กล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะกลับไปทำงานกับนายจ้างเก่าหากพวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่า

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังคงมีการติดต่อกับอดีตบริษัทที่ตนเคยทำงานด้วยมากที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม พนักงานในไทยจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 10 (8%) ไม่ได้ติดต่อกับอดีตนายจ้างเลย (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 13%) (ประเทศที่ดำเนินการสำรวจ จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม)

ผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 92% ยอมรับว่าพวกเขายังคงมีการติดต่อกับหัวหน้าเก่าอยู่บ้าง โดยจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 กล่าวว่า การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสทางอาชีพในอนาคต (27%)

จากผลสำรวจในประเทศไทย พนักงานจำนวน 35% ยอมรับว่าพวกเขาได้มีการติดต่อกลับไปที่ทำงานเก่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อเสนอการทำงาน ในขณะที่พนักงานจำนวน 13% มีความตั้งใจที่จะติดต่อกลับไปเช่นกัน

โดยรวมพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้ความตอบรับต่อแนวคิดนี้ในเชิงบวก โดยนายจ้างจำนวนกว่า 80% ในประเทศไทย ยินดีที่จะพิจารณาจ้างงานอดีตพนักงานอีกครั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม ผู้จัดการจำนวนเกือบ 70% จะพิจารณาให้ “อดีตพนักงานที่มีผลงานดี” กลับมาทำงาน และผู้จัดการอีก 12% เปิดกว้างต่อแนวคิดนี้ แต่จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม มีผู้จัดการในประเทศไทยจำนวนถึง 19% มีความเห็นว่าพวกเขาจะไม่พิจารณาจ้างพนักงานเก่าอีกครั้ง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 9% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีความระแวดระวังมากที่สุดในแง่มุมนี้

คุณปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติม “จากผลการสำรวจของเราพบว่า ผู้จัดการในประเทศไทยเปิดรับพิจารณาการจ้างอดีตพนักงานของตนอีกครั้ง ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ยังคงติดต่อกับนายจ้างเก่าของตน ปัจจุบันพนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา สายสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ การได้รับคำปรึกษา การพัฒนาวิชาชีพ หรือเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ดีที่พวกเขาได้สร้างร่วมกันมา ในทางกลับกันนายจ้างก็ควรรักษาการสื่อสารกับอดีตพนักงานอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีกรอบความคิดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของบริษัทและมีทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ซึ่งถือว่าได้เปรียบกว่าการสรรหาพนักงานใหม่ วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในการว่าจ้างพนักงานเก่ากลับมาทำงานใหม่ได้ในอนาคต’’

โทบี้ ฟาวล์สตัน, ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับโลกโรเบิร์ต วอลเทอร์ส แสดงความคิดเห็นว่า: “ในขณะที่ในปี 2023 ตลาดการสรรหางานชั้นนำระดับโลกได้มีการชะลอตัวลง การขาดแคลนผู้สมัครงานยังคงมีอยู่ ดังนั้น ความเป็นจริงที่ว่ามีกลุ่มคนที่พร้อมกลับเข้ามาร่วมธุรกิจน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้นำองค์กร

“ไม่เพียงแค่เท่านั้น แต่ทักษะของอดีตพนักงานยังสามารถนำมาใช้งานได้ทันที พวกเขาได้รับการสอนงานเพื่อเข้าสู่ธุรกิจของคุณแล้ว พวกเขายังมีความคุ้นเคยกับกระบวนการต่างๆ และมีความสนใจในแบรนด์ มาก่อน ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายปีในการ ปลูกฝังให้กับพนักงานใหม่

“โดยพิจารณาจากการวิจัยนี้ บริษัทที่กำลังมองหาการจ้างงาน สามารถพิจารณาให้โอกาสกับอดีตพนักงานเพื่อเข้าร่วมงานด้วยอีกครั้ง และฝึกอบรมผู้จัดการให้มีทัศนคติเชิงบวก โดยที่พนักงานบูมเมอแรง (Boomerang Employees) อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนทักษะความสามารถ

สิ่งสำคัญสำหรับนายจ้าง คือการบริหารจัดการการกลับมาทำงานอีกครั้งของพนักงานบูมเมอแรงท่ามกลางพนักงานในบริษัทที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอดีตพนักงานที่กลับมาทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่าตอนที่พวกเขาออกจากงาน นายจ้างจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น และควรประเมินว่าพวกเขากำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเปิดโอกาสภายในองค์กรอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงที่จะส่งข้อความว่าในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และได้รับสวัสดิการที่ดีกว่า พวกเขาต้องเลือกเส้นทางในการลาออกและกลับมาทำงานอีกครั้ง (Boomerang Route)”

ที่มา: บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส, 31/8/2566 

ก.แรงงาน เผย จัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะ "สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชน"

30 ส.ค. 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แรงงานไทย” เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีรายได้ต่อยอดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของกระทรวงแรงงาน

สำหรับการจัดฝึกอบรมตามหลักสูตรโครงการนี้ จัดให้กับประชาชนพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด จำนวน 231 รุ่น รุ่นละ 110 คน รวมไม่น้อยกว่า 25,410 คน จัดฝึกอบรมตามหลักสูตรที่เหมาะสมกับประชาชน ทั้งหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และหลักสูตรการพัฒนาทักษะอาชีพงานบริการ

โดยโครงการฯ ได้รับความสนใจจากประชาชนและมีผู้เข้าฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานนอกระบบ หรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาทักษะที่ตนเองมีให้มีมูลค่ามากขึ้น ทำให้มีอาชีพติดตัว และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 30/8/2566

‘สมัชชาแรงงานแห่งชาติ’ให้กำลังใจ ‘เศรษฐา’ พร้อมยื่น 11 ข้อเรียกร้อง

สมัชชาแรงงานแห่งชาติ นำโดยนายทศพร คูณศรี เลขาธิการสมัชชาแรงงานแห่งชาติ เดินทางมาแสดงความยินดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมยื่นข้อเสนอขอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ พ.ศ. ….และกฎหมายแรงงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แรงงาน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย , นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับข้อเสนอข้อร้องเรียนสภาพปัญหาและช่อดอกไม้แสดงความยินดีแทน

ในหนังสือข้อเรียกร้อง ระบุว่า เนื่องด้วย สมัชชาแรงงานแห่งชาติ มีสมาชิกประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้างแรงาน , สหพันธ์แรงงาน , สมาพันธ์แรงงาน , สหภาพแรงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนหลายแสนคน ได้ทำงานช่วยเหลือดูแล ขับเคลื่อนแรงงาน และการเมืองภาคประชาชน ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาทั้งทางค้านเศรษฐกิจภาคครัวเรือนและปัญหาสังคมมากมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลายและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความคงยิ่งขึ้นในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ทางสมัชชาแรงงานแห่งชาติ จึงใคร่ขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับ (ใหม่) พ.ศ. และผลักดันกฎหมายที่มีความสำคัญต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานดังต่อไปนี้

1. การจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม

2. การจัดตั้งธนาคารแรงงาน

3.โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยไม่เกิน 1.99%

4. โครงการทางเลือก 3 ขอ (ขอเลือก/ขอกู้ /ขอคืน)

5. กรณีเกษียณอายุแล้วสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้โดยสมัครใจ (สิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต)

6. การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงแรงงาน

7. โครงการที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับผู้ประกันตน

8. บ้านพักคนชราสำหรับผู้ประกันตน

9. ร่างพระราชบัญญัติอาชีพอิสระ (แรงงานนอกระบบ)

10. การควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ราคาถูกสำหรับผู้ใช้แรงงาน

11. การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายหลังเกษียณอายุงาน หรือ ออกจากงาน

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีวาระประชุมมีความจำเป็นในที่ประชุมอยู่จึงมอบหมายให้ตนมารับข้อเสนอข้อร้องเรียนรับสภาพปัญหาของพี่น้องจากสมัชชาแรงงาน ในนามพรรคเพื่อไทยในนายนายกรัฐมนตรีขอขอบคุณผู้แทนสมัชชาแห่งชาติที่ได้นำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะข้อเสนอที่เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยประกันสังคม 11 ข้อ และร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ที่สมัชชาแรงงานช่วยกันผลักดันและนำเสนอเข้ามา ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย และมั่นใจว่าจะเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะนำไปเขี่ยนเป็นนโยบายรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเร็ววันนี้

“เราเป็นรัฐบาลผสมแต่เรามั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายนายกรัฐมนตรีจะทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเร่งฟื้นภาวะเศรษฐกิจที่เป็นวิกฤติในขณะนี้โดยเฉพาะภาคแรงงาน ก็ขอรับข้อเสนอของสมัชชาแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 29/8/2566

ก.แรงงาน เข้าช่วยเหลือลูกจ้างนิคมฯ อมตะซิตี้ กว่า 200 ชีวิต หลังถูกลอยแพฟ้าผ่า

29 ส.ค. 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่มีข่าวพนักงานโรงงานแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 200 คน เคว้ง หลังถูกเลิกจ้างฟ้าผ่าไม่บอกล่วงหน้า นั้น ตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทันที เบื้องต้นได้รับรายงานว่า บริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนัง เช่น เคสโทรศัพท์ และซองใส่แท็บเล็ต มีลูกจ้างทั้งหมด 1,312 คน เป็นชาย 754 คน หญิง 558 คน ลักษณะการจ้างงานมีทั้งแบบรายเดือนและรายวัน

“สาเหตุการเลิกจ้างครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหายอดการสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง นายจ้างจึงได้ยกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างก่อนระยะเวลากำหนดจำนวนกว่า 200 คน โดยให้มีผลทันทีเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ทำให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในครั้งนี้” นายบุญชอบ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการรับคำร้อง (คร.7) กรณีค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แนะนำสิทธิประโยชน์และการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ กรมการจัดหางาน (กกจ.) หาตำแหน่งงานรองรับกรณีว่างงาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือและดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างทั้งหมดตามอำนาจหน้าที่

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดี กสร.กล่าวว่า ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด (สคร.) ชลบุรี ชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานฯ ให้นายจ้างและลูกจ้างรับทราบ และรับคำร้อง (คร.7) เบื้องต้นมีลูกจ้างประสงค์ยื่นคำร้องเรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 76 คน เป็นเงิน 807,120 บาท ซึ่งลูกจ้างมีอายุงานไม่ครบ 120 วัน ทั้งนี้ หากมีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวยังไม่ได้ยื่นคำร้อง คร.7 สามารถยื่นคำร้องเพิ่มเติมได้ที่ สคร.ชลบุรี โทรศัพท์ 0 3832 3665

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. เปิดเผยว่า ตนมีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตน บริษัท คอสโม แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และได้สั่งการให้ นางจันทร สูญทุกข์ ประกันสังคมจังหวัดชลบุรี เร่งประสานงาน ให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยเร่งด่วน พร้อมเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า บริษัท คอสโม แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากหนังหรือวัสดุอื่นๆ เช่น เคสโทรศัพท์ ซองใส่แท็บเล็ต มีจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 4,002 คน บริษัทฯ แจ้งว่า ประสบปัญหาเรื่องยอดการสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงยกเลิกสัญญาจ้างก่อนระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้าง ลูกจ้างจำนวน 200 คน โดยให้การเลิกจ้างมีผลทันที (วันที่ 28 สิงหาคม 2566) ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัด กระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมบูรณาการ นัดหมายนายจ้าง เพื่อตกลงแนวทางการเยียวยาลูกจ้าง

“โดยในวันนี้ ( 29 สิงหาคม 2566) นางจันทร สูญทุกข์ ประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ ณ ที่ทำการกลุ่มสหภาพแรงงาน ตะวันออก พื้นที่อมตะ พบลูกจ้างจำนวน 70 ราย เพื่อแนะนำสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 รวมถึงความคุ้มครองหลังจากสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เพื่อทำความเข้าใจแก่ลูกจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ลูกจ้างผู้ประกันตน” นายบุญสงค์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/8/2566

สภาพัฒน์ จับตาหนี้เสียเพิ่มในกลุ่ม Gen Y-ผู้สูงอายุ เร่งปลูกฝังวินัยการเงินทุกช่วงวัย

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และกระทบต่อการจ้างงาน และระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง และมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 64 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมการก่อหนี้ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ซึ่งข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ความครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 1/66 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้ และการชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า

- กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

- ขณะที่พฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 โดยมีมูลค่า NPL ในปี 65 สูงกว่าปี 62 ทั้งที่ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น รวมทั้งกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย

พฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วงโควิด-19 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ โดยหนี้ประเภทนี้กลุ่มอายุ 50-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ ยังพบว่า หลังโควิด-19 กลุ่มอายุ 50-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 62

น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า

1. ยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สิน และรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้

2. การแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของ NCB ในปี 65 สูงถึง 7.6% แต่หากพิจารณาหนี้เสียที่เกิดจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พบว่า มีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 2.6% ซึ่งน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นลูกหนี้ที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

3. กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้น และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นหรือกลุ่ม Gen Y มีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละช่วงวัยและหนี้แต่ละประเภท ต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน

4. หนี้ครัวเรือนอื่นๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปี 65 หนี้อื่นๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 18.8% อีกทั้ง ยังมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

ดังนั้น ควรมีแนวทางในการแก้ปัญหา ดังนี้

- ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อ ดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย

- หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลาง ต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้ และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

- ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงิน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียน ควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงาน ควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

- ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิ เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจให้มีการไม่ชำระหนี้

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/8/2566

กรมวิชาการเกษตรชูสัญลักษณ์ “MFP” การันตีไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

ด้วยประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว และได้รับผลกระทบจากข้อกล่าวหาขององค์กรประชาชน เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ของสหรัฐอเมริกา (People for the Ethical Treatment of Animals: PETA) ในเรื่องการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยใช้ลิงเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวของไทยในการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มประเทศยุโรป

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร“จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus หรือ MFP ) เพื่อตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตมะพร้าวในระดับแปลงปลูกว่าไม่ได้ใช้แรงงานลิงเก็บเกี่ยวมะพร้าว โดยจะดำเนินการตรวจประเมินการใช้แรงงานลิงในแปลงเกษตรกรที่ได้การรับรอง GAP มะพร้าวเป็นลำดับแรก และตรวจประเมินแปลงเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการส่งออก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมะพร้าวของประเทศไทย

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพื่อวางแผนในการสนับสนุนการปลูกทดแทนมะพร้าวต้นสูงด้วยพันธุ์มะพร้าวลูกผสมของกรมวิชาการเกษตรโดยกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง ตลอดจนกรมวิชาการเกษตรจะพัฒนาเครื่องมือการเก็บเกี่ยวมะพร้าวที่มีประสิทธิภาพและราคาที่ไม่สูงมากเพื่อให้เกษตรกรใช้ในการเก็บเกี่ยว

ผลการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการสร้างแปลงมะพร้าวใหม่ให้เป็นแปลงแม่พันธุ์ และเพิ่มประสิทธิภาพแปลงปลูกเดิม วิจัยและพัฒนาเครื่องมือเก็บมะพร้าว วิจัยและพัฒนาพันธุ์มะพร้าวใหม่ที่ออกผลเร็ว ผลผลิตต่อต้นเพิ่มสูงขึ้น และต้นเตี้ย

กรมวิชาการเกษตร ร่วมมือกับภาคเอกชน ในการรณรงค์ให้เกษตรกรสมัครเข้าสู่ระบบตรวจรับรองแปลง GAP Monkey free plus และเชิญชวนเกษตรกรในเครือข่ายผู้ผลิตส่งออก ร่วมมือในการปลูกมะพร้าวทดแทนในสวนเดิมซึ่งมีมะพร้าวที่มีต้นสูงและอายุมาก

ตลอดจนรณรงค์การใช้อุปกรณ์สอยมะพร้าว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าต่างประเทศต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีประชากรมะพร้าวที่ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตมะพร้าวอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) ร่วมกับสำนักนิติการ ได้จัดทำประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายรับรอง Monkey free Plus พ.ศ. 2566 อยู่ระหว่างเสนอลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้ประกอบการที่ขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง GAP Monkey Free Plus เพื่อแสดงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์มะพร้าว ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เป็นอย่างน้อย และต้องมีเกณฑ์การรับวัตถุดิบ แยกจัดการวัตถุดิบตามแหล่งที่มา มีเกณฑ์การแปรรูป การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ มีบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อหลีกเลี่ยงการผสม ปะปนหรือสับเปลี่ยน ระหว่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้การรับรอง Monkey Free Plus และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวทั่วไป โดยให้มีการชี้บ่งรุ่น และสามารถทวนสอบย้อนกลับได้ตลอดทุกขั้นตอน โดยการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการนี้เป็นภาคสมัครใจ หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดจะได้รับรหัสทะเบียน MFP เพื่อ นำไปใช้แสดงบนบรรจุภัณฑ์ GAP Monkey Free Plus ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของประเทศไทย ตอกย้ำสวนมะพร้าวไร้แรงงานลิง

ที่มา: ข่าวสด, 28/8/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net