Skip to main content
sharethis

ทางการจีนกำลังพิจารณากฎหมายสั่งห้ามสวมเสื้อผ้าหรือแสดงออกในแบบที่พวกเขาอ้างว่า "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน" โดยเสนอบทลงโทษคุมขังผู้คนที่กระทำผิดในเรือนจำเป็นเวลา 15 วัน หรือสั่งปรับ แต่ก็มีความกำกวมทางนิยามและชาวเน็ตจีนตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วจะทำอะไรไม่ได้บ้าง ซึ่งมีนักวิเคราะห์มองว่าอาจจะเป็นการพยายามปลุกกระแสชาตินิยมในช่วงที่จีนกำลังประสบปัญหาของตัวเอง

ทางการจีนมีแผนการจะบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่จะลงโทษบุคคลใดก็ตามที่สวมเสื้อผ้าหรือแสดงออกในแบบที่ล่วงเกินต่อความรู้สึกของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในร่างกฎหมายดังกล่าวระบุห้ามพฤติกรรมในหลายแบบไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าหรือใช้วาจาในทางที่ "ทำลายขวัญกำลังใจของชาวจีนและทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน" ผู้ที่นำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คือ คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายที่พวกเขาให้ความสำคัญลำดับแรกๆ ในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายภายในปีนี้

ร่างกฎหมายดังกล่าวระบุบทลงโทษจำคุกผู้ฝ่าฝืนเป็นเวลา 15 วัน หรือ ปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000 หยวน (ราว 24,000 บาท) อย่างไรก็ตามยังไม่มีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่ารูปภาพหรือคำพูดแบบไหนที่จะถือว่าเป็นการล่วงเกินในสายตาของรัฐบาลจีน

กฎหมายใหม่นี้ถูกมองว่าเป็นการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงพยายามจะปิดกั้นการต่อต้านภายในประเทศจีนที่มีประชากรอยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน จากการที่เขาปกครองประเทศมายาวนานเป็นเวลาราว 10 ปีแล้ว

ก่อนหน้านี้มีกรณีที่มีผู้หญิงรายหนึ่งในจีนถูกจับกุมในเมืองซูโจว ใกล้กับเซียงไฮ้ เพราะเธอสวมกิโมโน ซึ่งเป็นชุดแต่งกายตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทางการจีนก็ทำการปราบปรามผู้คนที่สวมชุดสีรุ้งที่คอนเสิร์ตหรือแจกจ่ายธงที่มีสัญลักษณ์ LGBTQ+ บนนั้นด้วย

คอสเพลย์เยอร์ชาวจีน 是影子不是本人 ที่ถูกตำรวจจีนจับกุมในเมืองซูโจวเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 65

การเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเน็ตจีน พวกเขาแสดงความไม่พอใจลงบนโซเชียลมีเดีย มีผู้คนตั้งคำถามว่าแล้วรัฐบาลจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนทำร้ายจิตใจคนในชาติหรือไม่ มีชาวเน็ตบางคนตั้งคำถามว่า "ขวัญกำลังใจของคนในชาติควรจะมีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นไม่ใช่หรือ... ทำไมมันถึงจะถูกทำลายลงได้ง่ายๆ เพราะชุดแต่งกายล่ะ"

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการร่างกฎหมายนี้ ทางการจีนก็เคยแสดงความอ่อนไหวต่อการแต่งกายของผู้คนที่พวกเขามองว่าเป็นการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว คือเมื่อปี 2562 ที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งผู้ประท้วงได้ใช้เสื้อสีดำไม่มีลาย กางเกงขายาว และหน้ากาก มาเป็นเครื่องแบบในการประท้วง จนทำให้ทางการจีนถึงขั้นสั่งห้ามไม่ให้มีการส่งออกเสื้อสีดำจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีการแบน หมวกกันน็อก, ร่ม, วิทยุสื่อสาร, โดรน, แว่นครอบตานิรภัย และโซ่เหล็ก ด้วย

สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเรดิโอฟรีเอเชียระบุว่ารัฐบาลจีนและสื่อของรัฐบาลจีนมักจะอ้างใช้คำว่า "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน" มาเพื่อใช้วิจารณ์คำพูดหรือการกระทำจากคนนอกประเทศที่ทางการจีนไม่ยอมรับ แต่ในตอนนี้พวกเขานำมาใช้กับประชาชนจีนเองด้วย

หรือนับจากนี้ไปจะต้องสวมชุดประธานเหมากันหมด?

กฎหมายดังกล่าวนี้มีชื่อว่า กฎหมายการบริหารความมั่นคงสาธารณะ ในตัวกฎหมายไม่ได้ระบุนิยามชัดเจนว่าการ "ทำร้ายความรู้สึก" ของประชาชนหรือรัฐบาลจีนหมายความว่าอย่างไร แต่ก็มีการเตือนว่า "การปฏิเสธคุณงามความดี" ของวีรบุรุษนักปฏิวัติและผู้สละชีพ หรือการสร้างตำหนิต่ออนุสรณ์สาธารณะถูกนับรวมอยู่ในนิยามนี้ด้วย

ในจีนมีกฎหมายที่ห้ามการหมิ่นวีรบุรุษนักปฏิวัติและผู้สละชีพอยู่แล้ว รวมถึงมีกฎหมายห้ามหมิ่นเพลงชาติ และห้ามหมิ่นทหารและตำรวจ อยู่ก่อนหน้ากฎหมายล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

ข่าวเรื่องกฎหมายดังกล่าวยังทำให้ประชาชนจีนแสดงความกังวลว่าพวกเขายังจะวิจารณ์ฟุตบอลจีนได้หรือไม่ในอนาคต หรือตั้งคำถามว่า การกระทำต่างๆ อย่าง "การดูการ์ตูนอนิเมะ" "ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา" "สวมสูทผูกเนคไท" ถือเป็นการละเมิดกฎหมายด้วยหรือเปล่า มีชาวเน็ตรายหนึ่งระบุประชดว่า "ถ้างั้น แต่นี้ไปชาวจีนจะต้องสวมชุด(เครื่องแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน)แบบประธานเหมากันหมดน่ะสิ"

มีประชาชนบางส่วนแสดงความกังวลว่าการชื่นชมประเทศอื่นๆ อาจจะถูกมองว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกชาวจีนหรือชาติจีนด้วยใช่หรือไม่ มีบางความคิดเห็นมองว่า "นี่อาจจะเอาไว้ใช้แปะป้ายประชาชนว่าเป็นคนทรยศ หรือ เป็นขบถ" มีรายหนึ่งระบุว่า "ถ้าการสวมเสื้อผ้าของคนๆ หนึ่งมันทำร้ายความรู้สึกคุณ คุณก็เปราะบางเกินไป"

แต่ก็มีความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนทางการจีนที่อ้างว่ากฎหมายใหม่นี้จะช่วยในการต่อสู้กับ "การแทรกซึม" รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ยุคปัจจุบันได้

หรือจะนำมาอ้างใช้ในประเด็นอ่อนไหว เพื่อปลุกระดมชาตินิยมในจีน

Gong Yujian ชาวจีนผู้ต่อต้านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่อาศัยอยู่ในไต้หวันตั้งข้อสังเกตว่า การร่างกฎหมายใหม่ในครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวพันการที่รัฐบาลจีนมีปฏิกิริยากับเรื่องที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายในฟุกุชิมา ซึ่งถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านร่างออกมาก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการบังคับใช้กับผู้คนที่แสดงออกเชื่อมโยงกับ 3 ประเทศนี้คือ ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และไต้หวัน ที่จีนมักจะอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการ "ทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน" มากที่สุด

มีตัวอย่างสำหรับเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในปี 2565 เมื่อแบรนด์ชุดกีฬายี่ห้อ "Li-Ning" ขอโทษหลังจากที่แฟชั่นดีไซน์ของพวกเขาบางส่วนถูกโยงว่าคล้ายกับชุดฟอร์มทหารญี่ปุ่น

Gong มองว่า ที่ทางการวางแผนนำกฎนี้มาใช้เพื่อทำให้เกิดการปลุกระดมความคิดแบบชาตินิยมต่อไป นอกจากนี้ยังทำไปเพื่อทำให้เกิดการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อวิธีการแต่งกาย, อาหาร, ที่อยู่อาศัย และวิธีการเดินทางของผู้คนด้วย

"มันพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจีนภายใต้การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของสีจิ้นผิงนั้นกำลังเดินหน้าอย่างสับสนวุ่นวายไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรมอีกครั้ง และผลลัพธ์ในตอนจบนั้นก็คือการที่ประชาชนชาวจีนสูญสิ้นเสรีภาพโดยสิ้นเชิง" Gong กล่าว

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าร่างกฎหมายเรื่องการทำร้ายจิตใจชาวจีนฉบับนี้ มีออกมาในช่วงเดียวกับที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเล่นงานบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นชาวต่างชาติในจีน เช่น การแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรม และกฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

Wu Se-Chih จากสมาคมนโยบายข้ามช่องแคบไต้หวัน กล่าวว่า กฎหมายใหม่เหล่านี้เป็นสิ่งที่รวมอยู่ในแผนการเดียวกันของรัฐบาลจีน คือแผนการตัดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าเป็น "อริต่างชาติ" ออกจากประชาชนจีน เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับกระแสนิยมต่อต้านญี่ปุ่นที่ถูกปลุกขึ้นมาจากเรื่องที่ญี่ปุ่นทิ้งน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย

Wu Se-Chih บอกว่ากฎหมายใหม่เหล่านี้ยังมีเรื่องความกำกวมและเรื่องน่ากังขาอยู่มาก และน่าสงสัยว่าจะมีการนำมาบังคับใช้ในระดับไหน

"ความภาคภูมิใจในชาติของจีนจะถูกทำลายลงเพียงเพราะการสวมเสื้อที่สื่อถึงญี่ปุ่น, อเมริกัน หรือวัฒนธรรมชาติอื่นๆ หรือโดยการทานอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่น หรือโดยการขับรถอเมริกัน รถยุโรป หรือรถญี่ปุ่นอย่างนั้นหรือ" Wu กล่าว

Wu ตั้งคำถามอีกว่าถ้าทางการจีนห้ามไม่ให้คนชื่นชอบวัฒนธรรมอื่นๆ แล้วหันมาสร้างกระแสต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านสหรัฐฯ แทน มันจะไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนเองหรอกหรือ และมันจะไม่กลายเป็นการทำร้ายจิตใจชาวจีนหรอกหรือ

Wu วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ที่ทางการจีนพยายามปลุกปั่นความรู้สึกแบบชาตินิยมเพื่อเชื่อมโยงกับการปกครองแบบอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จของตัวเอง และเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากปัญหาเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่

 

เรียบเรียงจาก

China considers law banning clothes that ‘hurt feelings’, The Independent, 06-09-2023

‘Hurting the feelings of the Chinese people' could be punished by jail time, Radio Free Asia, 07-09-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net