Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แต่ไหนแต่ไรมา “คนเสื้อแดง" เป็นคำที่ถูกนิยามอย่างแตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว ก่อนปี 2563 กระแสสังคมยอมรับ “คนเสื้อแดงมากขึ้น" บทสัมภาษณ์ของหลายคนสะท้อนว่าผู้ที่มั่นใจเรียกตนเองว่า “คนเสื้อแดง" นั้นเพราะเคยเข้าร่วมชุมนุมกับ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) หลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (ต่อไปจะเรียกว่า รัฐประหาร '49) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ใช้กองกำลังและอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุม ภายใต้วาทกรรม "กระชับพื้นที่" และ “ขอคืนพื้นที่" การสูญเสีย “เพื่อนร่วมอุดมการณ์" 99 คนในครั้งนั้นเป็นความเจ็บแค้นที่ประทับอยู่ใน "ความทรงจำร่วม" ของคนเสื้อแดง 

"เสื้อแดง" เป็นแล้วเลิกยาก

พี่ ร. ในวัย 57 ปี (ขณะสัมภาษณ์) เล่าว่าในช่วง ปี 2552-2553 เธอไปร่วมชุมนุมในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณแยกราชประสงค์ ถนนอักษะ และถนนสายอื่น ๆ ในวันที่ถูกสลายการชุมนุมเธอไม่ได้เตรียมไปตั้งแต่แรก แต่คนเสื้อแดงเรียกให้ออกไปช่วยกันเพราะเห็นเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนเหนือกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อกองกำลังกระหน่ำยิงแก๊สน้ำตา พี่ ร. ตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกับทุกคนในที่ชุมนุม

“ตอนนั้นคิดว่าฉันต้องตายวันนี้แน่ ๆ แสบตา หายใจไม่ออก แต่โชคดีที่อยู่ใกล้เต็นท์พยาบาล มีคนช่วยกันขนศพคนเสื้อแดงที่ถูกยิงขึ้นไปกองรวมกันบนเวที จนเขามาล้างถนนกันพี่ก็ยังนั่งอยู่"  (ร., สัมภาษณ์ 2 มี.ค. 2562)

พี่ ร. ไปม็อบตั้งแต่ช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุมกันใหม่ ๆ เธอเป็นคนเดียวในครอบครัวที่เป็น "คนเสื้อแดง" ส่วนญาติพี่น้องล้วนเป็นคนเสื้อเหลือง เธอแอบไปม็อบหลังเลิกงานและกลับบ้านทุกคืนเพื่อไม่ให้ผิดสังเกต กระทั่งทุกวันนี้เมื่อไปทำกิจกรรมการเมืองพี่ ร. ก็ยังคงปกปิดไม่ให้คนที่บ้านรับรู้ 

 อาจารย์ ป. ในวัย 40 เศษสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของจังหวัดทางภาคอีสาน บอกว่าตนเองเป็น “คนเสื้อแดง” ตั้งแต่ยังไม่ได้ไปร่วมชุมนุม เธอชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าเลือกฝ่ายไหน ในช่วงปี 2551 อาจารย์ ป. ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของ นปช. จนกระทั่งปี 2553 จึงเดินทางไปร่วมชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์หลังรัฐบาลตัดสัญญาณทำให้เคเบิ้ลทีวีไม่สามารถถ่ายทอดสดเวทีชุมนุมบริเวณแยกผ่านฟ้าให้มาให้รับรู้ได้อีก
   
“รู้สึกว่าเล่นกันแรงเกินไปหรือเปล่า ตัดสัญญาณเลยเหรอ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเกิดอะไรขึ้น ทางบ้านก็เชียร์ให้ไปเป็นตัวแทนของครอบครัว...น้ำตา ไหลว่าทำไมคนบ้านกูต้องมาทุกข์ยาก มารับใช้พวกมันแล้วยังต้องมาประท้วงขนาดนี้…”  (ป., สัมภาษณ์ 10 ก.พ. 2562) 


อาจารย์ ป. เล่าว่าเธอจับจองพื้นที่กินอยู่หลับนอนบริเวณใกล้ ๆ ห้างเซ็นทรัลเวิร์ลด์ร่วม 3  สัปดาห์ บางเช้ามืดนั่งรถไปบ้านญาติในกรุงเทพฯเพื่ออาบน้ำและงีบเอาแรง บางวันก็ไปอาบน้ำที่วัดปทุมวนาราม วันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อกองกำลังของรัฐเริ่มยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมตั้งแต่ช่วงกลางวันเธออยู่บริเวณแยกราชประสงค์

 "เหตุการณ์แย่มาก บรรยากาศน่ากลัว รู้ว่ามีการยิงกัน...เหตุการณ์รุนแรงอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า เขาขอแรงกันไป พอ 2 ทุ่มเริ่มมีคนตาย ขนศพมารวมกันที่ราชประสงค์ แต่คนชุมนุมไม่น้อยลงเลย ตอนที่รุนแรงมาก ๆ เราลงไปอยู่ชั้นใต้ดินของเซ็นทรัลฯ พ่อก็บอกว่าเป็นห่วงลูกแต่ไม่ได้สั่งให้กลับบ้าน แค่ถามว่าเป็นยังไงบ้าง มีผู้ใหญ่ทางบ้านโทรมาสั่งให้กลับบอกว่าให้เก็บชีวิตไว้สู้ทางอื่น แต่เราไม่กลับ คิดว่าถ้ากลับไปจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เราเห็นคนตายแล้ว มีคนที่ตายไปก่อนแล้วเพื่อการเลือกตั้ง คนเหล่านั้นไม่ควรตายเปล่า" (ป. สัมภาษณ์ 10 ก.พ. 2562) 

ในช่วงนั้นลูกชายของอาจารย์ ป. มีอายุเพียงแค่ 7 เดือน เธอฝากเจ้าตัวเล็กไว้กับแม่และญาติ ๆ เชื่อว่าหากตนเองเป็นอะไรไปทุกคนจะรักลูกของเธอและดูแลเขาอย่างดี เธอยังบอกด้วยว่า "คับแค้นใจมาก" หากมีการชุมนุมแบบนั้นเกิดขึ้นอีกเธอก็จะไปร่วมอีก

ถ้าจะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นคนยากจนจากชนบท พี่ ร. ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่นอกมายาคตินั้น เพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวฐานะค่อนข้างดีเคยมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าจะบอกว่าคนเสื้อแดงด้อยการศึกษา มายาคตินี้ก็ไม่ถูกต้องสำหรับอาจารย์ ป.  เพราะเธอเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ 

ภายใต้คำนิยามที่จำแนกประเภทมนุษย์ให้เป็นพวกใดพวกหนึ่ง มักมีผู้คนที่ไม่อาจจัดจำแนกได้เสมอ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนเหล่านั้น แต่อยู่ที่การแปะป้ายเหมารวมผู้คนที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย เพื่อลดทอนให้เป็น “ประเภทหนึ่ง" ต่างหาก พี่ ร. กับ ป. มีถิ่นฐานบ้านช่องและความเป็นมาแตกต่างกันไกล แต่ทั้งสองคนมีประสบการณ์ร่วมกันในวันที่คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุม ทั้งคู่ไม่เจอกันและอาจไม่รู้จักกันด้วยซ้ำจนถึงทุกวันนี้ แต่ต่างมีความเจ็บแค้นฝังใจไม่ต่างกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทั้งคู่ยังคงทำกิจกรรมการเมืองร่วมกับ "ฝ่ายประชาธิปไตย" เรื่อยมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนกลุ่ม เปลี่ยนบทบาท สถานะ หรือแตกแขนงกิจกรรมออกไปหลายรูปแบบ

 
“พี่ยังเป็นเสื้อแดงอยู่ ยังไงก็เป็น เลิกยาก แม้จะถอดความเป็น "คนเสื้อแดง" พักไว้บ้างเมื่อไปช่วยกิจกรรมของกลุ่มอื่น ๆ เราสู้กันมา อยู่กันทุกวัน จู่ ๆ จะมาถอดเสื้อแดงง่าย ๆ ไม่ได้ และคงไม่มีคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะเหตุการณ์พวกนั้นมันจบไปแล้ว คนที่เคลื่อนไหวการเมืองร่วมกันทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสื้อแดงก็ได้ แค่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็พอ"  (ร., สัมภาษณ์ 2 มี.ค. 2562)


อาจารย์ ป. ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองตามโอกาสต่าง ๆ  เช่นกัน หลัง "สลายการชุมนุมปี '53" อาจารย์ ป. ช่วยระดมความช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวของคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม  ในฐานะนักวิชาการเธอผลิตงานวิจัย ให้สัมภาษณ์สื่อสาธารณะ และทำอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้ถูกทหารคุกคามในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ต่อไปจะเรียกว่า รัฐประหาร '57) และถูก คสช. เชิญไป "ปรับทัศนคติ" เช่นเดียวกับนักวิชาการอีกหลายคน 

ไม่ใช่ "คนเสื้อแดง" 

หลัง "รัฐประหาร '49" จนถึงการ "สลายการชุมนุม '53" การป้ายสีและตีตราผู้อื่นว่าอยู่ขั้วหนึ่งขั้วใดของฝักฝ่ายการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป หากมองว่าตอนนั้นว่าหนักหนาแล้วสถานการณ์ตอนนี้นับว่าสาหัสไม่แพ้กันเม่ื่อมีการฟาดฟันอย่างดุเดือดระหว่าง "นางแบกแดง" กับ "ด้อมส้ม"

ผู้เคยใช้อัตลักษณ์ร่วมกันว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" แตกแยกออกเป็นหลายเสี่ยง ท่ามกลางการเปลี่ยนขั้วย้ายค่ายของพรรคและนักการเมืองในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ความเป็นไปเหล่านี้มีความเป็นมาหลายอย่างที่ไม่ใช่ "ความบังเอิญ" และประจวบเหมาะพอดีกับที่ ทักษิณ ชินวัตร ยุติสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยแล้วกลับมาเมืองไทยท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก “คนเสื้อแดง" และชนชั้นนำที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันมาก่อน ความร้าวฉานของประชาชน "ฝ่ายประชาธิปไตย" บานปลายมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อมีการรำลึกและทบทวนความทรงจำร่วมของ "คนเสื้อแดง" จนเกิดข้อโต้แย้งกันชุดใหญ่ว่าใครใช่หรือไม่ใช่ และต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะเป็น “คนเสื้อแดง" ที่ถูกต้อง

ความขัดแย้งทั้งระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และกลุ่มกิจกรรม สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองในภาพใหญ่ที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ท่าทีของรัฐบาลที่ค่อนข้างนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของผู้ลี้ภัยการเมืองคนเสื้อแดงอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กลับบ้าน รวมทั้งผู้ต้องหาและผู้ต้องขังคดี 112 ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจของ คสช. และผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบันอำนาจนิยมทั้งหลาย

การทบทวนความทรงจำร่วมของ "คนเสื้อแดง" ทำให้รอยแยกยิ่งแตกกระจาย เมื่อมีผู้ทวงถามให้รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำชำระความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงเมื่อกว่าทศวรรษก่อน แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับอย่างเป็นรูปธรรม บางคนผิดหวังกระทั่งโยนทิ้งเสื้อแดง ขณะที่อีกหลายคนช่วงชิงอัตลักษณ์ความเป็น "คนเสื้อแดง" ด้วยนิยามที่แตกต่างกันไป   

อย่างไรก็ตาม มีนักกิจกรรมการเมืองอีกมากมายที่ไม่ได้ให้ค่าความสำคัญกับความแตกแยกและแบ่งฝักฝ่ายของเหล่า "คนเสื้อแดง" แนวคิดทางการเมืองหรือจะเรียกให้ขึงขังว่า "อุดมการณ์" อย่างไรเสียก็เป็นนามธรรมที่เลื่อนลอยหากไร้ปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ความทรงจำร่วมของคนบางกลุ่มอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่ผ่านมา และความทรงจำร่วมของ “คนเสื้อแดง" ก็ไม่อาจทำให้ “คนเสื้อแดง" ทุกคนเดินร่วมทางกันได้ตลอดไป

 ย้อนกลับไปสมัยยังมีแค่ "คนเสื้อแดง" กับ "คนเสื้อเหลือง" แท้ที่จริงแล้วยังมีผู้ที่ตื่นตัวและเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกมากที่ไม่ได้สวมเสื้อสีใดสีหนึ่งอย่างชัดเจน การสัมภาษณ์์พบว่าในช่วงนั้นนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิไตยหลายคนแม้ประกาศชัดว่าตนเองไม่เอาด้วยกับ “คนเสื้อเหลือง" แต่ก็ไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็น "คนเสื้อแดง" ไม่ใช่เพราะรังเกียจเดียดฉันท์ แต่เพราะเห็นว่า "คนเสื้อแดง" มีเกียรติของนักต่อสู้ซึ่งตนไม่อาจแอบอ้างร่วมใช้อัตลักษณ์นั้นได้

อรุณรุ่ง สัตย์สวี นักเขียนและนักดนตรีผู้ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าในปี 2556 จากบทกวีการเมืองชื่อ "เบี้ย" ซึ่งเขียนถึงการต่อสู้และความตายของคนรากหญ้าหลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 บอกชัดเจนว่าเขาไม่ใช่ "คนเสื้อแดง" เพราะไม่เคยไปร่่วมชุมนุมกับ นปช. เลยสักครั้ง เขาเรียกตัวเองว่า "ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและสนับสนุนขบวนการเสื้อแดง"

“ผมเห็นด้วยกับการแสดงออกของพวกเขา (คนเสื้อแดง) อย่างน้อยเขาก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ เป็นระบบตัวแทน ผมนับถือการที่ชาวบ้านทำตามสิ่งที่ตัวเองคิด สนับสนุนรัฐบาลที่ตัวเอง เลือกมาแล้วได้ประโยชน์จากนโยบาย เมื่อรัฐบาลของเขาถูกทำลายลงแล้วเขาออกมา ปกป้อง ผมคิดว่าเขาบริสุทธิ์ น่านับถือกว่านักวิชาการบางคนที่รู้เรื่องทุกอย่างแต่ดูแคลน ชาวบ้าน...เขาไม่มีตัวเลือกอื่น จะให้เขาทำอะไร เขาก็ทำในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่าที่ทำได้” (อรุณรุ่ง, สัมภาษณ์ 30 พ.ย. 62) 

ไม่ว่าใครจะนิยามตัวเองอย่างไร เลนส์ของรัฐไม่เคยตรวจวัดเพื่อแก้ไขค่าความบิดเบี้ยวและเหมารวม  กิจการร้านอาหารเล็ก ๆ ของอรุณรุ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก่อกวนอย่างหนักหลังรัฐประหาร '57 และทุกช่วงที่สถานการณ์การเมืองไม่ปกติ 

น. ในวัยยี่สิบปลาย ๆ (ช่วงที่สัมภาษณ์) ทำหลายอย่างเกี่ยวข้องกับ "คนเสื้อแดง" และผู้ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 รวมทั้งการเขียนวิทยานิพนธ์ งานวิจัย และบทความวิชาการ ทุกวันนี้เขาทำงานในองค์กรหนึ่งโดยมีหน้าที่รวบรวบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีการเมืองทั้งของคนเสื้อแดงและนักกิจกรรมกลุ่มอื่น ๆ แม้จะคุ้นเคยและใกล้ชิด “คนเสื้อแดง" อย่างมากแต่ น. ก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่า “คนเสื้อแดง"  เขานิยามตนเองว่า "คนที่เห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง"โดยอธิบายว่าเขาไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือกิจกรรมของคนเสื้อแดง "เราแค่ติดตาม สังเกตการณ์ และมีระยะห่าง" (น., สัมภาษณ์ 30 พ.ย. 62)

น.เห็นว่าการร่วมต่อสู้และผ่านความเป็นความตายร่วมกันมาเป็นประสบการณ์สำคัญของ "คนเสื้อแดง" ไม่ใช่เพียงแค่ชอบหรือคอยเชียร์เท่านั้น ตัวเขาเองไม่เคยไปร่วมชุมนุม ไม่มีประสบการณ์นั้น แค่เคยไปสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพียงหนึ่งวัน จึงไม่อาจนับตัวเองเป็น “คนเสื้อแดง" อย่างไรก็ตาม ทางการก็ไม่ได้เข้าใจแบบนั้น ไม่ว่าจะ "แดง" หรือไม่รัฐไทยก็มองประชาชนเป็นอริราชศัตรูไปเสียทั้งหมด หลังรัฐประหาร '57 น. และคนใกล้ชิดของเขาถูกตำรวจทหารคุกคามบ้านในยามวิกาล  

นอกจากบทสัมภาษณ์เหล่านี้แล้วยังมีอีกหลายคนที่อธิบายทำนองเดียวกันว่าประสบการณ์และความทรงจำร่วมเป็นเรื่องใหญ่ในการนิยามตนเองว่าเป็นหรือไม่เป็น "คนเสื้อแดง" ก็คงจริงอย่างที่พี่ ร. ว่า คือ "คนเสื้อแดง" ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเพราะการชุมนุมและการสลายการชุมนุมผ่านไปนานกว่าสิบปีแล้ว คนเสื้อแดงล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนไม่น้อยในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลงเหลือแต่เพียงความทรงจำและบาดแผลที่ยังไม่ได้ชำระสะสางอย่างเป็นธรรม

จำนวนคนเสื้อแดงอาจน้อยลงตามกาลเวลา แต่ความทรงจำเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงยังประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และแผ่ขยายออกไปได้เรื่อย ๆ ผู้คนที่รับรู้ จดจำ และฝังใจกับเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้มีเฉพาะ "คนเสื้อแดง" และที่สำคัญความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับ "คนเสื้อแดง" ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของ "คนเสื้อแดง" และไม่ได้มีแต่ “คนเสื้อแดง" เท่านั้นที่ถูกกดปราบ สังหาร และทำลายล้างอย่างเปิดเผยและไร้ความละอายด้วยอำนาจกฎหมายและกลไกรัฐ

จึงไม่ว่าคนเสื้อแดงจะนิยามตนเองอย่างไร ประกอบสร้างและผลิตซ้ำความทรงจำในอดีตแบบบไหน แบ่งฝักฝ่ายกันไปอีกเท่าไหร่ รักทักษิณหรือไม่ ภักดีกับพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า ล้มเจ้าใช่ไหม ฯลฯ ก็ยังมีประชาชนพลเมืองอีกนับร้อยนับพันที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะขยับตรงไหนเพื่อแก้ไขมันเลย 

 

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net