Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐบาลฉายภาพแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ว่าเป็นสะพานบก เป็นเส้นทางเลือกที่ย่นระยะทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย (มหาสมุทรแปซิฟิก) กับฝั่งอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) สื่อมวลชนก็มักนำเสนอตามนั้น ประชาชนก็ได้รับข้อมูลแบบนั้น คำถามต่างๆ จึงพุ่งไปที่ความคุ้มค่าด้านการลงทุน ซึ่งทุกฝ่ายทราบดีว่าอาจไม่คุ้มค่า แม้จะไม่ต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ใช้การพัฒนาต่อยอดจากของที่มีอยู่เดิมก็อาจไม่คุ้มค่า อย่างท่าเรืออเนกประสงค์ระนองที่สร้างมาแล้วก็แทบไม่มีใครมาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้า ครั้นจะพัฒนาต่อยอดก็มีข้อจำกัด เช่น ด้านกายภาพของพื้นที่หลังท่า แต่หน่วยงานต่างๆ ก็ยังคงทำการศึกษาออกมาเรื่อยๆ งบประมาณทั้งนั้นที่ใช้ในการศึกษาโครงการนี้มาตั้งต้นทศวรรษ 2530 



ที่มาภาพ: ฐานเศรษฐกิจ


ที่มาภาพ: สนข.


ที่มาภาพ: การรถไฟแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อยากชวนพิจารณาแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ระนอง (อ่าวอ่าง) - ชุมพร (แหลมริ่ว) จะเห็นว่าแผนนี้ไม่ใช่แค่เส้นทางขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร(แปซิฟิก-อินเดีย) หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ยังมีเป้าหมายสำคัญอื่นๆ ที่แทบไม่ค่อยถูกนำเสนอต่อสาธารณะ

หากย้อนมองประวัติศาสตร์โครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้หรือปัจจุบันเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะเห็นว่ามียุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน/ปิโตรเคมี ให้เป็นอุตสาหกรรมเป็นแกนนำกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องอื่นๆ 

ส่วนเป้าหมายด้านการขนส่งสินค้าเป็นประเด็นที่ผู้พัฒนาโครงการถกเถียงกันมาตลอดว่ามีความคุ้มค่าไหม บางช่วงของการผลักดันโครงการ ผู้พัฒนาโครงการถึงกับตัดท่าเรือน้ำลึกเพื่อการขนส่งสินค้าออกจากแผนพัฒนาไปเลย เพราะทราบว่าดีว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของจำนวนเรือที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้า จึงจะสร้างแต่ทุ่นเทียบเรือรับส่งน้ำมันดิบและโครงสร้างรองรับกิจกรรมด้านพลังงาน/ปิโตรเคมี

หากการผลักดันแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพรในปัจจุบันมีเป้าหมายด้านการขนส่งสินค้า ก็ต้องตอบคำถามเรื่องความคุ้มค่านี้ให้ได้ แต่หากพัฒนาตามยุทธศาสตร์เดิมที่เคยทำต่อๆ กันตลอดมา คือ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน/ปิโตรเคมีเพื่อเป็นแกนนำกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องอื่นๆ ก็ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในมุมนี้ด้วย เพราะการพัฒนาลักษณะนี้ย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศและท้องถิ่นอย่างมาก

ลองจินตนาการถึงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก – EEC ซึ่งดูจะมีรูปแบบบางอย่างเหมือนกับแผนแลนด์บริดจ์ – โดยเฉพาะจังหวัดระยองที่เป็นหนึ่งในแหล่งอุตสาหกรรมพลังงาน/ปิโตรเคมีที่สำคัญของประเทศไทย มีโรงงานจำนวนมาก มีการลงทุน และมีการจ้างงานในอัตราสูง มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (GPP Per Capita) สูงที่สุดในประเทศไทย เหตุใดการผลักดันพัฒนาแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพรจึงไม่กล้านำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนานี้ ทำไมไม่นำเสนอรายละเอียดแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ในส่วนที่มีลักษณะสำคัญเหมือนกับใน EEC ทำไมถึงเน้นเสนอเรื่องการขนส่งสินค้า ทั้งที่ถูกโจมตีว่าไม่คุ้มค่าการลงทุนมาตลอด

ด้วยเหตุนี้ คำถามสำคัญต่อแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร จึงไม่ใช่เพียงแค่ว่า การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าจะมีความคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เพราะการศึกษาหลายชิ้นชี้ชัดอยู่แล้ว และรัฐบาลคงไม่พลาดไปขายโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าการลงทุนกับต่างชาติ อีกคำถามสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า แลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร มียุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาด้านใดบ้าง ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และตลอดแนวเส้นทางเชื่อมต่อจะมีกิจกรรมการพัฒนาประเภทใดบ้าง และหากแลนด์บริดจ์พัฒนาในลักษณะเดียวกับ EEC ความคุ้มค่าในการลงทุนจะถูกกระจายให้กับกลุ่มผลประโยชน์ใดและในสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง 

ประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศจะสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ย่อมเป็นสิทธิของทุกคนในการตัดสินใจ แต่ในกระบวนการที่รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการอยู่ขณะนี้ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ ข้อมูลที่ให้ประชาชนได้รับรู้ กับข้อมูลที่ใช้นำเสนอเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาร่วมพัฒนาต้องเป็นชุดเดียวกัน ทุกฝ่ายต้องมองเห็นการพัฒนาในรูปแบบที่ตรงกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net