‘ตะวัน-แบม เอฟเฟกต์’ ผู้ต้องหาทางการเมืองยังไม่ถูกฝากขังเพิ่ม-ทยอยได้ประกันตัวต่อเนื่อง

"หากเพื่อนของเรายังไม่ได้รับการประกันตัวครบทุกคนและก็ข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ยังคงไม่เป็นผล พวกเราจะทำการยกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำ และจะยังคงขอยืนยันอย่างหนักแน่นเหมือนเดิมว่าต่อให้เราจะอดอาหารและน้ำเหมือนเดิมก็ตาม เราจะไม่มีวันที่จะยื่นประกันตัวเองจนกว่าเพื่อนของเราทุกคนจะได้ออกมา และข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปตามผล"

"เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้"

ภาพจากคลิปวิดีโอ ตะวัน-แบม ที่ได้ประกาศยกระดับการประท้วงเป็นการอดอาหาร-น้ำ เมื่อ 18 ม.ค. 2566 (ที่มา: FB Tawan Tantawan)

หลังคลิปจบลง สาธารณชนเป็นอันทราบว่ากำลังมีนักกิจกรรมการเมืองไทยสองรายแรกคือ 'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์ ใช้วิธีประท้วงอดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อทะลุวัง คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายประกันเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยมีการยกเลิก 112 และมาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่น 

จนถึงวันนี้ (13 ก.พ.) ครบ 27 วันหลังจากประกาศดังกล่าว ตะวัน และแบม ยังคงอดอาหารและไม่รับยา แต่ยังคงมีการจิบน้ำ เพื่อประคับประคองชีวิต และไม่ให้สุขภาพย่ำแย่ลงไปมากกว่านี้ 

แม้ว่าวิธีการต่อสู้ของแบม-ตะวัน จะเป็นที่ถกเถียงในหลากประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสม หรือความเป็นห่วงของประชาชนที่ได้รับฟังข่าวการต่อสู้ของพวกเธอ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ การออกเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังไม่มีใครถูกคุมขังเพิ่มจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง

มิหนำซ้ำ ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง บางรายได้ประกันตัว แม้อยู่เรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีร่วม 10 เดือนก็ตาม บางส่วนยังไม่ได้รับการประกันตัว แต่ดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นว่าอาจได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในอนาคต

ร่วม 27 วันที่ยังไม่มีผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองถูกคุมขังเพิ่ม - ทยอยได้ประกัน

ระหว่างเส้นทาง 25 วันหลังคลิปตะวันและแบมเผยแพร่ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ายังไม่มีผู้ถูกกล่าวหาจากคดีทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก ถูกฝากขังเพิ่มเติม โดยคนสุดท้ายที่ถูกคุมขังคือ สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ วัย 26 ปี เมื่อ 17 ม.ค. 2566 โดยเป็นการคุมขังระหว่างต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ 

สำหรับสิทธิโชค ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหานำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564

สิทธิโชค เศรษฐเศวต ภาพจาก iLaw

เมื่อ 17 ม.ค. 2566 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา จำคุกไรเดอร์วัย 26 ปี เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ก่อนที่ 19 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ ยกคำร้องขอถอนประกันตัวของสิทธิโชค โดยระบุเหตุผลว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวอาจไปทำผิดซ้ำประการอื่น หรือหลบหนี ส่งผลให้สิทธิโชค ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

ระหว่างนี้ สิทธิโชคได้ทำการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนยกระดับอดอาหารและน้ำเมื่อ 26 ม.ค. 2566 และถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ้เมื่อ 1 ก.พ. 2566 เพื่อเฝ้าระวังอาการและสุขภาพที่อาจจะทรุดลง อย่างไรก็ตาม ระหว่างทำการอดอาหารและน้ำ สิทธิโชค มีการจิบน้ำ รับวิตามิน และเกลือแร่บ้าง เพื่อประทังชีวิต และไม่ให้สุขภาพแย่ลงไปกว่านี้

เมื่อ 8 ก.พ. 2566 สิทธิโชค กลับมาประกาศอดน้ำและอาหารอีกครั้ง และเพิ่มการอดนอน ฝืนตื่นประท้วงภาครัฐ หลังทราบข่าวการยกคำร้องขอประกันตัวสมาชิก ‘ทะลุแก๊ส’ ของศาล เมื่อ 6 ก.พ. 2566

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ได้รับการประกันตัวไปแล้ว 6 ราย 

หลังจากเมื่อ 18 ม.ค. 2566 มีผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองได้รับสิทธิประกันตัวคืนมา จำนวน 6 คนแล้วตอนนี้ (10 ก.พ.) ได้แก่ เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์, ‘ก้อง ทะลุราม’ หรืออุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง, สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ด นปช. และ คงเพชร สมาชิกอาชีวะพิทักษ์ประชาชนฯ สิทธิโชค เศรษฐเศวต และทัตพงศ์ เขียวขาว 

‘เอก’ พนักงานบาร์ คดี 112 ได้ประกัน 3 ก.พ. 2566

3 ก.พ. 2566 เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์ อายุ 28 ปี ผู้ถูกกล่าวหาจากคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 จากกรณีแชร์ภาพและข้อความ จากเพจเฟซบุ๊ก “KTUK - คนไทยยูเค” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และคุกวังทวีวัฒนา เมื่อ 16 ม.ค. 2565 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังถูกฝากขังมาตั้งแต่เมื่อ 22 ธ.ค. 2565 ทั้งนี้ เอก ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวมระยะเวลา 48 วัน ระหว่าง 22 ธ.ค. 2565 จนถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2566 

 

 

‘ก้อง ทะลุราม’ คดี 112 ได้ประกัน 4 ก.พ. 2566

4 ก.พ. 2566 ‘ก้อง’ อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล สมาชิกทะลุราม นศ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อายุ 24 ปี ถูกกล่าวหาในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) และ (5) กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี 

ก้องถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 7 ปี 6 เดือน) โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ นศ.รามฯ ถูกฝากขังระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ตั้งแต่ 21 ธ.ค. 2565 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อ 4 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลา 46 วัน

‘แน็ก’ ทัตพงศ์ ได้รับการปล่อยตัว 8 ก.พ. 2566

‘แน็ก’ ทัตพงศ์ เขียวขาว สมาชิกทะลุแก๊ส ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 8 ก.พ. 2566 เนื่องจากครบกำหนดฝากขังแล้ว แต่อัยการไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล สำหรับทัตพงศ์ ถูกจับกุมเมื่อ 16 พ.ย. 2565 ระหว่างเข้าจุดตรวจเช็กประวัติบริเวณ BTS ราชเทวี และตำรวจพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับคดีครอบครองวัตถุระเบิด ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 ทำให้ทัตพงศ์ ถูกฝากขังตั้งแต่ 17 พ.ย. 2565 และไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมาจนถึง 8 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมถูกขัง 84 วัน

 

 

‘สมบัติ’ คดีมาตรา 112 และหมิ่นประยุทธ์ ออกจากเรือนจำ 9 ก.พ. 2566

สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง วัย 52 ปี ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกรวมจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) จากรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ’ ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 

สมบัติ ทองย้อย ภาพโดย แมวส้ม

สมบัติ ถูกนำตัวฝากขังเมื่อ 28 เม.ย. 2565 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของประกันตัวเมื่อ 30 เม.ย. 2565 ทำให้สมบัติ ถูกคุมขังในการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์เรื่อยมา จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ เมื่อ  8 ก.พ. 2566 

อย่างไรก็ตาม อดีตการ์ดเสื้อแดง ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวเลยทันที เนื่องจากยังมีคดีหมิ่นประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว 

สำหรับคดีหมิ่นประยุทธ์ เมื่อ 31 ม.ค. 2566 อดีตการ์ด นปช. วัย 52 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 1 เดือน ก่อนลดโทษจำคุกเหลือ 8 เดือน 20 วัน จากข้อหา 1) กฎหมายอาญา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 รวม 3 ข้อหา จากกรณีโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ จำนวน 2 ข้อความ (ระหว่าง 5 มิ.ย. 2562 และ 19 ส.ค. 2563) ซึ่งเป็นตัดสินคดีระหว่างที่สมบัติ ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในคดีมาตรา 112 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 9 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว สมบัติ ทองย้อย ในคดีหมิ่นประยุทธ์ สิ้นสุดการถูกคุมขังในชั้นอุทธรณ์ เป็นเวลาร่วม 288 วัน หรือเกือบ 10 เดือน ตั้งแต่ 28 เม.ย. 2565 จนถึง 9 ก.พ. 2566

‘คงเพชร’ คดีครอบครองวัตถุระเบิด ได้ประกัน เมื่อ 9 ก.พ. 2566

'เพชร' คงเพชร นักศึกษากลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อายุ 18 ปี ถูกจับกุมเมื่อ 10 เม.ย. 2565 ระหว่างที่ คทาธร และคงเพชร สองสมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนฯ เดินทางจากย่านดินแดงไปร่วมงาน ‘ยุติธรรมไม่มี 12 ปี เราไม่ลืม’ รำลึกการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่แยกราชประสงค์ 

 

หลังจากนั้น คงเพชร และคทาธร ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่ 11 เม.ย. 2565 ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวชั่วคราวเมื่อ 9 ก.พ. แต่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเย็น 10 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกฝากขัง เป็นเวลา 306 วัน หรือกว่า 10 เดือน 

ขณะที่ล่าสุด เมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์ทวิตเตอร์ ระบุว่า ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันคทาธร อายุ 26 ปี คดีครอบครองระเบิดปิงปองอีกครั้ง โดยระบุว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

‘สิทธิโชค’ ได้รับการปล่อยตัว เมื่อ 10 ก.พ. 2566

สิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ วัย 26 ปี ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ตั้งแต่ 17 ม.ค. 2566 ในคดีที่มีการรายงานข้างต้น และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อ 10 ก.พ. 2566 ถูกคุมขัง-อดอาหารทั้งสิ้นรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 25 วัน

นอกจากรายงานข้างต้น ตัวของ 'แบม' และ 'ตะวัน' สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ได้รับการประกันตัวเช่นกัน เมื่อ 7 ก.พ. 2566 โดยกรณีของตะวัน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน ขณะที่แบม ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ 

การปล่อยตัวทั้งคู่เกิดขึ้นหลัง รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแก่ศาล ด้วยเหตุที่ว่าสุขภาพของทั้งคู่อยู่ในขั้นวิกฤต และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ทั้งแบม และตะวัน ออกมาชี้แจงว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการถอนหมายขังครั้งนี้ และจะไม่รับรู้และเซ็นเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัว

ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ‘แบม-ตะวัน’ แต่ยกคำร้องประกันตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 4 ราย

ปัจจุบัน (12 ก.พ.) มีผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง (ระหว่างสู้คดี) เหลืออยู่ 8 คน ได้แก่ ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, ‘ใบปอ’ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์, คทาธร, จตุพล, พลพล, ณัฐพล, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง และวัชรพล 

ทั้งนี้ บางส่วนแม้จะยังไม่ได้รับการประกันตัว แต่มีแนวโน้มดีขึ้น ยกตัวอย่างกรณี 4 สมาชิกทะลุแก๊ส ได้แก่ จตุพล พลพล ณัฐพล และวัชรพล ซึ่งถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง สี่สมาชิกทะลุแก๊ส ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่วันที่ 13-17 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน (12 ก.พ.) รวมระยะเวลาถูกคุมขังประมาณ 241-245 วัน

เมื่อ 6 ก.พ. 2566 ศาลระบุคำสั่ง เห็นควรให้สืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่ ก่อนจะมีการพิจารณาคำสั่ง โดยขอให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติรายงานสืบเสาะต่อศาลภายใน 15 วัน โดยให้สืบเสาะและพินิจทั้งประวัติการศึกษา การประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสี่คนก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ตลอดทั้งพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวม

ข้อมูลจากคำชี้แจงของแบม-ตะวัน เผยเมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วยว่า ตอนนี้มีการปลดกำไล EM จำนวน 34 รายแล้ว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท