Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยแสดงความยินดีที่ไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการอุ้มหาย แต่ยังได้เรียกร้องให้ไทยรับมาตรา 31 และ 32 ของอนุสัญญาเพิ่มเพื่อให้คณะกรรมการของยูเอ็นรับเรื่องร้องเรียนทั้งจากบุคคลและรัฐอื่นกรณีเกิดเหตุอุ้มหายในไทย และรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วย

20 พ.ค.2567 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ เผยแพร่ความเห็นที่มีถึงรัฐบาลไทยหลังไทยยื่นให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ที่นอกจากจะแสดงความยินดีที่ไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าวแล้วยังมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมด้วย

ICJ ระบุว่าอนุสัญญานี้เป็นเครื่องมือและเป็นพันธกรณีที่กำหนดให้รัฐใช้มาตรการต่างๆ เพื่อ ป้องกันการบังคับสูญหายที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงรวมถึงนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดและให้มีการชดเชยเยียวยาแกเหยื่อรวมทั้งครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย

อย่างไรก็ตาม ICJ ก็มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้จัดทำคำประกาศภายใต้มาตรา 31 และ 32 ของอนุสัญญาเพื่อให้คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหาย (UN Committee on Enforced Disappearance) สามารถรับข้อร้องเรียนของบุคคล รวมถึงข้อร้องเรียนจากรัฐอื่นๆ ที่กล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดอนุสัญญาในไทยได้ เพราะเมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการเยียวยาและนำตัวคนผิดมาลงโทษของไทย

ในมาตรา 31 ของอนุสัญญาได้กำหนดว่าบุคคลใดก็ตามที่อ้างว่าเป็นเหยื่อของการละเมิดจากการทำ ให้บุคคลสูญหายสามารถยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้หากได้ใช้กระบวนการเยียวยาภายในประเทศที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่า ข้อร้องเรียนสามารถรับฟังได้คณะกรรมการจะออกคำวินิจฉัยซึ่งระบุว่ารัฐต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดอนุสัญญาหรือไม่

“คำวินิจฉัยดังกล่าวสามารถช่วยเหลือประเทศไทยในการจัดการกับช่องว่างเชิงระบบภายในประเทศอันเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีดังกล่าว รวมทั้งมีส่วนช่วยปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศตนในอนาคตอีกด้วย”

นอกจากนั้น ICJ ยังขอให้ไทยยกเลิกการตั้งข้อสงวนในมาตรา 42(1) ของอนุสัญญาซึ่งกำหนดว่าเมื่อมีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับรัฐภาคีอื่นภายใต้อนุสัญญาเกี่ยวกับการตีความและการนำอนุสัญญาไปปฏิบัตินั้น หากไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับรูปแบบของอนุญาโตตุลาการได้ภายในหกเดือน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นข้อพิพาทดังกล่าวต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ เนื่องจาก ICJ เห็นว่าการตั้งข้อสงวนของไทยไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของอนุสัญญาฉบับนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในประเด็นเรื่องการตั้งข้อสงวนดังกล่าวของทางรัฐบาลไทย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567  คณะรัฐมนตรีมีมติว่าให้มีการพิจารณาจัดทำข้อสงวนเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในมติดังกล่าวออกมาเป็นหลักการให้ทุกส่วนของราชการและหน่วยงานรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในกรณีมีความจำเป็นในการทำหนังสือสัญญาที่มีข้อบทให้อำนาจแก่ ICJ มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทตามหนังสือสัญญานั้น ให้หน่วยงานนั้นๆ จัดทำข้อสงวนไม่รับอำนาจ ICJ ไว้ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net