Skip to main content
sharethis

โวหารการหาเสียงของ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษออกมาในเชิงกีดกันคนข้ามเพศ จนพิธีกรอังกฤษ แครอล วอร์เดอแมน วิพากษ์โต้ตอบบอกให้ซูแน็ก "หัดออกไปเปิดโลกบ้าง" พรรคอนุรักษ์นิยมให้สัญญาว่าจะแก้กฎหมายเพื่อกีดกันคนข้ามเพศออกจากพื้นที่คนเพศเดียวโดยการแก้นิยามในกฎหมายอ้างความปลอดภัยของผู้หญิง ทั้งๆ ที่งานวิจัยระบุว่าการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้สร้างความเสี่ยงอะไรเลย

พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ หรือ "ทอรี" หาเสียงโดยให้สัญญาว่าจะทำการกีดกันคนข้ามเพศออกจากพื้นที่สำหรับเพศเดียวถ้าหากพวกเขาสามารถชนะการเลือกตั้งได้ ด้วยการที่พวกเขาจะแก้ไขกฎหมายบัญญัติความเท่าเทียม ด้วยการเปลี่ยนนิยามของคำว่าเพศให้หมายถึง "เพศทางชีวภาพ" (biological sex)

นับตั้งแต่ที่สหราชอาณาจักรได้ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคทอรีเสนอร่างนโยบายหาเสียงเลือกตั้งโดยพูดเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+

พรรคทอรีอ้างว่าที่จะแก้นิยามกฎหมายดังกล่าวนี้ก็เพื่อทำให้ไม่เกิด "ความสับสน" ต่อภาครัฐ, ภาคธุรกิจ และสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับการใช้พื้นที่เฉพาะผู้หญิง อ้างว่าเพื่อต้องการกัน "ผู้มีเพศชีวภาพเป็นชาย" (biological males) เข้าใช้พื้นที่เหล่านั้น

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ถูกยกมาหารือจนกลายเป็นการสร้างข้อถกเถียงและมีกระแสโต้ตอบกลับอย่างหนักมากจากชาว LGBTQ+ และกลุ่มองค์กรความหลากหลายทางเพศ เพราะการแก้กฎหมายเช่นนี้อาจจะทำให้ผู้หญิงข้ามเพศถูกกีดกันจากพื้นที่เฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำ, เรือนจำหญิง, วอร์ดคนไข้หญิงในโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีใบรับรองเพศสภาพของตัวเอง (GRC) ก็ตาม

สื่อ Pink News ระบุว่า ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงที่พรรคทอรีเสนอจะส่งผลกระทบต่อชายข้ามเพศที่มี GRC อย่างไรเวลาที่พวกเขาเข้าไปในพื้นที่เฉพาะสำหรับเพศชายเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าพรรคทอรีจะลืมการมีอยู่ของชายข้ามเพศไปโดยปริยาย

ห่วงความปลอดภัยของผู้หญิง? หรือแค่ใช้ความใจแคบเป็นเครื่องมือหาเสียง?

ริชี ซูแน็ก จากพรรคอนุรักษ์นิยมอ้างว่าการกีดกันคนข้ามเพศจากพื้นที่สำหรับคนเพศเดียวนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิด "ความปลอดภัยต่อผู้หญิงและเด็ก" ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีงานวิจัยหรือหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์อ้างอิงเลยว่าการเปิดให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าใช้พื้นที่เป็นภัยต่อผู้หญิงตามเพศกำเนิดและเด็ก ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

ซูแน็กยังได้อ้างเรื่องการปกป้องเกียรติ์ศักดิ์ศรีของ "ทุกคนในสังคม" ราวกับว่าคนข้ามเพศไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมที่มีเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองเหมือนกัน

ทั้งนี้ซูแน็กยังใช้วาทกรรมในเชิงเหยียดคนข้ามเพศบนโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า "เพศทางชีวภาพนั้นมีความสำคัญ พวกเรากำลังปกป้องผู้หญิงและเด็ก" และตามด้วยการเหน็บแนมคู่แข่งของเขาคือ เคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงานในทำนองว่าเขาไม่รู้จักว่าผู้หญิงคืออะไร

ที่ชวนให้ย้อนแย้งในตัวเองคือ ในขณะที่ซูแน็กอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องผู้หญิงตามเพศกำเนิด แต่ผู้หญิงตามเพศกำเนิดอย่าง แครอล วอร์เดอแมน พิธีกรและสื่อมวลชนกลับพูดเหน็บโต้ตอบการเหยียดคนข้ามเพศของซูแน็ก โดยบอกให้ซูแน็ก "หัดออกไปเปิดโลกบ้าง"

ข้อความในโซเชียลมีเดีย X (ทวิตเตอร์) ของวอร์เดอแมนระบุโต้ตอบโพสต์ของซูแน็กว่า "ฉันรู้ค่ะว่าคุณ(ซูแน็ก)ไม่ค่อยออกไปในที่สาธารณะหรือไปในที่ๆ ตัวเองปะปนกับฝูงชนสักเท่าไหร่ ... แต่ตามรถไฟ, เครื่องบิน, ร้านอาหารเล็กๆ และคาเฟ่แทบทุกแห่งรวมถึงพื้นที่สำนักงานใหม่ๆ ต่างก็มีห้องน้ำไม่แบ่งแยกเพศ บอกให้นะ มันมีอยู่จริง"

นอกจากนี้ยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าซูแน็กพยายามหาเสียงด้วยการก่อ "สงครามทางวัฒนธรรม" ด้วย

ไม่เพียงแค่ซูแน็กเท่านั้น ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมของอังกฤษ เคมิ มาเดนอค จากพรรคอนุรักษ์นิยม กับ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมของอังกฤษ (EHRC) ที่มีประธานเป็นขุนนางยศบารอนเนส ก็มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันกับซูแน็กและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องการเปลี่ยนนิยามของคำว่าเพศให้กีดกันคนข้ามเพศออกไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดสิทธิคนข้ามเพศ

เฮเลน เบลเชอร์ ประธานของกลุ่ม TransActual ตีแผ่จดหมายเปิดผนึกของคณะกรรมาธิการสิทธิฯ ของอังกฤษว่า "มีแรงขับดันมาจากความกระเหี้ยนกระหือรือทางการเมืองและความกลัวที่ปลูกสร้างขึ้นมามากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงที่เป็นระบบ"

เบลเซอร์วิจารณ์อีกว่าการที่ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอังกฤษสื่อนัยยะในเชิงต้องการกีดกันคนข้ามเพศแสดงให้เห็นว่าพวกเขา "ขาดความสามารถในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน"

"คนข้ามเพศถูกมองว่าไม่ได้เป็นคนในสายตาของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ความเจ็บปวดและการดิ้นรนของพวกเราดูเหมือนจะอยู่นอกสายตาของพวกเขา" เบลเชอร์กล่าว

ทำไมผู้หญิงข้ามเพศถึงควรใช้พื้นที่สำหรับเพศเดียวได้

ในบทความที่เขียนโดย เจนีย์ สตาร์ลิง ผู้ที่เคยทำงานด้านการยุติความรุนแรงต่อสตรีมาเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว ระบุว่า พื้นที่สำหรับผู้หญิงมีความสำคัญต่อผู้หญิงข้ามเพศ เธอบอกว่าเธอรู้สึกแย่ที่เห็นคนทำงานด้านนี้อ้างใช้ประสบการณ์ของคนที่เคยเผชิญความรุนแรงทางเพศมาก่อนมาเป็นข้ออ้างในการเกลียดกลัวผู้หญิงข้ามเพศ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงข้ามเพศเองก็เผชิญกับความรุนแรงทางเพศเป็นจำนวนมากเช่นกัน

สตาร์ลิงมองว่าเรื่องการกีดกันผู้หญิงข้ามเพศออกจากพื้นที่ของผู้หญิงนั้นไม่ได้มาจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงอย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลที่กลายมาเป็นความตื่นตระหนกทางศีลธรรมต่อสิ่งที่ดูขัดกับค่านิยมหลักในสังคมอย่างการข้ามเพศ ทำให้กลุ่มเหยียดคนข้ามเพศอ้างเรื่องความปลอดภัยซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมากีดกันคนข้ามเพศ

สตาร์ลิงกล่าวในฐานะที่เป็นคนสร้างความตระหนักรู้และความเป็นจริงเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีว่า คนในครอบครัวของผู้หญิงเองมีโอกาสที่จะก่อความรุนแรงต่อผู้หญิงมากกว่าเสียอีก แทนที่จะเป็นผู้หญิงข้ามเพศในที่สาธารณะแบบที่พรรคอนุรักษ์นิยมอ้าง โดยมีสถิติระบุว่าผู้หญิงที่เผชิญการข่มขืนนั้นมากกว่าร้อยละ 90 เผชิญจากคนที่พวกเธอรู้จัก

ทั้งนี้เคยมีงานวิจัยออกมาด้วยซ้ำว่ากฎหมายห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติทางอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศใช้ห้องน้ำหรือห้องแต่งตัวผู้หญิงได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด งานวิจัยดังกล่าวที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส ระบุว่า "ความกลัวเรื่องที่ว่า จะมีการละเมิดความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีกฎหมายห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัตินั้น ไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานในเชิงประจักษ์แต่อย่างใด"

 

เรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net