Skip to main content
sharethis

Stand Together ครั้งที่ 4 พูดคุยและส่งกำลังใจให้กับจำเลยคดี ม.112 ที่มีนัด 29-31 ม.ค.นี้ ประกอบด้วย มายด์ ภัสราวลี ลลิตา มีสุข อุกฤษฏ์ นักศึกษานิติ ราม และแอดมินคนกลมคนเหลี่ยม iLaw ชี้ในเดือนแรกของปี 67 คดีการเมืองยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดลง และมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ม.112 มากถึง 10 คดี 

ภาพจาก iLaw

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 iLaw จัดงาน Stand Together ครั้งที่ 4 ที่อาคาร ALL RISE รัชดา-ลาดพร้าว ชวนฟัง พูดคุย และส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในเดือนแรกของปี 2567 ที่คดีการเมืองยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดลง และมีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึงสิบคดี แม้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ลลิตา มีสุข ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ม.ค. 2567 จากกรณีแชร์ Tiktok วิจารณ์การใช้ภาษีของประชาชน และ อุกฤษฏ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ ก้อง ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 ม.ค. 2567 จากกรณีแชร์ข่าวชุมนุมประท้วงสถาบันกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี รวมทั้ง จิรวัฒน์ แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยมและจำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่ง 31 ม.ค. นี้ อัยการนัดส่งฟ้องศาลอาญา

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้แจ้งให้ประชาชนเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ไปสู่การนิรโทษกรรมประชาชนที่จะเกิดขึ้น และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1-14 ก.พ.นี้ โดยเปิดให้ประชาชนช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนด้วย

'ภัสราวลี' คำปราศรัยล่องหนที่สื่อสารตรงถึงพระมหากษัตริย์

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 กล่าวว่า คำปราศรัยในวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่สี่แยกราษฎ์ประสงค์ นั้นเป็น "คำปราศรัยล่องหน" ที่ถูกทำให้หายไปหมดแล้ว เพราะหลายสื่อหลายช่อง เช่น สำนักข่าว Voice TV ได้ลบคลิปการปราศัรยดังกล่าวไปแล้ว โดยในการชุมนุมครั้งนั้นผู้มีส่วนร่วมหลายคนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ภัสราวลีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงคนเดียว                      

ภัสราวลียืนยันว่า การปราศรัยครั้งนั้นมีความสุภาพ นอบน้อม และจริงใจในการนำเสนอปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สถาบันกษัตริย์มองเห็นถึงความสำคัญว่าทำไมประชาชนต้องออกมาชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเชื่อว่าประชาชนสามารถสื่อสารข้อเรียกร้องไปยังพระมหากษัตริย์โดยตรงได้

ภัสราวลี (ภาพจาก iLaw)

“มายด์ยังจำคำปราศรัยของวันนั้นได้ไม่ลืม.. สิ่งที่สื่อสารในวันนั้นไม่ได้สื่อสารถึงพระมหากษัตริย์อย่างเดียว แต่สื่อสารถึงคนสามกลุ่ม สื่อสารถึงประชาชนว่า ให้เห็นว่าตอนนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร รักได้แต่ต้องรักให้ถูกทาง ถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าเห็นเหมือนกันใช่ไหมว่ามีปัญหา ถ้ายิ่งดึงดันกันต่อไปความล่มสลายคงมาในไม่ช้า และสุดท้ายถึงองค์พระมหากษัตริย์… เป็นคำถามเป็นข้อเสนอแนะที่เราพยายามพูดกับพระองค์ท่านโดยตรงว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ อยากให้ท่านเองก็ได้รับรู้ถึงข้อกังวลตรงนี้ด้วย”

ภัสราวลี เล่าถึงการชุมนุมในครั้งนั้นว่า เนื่องจากตนต้องการแสดงพลังในการต่อสู้เพื่อเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้า (รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา) เธอจึงเลือกที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก่อนที่จะไม่มีเวลาต่อสู้และส่งเสียง รวมถึงการพูดถึงรัฐบาล  เธอแน่ใจว่าการปราศรัยไร้ซึ่งคำด่าว่า เสียดแทง เธอเองไม่แน่ใจว่าทำไมเพียงแค่การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะสร้างความไม่พอใจให้ชนชั้นนำไทยขนาดไหน เเต่ตอนนี้เนื้อหาเหล่านั้นหายไปหมดเเล้ว รวมทั้งการสื่อสารครั้งนั้นคือการสื่อสารไปยัง ประชาชน กลุ่มอนุรักษนิยมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เธอยืนยันว่าเธอพูดเรื่องจริงและไม่มีคำพูดใดที่อาฆาตมาดร้าย เธอเป็นเพียงประชาชนผู้เห็นต่าง

ภัสราวลีกล่าวว่า ถึงแม้เนื้อหาในวันดังกล่าวจะพูดบนพื้นฐานความเป็นจริง มีการอ้างอิงบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ และประกาศที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทั้งสิ้น อีกทั้งยังไม่มีคำหยาบคาย แต่ก็ยังทำให้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถูกแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษโดยกลุ่ม “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” หรือ ศปปส. แต่ก็ไม่ได้โกรธที่พวกเขาพยายามดำเนินคดี เพราะคิดว่าพวกเขายังไม่คุ้นชินนักกับความแตกต่างหลากหลายในสังคมเพียงเท่านั้น

สำหรับที่มาของ ภัสราวลี เธอเล่าว่าว่าเธอเองนั้นคือเด็กวัยรุ่นทั่วไป ที่วางเเผนตามบริบทสังคมวิ่งตามความฝันตัวเอง  แต่เมื่อเติบโตขึ้นและได้รับรู้ปัญหาทางสังคมและการเมือง เธอตระหนักว่าตัวเธอเองจะไม่สามารถอยู่ท่ามกลางชีวิตที่สุ่มเสียงและอาจไร้อนาคตเพราะสภาพสังคมที่มีปัญหาและไม่เอื้อแก่การวางแผนทางความฝัน จนเธอคิดได้ว่าเธอจะไม่ละทิ้งเรื่องการเมืองที่มีผลกระทบต่อชีวิตตัวเอง

การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้เสียเวลาในชีวิตไปมากรวมทั้งยังทำให้คนรอบตัวเริ่มเว้นระยะห่างมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบไปสู่ครอบครัวของเธอด้วย ตัวอย่างสำคัญคือกรณีที่เพื่อนฝูงของแม่ตนเริ่มนำครอบครัวของเธอไปนินทาลับหลังจนสภาพจิตใจของครอบครัวย่ำแย่ นอกจากนี้ยังต้องรับมือจากการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถึงที่พักอาศัย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปพูดคุยกับพ่อที่เป็นผู้พิการภัสราวลีให้ได้แม้จะรู้ว่าไม่มีใครอยู่ที่บ้านประหนึ่งจงใจ

“การโดนมาตรา 112 ทำให้เราถูกตีตราจากสังคมว่าเราเป็นคนล้มเจ้า… กำแพงวาทกรรมแบบนี้ทำให้สิ่งที่เราอยากสื่อสารจริงๆ ถูกกั้นกำแพงจากฝ่ายตรงข้าม” มายด์เล่า

ภัสราวลี (ภาพจาก iLaw)

มายด์ ยืนยันด้วยว่าตนเตรียมตัวไปหมดแล้ว จึงใช้เวลากับครอบครัวให้มากที่สุด และเธอหวังอย่างยิ่งว่าจะได้กลับมาใช้เวลากับพวกเขาอีกในเร็ววันคดีของตนเอง มายด์ว่าตนเองยังอยู่ในระยะของการต่อสู้ เเละยังคงเลือกที่จะต่อสู้เเม้ตัวเองจะอยู่ในเรือนจำ เเละมายด์จะไม่หยุดพูดความจริง เพราะยังยืนยันว่าสามารถพูดได้  เเละบอกย้ำถึงชนชั้นนำว่าอย่ากลัวที่จะรับฟังความเห็นของเธอ เพราะไม่ว่าอย่างไร เธอเองก็จะยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเปลี่ยนแปลงเช่นเดิม

เกี่ยวกับคดีของภัสราวลี                  

30 ก.ย.64 อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ภัสราวลี เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันสถาบันเบื้องสูง ร่วมกันชุมนุม หรือทำกิจกรรม ที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคระบาดโควิด-19  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และ 112 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 9, 18 จาก #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์

โดยพนักงานอัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลากลางวัน จำเลยกับพวก และผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้จัดกิจกรรมชุมนุมในที่สาธารณะ บริเวณแยกราชประสงค์ จำเลยได้ปราศรัย ดูหมิ่นใส่ร้ายสถาบันเบืองสูง ด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาคำฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำอ.1600/2564 ขณะที่ ภัสราวลี จำเลยแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยไปทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามนัดทุกครั้ง โดยถือปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

และมีนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 ม.ค. 2567

(อ่านรายงานเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

'ลลิตา' รับสารภาพด้วยเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง

ลลิตา มีสุข ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ม.ค. 2567 จากกรณีแชร์ Tiktok วิจารณ์การใช้ภาษีของประชาชน พูดถึงต้นเหตุการถูกคดีครั้งนี้ว่า มาจากการทำคลิปวิจารณ์ตอบโต้ออกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านประชานิยมในโครงการประชารัฐ โดยในคลิปดังกล่าวมีการใช้คำราชาศัพท์ทั้งสิ้นหนึ่งคำจึงถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีมาตรา 112 แม้ว่าเนื้อหาคลิปจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดก็ตาม เรื่องนี้ลลิตามองว่าเป็นความพยายาม “บิด” ให้การกระทำของเธอผิดตามมาตราดังกล่าวให้ได้ ซึ่งยิ่งสะท้อนปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112

ลลิตา (ภาพจาก iLaw)

เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงรับสารภาพในคดีนี้ ลลิตากล่าวว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน การรับสารภาพในคดีมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการยอมรับว่ากระทำสิ่งผิดแต่เป็นสภาวะจำยอมที่ต้องทำ อย่างลลิตามองว่าคุณแม่ของเธอกำลังจะหายจากการป่วยอยู่แล้ว หากเธอต้องสู้คดีไปจนสุดทางกระทั่งเข้าเรือนจำนั้นจะเป็นผลเสียมากกว่าดี อีกทั้งการอยู่นอกเรือนจำยังทำให้สามารถส่งเสียงเรียกร้องและต่อสู้ทางการเมืองต่อไปได้เรื่อยๆ อีกด้วย

ถึงแม้จะถูกดำเนินคดีแล้วแต่ลลิตาก็ยังจะทำงานสื่อสารในประเด็นทางการเมืองต่อไปเท่าที่ทำได้ เธอเชื่อว่าจะยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นเมื่อเธอกลายเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง และหากสามารถพูดคุยชี้แจงกับคนได้มากขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ในสักวันหนึ่ง

ลลิตา เล่าภูมิหลังของเธอว่า เป็นคนที่ใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตั้งแต่เด็กจนทำให้ได้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสองแห่ง แม้คนในกรุงเทพฯ จะรู้สึกว่าหลายสิ่งในเมืองมีปัญหาแต่ก็ยังห่างไกลจากความเหลื่อมล้ำที่เธอพบเจอมาจากต่างจังหวัด ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้ลลิตาพยายามสื่อสารมาตลอดตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมศึกษา โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างชุมนุมเสื้อสีในกรุงเทพฯ

ขณะนั้นโรงเรียนของลลิตายังเปิดพื้นที่ให้ทหารได้เข้าไปประจำการเพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการสลายการชุมนุม “ทุกวัน” ด้วยกระสุนและแก๊ซน้ำตาส่งผลกระทบต่อมุมมองทางการเมืองของของลลิตาเป็นอย่างมาก เธอจึงแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เสมอมาจนกระทั่งปี 2564 ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองหลังยุคชุมนุมเสื้อสี

เธอยังบอกอีกว่าประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่ทั้งสองที่นั้น ทำให้เธอเห็นถึง ความแตกต่างตั้งแต่เรื่อง อาหาร ชาวบ้าน วิธีชีวิต ระบบสาธารณูปโภค ความเป็นอยู่ที่ฝั่งหนึ่งชนบทแร้นแค้น แต่ในขณะที่อีกฝั่งเจริญและมีทุกสิ่งอย่างอำนวยความสะดวก เธอยืนยันว่าขณะนั้นเธอคิดว่านี่เหมือนการอยู่คนละโลก เมื่อเติบโตขึ้นนั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ใช้เเพลตฟอร์มตัวเองในการเเสดงความคิดเห็นในสังคม เพราะเธอเองก็เติบโตมาในยุคที่การเมืองมีทั้ง สถานการ์ณความรุนแรง เหตุปะทะ และความขัดแย้ง การสลายการชุมนุมจึงทำให้เห็นว่าการเมืองนั้นไม่เพียงอยู่ใกล้กันกับชีวิตคน เเต่การเมืองและชีวิตคนมันคือเรื่องเดียวกัน         

   

ภาพจาก iLaw

ลลิตา กล่าวว่าเลือกใช้ชื่อเสียงของตนเองในการขับเคลื่อนและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในพื้นที่ของตัวเองมาโดยตลอดจนเมื่อปี 2564 เธอถูกดำเนินคดีในกรณีการวิจารณ์การใช้งบประมาณดังกล่าว เธอยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้นเธอต้องการแสดงความคิดเห็นเพียงถึงรัฐบาลในการใช้งบประมาณช่วงโควิด 19 ที่นำภาษาของประชาชนมาแจกจ่ายและเรียนนโยบบายเหล่านั้นว่า บัตรประชารัฐ เงินลุงตู่ หรืออื่น ๆ  เธอยืนยันว่าเนื้อหหาที่สามารถสุ่มเสี่ยงและโดนแจ้งข้อหาเป็นเพียงคำที่เธอพูดว่า การกระทำเหล่านั้นนับเป็น  ‘พระมหากรุณาธิคุณ’ จนถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี

เธอให้ความเห็นว่า ตัววเธอเองก็ยังคงสงสัยข้องใจในกระบวนการของกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ามีความกว้างใหญ่ไพศาล หรือกระบวนการใช้งานดังกล่าวอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้ใช้งาน จนเธอเองรู้สึกใครก็ตามที่ถูกฟ้องด้วยกฎหมายดังกล่าวก็อาจถูกกลั่นแกล้ง และตัวเองเธอเองก็ได้รับผลกระทบเหล่านั้น

เกี่ยวกับคดีของ ลลิตา นั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เธอ ถูกอภิวัฒน์ ขันทอง ในฐานะประธาน คตส.ตามคำสั่งนายกฯ เข้าแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ​ กรณีโพสต์คลิปวิดีโอสั้นใน TikTok วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชน เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ซึ่งเธอยืนยันว่า มีเจตนาเพียงวิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น

ณัฐพล กิตติตระกูล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 บรรยายพฤติการณ์คดี ระบุว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ระบุไว้ว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ด้วยการโพสต์คลิปสั้นในแอปพลิเคชัน TikTok เป็นภาพเคลื่อนไหวของจำเลยกล่าวข้อความพูดถึงงบประมาณที่นำมาแจกประชาชนและงบประชาสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์นั้นมาจากภาษีประชาชน ไม่ได้เป็นบุญคุณของรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ การกดขี่ประชาชนให้จนแล้วนำเงินมาแจก ให้ประชาชนรู้สึกเป็นบุญคุณ จะได้ง่ายต่อการปกครอง ทั้ง ๆ ที่ประชาชนควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากเงินภาษีของตนเอง ตอนท้ายจำเลยได้ทำปากพูดคำว่า “พระมหา” โดยไม่ออกเสียง ก่อนตามด้วยด้วยการกล่าวคำว่า “กรุณาธิคุณ”

เมื่อบุคคลที่สามได้เห็นคลิปดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า กษัตริย์รัชกาลที่ 10 นำเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินภาษีซึ่งเป็นของประชาชนไปแจกประชาชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับพระองค์เอง เป็นเงินจำนวนปีละหมื่น ๆ ล้านบาท รวมทั้งกดขี่ให้ประชาชนยากจน แล้วนำเงินไปแจก เพื่อให้ประชาชนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ปกครองได้โดยง่าย อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ด้วยข้อความเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างร้ายแรง และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

โดยวันที่ 29 ม.ค.นี้ ศาลมีนัดฟังคำพิพากษา

'อุกฤษฏ์' นักศึกษานิติรามฯ กับนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

อุกฤษฏ์ ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 ม.ค. นี้ จากกรณีแชร์ข่าวชุมนุมประท้วงสถาบันกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี เขาเล่าถึงคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “John New World” ซึ่งทำให้เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่ในที่พัก พยายามกดดันให้เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย โชคดีที่ต่อมาเขาได้พบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคนที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้องจึงได้บังเอิญพบกับทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

ต่อมาอุกฤษฏ์ยังถูกเจ้าหน้าที่จาก สน.บางแก้วเข้าอาญัติตัวด้วยข้อหาแชร์โพสต์จากเพจ John New World ในข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี และยังถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แจ้งข้อหาเพิ่มในคดีแรกจากสามกรรมเป็นห้ากรรม แม้ว่าข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามานั้นอุกฤษฏ์จะไม่ได้มองว่าจะสามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้ก็ตาม ทำให้เขามีคดีมาตรา 112 สองคดี โดยคดีแรกศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุกห้าปี 30 เดือน ขณะที่คดีที่สองศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินลงโทษจำคุกสามปี และคดีสองนี้เองที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กำลังจะมา

อุกฤษฏ์ (ภาพจาก iLaw)

อุกฤษฏ์กล่าวว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะเขามองว่าสังคมที่มีปัญหาผู้นำประเทศก็ควรที่จะใส่ใจแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น ต่อมาจึงเริ่มชุมนุมกับกลุ่ม “ลุกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ” และกลุ่ม “ทะลุราม” ตามลำดับ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการมีรัฐสวัสดิการ

อุกฤษฏ์พูดคล้ายกับสิ่งที่ลลิตากล่าวก่อนหน้า คือ การถูกคดีมาตรา 112 ทำให้เขาไม่สามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่ไม่อยากจะรับพนักงานผู้มีคดีมาตรา 112 ติดตัวจนเขามีปัญหาด้านการเงินในระดับหนึ่ง นอกจากนี้คดีมาตรา 112 ยังทำให้เขามีปัญหาด้านการเรียน เพราะในช่วงของการต่อสู้คดีครั้งแรกเขาสูญเสียเวลาเรียนไปทั้งสิ้นเกือบหนึ่งเทอมจากการไม่ได้ประกันตัวและต้องอยู่ในเรือนจำ จนทำให้หลังประกันตัวต้องไปสอบแต่ละวิชาใหม่

นอกจากการไม่สามารถวางแผนชีวิตได้ ผลกระทบหลังโดนคดีอีกประการ อุกฤษฏ์ เล่าว่า แม้ครอบครัวฝั่งแม่จะเข้าใจและสนับสนุนตน แต่ฝั่งพ่อมองอีกแบบ โดยมองว่าไม่ควรไปยุ่งการเมืองแล้วมาสาปแช่งตนพูดให้ตนรู้สึกผิด อย่างไรก็ตามแม้จะต้องใช้เวลาอธิบายทำความเข้าใจกันแต่เขายังอนุรักษ์นิยมอยู่

อุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า ตนโดนคดี 112 นั้นทำให้คนมองว่าตนหัวรุนแรงและดูอันตราย ทั้งที่ตนแค่คิดเห็นที่แตกต่าง

“ตอนนี้ตนเคลียร์สัมภาระตัวเองเรียบร้อยเตรียมตัวเตรียมใจแล้วอย่างไรก็ตามตนมี 2 คดี” อุกฤษฏ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม เข้ายังหวังว่าอยากให้นิรโทษคดีการเมืองทุกคดี รวมถึง 112 ด้วย แต่ต้องยกเว้นคนทำหารรัฐประหาร

ข้อมูลคดีของ อุกฤษฏ์ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เขาถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) เป็นคดีที่ 2 หลังได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาในชั้นฝากขังคดีมาตรา 112 คดีแรก โดยคดีนี้มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนชาวสมุทรปราการเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กล่าวหาว่า อุกฤษฏ์ใส่ความรัชกาลที่ 10 โดยการแชร์ข้อความและรูปเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัชกาลที่ 10 ในประเทศเยอรมนีจากเฟซบุ๊กหนึ่ง พร้อมโพสต์ข้อความประกอบ

เช่นเดียวกับคดีแรก อุกฤษฏ์ถูกออกหมายจับโดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน

ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ

คำฟ้องโดยสรุประบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นองค์ราชินี

ระหว่างวันที่ 7-26 พ.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ประกอบกับข้อความที่แชร์มาจากโพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า “นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยและชาวเยอรมัน ได้มีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมใหญ่ ซอนเนนบิคล์…” และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10

ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่ใส่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านข้อความมีความรู้สึกเกลียดชังรัชกาลที่ 10

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 ม.ค. 2567

แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยม ใช้การ์ตูนสะท้อนปัญหา

จิรวัฒน์ แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยมและจำเลยคดีมาตรา 112 กล่าวว่า ตนมีคดีเดียวในตอนนี้คือ มาตรา 112 มาจากการ์ตูนทั้งหมด คิดว่าเพราะเขียนเหมือนไป โดนมาตรา 112 ไป 4 กรรม คดี วันที่ 31 ม.ค. นี้ อัยการจะส่งฟ้องศาลอาญา ก็ยังไม่มั่นใจว่าตนจะได้ประกันหรือไม่

จิรวัฒน์ (ภาพจาก iLaw)

อย่างไรก็ตาม จิรวัฒน์ เล่าว่า ตนเคยเข้าเรือนจำไปตอนคดีฉีกบัตรกับ ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ในคดีฉีกบัตรประชามติ ที่เข้าไปอยู่ 1 วัน โดยในนั้นที่มีปัญหาทั้งสุขอนามัย รวมทั้งตรวจที่มีการละเมิดร่างกาย เช่น การแหกก้นเพื่อค้นหายาเสพติด ทั้งที่ตนมาด้วยคดีการเมืองไม่ได้มาด้วยคดียาเสพติด และตนก็เตรียมตัวไว้ในครั้งนี้หากต้องกลับเข้าไปอีก

แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยม เล่าถึงที่มาของตัวเองที่สนใจการเมืองว่า ตนเองโตมาในพื้นที่ กทม. และสมุทรปราการ ย่านที่ตนอยู่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งจีน ไทย อิสลาม ทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย ทำให้คิดว่าประเทศนี้มีความหลากหลาย และมาสนใจเรื่องการเมืองจริงๆ ช่วง ม.ต้น ที่อ่านหนังสือมากนำมาสู่การตั้งคำถามและการเปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยกับหนังและหนังสือที่อ่าน ตั้งคำถามมากกับสิ่งที่เราเจอ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เสรีภาพ สังคมของเรา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มเห็นปัญหาในระดับสังคมที่กว้างขึ้น ทำให้เห็นปัญหาทางสังคมไปเรื่อยๆ จนถึงยอดบนสุดของปัญหาว่ามันคืออะไร นำมาสู่ความสนใจเรื่องการเมือง

“สิ่งเดียวที่ดีที่สุดในชีวิตของผมคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เจอ” จิรวัฒน์ กล่าว พร้อมเล่าว่า ตนเคยเจอประสบการณ์ที่ต้องมาเรียนสายจากการที่ถนนติดจากอุบัติเหตุ แต่ครูที่เป็นฝ่ายปกครองจะตีตนทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมาสาย ขณะที่รุ่นพี่ตนกลับไม่กล้าพูดหรืออธิบายต่อครูเลย ทั้งที่ครูควรเข้าใจสาเหตุเนื่องจากคนที่มาสายมีจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเกิดการตั้งคำถามตามมาหลายๆ อย่าง

แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยม เล่าต่อถึงสาเหตุที่ใช้การวาดการ์ตูนมาสื่อสารนั้นเพราะชอบการวาดการ์ตูน และหลังจบมัธยมตนก็ไปเรียนต่อ ปวช. เรียนศิลปะ และอีกเช่นกันตอนเรียนศิลปะที่จะอวยไม่ว่าจะเป็นศาสนา เจ้าในวงการศิลปะ นอกนั้นก็เป็นสายลมแสงแดด แต่กลับไม่สนใจประเด็นทางสังคม ความรุนแรงในโรงเรียน ตนจึงสงสัยว่า ศิลปะในสังคมไทยจะรับใช้แค่อำนาจนิยมเหล่านี้เท่านั้นหรือ จึงคิดว่าหากอยู่ในแวดวงศิลปะแล้วต้องวาดอะไรซ้ำๆ แบบนี้ ตนจึงไม่อยากอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าได้ฝีมือมา ในเพจตนก็จะมีการเขียนเรื่องปัญหาความรุ่นแรง อำนาจนิยมในโรงเรียนด้วย

เมื่อตนสนใจเรื่องการเมือง และเป็นนักกิจกรรม แต่มีปัญหาเรื่องสุขภาพและยังอยากแสดงออกจึงมาทำเพจคนกลมคนเหลี่ยม โดยการนำเสนอแบบตลกร้าย แม้จะเป็นปัญหาที่เครียด ตนดีใจที่เอาเรื่องตลกมาฉาบในเรื่องที่เครียดได้

จิรวัฒน์ (ภาพจาก iLaw)

การทำเพจนั้น จิรวัฒน์ เล่าว่า ทำให้ตนก็ต้องไล่ดูข่าวและประเด็นสังคมการเมือง ใช้เวลาวาดไม่นาน แต่ใช้เวลาคิดประเด็นนั้นนานกว่า เขาย้ำดว้ยว่าประเทศนี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่แก้เพียงปัญหาแบบผักชีโรยหน้า สุดท้ายอำนาจรัฐหรืออำนาจอะไรบ้างอย่างทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ ถามว่าเครียดไหมก็เครียดเพราะการแก้ปัญหาพักๆ แล้วผ่านไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net