Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาทุจริตฯ ภาค 5 นัดตรวจพยานหลักฐานโดยศาล ข้อหาร่วมกันกระทำการโหดร้ายฯ กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิต หลังเข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์พลัด 1/66

26 พ.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค. 2567) เวลา 9.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ นัดตรวจพยานหลักฐาน โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน คดีหมายเลขดำที่ ปท. 1/2566 กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพตเสียชีวิต หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารใหม่ในข้อหาร่วมกันกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 คดีนี้มีครูฝึกและผู้ฝึกทหารใหม่ค่ายเม็งรายมหาราช ตกเป็นจำเลยสองนาย เมื่อตรวจพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นจึงจะกำหนดนัดสืบพยานต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง อายุ 27 ปี เรียนจบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณทิต เอกภาษาเกาหลี หลังจากนั้นได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีหลายปี จนกระทั่งต้องกลับมาประเทศไทยเพื่อเข้ารับราชการเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นภาคบังคับและหากไม่มาเกณฑ์ทหารในครั้งนี้อาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและต้องรับโทษทางกฎหมาย  พลทหารกิตติธรฯ จึงตัดสินใจเข้ารับการคัดเลือกและต่อมาเริ่มฝึกทหารใหม่ที่ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2566 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ภริยาได้เดินทางไปรับพลทหารกิตติธรและพบว่ามีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาวสลับกัน ซึ่งจากการสอบถามของญาติแจ้งว่าพลทหารกิตติธร มีอาการป่วยมาหลายวันและพยายามขอให้ทางค่ายส่งมารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ภริยาของพลทหารกิตติธรเห็นอาการของพลทหารกิตติธรหนักมาก จึงยืนกรานขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชในระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค. 2566 ก่อนที่พลทหารกิตติธรเสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยภาวะคือติดเชื้อในกระแสเลือด ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้สั่งฟ้องครูฝึก 2 นาย ยศร้อยโทรและจ่าสิบโท เป็นผู้รับผิดชอบการฝึกพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เป็นคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีหมายเลขดำที่ ปท.1/2566 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโหดร้ายฯ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลย เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 โดยจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อีกทั้งยังยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรบ.ทรมานอุ้มหายปี พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ที่กำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 ทนายความของครอบครัวพลทหารกิตติธร ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยโต้แย้งว่าการอ้างการฝึกวินัยทหารหรืออยู่ในภาวะสงคราม จะเป็นข้ออ้างหรือข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ กระทำการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อประชาชน อาทิ การกระทำทรมาน การะทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระทำให้บุคคลสูญหายย่อมกระทำมิได้ และการให้ศาลทหารพิจรณาคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร ย่อมสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับญาติผู้เสียชีวิต ส่งผลให้ญาติไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังมิได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการพิจารณาคดีอาญาทุจริตฯ นี้ยังดำเนินการต่อไป โดยนัดตรวจพยานหลักฐานตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น

ในวันเดียวกัน (27 พ.ค. 2567) เวลา 13.30 น. ทนายความและครอบครัวพลทหารกิตติธร จะเดินทางเข้าพบกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นคำร้องขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

นอกจากนี้ ท่ามกลางการเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีพลทหารกิตติธร ในขณะเดียวกันยังมีกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศจุดยืน ไม่เข้าร่วมเกณฑ์ทหารและยินดีรับโทษตามกฎหมายเพื่อผลักดันให้รัฐบาลหยุดบังคับเกณฑ์ทหาร โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายเนติวิทย์พร้อมเพื่อนรวม 3 คนได้แถลงจุดยืนและกระทำอารยะขัดขืนไม่เข้าร่วมเกณฑ์ทหาร โดยการไม่ไปรายงานตัวที่หน่วย แถลงการณ์ของเนติวิทย์มีใจความเรียกร้องให้กองทัพยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจ และเชื่อว่าการเกณฑ์ทหารไม่ได้นำมาซึ่งความเสมอภาคของพลเมืองแต่เป็นระบบที่เหลื่อมล้ำ ประชาชนไทยทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมว่าตนจะเลือกเข้ารับราชการทหารหรือไม่ และกองทัพต้องเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามคดีนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าพลทหารกิตติธรและครอบครัวที่เดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงและได้รับการชดใช้เยียวยา รวมถึงสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย  เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับพลทหารเกณฑ์คนใดได้อีก และยุติวัฒนธรรมลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเป็นจริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net