Skip to main content
sharethis

พีมูฟภาคอีสาน ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เข้าพบ ‘ธรรมนัส’ พร้อมยื่นหนังสือ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ด้าน รมว.เกษตรในฐานะรองประธานแก้ไขปัญหาพีมูฟ จะให้มีการพิจารณาตามแนวทางหลักการตามข้อตกลงร่วมกัน

เพจขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบกรณีที่ดินทำกินในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ จากหลายพื้นที่ในจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) รวมกว่า 50 คน เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือต่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ตามนัดหมาย

ภายหลัง รมว.กษ.พร้อมคณะเสร็จสิ้นภารกิจตรวจราชการ เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวแทนพีมูฟ ไปยังอาคารเอนกประสงค์ (ห้องประชุมอำเภอหนองบัวแดง) เข้าพบพูดคุยกับรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรองประธานแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ให้รับทราบปัญหาความต้องการในการยื่นหนังสือ เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อตกลงร่วม ในการเร่งรัดติดตามตามกลไกคณะกรรมการ,คณะอนุกรรมการ,และคณะทำงานทุกคณะของพีมูฟ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 ต.ค. และวันที่ 16 ต.ค. 2567 หลังจากพีมูฟเข้ามาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ช่วงระหว่างวันที่ 3 - 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ในส่วนของตัวแทนผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินที่รวมตัวมาเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ รมว.กษ.ในครั้งนี้ รวมแล้วมี 8 กรณีปัญหา ประกอบด้วย

1. กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.ห้วยแย้ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว โดยสถานภาพปัญหาปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการร่วมเพื่อการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน ตามแผนบันใด 6 ขั้น ในการนี้ ต้องการให้ประสานงานอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรภายใต้โครงการร่วมกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง

2. กรณีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าชุมชนท่าเว่อ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษและติดป้ายตรวจยึดในพื้นที่ทํากินของราษฎร จึงอยากให้พิจารณาเร่งรัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่าที่มีความผิดพลาด บกพร่อง

3. กรณีป่าเตรียมการหมายเลข 10 แปลง 1 บ้านโนนลาน บ้านโนนถาวร ต.ถ้าวัวแดง อ.หนองบัวแดง ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ทําให้เกิดความผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงการทำประโยชน์ที่ดิน โดยพื้นที่ทำกินบางส่วนยังคงอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ทำให้ไม่มีหลักประกันในการให้ผู้เดือดร้อนเข้าทำประโยชน์ได้โดยปกติสุข
การยื่นหนังสือกรณีพิพาทนี้ เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจําแนกพื้นที่เพิ่มเติมในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ทำกิน โดยให้มีคณะกรรมการในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้สามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ปกติสุข ให้สิทธิ์ที่มั่นคงในที่ดินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อน โดยดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชน

4. กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร กรณีนี้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งส่งมอบพื้นที่จํานวน 19 ไร่ ให้กรมป่าไม้ เพื่อคืนให้แก่ราษฎรผู้เดือดร้อน ในส่วนพื้นที่ของกรมป่าไม้ จํานวน 311 ไร่ ให้เร่งส่งมอบแก่ผู้เดือดร้อน เพื่อดำเนินการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้ พ.ร.บ.คทช.

5. สวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว) ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เร่งส่งมอบพื้นที่ให้กรมป่าไม้จำนวน  446 ไร่ เพื่อดำเนินการจัดการ ที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้ พรบ.คทช. ตามข้อตกลงร่วมระหว่างประชาชนตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2562

สำหรับประเด็นที่ดินทั้ง 5 กรณี ที่กล่าวข้างต้นนั้น อยู่ในกลไกการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรมเผ่า (รมว.กษ.) ในฐานะรองประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส.ได้รับทราบ พร้อมรับว่าจะเร่งดำเนินการให้มีการพิจารณาตามแนวทางหลักการที่มีการตกลงร่วมกัน

ส่วนอีก 3 กรณี ที่ไม่อยู่ในกลไกการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามข้อเสนอของราษฎรผู้เดือดร้อน ได้แก่

1.ป่าเตรียมการสงวนหมายเลข 10 แปลง 1 ต.โนนกอก ต.ท่าเดื่อ และ ต.หนองข่า อ.เกษตรสมบูรณ์ สภาพปัญหาคือ ราษฎรในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตป่าจําแนกตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ คือ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจําแนก พื้นที่ให้ชัดเจนระหว่างที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่ป่าไม้ โดยองค์ประกอบของภาค ประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และให้ออกเอกสารสิทธิ์แก่ราษฎรผู้เดือดร้อน

2. กรณีพื้นที่ สปก.ตามโครงการจัดสรรที่ดินภายใต้กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต.บ้านดอน /ต. กวางโจร ต.บ้านเพชร/ต ภูเขียว ต.หนองสังข์ /อ.แก้งคร้อ เติม สปก.ร่วมกับ ธกส.ได้จัดที่ดินเอกชนและนำมาจัดสรรให้เกษตรกรภายใต้กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจัดสรรให้เกษตรกรจํานวนครอบครัวละ 12 ไร่ ใน ต.บ้านเพชร ต.บ้านดอน ต.กวางโจน อ ภูเขียว และ ต.หนองสังข์ อ.แก้งคร้อ โดยเป็นการเช่าซื้อที่ดิน และมีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพคุณภาพชีวิต แต่โครงการดังกล่าวล้มเหลว ส่งผลให้เกษตรกรมีภาระหนี้สินด้านอาชีพ

3. กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ครอบคลุมทั้ง อ.คอนสาร อ.ภูเขียว อ.บ้านแท่น อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สภาพปัญหาคือ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกาศคลุมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ ทำให้กรมที่ดินไม่สามารถตั้งศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดในพื้นที่ดังกล่าวได้ ข้อเรียกร้องการยื่นหนังสือคือ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิกถอนพระราชกฤษฎี การกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกาศคลุมทั้งอำเภอ ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัด ชัยภูมิ จากนั้นให้ศูนย์เดินสำรวจออกโฉนด กรมที่ดินเร่งดำเนินการเพื่อออกกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net