Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่าช่วงหยุดปีใหม่ ตร.-ทหารอุบลฯ ตามติดนักกิจกรรมในจังหวัดเพรา “เจ้าฟ้าทีปังกรฯ” เสด็จ มีทั้ง”ขอความร่วมมือ” ไม่ให้ไรเดอร์วิ่งรถแอบติด GPS ทำขาดรายได้ บางคนถูกตามคุยถึงบ้าน ไม่ให้ออกจากบ้าน แม้ว่าจะไม่อยู่ในจังหวัดแล้วหรือไม่ได้ออกมาทำกิจกรรมแล้ว และยังรายงานอีกว่ารอบปี 66 ยังมีคนโดนตามคุกคามถึง 203 กรณีแม้เปลี่ยนรัฐบาล

3 ม.ค.2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานถึงกรณีนักกิจกรรม 6 คน ในจังหวัดอุบลราชธานีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในจังหวัดติดตามคุกคามช่วงหยุดปีใหม่ 28 ธ.ค.2566-2 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติมีกำหนดการเสด็จในจังหวัด ศูนย์ทนายความฯ ระบุรายละเอียดการคุกคามไว้ดังนี้

กรณีของณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) อาชีพไรเดอร์ถูกตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีติดตามตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2566 โทรหาเพื่อสอบถามว่าอยู่ที่ไหน ถามถึงที่พักปัจจุบัน และถูกถามอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค.จะไปที่ขบวนเสด็จหรือไม่ แม้เขาจะยืนยันว่าไม่ได้ไปเพราะต้องทำงานแต่ก็ยังถูกถามความรู้สึกที่มีต่อเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ด้วย โดยเขาตอบว่ารู้สึกเฉยๆ และไมได้เคลื่อนไหวอะไรตั้งแต่ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้เป็นรัฐบาล และเขายังพบว่าตัวเองถูกแอบติด GPS ที่จักรยานยนต์ซึ่งเป็นรุ่นที่สามารถดักฟังและบันทึกเสียงได้ ซึ่งลักษณะเป็นกล่องสีดำมีเขียนบนกล่องว่า Fashion

อ่านเรื่องการใช้ GPS ยี่ห้อ Fashion เพิ่มได้ที่

ภายหลังณัฐวุฒิได้เอารถไปเช็คที่ร้านซ่อม แล้วจึงโทรหาตำรวจภูธรอุบลฯ เพื่อสอบถามแต่ตำรวจบอกว่าไม่รู้เรื่องแต่อาจเป็นทหารเอามา แต่เมื่อคุยเสร็จตำรวจกลับขอ GPS คืน โดยนัดรับที่ร้าน จากนั้นทางเจ้าหน้าที่บอให้ณัฐวุฒิอยู่แต่ที่บ้านไม่ออกไปไหนจนถึงวันที่ 3 ม.ค.2567 และในวันเดียวกันตำรวจ สภ.วารินชำราบได้โทรหาเขาด้วยและขอมาถ่ายเป็นระยะและขอไม่ให้เขาไปวิ่งงานไรเดอร์ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566

ณัฐวุฒิกล่าวว่า เขาไม่ได้มีแผนที่จะไปไหนอยู่แล้วแต่การที่ตำรวจไม่ให้ขับไรเดอร์ถึง 5 วัน ทำให้เขาขาดรายได้โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ซึ่งจะได้งานอย่างแน่นอนและเคยได้เยอะที่สุดถึง 15,000 บาท ซึ่งการถูกห้ามวิ่งรถเป็นเรื่องลำบากสำหรับเขา

นอกจากนั้นณัฐวุฒิได้ยังกล่าวถึงคำบอกเล่าของตำรวจนอกเครื่องนายหนึ่งว่า ตำรวจทหารในพื้นที่ให้ความสำคัญในการติดตามจับตาเขาอย่างมาก ทั้งสันติบาล, สภ.วารินชำราบ, กอ.รมน., มทบ.22 ยังไม่รวมพวกที่แอบติดตามด้วย และตำรวจ สภ.วารินฯ ยังได้รับคำสั่งจากทหารซึ่งไม่ทราบตัวตน พร้อมบอกกับเขาว่ามีทหารอยู่ 5 คนกำลังติดตามผมอยู่

ในรายงานของศูนย์ทนายความยังได้ระบุถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ อีก 5 คน ได้แก่ เค้ก (นามสมมติ), ต้า (นามสมมติ) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ, วิศรุต สวัสดิ์วร สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.อุบลราชธานี, ฉัตรชัย แก้วคำปอด นักกิจกรรม, ภานุภพ ยุตกิจ สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ทำประเด็นเครือข่ายต่อสู้ในชุมชนพื้นที่ อ.สิรินธร ซึ่งพวกเขาถูกติดตามด้วยวิธีการใกล้เคียงกันทั้งการโทรถามที่อยู่ หรือไปติดตามถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน

รอบปี 66 มีประชาชนถูกติดตาม 203 กรณี แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว

นอกจากนั้นศูนย์ทนายความฯ ยังได้ออกรายงานสรุปสถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชนในรอบปี 2566 ออกมาก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน โดยสรุปจำนวนที่มีประชาชนถูกติดตามคุกคามไว้ว่าอย่างน้อย 203 กรณี 167 คน เป็นเยาวชนอายต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 คน โดยในจำนวนนี้มีกรณีที่เกิดขึ้นหลังโปรดเกล้าเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว 70 กรณี (เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าว่ายังไม่ได้รวม 6 กรณีในจ.อุบลฯข้างต้น)

ศูนย์ทนายความฯ ระบุในรายงานว่าสถานการณ์ติดตามคุกคามนักกิจกรรม นักศึกษา หรือประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช่กระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมายยังคงดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลทหาร คสช. ถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 และสถานการณ์ยังดำเนินต่อมาจนถึงรัฐบาลเศรษฐาโดยยังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

แม้ในปีที่ผ่านมาจะไม่ได้มีการชุมนุมทางการเมืองมากนัก แต่ประชาชนและนักกิจกรรมที่เคยออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองและถูกเจ้าหน้าที่จับตาในช่วงปี 2563-2565 ยังคงตกเป็นเป้าหมาอยู่โดยรูปแบบยังคงเป็นเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามถึงบ้านพักหรือพื้นที่ส่วนตัว, คอยสอดแนม-ตรวจเช็คความเคลื่อนไหว หากมีบุคคลสำคัญมาลงพื้นที่ รวมทั้งการเข้าห้ามหรือปิดกั้นกิจกรรมต่าง ๆ ยังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะในรอบปีนี้

ศูนย์ทนายความฯ ระบุถึงว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดตามคุกคามมากที่สุดคือการมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่โดยมีอย่างน้อย 78 กรณี โดยแยกเป็นกรณีที่เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์หรือองคมนตรีจำนวน 63 กรณี และกรณีนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลในรัฐบาลจำนวน 15 กรณี นอกจากนั้นสาเหตุอันดับสองคือประชาชนออกมาทำทำกิจกรรมหรือแสดงออกทางการเมืองทั้งที่เป็นการชุมนุมทางการเมืองและไม่ใช่การชุมนุมรวมแล้ว 53 กรณี

ในกรณีการคุกคามที่เกิดขึ้นเพราะประชาชนแสดงออกทางออนไลน์ในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยยังไม่ได้เป็นคดีความมีอย่างน้อย 20 กรณีด้วย โดยมีรูปแบบการคุกคามเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปหาถึงบ้าน 9 กรณี มีการโทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอพบคุยอีก 4 กรณี

ในจำนวนนี้มีกรณีที่เข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วย ได้แก่ กรณีของ “กานต์” (นามสมมติ) นักศึกษาที่ทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย จากสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ไปรอพบยังที่พักอาศัย ก่อนจะนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องภายในสถานีตำรวจเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง และยังยึดอุปกรณ์สื่อสารไว้ พร้อมขอเข้าถึงข้อมูล โดยไม่มีหมายจับหรือเอกสารใด ทั้งยังให้ลงนามในเอกสารข้อตกลงยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ และจะไม่กระทำการในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่เกิดการข่มขู่ ใช้ความรุนแรงจากบุคคลไม่ทราบฝ่ายอีกอย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ถูกบุคคล 2 คนใช้ก้อนหินขนาดใหญ่โยนใส่รถในบ้านกลางดึก, แซม ซาแมท ที่ถูกไรเดอร์ของ Bolt ทำร้ายร่างกาย และแทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกบุคคลโทรศัพท์ข่มขู่แม่ของเธอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net