Skip to main content
sharethis

กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยฯ สผ. รับหนังสือจากประธาน ศปปส. ขอให้ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย' หยุดก้าวก่ายกิจการภายในประเทศไทย คัดค้านการนิรโทษกรรมกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ว่านายปิยะพงษ์  วานิช นักวิชาการสนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติ ประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับมอบหมายจากนายรังสิมันต์  โรม ประธานคณะ กมธ. ให้เป็นตัวแทนรับหนังสือจากนายอานนท์  กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ นักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เรื่อง ขอให้องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หยุดก้าวก่ายกิจการภายในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 66 องค์กรแอมเนสตี้ฯ เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองให้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวและสิทธิในการพักโทษ หลังบางคนถูกคุมขังนานกว่า 3 ปี ซึ่ง ศปปส. มีข้อสังเกตถึงการทำงานขององค์กรแอมเนสตี้ เนื่องจากนับตั้งแต่ ปี 2563 เป็นต้นมา องค์กรแอมเนสตี้ ได้อ้างว่ามีกลุ่มบุลคลในประเทศไทยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งความเป็นจริงนั้น บุคคลกลุ่มนี้ทำผิดกฎหมายของประเทศไทย ตามมาตรา 112 มาตรา 116 และมาตราอื่น ๆ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวมถึงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่อผู้อื่นอีกด้วย และเมื่อมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย บุคคลกลุ่มนี้ได้ออกมาเรียกร้องให้หลายองค์กรช่วยเหลือ เพื่อขอให้ยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ตนทำผิด อีกทั้งเรียกร้องการนิรโทษกรรม ทั้งที่กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ที่มีการกระทำความผิดโดยมีบทลงโทษอยู่แล้ว ดังนั้น ศปปส. จึงขอให้ประธานคณะ กมธ. ไม่นำเรื่องที่องค์กรแอมเนสตี้ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีช่วยเหลือกรณีผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และกรณีไม่ให้สิทธิในการพักโทษแก่นักโทษเด็ดขาดในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นมาพิจารณา เพราะยังมีเรื่องอื่นที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

นายปิยะพงษ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาต่อไป สำหรับเรื่องที่ ศปปส.ทวงถามถึงเรื่องตั๋วปารีสนั้น คณะ กมธ. จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 2 ธ.ค. 2566 หากผลการประชุมของคณะ กมธ.เป็นเช่นใด จะแจ้งให้ทางผู้ยื่นเรื่องทราบเป็นการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net