Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมอครับ หมอบอกว่าใครมีอะไรอยากจะบอกหมอ ให้บอกมาเลย เพราะหมอคงมีเวลาอีกไม่นานนัก ผมจึงขอเขียนจดหมายน้อยมาถึงหมอนะครับ

ก่อนอื่น ขอขอบคุณอย่างมากนะครับสำหรับหนังสือที่มีค่าที่หมอได้เขียน ผมได้รับเสมือนเป็นของขวัญจากลูกสาว และผมก็อ่านจบภายในเวลาไม่นานนัก สิ่งที่ผมอยากจะบอกหมอจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือของหมอครับ

เมื่อหมอเผชิญกับปัญหาสุขภาพ คำถามที่ผุดขึ้นมาก็เป็นเช่นคนทุกคน ก็คือ “ทำไมเป็นเรา” (why me) แต่คำตอบที่หมอให้แก่ตัวเองกลับแตกต่างไปจากปรกติทั่วไป หมอได้ตัดสินใจที่จะเขียนเรื่องการเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพด้วยการอธิบายเรื่องโรคภัย การรักษาพยาบาล และชีวิตของหมอ โดยสอดแทรกความคิดที่เป็นเสมือนการให้กำลังใจแก่คนอ่านด้วยกรอบการอธิบายที่ทำให้เห็น “ความเป็นธรรมดา” ของชีวิต

หมอได้เล่า/อธิบายเรื่อง “ส่วนตัว” ของหมอด้วยการถอยตัวเองออกจาก “ตัวเอง” และมองไปที่กระบวนการของชีวิตที่เผชิญกับโรคร้าย การถอยตัวเองจาก “ตัวเอง” จึงทำให้ในงานเขียนของหมอไม่มี “ความฟูมฟาย” ให้รันทดแม้ว่าจะรู้สึกไปกับโชคชะตาที่ผลิกผันเหมือนกับการกลั่นแกล้งก็ตาม

การที่หมอสามารถถอย/ถอนตัวเองจาก “ตัวเอง” ได้ ก็น่าจะเกิดจากพื้นฐานทางอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อรูปมาเป็นชีวิตของหมอ เห็นได้ว่าหมอเป็นคนที่ “ใส่ใจ/ใส่หัวใจ” ให้คนอื่นมาโดยตลอด จากการตัดสินใจที่จะเรียนหมอเพราะรู้สึกว่าทำไมหนอตนเองไม่สามารถจะดูอาม่าที่เจ็บป่วยได้ จากการเล่น/ทำทีมกีฬา ซึ่งต้องคำนึงถึงเพื่อนร่วมทีม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เทคนิคการเล่น หากรวมไปถึงการดูแลทางอารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจว่าจะพูดคุยเรื่องอะไรกับรุ่นน้องสวนกุหลาบ การเชื่อมโยงปัญหาฝุ่นละอองกับชีวิตของผู้คนในฐานะมนุษย์และพลเมือง

การ “ใส่ใจ/ใส่หัวใจ” ให้คนอื่นทำให้หมอได้ข้อสรุปของชีวิตว่า “เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง” ที่ได้มีโอกาสทำงานที่รู้สึกว่ามีคุณค่าต่อผู้อื่น การลงทุนต่อตัวเองของหมอจึงไม่ใช่เพื่อ “ตัวเอง” เท่านั้น หากแต่เป็นการลงทุนเพื่อคนรอบข้างที่กว้างใหญ่มากขึ้นตามกาลเวลา ดังที่หมอได้เขียนไว้ว่า “การทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้ได้รู้สึกว่ามีบางส่วนของชีวิตที่เราพอจะพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของมันได้อยู่บ้าง”

หมอครับ ชีวิตและงานเขียนของหมอได้ทำให้คนอ่านและสังคมไทยได้มองเห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งที่เรียกได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจเชิงสังคม” (social empathy) ที่ก่อเกิดขึ้นจาก “ความเห็นอกเห็นใจส่วนบุคคล” (sympathy) ความรู้สึกชุดนี้เบ่งบานในหัวใจของหมออย่างหนักแน่นและแจ่มชัดครับ

ผมขอเรียนหมอว่า สิ่งที่หมอได้ทำและได้บอกกับพวกเราครับ คือ สิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในวันนี้และในช่วงเวลานี้ คงไม่ใช่เพียงแค่ “คงจะดีมาก ถ้าชีวิตที่สั้นลงของผมสามารถเป็นกำลังใจและเป็นพลังชีวิตให้กับคนที่มีชีวิตอยู่” เท่านั้น หากแต่หมอบอกกับสังคมไทยโดยรวมว่า “การคิดถึงคนอื่น ใส่ใจ/ใส่หัวใจ ให้กับคนอื่น” นั้นมีความหมาย มีคุณค่ายิ่งต่อทุกคนในสังคม

ขอขอบคุณหมออย่างมาก

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net