Skip to main content
sharethis

ศาลอาญา รัชดา ให้ประกันตัว ‘ไดโน่’ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า คดีสาดสีพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล วางหลักประกัน 7 หมื่น ห้ามกระทำผิดซ้ำ 

 

2 ส.ค. 2565 iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน รายงานวันนี้ (2 ส.ค.) บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ระบุว่า สืบเนื่องจากนวพล ต้นงาม เข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการ ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดีสาดสีใส่ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ในการชุมนุมเมื่อ 30 ก.ค. 2564 ซึ่งราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สน.บางซื่อ เจ้าของท้องที่ให้ดำเนินคดี ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 ก.ค. 2565 จำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเดียวกับนวพล อีก 9 คนได้เข้าพบอัยการเพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดีแล้ว และจำเลย 7 จาก 9 คนที่อัยการส่งตัวฟ้องในวันนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ทสมา สมจิตร์ และกตัญญู หมื่นคำเรือง ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยผู้ชายอีก 5 คน ได้แก่ ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, จิตริน พลาก้านตง, ทวี เที่ยงวิเศษ, ชาติชาย ไพรลิน, และกฤษณะ มาตย์วิเศษ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนทรงพล สนธิรักษ์ และเจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่นวพล ซึ่งในนัดดังกล่าวอยู่ระหว่างติดเชื้อโควิด-19 จึงขอเลื่อนนัดรายงานตัวกับอัยการเป็นวันนี้

หลังเข้ารายงานตัวกับอัยการในเวลา 13.30 น. เพื่อฟังคำสั่ง อัยการนำตัวนวพล ไปศาลอาญาเพื่อส่งตัวฟ้อง จากนั้นนวพลถูกควบคุมตัวในห้องควบคุมที่ใต้ถุนศาลจนกระทั่งเวลา 17.30 น. นวพลจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอาญาตีราคาประกันเป็นเงิน 70,000 บาท ซึ่งทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ วางเป็นหลักประกันต่อศาล และศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำความผิดใดๆ อันมีลักษณะหรือเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และนัดนวพล มาศาลอีกครั้งในวันที่ 22 ส.ค. 2565

นวพล กล่าวถึงกิจกรรมในวันที่ถูกดำเนินคดีว่า การชุมนุมครั้งนั้นจัดขึ้นเนื่องจากมีประชาชนเสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาทิ ไม่สามารถจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากระจายได้อย่างเป็นธรรมสำหรับทุกคน จึงจัดชุมนุมที่ที่ทำการพรรคการเมืองสามแห่งได้แก่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เพื่อยื่นหนังสือ เผาหุ่นฟาง และสาดสีแดงที่สื่อถึงเลือดของประชาชนที่รัฐบาลไม่เหลียวแล นวพล ย้ำว่า สีที่ใช้ปาในวันเกิดเหตุสามารถล้างออกได้

นวพล เล่าถึงวันที่ทราบว่า ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าทั้ง 7 คนว่าในวันนั้นเขาอยู่ที่ลพบุรี และเพิ่งยื่นขอเลื่อนนัดรายงานตัวกับอัยการเนื่องจากติดโควิด-19 ในช่วงบ่าย ก่อนที่ในเย็นวันเดียวกันจะมาทราบว่าเพื่อนทั้ง 7 คนถูกคุมขังทำให้เขาตกใจมาก

"วันนั้นมันตกใจมากกับการที่เพื่อนเราไม่ได้ประกันตัว เรารู้สึกกดดันมาก เรารู้สึกตกใจมากกับกระบวนการยุติธรรม เราคิดถึงเขา เราเป็นห่วงนะ แต่นักสู้ทุกสนามรบมันก็ต้องสู้ ถึงแม้การที่เราไปอยู้ในเรือนจำ มันก็เป็นอีกหนึ่งหนทางสู้ของเรา…ข้างนอกเราก็เตรียมตัวที่จะต้อนรับการกลับมาเสมอ แต่ก็อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่รู้ว่ามันจะมีจริงไหมกับอิสรภาพกับเพื่อนเรา" นวพล กล่าว 

นวพล กล่าวอีกว่า มิตรสหายบางคนในกลุ่มทะลุฟ้า เช่น ทสมา สมจิตร์ นั้นเป็นฝ่ายสนับสนุนของกลุ่ม ทำหน้าที่ในการซื้อน้ำ ดูแลของขาดเหลือต่างๆ รวมถึงเป็นคนคอยเตือนไม่ให้กิจกรรมกระทบประชาชนคนอื่นๆ หรือกตัญญู หมื่นคำเรือง ในวันที่จัดกิจกรรมนั้นเธอก็ไม่ได้ปาสี ไม่ได้ขูดขีด เธอทำหน้าที่ดูแลน้องๆที่เพิ่งมาใหม่เพียงเท่านั้น

นวพล ระบุด้วยว่า ช่วงนี้เขาไม่ได้มาร่วมชุมนุมเนื่องจากหลังปี 2564 เขามีลูกชายวัย 2 เดือนให้กลับไปดูแล รวมถึงต้องกลับมาจัดการกับการเรียน

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสรุปคำฟ้องคดีของจำเลย 7 คนที่เข้ารายงานตัวก่อนทรงพลไว้ว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 จำเลยทั้งเก้าคนพร้อมกับพวกรวม 50-60 คน ในนามกลุ่มทะลุฟ้า ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง เพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องทางการเมืองต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการใช้รถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียง โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และเป็นกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 5 คน ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กลุ่มจำเลยยังได้ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการด่าทอ ตำหนิ โห่ไล่เจ้าพนักงานตำรวจที่นำแผงเหล็กไปวางกั้นบริเวณทางเข้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ หลัง พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางซื่อ สั่งให้จำเลยเลิกการชุมนุม แต่จำเลยทั้งหมดยังขัดขืน ไม่เลิกการมั่วสุม ทั้งยังบุกรุกเข้าไปภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสำนักงานของผู้เสียหาย

กลุ่มจำเลย ยกเว้น ทรงพล และเจษฎาภรณ์ ยังมีการขว้างปาถุงสีเข้าไปภายในพรรค ที่ป้ายชื่อพรรคและผนังของพรรค มีการติดสติกเกอร์และกระดาษที่มีรูปภาพล้อเลียนบุคคลที่ประตูที่ทำการพรรค และได้จุดไฟเผาหุ่นฟางที่บริเวณพื้น จนป้าย ผนังอาคารของพรรคเสียหาย รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 6,328 บาท

เฉพาะทรงพล, เจษฎาภรณ์, และกตัญญู ยังได้แสดงความคิดเห็นโจมตีการบริหารราชการของรัฐบาล โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานด้วย

ในส่วนของทรงพล และเจษฎาภรณ์ ที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลให้วางหลักประกันคนละ 35,000 บาท ซึ่งทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางต่อศาล และศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้น จะถือว่าผิดสัญญาประกัน และให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net