Skip to main content
sharethis

สส.ก้าวไกลติดตาม-ตรวจสอบเหตุการณ์ #เครนถล่มระยอง ต่อเนื่อง ชี้เคยนำปัญหาของโรงงานนี้อีกสาขาเข้าหารือในสภาฯ แล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จี้รัฐตรวจสอบใบอนุญาต-สิทธิ BOI-มาตรฐานความปลอดภัย พร้อมให้ความเป็นธรรมกับแรงงานไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด

1 เม.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของเหตุการณ์เครนถล่มภายในโรงงานเหล็กแห่งหนึ่ง ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยองว่า ถึงแม้สถานการณ์การประท้วงของแรงงานจะสงบลงแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่กำลังรอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เช่น ข่าวลือเรื่องผู้เสียชีวิตในโรงงานที่มีมาต่อเนื่องก่อนเกิดเหตุเครนถล่ม สถานการณ์การจ้างงาน และแนวทางการจัดการปัญหาของโรงงานต่อจากนี้ ซึ่งตน และ สส.พรรคก้าวไกลในพื้นที่จะคอยติดตามตรวจสอบต่อไปอย่างใกล้ชิด 

ชุติพงศ์กล่าวต่อไปว่า กรณีเครนถล่มครั้งนี้นอกจากจะสะท้อนมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานที่มีปัญหาแล้ว คำถามต่อมาคือมีโรงงานอีกกี่แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการแบบไม่มีมาตรฐานเช่นนี้ เพราะเท่าที่ตรวจสอบ โรงงานแห่งนี้มีอีกสาขาที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง และตนก็เคยได้รับข้อร้องเรียนถึงปัญหาการปฏิบัติงานต่าง ๆ เช่น มีฝุ่นควันจากการปฏิบัติงานรั่วไหลออกไปข้างโรงงาน ไม่ออกบนปล่อง ส่งผลกระทบกับโรงงานข้างเคียง หรือบางวันก็มีเศษโลหะปลิวมาโดนรถของโรงงานข้าง ๆ เสียหาย แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติก็ไม่ได้รับการดูแลด้านความปลอดภัย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีคุณภาพต่ำที่เลิกใช้ในประเทศจีนแล้ว เพราะสร้างมลพิษสูง

ชุติพงศ์ย้ำว่า ตนเคยนำข้อร้องเรียนเหล่านี้เข้าปรึกษาหารือและตั้งกระทู้ถามในสภาฯ แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับความคืบหน้าว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เครนถล่มที่โรงงานสาขาอำเภอปลวกแดงครั้งนี้ ซึ่งสถานะปัจจุบันยังคงเป็นไซต์งานก่อสร้างที่สร้างไม่เสร็จ ดังนั้น ตนเห็นว่าต้องมีการตรวจสอบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่การขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของโรงงาน ไปจนถึงการตรวจสอบว่าการอนุญาตประกอบการและการตรวจสอบต่าง ๆ มีใครเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง อย่าให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไขใด ๆ

ขณะที่ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นในด้านสิทธิแรงงานว่า การชุมนุมของแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้างเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำได้ หากเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ สิ่งที่เราต้องตระหนักและคิดให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินด้วยอคติคือ แรงงานเหล่านี้ไม่ว่าจะมาจากประเทศใดหรือเชื้อชาติใด ก็เป็นคนที่สร้างเศรษฐกิจและสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศไทยของเรา ไม่ได้ต่างจากนักลงทุนหรือนายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ดังนั้น หากเราสามารถเห็นใจนายทุนต่างชาติใด ๆ ได้ ทำไมเราจึงจะไม่เห็นใจแรงงานข้ามชาติในลักษณะเดียวกัน

ในด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในที่ทำงาน สหัสวัตกล่าวว่า จากสถิติพบว่าอุบัติเหตุจากที่ทำงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้นมีตัวเลขค่อนข้างต่ำ ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่ตนได้รับทราบ เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายปี เนื่องจากพื้นที่ EEC มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่มีพนักงานตรวจแรงงานจากภาครัฐไม่เพียงพอ และตัวเลขการตรวจก็ไม่ชัดเจน อีกทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งก็ไม่มีความชัดเจน เปรียบเสมือนแดนสนธยาที่ไม่สามารถล่วงรู้อะไรภายในได้เลย

ด้วยเหตุนี้ สหัสวัตจึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบาย EEC ให้แก้ไขปัญหาทั้งด้านแรงงานและมาตรฐานอุตสาหกรรมโดยถี่ถ้วน โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในเขต EEC

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net