Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ 'อภิศักดิ์ ทัศนี' จากกลุ่ม Beach for Life เปิดปมปัญหาชายหาดไทย จากกัดเซาะชายฝั่ง สูโครงสร้างแข็ง และที่ดิน+ทางสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงไม่ได้ จากกรณีหาดปากบารา จ.สตูล ถึงแหลมกลัด จ.ตราด “เราทวงคืนก่อนภูเก็ตจะดังเสียอีก” มิฉะนั้นหาดสาธารณะจะตกเป็นที่ส่วนบุคคล ชี้กำแพงกันคลื่นคือทางแก้ที่จบไปแล้วเพราะยิ่งซ้ำเติมความรุนแรง แนะสำรวจที่ดินริมหาดทั่วประเทศ เปิดโปงทุกแปลงพร้อมเพิกถอนเอกสิทธิ์ที่มีปัญหา ย้ำต้องเป็นวาระแห่งชาติและรัฐต้องกล้าทำ ประชาชนจึงพร้อมหนุน เพราะชายหาดไทยคือหมุดหมายสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ Beach for Life เตรียมลุยแน่ พบกัน 29 มี.ค. นี้ ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ


“น้ำนิ่ง” อภิศักดิ์ ทัศนี คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for Life

Beach for Life กลุ่มคนรักและสนใจปัญหาชายหาดในไทย ที่ก่อตั้งมา 11 ปี แล้วตั้งแต่ปี 2555 โดยพยายามปกป้องชายฝั่งทะเลประเทศไทยกว่า 3,000 กิโลเมตร จนพบว่า ไม่ใช่เรื่องเล่น แต่ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การกัดเซาะชายฝั่ง สู่การป้องกันที่ใช้โครงสร้างแข็งซึ่งบางหน่วยงานรัฐชอบแต่กลับยิ่งซ้ำเติมความเสียหาย จนถึงปัญหาชายหาดสาธารณะที่โด่งดังจากกรณี “ฝรั่งเตะหมอ”

กลุ่ม Beach for Life มีคนหลากหลาย Gen และสายอาชีพมาทำงานด้วยกันโดยใช้งานความรู้เป็นหลัก โดยมี “น้ำนิ่ง” อภิศักดิ์ ทัศนี คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม วันนี้ “น้ำนิ่ง” จะมาเปิดปมปัญหาชายหาดทั่วไทย และทางแก้ควรเป็นอย่างไร ที่ไม่ใช่การปล่อยให้ประชาชนเป็นทัพหน้า“ทวงคืนชายหาด” อยู่ฝ่ายเดียว หน่วยงานรัฐจะกล้าพอไหม? 

เปิดปมปัญหาชายหาดไทย จากกัดเซาะชายฝั่ง สู้โครงสร้างแข็งและที่+ทางสาธารณะ

“เราพยายามจะบอกว่า การกัดเซาะชายฝั่งที่เขาบอกว่ามาจากภาวะโลกร้อนนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่มาจากโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่เป็นโครงสร้างแข็ง ซึ่งมีผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลเยอะมาก”

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราทำเรื่องนี้เรื่องเดียว คือรักษาชายหาดไม่ให้มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งโดยเฉพาะกำแพงกันคลื่น จนเกิด“ปรากฏการณ์ชายหาดม่วงงาม” (ปี 2563) ที่มีคนออกมาคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นเยอะมาก จนเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ

ก่อนหน้านั้นมีกรณีชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ที่เราสู้จนสามารถยุติการวางกระสอบทรายบิ๊กแบ็คตลอดแนวชายหาด แล้วให้ใช้วิธีเติมทรายแทนจนถูกพูดถึงในสังคมและมีการนำไปใช้ในเชิงนโยบายที่หาดพัทยา หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี และชายหาดอื่นๆ 

เราพยายามบอกว่า รูปแบบการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งไม่ได้มีโครงสร้างแข็งอย่างเดียว แต่มีโครงสร้างแบบอื่นๆ ด้วย 

จากหาดม่วงงาม ขยายไปเรียกร้องในโครงการอื่นๆ ในช่วงปี 2563 -2565 ได้แก่ หาดม่วงงาม หาดมหาราช หาดดอนทะเล หาดแม่รำพึง หาดแม่น้ำ หาดบางมะขามที่สมุย จนสังคมได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น 

กะทั่งเราเห็นชนวนปัญหาจริงๆ ว่ามาจากการที่ภาครัฐถอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ออกจากโครงการกำแพงกันคลื่น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเอา EIA กลับมาเหมือนเดิม

จากนั้นเราทำงานมากขึ้น คือวางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งเชิงระบบของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมักต่างคนต่างทำโครงการ แต่ไม่ได้คุยกันว่าจะแก้ปัญหาชายฝั่งเชิงระบบ หรือมองว่าชายหาดจะอยู่รอดอย่างไร

เราพยายามวางกรอบแนวทางให้หลายหน่วยงาน ทั้งกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้คุยด้วยกัน ใช้ข้อมูลเดียวกัน ใช้กรอบแนวทางอนุมัติโครงการแบบเดียวกัน เพื่อจะให้การแก้ปัญหาเป็นเอกภาพมากขึ้น

ปัญหาที่คนไทยเข้าถึงชายหาดสาธารณะไม่ได้

ปัญหาการเข้าถึงชายหาดสาธารณะ ทาง Beach for Life จับเรื่องนี้ในปี 2555 จากกรณีที่ดินชายหาดปากบารา จ.สตูล และที่ดินแหลมกลัด จ.ตราด 

ทั้ง 2 ที่มีปัญหาคล้ายกัน คือชายหาดเคยเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์มาก่อน แต่ถูกกัดเซาะหายไปกลายเป็นทะเลและเจ้าของเดิมก็ไม่สนใจที่จะป้องกัน จนผ่านไป 20-30 ปี เจ้าของก็อยากจะใช้พื้นที่จึงเข้าไปถมหินและปักเสาหวงกันไว้ (ตามกฎหมายคือ เมื่อที่ดินพังเป็นชายหาดก็จะกลายเป็นที่สาธารณะ)

เราเห็นว่า นี่จะเป็นปัญหาของประเทศที่จะลุกลามบานปลาย รวมถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงพื้นที่หาดสาธารณะเพราะไม่มีทางไปเหมือนกรณีที่ภูเก็ต 

เราพยายามคุยเรื่องนี้ในช่วงปี 2555-2556 และได้พัฒนาความรู้ รวบรวมงานวิชาการโดยนำเรื่องหาดปากบาราขึ้นมาชูเป็นประเด็นสังคมว่า มีการอ้างสิทธิ์บนชายหาด ทั้งๆ ที่เป็นของสาธารณะไปแล้ว

จากหาดปากบารา จ.สตูล ถึงแหลมกลัด จ.ตราด

โดยกรณีชายหาดปากบารา มีการเอกชนไปปักเขตโดยอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ที่ดิน นศ.3 แต่ที่ดินนั้นถูกกัดเซาะไปแล้ว เราจึงต่อสู้และพยายามบอกสังคมว่า มันเป็นชายหาดไปแล้ว เราได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐ ตอนนี้อยู่ในช่วงพิสูจน์สิทธิ์ว่า ตกลงที่ตรงนั้นเป็นทะเล หรือยังเป็นที่ส่วนบุคคล หรือเป็นอะไรกันแน่

 ถึงแม้เอกชนยังอ้างว่าเป็นที่ของเขา แต่เรายืนยันว่ามันกลายเป็นที่สาธารณะไปแล้ว เพราะไม่เห็นการหวงกันที่และไม่เห็นการทำประโยชน์มานานแล้ว โดยเจอเอกสารรังวัดที่ดินระบุว่า บริเวณนี้เป็นทะเล ไม่มีการหวงกันและไม่มีการใช้ประโยชน์

(การหวงกัน คือการติดตั้งสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่ายังหวงพื้นที่อยู่ ไม่ยอมให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น เอาไม้หรือเสาเข็มมาปักไว้ หรือก่อสร้างเขื่อน)

ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ชี้ชัดว่า พื้นที่พิพาทเดิมเป็นที่ดิน สค.1 ต่อมาถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นชายหาด 100% ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์และกลายเป็นทะเลมา 47 ปีแล้ว ดังนั้นเอกชนจะมาอ้างสิทธิ์โดยปักเสาปูนบนชายหาดไม่ได้

เราทวงคืนชายหาดก่อนภูเก็ตจะดังเสียอีก มิฉะนั้นจะตกเป็นที่ส่วนบุคคล

เราพยายามทวงคืนชายหาดปากบาราก่อนที่ภูเก็ตจะดังเสียอีก แต่ด้วยกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์และต้องค้นหาข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2565 จนถึงตอนนี้ปี 2567 เราก็ยังพยายามอยู่และพบข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่เราจะรวบรวมไว้ เพื่อจะใช้ทวงคืนหาดปากบารากลับมาเป็นที่สาธารณะ

กรณีแหลมกลัด จ.ตราด เป็นที่ดินโฉนดที่ถูกกัดเซาะ จากนั้นเอกชนไปถมที่ ซึ่งทำไม่ได้เพราะกลายเป็นทะเลไปแล้ว 5 ไร่ จึงต้องพิสูจน์ว่ามีการหวงกันมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่มี ที่ตรงนี้ก็กลายเป็นที่สาธารณะไปแล้ว

ทั้ง 2 กรณีชัดเจนว่าไม่มีการหวงกัน ที่ปากบารายิ่งชัดเพราะตอนประท้วงคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์กันเต็ม ในฐานะหาดสาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ดังนั้นทั้ง 2 กรณีนี้ทำให้เห็นว่า ปัญหาที่ดินริมชายฝั่งทะเลกำลังมีปัญหา ซึ่งปิดทางลงหาดเห็นมานานแล้ว – ต้องแก้ทั้งระบบ – เพิกถอนสิทธิ์ให้หมด

กรณีการปิดทางสาธารณะนั้นเราเห็นมานานแล้ว แต่มันปะทุขึ้นมาตอนนี้เพราะฝรั่งเตะหมอ มันซ่อนปมอยู่ ซึ่ง Beach for Life เห็นสัญญาณนี้จากกรณีปากบาราเมื่อปี 2555 และจากกรณีอื่นตามมา 

หากไม่นำไปสู่กระบวนการเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดินที่ตกน้ำไปแล้ว ในอนาคตที่ดินริมชายหาดหลายๆ ที่ก็จะกลายเป็นที่เอกชนอ้างสิทธิ์ กลายเป็นที่ส่วนบุคคลทั้งๆที่เป็นที่สาธารณะ

มิหนำซ้ำ อาจซ้ำเติมปัญหาการกัดเซาะด้วย เพราะเมื่อรัฐไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เอกชนก็อาจจะถมหินลงไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียงต่อไปได้ 

เรามองว่าเรื่องนี้ต้องแก้เชิงระบบ เพราะสัมพันธ์กับปัญหากัดเซาะชายฝั่งและการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชายหาด

กำแพงกันคลื่น ทางแก้ที่จบไปแล้ว แต่ทางเลือกอื่นคืออะไร

การปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยสร้างกำแพงกันคลื่นมันยุติไปแล้ว เพราะสังคมเข้าใจแล้วว่า กำแพงกันคลื่นมีผลกระทบอย่างไร แต่ที่สังคมต้องการเวลานี้ คือมีทางเลือกอะไรบ้างที่ดีกว่า จะใช้มาตรการชั่วคราวไหม ทำ Sand Fence บนฝั่งไหม หรือทำสันทรายเค็มไหม อะไรอย่างนี้ 

ปัจจุบันมีการเสนอทางเลือกการป้องกันชายฝั่งถูกกัดเซาะที่ไม่ใช่โครงสร้างแข็ง มี 4 แบบ ได้แก่ 1) รั้วไม้แบบแห้ง (Dry Sand Fence) 2) รั้วไม้แบบเปียก (Wet Sand Fence) 3) กำแพงไม้ริมทะเล (Wood Revetment) และ 4) การเติมทราย (Beach Nourishment) 

นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่หน่วยงานรัฐหรือนักวิชาการต้องตามให้ทันเพื่อตอบสังคม Beach for Life เองก็ต้องตามให้ทันว่า มีอะไรที่ดีกว่าในการป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่มีผลกระทบ เป็นโครงสร้างแบบอ่อน เป็นมิตรกับชายหาด เป็นมาตรการสีเขียว คืออะไรบ้างหรือถ้าจะเป็นโครงสร้างแข็งก็ได้แต่อาจจะอยู่ชั่วคราว ไม่ได้อยู่ถาวรชั่วโคตร ป้องกันเฉพาะช่วงมรสุม 

เราต้องยอมรับว่า มีการกัดเซาะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้กระทบทุกพื้นที่และไม่ได้เดือดร้อนไปตลอดทุกวี่ทุกวัน บางครั้งมันเกิดแค่ 3-4 วันแล้วมันก็หายไป

อย่างเช่น ชายหาดบ้านปาตา ตะโละสะมิแล ตะโละกาโปร์ จ.ปัตตานี เกิดการกัดเซาะขึ้นแป๊บหนึ่ง ผ่านไปก็ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม แต่ความเสียหายหนักก็เพราะผลกระทบจากโครงสร้างแข็งที่มีอยู่เดิม เช่น เขื่อนกันคลื่น 

เมื่อกัดเซาะแล้ว จะทำอย่างไร จะถอยร่น จะย้ายถนนหรือรื้อออก เพราะสังคมเห็นแล้วว่ากำแพงกันคลื่นไม่ใช่สิ่งสวยงามและไม่ทำให้ชายหาดคงอยู่ คำถามคือแล้วอะไรจะมาแทนที่ได้

สำรวจที่ดินริมหาดทั่วประเทศ ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

ปัญหาที่ดินสาธารณะริมชายหาดและทางสาธารณะลงไปชายหาด เราไม่รู้เลยว่าตอนนี้มีตรงไหนบ้างที่ถูกเอกชนอ้างสิทธิ์และปิดทางเข้าออก ยังไม่พูดถึงเอกสารสิทธิ์ว่าได้มาถูกต้องหรือไม่ ถ้าคนภูเก็ตไม่บอกเราก็ไม่รู้ ถ้าไม่เป็นประเด็นขึ้นมาหน่วยงานรัฐก็ไม่รู้หรืออาจจะปิดตาไว้

เพราะฉะนั้น ต้องทำให้สังคมรับรู้โดยต้องสำรวจที่ดินริมชายหาดให้เห็นว่ามันอยู่ยังไง ออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ มีทางเข้าออกให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะได้จริงหรือไม่ ก็ต้องสำรวจ 

ไม่รู้แหละใครจะเป็นเจ้าภาพ กรมที่ดิน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ต้องทำให้เห็นว่า ระยะทาง 3,000 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่งทะเลไทย มีที่สาธารณะตรงไหนถูกเอกชนปิดทางบ้าง หรือตรงไหนเคยเป็นที่ดินที่ถูกกัดเซาะเป็นชายหาดแล้วเอกชนยังอ้างสิทธิ์บ้าง

รัฐต้องทำให้สาธารณะรับรู้ร่วมกัน แล้วก็เข้าสู่กระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์หรือเปิดทางสาธารณะ แต่การจะเพิกถอนได้นั้นจะต้องพิสูจน์สิทธิ์กันก่อน ดังนั้นต้องทำกระบวนการให้ชัดเจนก่อน แล้วก็รื้อขึ้นมาพิจารณาใหม่ทั้งหมด 

เรื่องนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่มีทางอื่นแล้ว ต้องรื้อ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ รัฐจะยอมทำหรือไม่ แต่ถ้าไม่ทำ มันก็จะอยู่กันแบบนี้ต่อไป

หน่วยงานรัฐต้องกล้าทำ อย่าปล่อยให้ประชาชนลงมือ

หลังจากสำรวจที่ดินริมชายฝั่งครบทั้ง 3,000 กว่ากิโลเมตรแล้ว ก็ต้องมาคุยกันต่อว่าจะมีกระบวนการจัดการ 2 ปัญหานี้อย่างไร

อันแรก เรื่องทางเข้าถึงหาดสาธารณะอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจจะต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับท้องถิ่นและส่วนกลางในกรณีที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง แต่บังเอิญที่ดินอยู่ติดชายหาดจึงปิดทางเข้าแล้วกลายเป็นหาดส่วนตัวโดยไม่ได้เจตนา บางรีสอร์ทไม่ได้ห้ามเข้าแต่ประชาชนไม่รู้จึงไม่กล้าเข้าไป ก็จะต้องเจรจาหารือขอให้เปิดทางหรือมีป้ายบอกทาง 

แต่ไอ้ที่ปิดไม่ให้เข้าแบบที่แหลมงา (จ.ภูเก็ต) หรือที่วิลล่าเตะหมอนั้น ก็ต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการจัดการ 

ส่วนที่ดินที่ถูกกัดเซาะจนกลายเป็นทะเลหรือชายหาดไปแล้ว ต้องนำเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และให้สาธารณะรับรู้ว่าตรงนี้กลายเป็นของสาธารณะไปแล้ว

เรื่องนี้ต้องทำเป็นวาระและมี Action Plan ชัดเจน หน่วยงานรัฐต้องกล้าทำ จะกลัวอิทธิพลไม่ได้ ถ้าปล่อยไว้ชาวบ้านก็จะออกมาทวง แล้วคุณจะยอมให้ชาวบ้านมาทวงแทนหน่วยงานรัฐหรือ มันไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพราะมีอำนาจโดยตรง แม้จะเป็นเรื่องยากลำบากก็ตาม

ชายหาดไทยคือหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยว

เห็นชัดในหลายพื้นที่ว่า พอชายหาดไม่สามารถเข้าถึงได้ มันก็ปิดโอกาสเข้าไปใช้ประโยชน์ ปิดกั้นโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น บางหาดมีเตียงผ้าเต็มใบหมด ก็ไม่น่าไปเดิน คนก็ไปหาที่เข้าถึงง่ายกว่า ที่รู้สึกว่าไม่ใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

พื้นที่ชายฝั่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยว การที่ประชากรเยอะขึ้น ความต้องการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้น ซึ่งไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติใดที่รองรับได้ดีกว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเล 

คนเลือกไปเที่ยวชายหาดมากกว่าน้ำตก เพราะรู้สึกว่าไปถึงง่าย ปลอดภัยกว่า มีความสุขมากกว่าเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่และมีอันตรายน้อยกว่าป่าเขาลำเนาไพร 

อนาคตเราเจอปัญหาแน่ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้ ประชาชนคนไทยจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นสาธารณะได้อย่างแท้จริง รวมทั้งชาวต่างชาติด้วย

ถ้าหน่วยงานรัฐกล้า ประชาชนก็พร้อมหนุน

ถ้าหน่วยงานรัฐกล้าจัดการเรื่องนี้ ประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก็พร้อมหนุน ซึ่งกรณีแหลมหงาก็ชัดเจนว่าประชาชนสามารถทวงกลับมาได้ รวมถึงแหลมยามูและล่าสุดคือหาดนุ้ย 

แต่จะปล่อยให้ประชาชนเป็นทัพหน้าทุกครั้งไม่ได้ หน่วยงานรัฐต้องเป็นทัพหน้าบุกเข้าไป ผมเชื่อในความเป็นรัฐว่าจะพิทักษ์รักษาทรัพยากรได้ แต่ต้องอาศัยความกล้าหาญมากพอ

จริงอยู่ว่าประชาชนบุกไปทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา เหมือนภาพที่เป็นมีมตอนนี้ คือประชาชนเป็นยมทูตที่ไปเคาะไล่ทีละหาด อย่าให้ประชาชนเป็นแบบนั้นเลย มันไม่ใช่ที่ทางที่ควรจะเป็น  

Beach for Life เตรียมลุยแน่ พบกันวันที่ 29 มี.ค. นี้

Beach for Life เตรียมจัดเวทีเรื่องนี้วันที่ 29 มี.ค. 2567 ที่หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร เราลุยเรื่องนี้แน่ เราจะพูดคุยเรื่องที่ดินริมชายหาดและทางสาธารณะ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและที่ดินตกน้ำแล้วแต่เอกชนยังอ้างสิทธิ์อยู่ จะหาทางออกอย่างไร

ในงานจะมีตัวแทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะกรรมาธิการที่ดิน นักวิชาการ ตัวแทนคนภูเก็ต และคนที่สู้เรื่องหาดปากบารา โดยจะนำเสนอกรณีตัวอย่างและข้อมูลภาพรวมว่าเกิดอะไรขึ้น อยากให้ช่วยกันมองว่า ควรจะแก้อย่างไร

ผมคาดหวังว่า เราควรใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประโยชน์อย่างไร ถ้าเป็นปัญหาเชิงกฎหมายก็ศึกษากฎหมาย ถ้าเป็นปัญหาการปฏิบัติของราชการก็จะจัดการปัญหาของทางราชการ


ภาพหาดแก้ว จ.สงขลา ที่ชายหาดหายไป
 

ภาพชายหาดท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา ที่พังเพราะกำแพงกันคลื่น 


ภาพชายหาดปากบาราที่เอกชนอ้างสิทธิ์สร้างสิ่งปลูกสร้างบนชายหาด

ภาพการเคลื่อนไหวทวงคืนชายหาด ธ.ค. 2565


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net