Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์กรณีที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ของเนปาล ไม่ยอมให้คู่รัก LGBTQ+ จดทะเบียนสมรสเพราะมองว่าเป็น "เพศเดียวกัน" ทั้งๆ ที่ศาลสูงสุดของเนปาลเคยออกคำสั่งชั่วคราวให้มีการอนุญาตจดทะเบียนสำหรับคนรักเพศเดียวกันได้ในช่วงที่รัฐบาลกำลังพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมอยู่

ศาลชั้นต้นและศาลสูงในเนปาล ปฏิเสธไม่รับรองการแต่งงานของคนรักต่างเพศ คือหญิงข้ามเพศกับชายตามเพศกำเนิด ที่ในทางกฎหมายแล้วยังคงระบุให้ทั้งสองคนเป็น "เพศเดียวกัน" ซึ่งการปฏิเสธของศาลทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งชั่วคราวของศาลสูงสุดที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ที่ระบุอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนรัก "เพศเดียวกัน" ได้ ในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในเรื่องนี้ ทำให้คู่รักที่ยื่นร้องเรียนขอรับรองการแต่งงานในครั้งนี้คือ มายา กุรุง และ สุเรนดรา พันดี บอกว่าจะยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อในชั้นศาลสูงสุด

กุรุง เป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่กฎหมายในเนปาลยังไม่มีการรับรองเพศสภาพของเธอ ทำให้เพศทางกฎหมายของเธอยังคงถูกระบุให้เป็น "เพศชาย" ส่วนพันดีนั้นเป็นผู้ชายตามเพศกำเนิด ทั้งสองคนจัดพิธีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมของฮินดูตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และได้พยายามจดทะเบียนสมรสทางกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงกาฐมาณฑุ หลังจากที่ได้รับคำสั่งชั่วคราวจากศาลสูงสุดของเนปาลที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนคนรักเพศเดียวกันได้

แต่ว่าศาลแขวงกาฐมาณฑุก็ปฏิเสธคำร้องขอจดทะเบียนสมรสของคู่รักสองคนนี้ โดยอ้างว่า ศาลไม่จำเป็นต้องให้การรับรองคู่สมรสที่ไม่ใช่คู่ชายหญิงในทางกฎหมาย เรื่องนี้ส่งผลให้คู่รักรายนี้ยื่นอุทธรณ์ต่อในศาลสูงปาฏัน

ผู้พิพากษาของศาลสูงปาฏันระบุในคำตัดสินว่าพวกเขาไม่สามารถอนุญาตให้คู่รักคู่นี้แต่งงานกันได้ เพราะว่าในคำสั่งของสูงสุดมีการระบุถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มันจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางในการที่จะแก้ไขกฎหมายก่อนที่ศาลชั้นต้นและศาลสูงจะสามารถอนุมัติการแต่งงานของคู่รักชายกับหญิงข้ามเพศที่ยังถูกระบุเป็น "ชาย" ในทางกฎหมายได้

ในประมวลกฎหมายแพ่งของเนปาลฉบับปัจจุบันระบุให้การยอมรับการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง (ตามเพศทางกฎหมายซึ่งไม่ได้หมายถึงเพศสภาพของบุคคลเหล่านั้น) เท่านั้น ศาลสูงสุดจึงพยายามจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยการสั่งให้มีการจัดตั้งระบบจดทะเบียนชั่วคราวให้กับคู่แต่งงานที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบ จนกว่ารัฐสภาจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่ทว่าศาลชั้นต้นและศาลสูงกลับอ้างตรรกะแบบกลับหัวกลับหาง โดยอ้างว่าควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายระดับชาติก่อนถึงจะสามารถให้อนุญาตได้

ศาลสูงสุดของเนปาลมีประวัติที่ดีในเรื่องการรับรองสิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) จนเป็นที่รับรู้ในระดับโลก ถึงแม้ว่าการปฏิบัติในแต่ละครั้งจะมาในรูปแบบทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม เช่นในปี 2550 ศาลเนปาลสั่งให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาในเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ในปี 2558 คณะกรรมการดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเนปาลว่า "ควรให้การรับรองทางกฎหมายแก่การสมรสของเพศเดียวกันบนฐานคิดเรื่องหลักการความเท่าเทียม" อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลถัดมาก็ไม่ได้นำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของเนปาลเข้าสู่สภา จนทำให้ศาลต้องตัดสินในเรื่องนี้ โดยที่ ในช่วงก่อนหน้านี้ของปี 2566 ศาลได้สั่งให้รัฐบาลต้องรับรองการสมรสระหว่างชายชาวเนปาลที่แต่งงานกับชายชาวเยอรมัน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การที่ศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์ของเนปาลปฏิเสธที่จะให้มีการจดทะเบียนสมรสคนรักเพศเดียวกันนั้นนับเป็นการทำลายชื่อเสียงของเนปาลในฐานะผู้นำด้านกฎหมายในเรื่องเพศวิถี, อัตลักษณ์ทางเพศ และสิทธิมนุษยชน รวมถึงยังเป็นการเสี่ยงที่จะละเมิดการคุ้มครองทางรัฐธรรมนูญสำหรับชนกลุ่มน้อยทางเพศวิถีและเพศสภาพ ทางฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการรับรองการจดทะเบียนระหว่างคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างรวดเร็วและโดยเท่าเทียมกัน


เรียบเรียงจาก
Nepal Courts Refuse to Register Same-Sex Marriages, Human Rights, Watch, 10-10-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net