Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายในสภาล่างที่จะบีบให้บริษัทสัญชาติจีนเจ้าของ TikTok ต้องถอนทุนออกจากสหรัฐฯ แล้วขายให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน แต่ร่างกม.นี้ก็เผชิญแรงต้านจากผู้ใช้งาน กลุ่มเสรีภาพพลเมืองและสิทธิดิจิทัล รวมถึงผ่านด่าน ส.ว.สหรัฐฯ ที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับ กม.นี้

เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2567 สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายใหม่ในสภาล่างที่ทำให้แอพฯ TikTok เสี่ยงต่อการถูกแบนมากขึ้น ร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า "กฎหมายเพื่อการคุ้มครองชาวอเมริกันจากแอพพลิเคชั่นที่ควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ" มีการผ่านร่างจากนักการเมืองทั้งสองพรรคในสภาด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 352 โหวต ต่อคะแนนเสียงคัดค้าน 65 โหวต

กฎหมายดังกล่าวนี้จะเป็นการสั่งให้บริษัท ByteDance บริษัทสัญชาติจีนที่เป็นผู้พัฒนา TikTok ต้องถอนทุนออกไปไม่เช่นนั้นจะถูกแบนออกจากร้านค้าแอพฯ ในสหรัฐฯ

มี ส.ส. สหรัฐฯ จำนวนมากที่บอกว่าแอพฯ TikTok จะเปิดทางให้รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลและส่งอิทธิพลต่อชาวอเมริกันผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่เป็นที่นิยมนี้และเป็นแอพฯ ที่มีระบบอัลกอริทึมหรือการจัดเรียงเนื้อหาข้อมูลในแบบที่ชวนให้คนติดแอพฯ ทางทำเนียบขาวแสดงการสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน โดยที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน บอกว่าเขามีความตั้งใจจะลงนามในกฎหมายนี้ถ้าหากมีการผ่านร่าง

แต่ทว่าความคิดเห็นของ ส.ส. และทำเนียบขาวก็ขัดแย้งกับกลุ่มผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ราว 170 ล้านราย นับเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับกลุ่มด้านเสรีภาพพลเมืองและสิทธิดิจิทัลผู้ที่บอกว่าการแบน TikTok จะเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายนี้ก็เผชิญกับอุปสรรค เช่น ในการพิจารณาระดับวุฒิสภาที่ไม่น่าจะผ่านได้อย่างเรียบง่าย นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่งจากทั้งสองสภาที่อาจจะมีการหารือกันว่าควรจะใช้วิธีการแบนแบบของฝั่งไหน

ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องการให้ ByteDance ถอนทุนออกจาก TikTok

การพยายามสกัดกั้น TikTok นี้ สามารถมองได้ว่าเป็นการแข่งขันช่วงชิงกันรอบล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสามารถมองได้ว่าเป็นการที่สหรัฐฯ พยายามจะขัดขวางความเป็นไปได้ที่จีนจะส่งอิทธิพลต่อสหรัฐฯ ในกรณี TikTok นี้ ส.ส. สหรัฐฯ กลัวว่าบริษัท ByteDance อาจจะถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่อย่างลับๆ

บริษัท ByteDance ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขาแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวให้กับรัฐบาลจีน Shou Chew ซีอีโอของ TikTok กล่าวให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ว่า "รัฐบาลจีนไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม ByteDance มันเป็นบริษัทเอกชน"

แต่ผู้มีอำนาจควบคุมในจีนก็มีประวัติปราบปรามบริษัทไอทีที่ตั้งอยู่ในจีน และรัฐบาลจีนก็เป็นที่รู้จักดีในเรื่องที่มีการเซนเซอร์เนื้อหาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง รวมถึงมีการจำกัดผู้ใช้งานไม่ได้เข้าถึงโซเชียลมีเดียและเว็บของตะวันตกได้โดยอาศัย "เกรทไฟล์วอลล์"

มาร์โก รูบิโอ ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการด้านข่าวกรองจากการแต่งตั้งของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน พูดในที่ประชุม "การประเมินภัยคุกคามทั่วโลก" ถึงความกังวลในเรื่องที่รัฐบาลจีนอาจจะมีอำนาจควบคุม ByteDance และ Tiktok เพราะรูบิโอมองว่า "ทุกบริษัทในจีนถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน" รวมถึง ByteDance ด้วย

รูบิโอ บอกว่า ถ้ารัฐบาลจีนควบคุม ByteDance ได้จริงก็เท่ากับมีอำนาจควบคุมแอพฯ ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์อัลกอริทึมที่ "ดีที่สุดแอพฯ หนึ่งของโลก" ทำให้รูบิโอกลัวว่าการที่มี TikTok ใช้ในสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการนำข้อมูลของชาวอเมริกันไปใช้กับอัลกอริทึมแบบสามารถ "อ่านใจคุณได้แล้วทำนายว่าวิดีโอไหนที่คุณต้องการจะเห็นต่อไป"

ส.ส. สหรัฐฯ จำนวนมากและทำเนียบขาวต่างก็เชื่อว่า ถ้าหากมีการขาย TikTok ให้กับ "ผู้ซื้อที่มีคุณสมบัติ" เช่นบริษัทสัญชาติตะวันตก ก็จะกลายเป็นการตัดอิทธิพลจีนออกไปได้

อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ว่านี้ก็อาจจะสามารถขยายบทเฉพาะกาลอันเดียวกับที่ใช้กับ TikTok เอาไปใช้กับแอพอื่นได้หลังจากนี้ เช่น ข้อหาเรื่องแอพที่ "อยู่ภายใต้การควบคุมของศัตรูต่างชาติ" หรือเรื่อง "ปฏิบัติการของอัลกอริทึมแนะนำเนื้อหา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูล"

แอพที่อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วยคือแอพขายเสื้อผ้าสัญชาติจีน Temu และ Shein ซึ่งเป็นที่นิยม แอพเหล่านี้อาจจะเดินรอยตามแอพหาคู่ Grindr ไปติดๆ จากที่เมื่อปี 2563 แอพหาคู่สัญชาติจีนที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเกย์อย่าง Grindr ถูกบังคับให้ต้องขายความเป็นเจ้าของแอพนี้ด้วยวงเงิน 600 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างเรื่องความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ กลัวว่าจะมีการใช้ข้อมูลจากแอพนี้มาแบล็กเมลชาวอเมริกัน

ทาง TikTok เองว่าอย่างไรบ้าง

TikTok ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าว ส.ส. สหรัฐฯ ได้มากเท่าใดนัก ก่อนหน้านี้ ซีอีโอ Chew จาก TikTok เคยให้การต่อสภาคองเกรสเมื่อปี 2566 ซึ่งถูกมองว่าเป็น "หายนะ" เพราะเขาล้มเหลวในการลดความกังวลของกลุ่มนักการเมืองสหรัฐฯ ต่อข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลจีนมีอิทธิพลเหนือแอพ TikTok

รัฐบาลจีนถือหุ้นบริษัท ByteDance อยู่ร้อยละ 1 และมี 1 ใน 3 กรรมการบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตามมีนักวิจารณ์มองว่า การที่ซีอีโอ Chew ไม่สามารถโน้มน้าวนักการเมืองสหรัฐฯ ได้สำเร็จนั้นเป็นเพราะกลุ่ม ส.ส.สหรัฐฯ ต้องการใช้ประเด็นวิจารณ์นี้เรียกร้องความสนใจและการสนับสนุน มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งในช่วงที่ทางการสหรัฐฯ ไต่สวน Chew พวกเขาถาม Chew ว่าเขาสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่ เป็นฉากที่ชวนให้นึกถึงช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ปลุกปั่นให้ผู้คนหวาดผวาต่อคอมมิวนิสต์ ที่เรียกว่า "เรดสแกร์" ในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1950s

ร่างกฎหมายสกัด TikTok จะออกมาได้จริงหรือไม่?

ถึงแม้ว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประกาศสนับสนุนกฎหมายสั่งให้ทุนจีนถอนทุนจาก TikTok แต่ ส.ว. พรรคเดโมแครต ก็มีร่างกฎหมายที่จะจัดการเรื่องนี้ในฉบับของพวกเขาเอง ซึ่งตัวร่างกฎหมายยังคงติดอยู่ในระดับคณะกรรมาธิการ คือกฎหมายที่ชื่อว่า RESTRICT ที่จะส่งเสริมให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ทำการแบนโดยตรงต่อแอพที่ควบคุมโดย "ศัตรูต่างชาติ" ต่างจากร่างกฎหมายที่ผ่านร่างล่าสุดที่เสนอจากทำเนียบขาว

ทำให้ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายฉบับของทำเนียบขาวจะผ่านร่างในสภาล่าง แต่ยังต้องผ่านการรับรองโดยวุฒิสภาและได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ด้วย แต่การที่ปี 2567 นี้เป็นปีการเลือกตั้งด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเลื่อนโหวตกฎหมายนี้ไปเป็นหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นอกจากนี้ ByteDance ยังจะสามารถร้องเรียนขอยกเลิกการถูกสั่งแบนผ่านทางศาลสหรัฐฯ ได้ด้วย

กรณีการสนับสนุนและการต่อต้านร่างกฎหมายสั่งถอนทุนจีนจาก TikTok นี้ เป็นไปในแบบที่ไม่ได้ลงล็อกชัดเจนว่าพรรคใดสนับสนุนหรือพรรคใดคัดค้าน เพราะแม้แต่พรรครีพับลิกันก็มีเสียงคัดค้านจาก ส.ว. อย่าง รอน พอล ที่สัญญาว่าจะบล็อกกฎหมายนี้ ถึงแม้ว่ารูบิโอ ส.ว. พรรครีพับลิกันจะออกตัวสนับสนุนก็ตาม

สำหรับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกวางเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 ก็เปลี่ยนจุดยืนของเขาเองเกี่ยวกับ TikTok ในยุคที่เขาเป็นรัฐบาลปี 2563 รัฐบาลภายใต้การนำของเขาทำการสั่งแบนแอพ TikTok แต่ในปีนี้ทรัมป์ก็ย้ายข้างมาอยู่ฝั่งสนับสนุน TikTok ซึ่งน่าจะทำให้เขาเรียกคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่่ได้

ทั้งนี้ในแต่ละรัฐของอเมริกาก็มีการสั่งจำกัดการใช้งาน TikTok ในรูปแบบต่างกัน เช่น รัฐมอนทาเมื่อปี 2566 กลายเป็นรัฐแรกที่สั่งแบน TikTok โดยตรง แต่ก็กำลังมีการท้าทายทางกฎหมายในเรื่องนี้อยู่

TikTok จะถูกแบนไหม

ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายที่เพิ่งผ่านในสภาล่างจะไม่ได้สั่งแบน TikTok โดยตรง แต่ บิล บิชอป ผู้จับตามองจีนก็ประเมินว่า ทางการจีนไม่น่าจะยอมให้ ByteDance ขายความเป็นเจ้าของให้สหรัฐฯ หรือชาติตะวันตกที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ แบบที่ระบุบังคับไว้ในกฎหมาย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ TikTok หรือที่เรียกว่า Douyin ในจีนเป็นแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนแพลตฟอร์มแรกที่ไปสู่ระดับโลก ทำให้จีนมีพื้นที่ในการส่งอิทธิพลต่อวาทกรรมนานาชาติในแบบของตนเองในพื้นที่นี้ได้ จากเดิมที่พวกเขาต้องไปอาศัยพื้นที่ของตะวันตกอย่าง Youtube หรือ Facebook ซึ่งทางการจีนก็แถลงต่อเรื่องนี้ว่าพวกเขาจะ "ใช้ทุกมาตรการที่จำเป็น" ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทจีนในต่างชาติ

He Yadong โฆษกของกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะ "เคารพในหลักการเศรษฐกิจแบบตลาดและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม" โดยแท้จริง และ "หยุดปราบปรามบริษัทต่างชาติในแบบที่ไม่ยุติธรรม"

แล้ว TikTok เป็นอันตรายอย่างที่ว่าไว้จริงหรือ

ซิติเซนแล็บของมหาวิทยาลัยโตรอนโต เคยทำการวิเคราะห์ TikTok และ Douyin เอาไว้เมื่อปี 2564 ระบุว่าจากหลักฐานที่มีอยู่นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า TikTok ทำการเซนเซอร์ทางการเมืองต่อโพสต์ของผู้ใช้งานหรือไม่ อีกทั้งสองแอพนี้ยัง "ดูเหมือนจะไม่มีพฤติกรรมที่มุ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแบบเดียวกับที่มาจากมัลแวร์"

เพลแลยอน ลิน  จากซิติเซนแล็บกล่าวว่าทั้ง Douyin และ Tiktok ดูเหมือนจะมีซฮร์สโค้ดเดียวกันที่ต่อมานำมาปรับแต่งเพื่อใช้กับตลาดคนละแบบกันในต่างพื้นที่ มีการจำกัดเนื้อหาที่ระบุว่าเป็น "เฮทสปีช" เนื้อหา "ป้องกันการฆ่าตัวตาย" และ "เนื้อหาอ่อนไหว" โดยมีคำสำคัญทางการเมืองบางส่วนที่ถูกห้ามใน Douyin จะไม่มีการห้ามใน Tiktok ซึ่งลินบอกว่า พวกเขายังไม่แน่ใจว่าความสามารถในการปรับแต่งการเปิดปิดลักษณะการทำงานส่วนนี้จะถูกนำมาใช้แอบซ่อนละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์เรื่องที่ว่า TikTok มีลักษณะที่ทำให้คนติดแอพได้ง่าย ทำให้น่าเป็นห่วงว่าอาจจะส่งอิทธิพลทางลบต่อเด็ก แต่ผู้ที่ต่อต้านการแบน TikTok ก็บอกว่าแอพอื่นๆ ที่มีลักษณะที่น่ากังวลเช่นเดียวกับ TikTok นอกจากนี้มีผู้ใช้งาน TikTok และผู้ผลิตคอนเทนต์ที่สามารถใช้วิดีโอของตัวเองหารายได้ก็ต่อต้านการแบนเช่นกัน ซึ่งรายได้ของบางคนที่ทำได้จาก TikTok นั้นมากถึงหลายแสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนเลยทีเดียว

กลุ่มด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางดิจิทัลอย่าง สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) และ มูลนิธิอิเล็กโทรนิกส์ฟรอนเทียร์ฟาวน์เดชั่น ก็ชวนให้มีการฉุกคิดก่อนจะแบนแอพนี้ เช่น แอชลี กอร์สกี ทนายความอาวุโสจาก ACLU บอกว่าการแบน TikTok ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามจะถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของสหรัฐฯ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

กอร์สกีบอกว่าเพราะการแบนจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและจำกัดไม่ได้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ รัฐบาลไม่สามารถแบน TikTok แบบทั้งหมดได้เว้นแต่ว่าจะมีภัยต่อความมั่นคงของชาติในระดับร้ายแรงมากและในระดับฉุกเฉิน โดยที่ในตอนนี้กอร์สกีมองว่ายังไม่หลักฐานที่ปรากฏชัดต่อสาธารณะว่ามันเป็นภัยมากขนาดนั้น

กอร์สกีชี้ว่าในสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองประชาชนในขณะที่สหรัฐฯ ไม่มี ทั้งๆ ที่การมีกฎหมายแบบนี้จะแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของประชาชนชาวอเมริกันที่สหรัฐฯ กังวลได้ มีผู้สังเกตการณ์มองว่า TikTok ก็มีวิธีทำงานแบบเดียวกับ X (ทวิตเตอร์) และโซเชียลมีเดียของค่าย "เมตา" อย่างเฟสบุคกับอินสตาแกรม

เมื่อปี 2566 อียูเคยสั่งปรับเมตาเป็นเงิน 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้เป็นการสร้างมาตรฐานที่สูงอะไรมากมาย แต่การแบน TikTok ก็อาจจะกลายเป็นการกระทำแบบมือถือสากปากถือศีลได้ในขณะที่บริษัทไอทีสัญชาติสหรัฐฯ ยังคงดำเนินการด้วยนโยบายที่น่ากังขาแบบนี้ต่อไป

ในประเทศอื่นๆ นั้นมีการแบน TikTok เกิดขึ้นเช่นกัน เช่นที่เนปาลและอินเดีย ในกรณีของอินเดียนั้นมีการแบนเพราะความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างอินเดียกับจีน ประเทศอื่นๆ อย่าง อัฟกานิสถาน, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ไต้หวัน, อังกฤษ และ ภาคส่วนการปกครองของอียู ก็ทำการแบน TikTok จากโทรศัพท์ของหน่วยงานราชการ ในขณะที่ ปากีสถาน กับ อินโดนีเซีย มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจกลับไปกลับมาว่าจะแบนหรือไม่แบน หรือว่าจะจำกัด TikTok มากน้อยแค่ไหน

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาทางอียูได้ประกาศเปิดการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับแอพ TikTok ในเรื่องเนื้อหา, การโฆษณา และการเสพติดแอพที่อาจจะส่งผลต่อผู้เยาว์ ก่อนหน้านี้อียูเคยสั่งปรับ TikTok มาแล้ว 370 ล้านดอลลาร์ ในเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว


เรียบเรียงจาก
Why has the US passed a bill to ban TikTok, and what’s next?, Aljazeera, 14/3/2024

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net