Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พ้นปีใหม่ไม่ถึง 2 เดือน การลดค่ารอบอย่างไม่เกรงใจใครของบริษัท ทำให้การประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นในหลายจังหวัด การประท้วงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์ระหว่างปี 2562 – 2566 พบว่าในช่วง 5 ปี มีการประท้วงเกิดขึ้นรวม 113 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 23 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สาเหตุเกิดจากความคับข้องใจต่อการลดค่ารอบ และสาเหตุอื่นๆ เช่น ระบบรับงานจ่ายงาน สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน[1]

คลื่นการประท้วง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลุกฮือของไรเดอร์ ทำให้บริษัทฟังเสียงไรเดอร์อยู่บ้าง เช่น บริษัทชะลอการลดค่ารอบ ปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อจูงใจไรเดอร์หรือลูกค้า แต่สิ่งที่บริษัทแสดงออกอย่างชัดเจนคือ การไม่ยอมพบ ไม่เจรจา ไม่ร่วมเวทีพูดคุย และหาจังหวะลดค่ารอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดแสดงถึงความมั่นใจในอำนาจเหนือกว่าของบริษัท ในสนามที่ดุลกำลังแตกต่างกันเช่นนี้ ไรเดอร์จะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร ?  

บทความนี้เสนอแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ ในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และกำหนดแนวทางต่อสู้ระยะยาว โดยนำเสนอสาระสำคัญของเครื่องมือช่วยคิด ซึ่งเป็นที่รู้จักในขบวนการแรงงานนานาชาติ เพื่อปรับใช้กับกรณีของไทย

“ทรัพยากรอำนาจ” (power resources approach) เป็นแนวการวิเคราะห์ที่ก่อตัวขึ้นปลายทศวรรษ 1960 ท่ามกลางสถานการณ์ที่สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นฐานกำลังของขบวนการแรงงานอ่อนแรง และฝ่ายทุนปรับตัวไปสู่ยุทธศาสตร์การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ให้ประโยชน์กับทุน และช่วยอำพรางความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง แนววิเคราะห์ทรัพยากรอำนาจ ได้ก่อตัวขึ้น โดยมีคำถามสำคัญว่า ท่ามกลางดุลอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างทุนกับแรงงาน แรงงานมีแนวทางสร้างและทำให้อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นได้อย่างไร[2]

รากของแนววิเคราะห์ทรัพยากรอำนาจ มาจากสองทาง ทางหนึ่งมาจาก แนววิเคราะห์ชนชั้น ของนักคิดฝ่ายซ้าย ที่เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน เป็นความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ ผลประโยชน์ของแรงงานจะได้มาก็ด้วยอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง อีกทางหนึ่ง มาจากบทเรียนของสหภาพแรงงาน ที่พบว่าการออกจากรั้วโรงงานและประเด็นเศรษฐกิจของแรงงาน ไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือแนวทางคงความสำคัญของสหภาพแรงงาน แนวทางนี้ต่อมาถูกเรียกว่า สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement unionism)[3]         

“ทรัพยากรอำนาจ” พูดอีกอย่างคือ “แหล่งที่มาของอำนาจ” หากทราบลักษณะและแหล่งที่มาของอำนาจ จะช่วยให้แรงงานมีแนวทางสร้างและขยายอำนาจต่อรองให้สูงขึ้น จากแนวคิดที่ก่อตัวขึ้นเบื้องต้น[4] ได้เกิดการพัฒนาต่อยอด นำไปสู่การตกผลึกทางความคิด ว่าด้วยทรัพยากรอำนาจ 4 ด้าน[5] ได้แก่

อำนาจการรวมตัว (associational power)  เกิดจากการรวมตัวเป็นองค์กร เช่น กลุ่ม สมาคม สหภาพ  องค์กรยิ่งเข้มแข็ง มีสมาชิกกว้างขวาง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมขับเคลื่อนภารกิจ ยิ่งมีอำนาจมาก อำนาจจากการรวมตัว อาจเห็นได้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การนัดหยุดงาน ประท้วง รณรงค์ ความเต็มใจสนับสนุนเงินหรือทำงานให้กับองค์กร

อำนาจเชิงโครงสร้าง (structural power) เกิดจากตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ หากเป็นงานในอุตสาหกรรมสำคัญ และแรงงานมีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของนายจ้าง แรงงานจะมีอำนาจต่อรองสูง เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มีอำนาจต่อรองสูงกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเปรียบเทียบ อำนาจเชิงโครงสร้างยังขึ้นอยู่กับความสามารถทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือหยุดชะงัก (disrupt) ของการผลิตและเศรษฐกิจ เช่น แรงงานท่าเรือ ขนส่งมวลชน ขนส่งสินค้า สามารถขัดขวางและหยุดห่วงโซ่การขนส่งทั้งหมดได้ อำนาจเชิงโครงสร้างจึงเป็นอำนาจต่อรองที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดแรงงานและในสถานที่ทำงาน

อำนาจเชิงสถาบัน (institutional power) มาจากกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแรงงานที่ก้าวหน้า ให้ความคุ้มครองตามมาตรฐาน เกิดจากการมีส่วนร่วมของแรงงาน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ศาลแรงงาน ที่เที่ยงธรรมเป็นที่พึ่งของแรงงาน พรรคการเมืองของชนชั้นแรงงาน หรือพรรคที่มีนโยบายสนับสนุนแรงงาน และครอบคลุมถึงสถาบันของแรงงาน เช่น สภาแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน ที่เป็นเอกภาพ และเป็นองค์กรปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานอย่างแท้จริง   

อำนาจเชิงสังคม (societal power) เกิดจากความร่วมมือขององค์กรแรงงาน กับองค์กรทางสังคมอื่นๆ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของสังคม ด้านหนึ่ง อำนาจทางสังคมเกิดจากการสร้างความร่วมมือกับองค์กรทางสังคมอื่นๆ อีกด้านหนึ่ง เกิดจากการสื่อสารกับสังคมวงกว้าง ให้สังคมเข้าใจ เห็นใจ และทำให้เรื่องสิทธิแรงงาน เป็นส่วนหนึ่งของวาระทางสังคม

ในความเป็นจริง อำนาจทั้ง 4 ด้านเหลื่อมซ้อน สนับสนุนกัน ไม่หยุดนิ่ง ผันแปรไปตามสถานการณ์ เพราะฝ่ายรัฐและทุนต่างเป็นผู้เล่นในสมการอำนาจ และไม่มีสูตรสำเร็จการสร้างอำนาจต่อรอง หากขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมือง

เมื่อทดลองนำแนววิเคราะห์ทรัพยากรอำนาจ มาทาบวัดขบวนการไรเดอร์ไทย โดยประเมินจากข้อมูลที่ผู้เขียนมีอยู่ ซึ่งยังขาดความสมบูรณ์ ทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างเพื่อการถกเถียง หรือพัฒนาให้ชัดเจนขึ้น อำนาจต่อรองของไรเดอร์พิจารณาจากทรัพยากรอำนาจ 4 ด้านเป็นดังนี้[6]

อำนาจการรวมตัว  ในทำนองเดียวกับต่างประเทศ อำนาจการรวมตัวเป็นจุดแข็งของไรเดอร์ไทย เห็นได้จากการประท้วงบ่อยครั้ง การประท้วงมีพื้นฐานจากกลุ่มธรรมชาติ ที่กระจายตัวตามย่านเมือง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  กลุ่มสื่อสารกันโดยพบหน้าในที่ทำงาน และโซเชียลมีเดีย กลุ่มมีพัฒนาการเชิงองค์กรต่างกัน บางส่วนเริ่มจัดองค์กรเป็นทางการ บางส่วนจดทะเบียนเป็นสมาคม ไรเดอร์สานตัวเป็นเครือข่ายความร่วมมือแนวระนาบ ผ่านโซเชียมีเดีย มีเพจเฟสบุ๊คที่มีบทบาทสูงจำนวนหนึ่ง เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ให้กำลังใจ รณรงค์ และระดมสรรพกำลังประท้วงในบางโอกาส

อำนาจเชิงโครงสร้าง ด้วยเหตุที่งานของไรเดอร์ สมัครงานง่าย ในตลาดแรงงานมีคนพร้อมทำงานจำนวนมาก และเป็นงานทักษะไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับงานอื่นๆ ทำให้ไรเดอร์มีอำนาจเชิงโครงสร้างต่ำ ขณะที่บริษัทมีอำนาจเชิงโครงสร้างสูง จึงไม่น่าประหลาดใจที่บริษัทไม่อ่อนข้อ และเดินหน้านโยบายตามความต้องการของบริษัท อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์มีอำนาจสร้างความปั่นป่วนให้กับบริษัท คือการนัดหยุดงาน หรือ “ปิดแอป” การปิดแอปใช้ได้ผลหลายครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การปิดแอปเป็นเครื่องมือต่อรองที่ไรเดอร์มีเหนือกว่าแรงงานกลุ่มอื่นเป็นพิเศษ แต่การแสดงพลังนี้ได้ก็มีข้อจำกัดหลายประการ

อำนาจเชิงสถาบัน เป็นจุดอ่อนที่สุด เพราะไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม ในขณะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานแบบใหม่ แพลตฟอร์มจึงใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการหาประโยชน์ อีกทั้งกฎหมายจัดตั้งสหภาพ และเสรีภาพในการรวมตัว สกัดกั้น หรือไม่เอื้อต่อการรวมตัวสร้างอำนาจต่อรองของไรเดอร์ รวมไปถึงบรรดาหน่วยราชการ พรรคการเมือง สถาบันแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถเป็นที่พึ่งของแรงงานได้

อำนาจเชิงสังคม  ค่อนข้างมีภาษี เห็นได้จากการให้ความสนใจขององค์กรทางสังคมต่อไรเดอร์ เช่น ภาควิชาการ แหล่งทุนวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ด้านหนึ่งความสนใจมาจากองค์กรทางสังคมที่เห็นว่าไรเดอร์เป็นแรงงานกลุ่มใหม่ในสังคมไทย อีกด้านหนึ่งมาจากกลุ่มไรเดอร์ ที่ตระหนักถึงการสร้างภาพลักษณ์ในสังคม ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ และไรเดอร์จำนวนหนึ่งออกไปร่วมงาน ประสานงาน จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และผลักดันให้ประเด็นปัญหาของไรเดอร์เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง

การวิเคราะห์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของไรเดอร์ ด้านที่เป็นจุดแข็งคือ อำนาจการรวมตัวซึ่งมีพื้นฐานที่ดี ขั้นต่อไปคือการสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นสหภาพแรงงานแบบดั้งเดิม แต่อาจมีรูปแบบแตกต่างออกไป ที่ผ่านมามีการริเริ่มสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือองค์กรในแนวระนาบ ทั้งระหว่างกลุ่มไรเดอร์เอง ไรเดอร์กับสหภาพแรงงาน และองค์กรทางสังคมอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่รูปแบบใหม่ๆของขบวนการแรงงานไทย

จุดแข็งอีกด้านคืออำนาจเชิงสังคม ไรเดอร์ประสบความสำเร็จในการใช้โซเชียลมีเดียสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดตั้งทางความคิด และอัตลักษณ์ทางสังคม ไรเดอร์ยังมีส่วนช่วยผลักดันวาระทางสังคม เช่น ความไม่มั่นคงของแรงงานกลุ่มใหม่ อุบัติเหตุและสุขภาพจากการทำงาน มลภาวะทางอากาศ สิทธิของแรงงานหญิง ดังเห็นได้จากหลายองค์กรเข้ามารับลูกผลักดันประเด็นดังกล่าว ในขั้นต่อไปของอำนาจเชิงสังคมคือการขยายเครือข่ายความร่วมมือ และผลักดันวาระทางสังคมของแรงงาน ให้กว้างขวางมากขึ้น

ส่วนด้านจุดอ่อนคือ อำนาจเชิงโครงสร้าง การที่บริษัทมีอำนาจด้านนี้เหนือกว่าไรเดอร์มาก ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะกดดันให้บริษัทยอมรับข้อเรียกร้อง และไรเดอร์ต้องสร้างอำนาจจากแหล่งอื่นมาถ่วงดุล แต่ในจุดอ่อนก็มีจุดแข็ง คืออำนาจสร้างความปั่นป่วนจากการนัดปิดแอป ซึ่งหากเข้าใจธรรมชาติของอำนาจด้านนี้ จะทำให้สามารถออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม และสามารถสร้างความเสียหายให้บริษัทมากกว่าที่คาดคิด

และอีกด้านที่อาจกล่าวว่าเป็นจุดอ่อนที่สุด คืออำนาจเชิงสถาบัน กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ตามไม่ทันสถานการณ์ ทำให้บริษัทสามารถฉกฉวยโอกาสจากช่องว่างทางกฎหมาย แต่หากสามารถอุดช่องว่างนั้นได้ จะเป็นการพลิกสถานการณ์ให้มาอยู่ข้างไรเดอร์ การต่อสู้เรื่องกฎหมาย อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อมองทรัพยากรอำนาจที่สัมพันธ์กันทั้ง 4 ด้านแล้ว จะเข้าใจว่า การต่อสู้ผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้าสำหรับแรงงานทุกคน เป็นสมรภูมิที่ละเลยไม่ได้   

การที่บริษัทลดค่ารอบอย่างไม่ฟังเสียง มาจากการประเมินว่าบริษัทมีอำนาจเหนือไรเดอร์ในทุกด้าน บริษัทคาดว่าการลดค่ารอบ จะบีบให้ไรเดอร์ส่วนหนึ่งลาออก เหลือคนที่ยอมรับค่าตอบแทนในระดับต่ำสุดตามที่บริษัทต้องการ แต่การสู้ไม่หยุด และการเกิดรูปแบบใหม่ๆของการสร้างอำนาจต่อรองของไรเดอร์ แสดงให้เห็นว่าแรงงานไทยกลุ่มใหม่ มาไกลเกินกว่าจะถอย.        

 

 

อ้างอิง

[1] Rocket Media Lab, 22 มกราคม 2557. 5 ปีไรเดอร์ไทย ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเรื่องใดบ้าง, https://rocketmedialab.co/rider-protest/

[2] Schmalz S., Ludwig C. and Webster E. (2018). The Power Resources Approach: Developments and Challenges. Global Labour Journal, 9(2), pp. 113–134.

[3]แนววิเคราะห์ชนชั้นดูตัวอย่างจาก Wright, E. O. (2000). Working-Class Power, Capitalist-Class Interests, and Class Compromise American Journal of Sociology. Vol. 105, No. 4 , pp. 957-1002.; สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดู Waterman, P. (1993). "Social-Movement Unionism: A New Union Model for a New World Order". Review (Fernand Braudel Center). Fernand Braudel Center. 16 (3): 245–278.; ภาษาไทยดู นภาพร อติวานิชยพงศ์ (2561). สหภาพแรงงานไทยที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ท

[4] Wright, E. O. (2000). Working-Class Power, Capitalist-Class Interests, and Class Compromise American Journal of Sociology. Vol. 105, No. 4 , pp. 957-1002. และ Silver, B. (2003). Forces of Labor: Workers’ Movements and Globalization since 1870. New York: Cambridge University Press.

[5] Schmalz S., Ludwig C. and Webster E. (2018). The Power Resources Approach: Developments and Challenges. Global Labour Journal, 9(2), pp. 113–134.

[6] ข้อมูลในส่วนนี้มาจากงานของผู้เขียน พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2566). อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม. รายงานการวิจัย โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. เข้าดูได้จาก https://shorturl.asia/vIga6  และข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจภาคสนามในการวิจัยของผู้เขียน ระหว่างกลางปี 2566 ถึงต้นปี 2567 รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์จะเผยแพร่ประมาณกลางปี 2567 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net