Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เตรียมพร้อมนโยบายยกระดับบัตรทอง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ระบุถือ เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ มั่นใจเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการสำเร็จ 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เดินทางลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเยี่ยมหน่วยบริการและติดตามความพร้อมการดำเนินงานตามนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” กำหนดเริ่มนำร่องในเดือนมกราคม 2567 โดยร้อยเอ็ดเป็น 1 ใน 4 ของจังหวัดนำร่องที่จะให้บริการตามนโยบายดังกล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาจากหน่วยบริการหลากหลายประเภท ต่อการดำเนินการตามนโยบายนี้ ทั้งจากโรงพยาบาลจังหวัด (รพ.ร้อยเอ็ด) โรงพยาบาลอำเภอ (รพ.จตุรพักตรภิมาย) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.บ้านสังข์-สงยาง) รวมทั้งหน่วยบริการนวัตกรรม เช่น คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ (คลินิกเบญจภรณ์คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์) และร้านยาชุมชนอบอุ่น (ร้านยาเภสัชกร (เภสัชต้น)) ซึ่งเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทางที่จะเข้าร่วมให้บริการประชาชนตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ 

ขณะเดียวกันยังได้ร่วมพูดคุยหารือกับ ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ รพ.ร้อยเอ็ด ตลอดจนทีมงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อสอบถามสถานการณ์ในภาพรวมและรับฟังปัญหาหรือข้อเสนอแนะที่ สปสช. จะสามารถให้การสนับสนุนได้ 

การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมนโยบายยกระดับบัตรทอง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาที่ไหนก็ได้” ซึ่งฟังแล้ว อาจคิดว่าเหมือนเดิม เพราะเคยทำแบบนี้มาก่อนแล้ว แต่สาระจริงๆ คือ การปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ 2 เรื่อง คือ  

1. เป็นการปฏิรูประบบข้อมูลบริการครั้งใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยบูรณาการข้อมูลเข้ามาในระบบคลาวด์ เพื่อที่เวลาประชาชนไปรับบริการที่ไหน หน่วยบริการสามารถดึงข้อมูลได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว  

2. เป็นการขยายบริการที่เป็นนวัตกรรมให้ประชาชนได้นับบริการมากขึ้น โดย สปสช. มีบทบาทในการเสริมงานกระทรวงสาธารณสุข และจะทำหน้าที่ระดมบริการนวัตกรรมเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย และร้านยา ซึ่งก็ถือเป็นการปฏิรูปอีกแบบหนึ่ง 

“ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ด้วยบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของคนทำงาน และทัศนคติของผู้บริหารที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง ผมค่อนข้างมั่นใจว่า จ.ร้อยเอ็ด จะเป็นจุดแรกที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบาย” นพ.จเด็จ กล่าว  

ด้าน ดร.นพ.สุรเดชช กล่าวว่า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยให้ประชาชนที่มีความจำเป็นไปรับการรักษานอกพื้นที่ได้ เช่น มาจังหวัดร้อยเอ็ดแล้วเจ็บป่วยหรือยาหมด ก็สามารถเข้ารับบริการได้ แต่สำหรับนโยบายครั้งนี้ จุดสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ คือสามารถเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วย จากเดิมที่เมื่อไปรับบริการนอกเขต ผู้ให้บริการแทบไม่มีข้อมูลผู้ป่วยรายนั้นเลย เช่น เคยใช้ยาอะไรมาบ้าง หรือเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินหมดสติ แพทย์ก็ไม่รู้ว่าแพ้ยาอะไร หรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง นโยบายนี้จะมาเสริมในเรื่องนี้ 

“ผมมั่นใจเต็มร้อย เนื่องจากเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่การดำเนินการจะเกิดผลได้มากน้อยเพียงใด ทุกคนต้องช่วยกันติดตาม ในจังหวัดร้อยเอ็ด มีโรงพยาบาลรัฐ 20 แห่ง ตอนนี้เชื่อมโยงข้อมูลหมดแล้ว ส่วน รพ.สต. อีก 229 แห่ง ตอนนี้เชื่อมข้อมูลไปกว่า 200 แห่งแล้ว เหลืออีกเล็กน้อยและคาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเราก็เชื่อมข้อมูลไว้แล้ว รวมถึงคลินิกนวัตกรรมต่างๆ ได้เชื่อมโยงข้อมูลกันแล้ว 400 กว่าแห่ง จาก 500 แห่ง และมีอีกหลายแห่งอยู่ในช่วงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่ง สปสช. จะช่วยยืนยันความมั่นใจในเรื่องระบบเบิกจ่ายเงิน” นายแพทย์ สสจ.ร้อยเอ็ด กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net