Skip to main content
sharethis

ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำสั่งจำหน่ายคดีข้อหาก่อการร้าย “ชายชุดดำ” ในเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว 10 เม.ย.53 เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีซ้ำกับคดีครอบครองอาวุธที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนแล้ว จำเลยสะท้อนดีใจหลังจากนี้ชีวิตคงง่ายขึ้นบ้างนับตั้งแต่โดนคดีจากยุค คสช. และต้องตกเป็นจำเลยสังคมมาเป็น 10 ปี

27 มิ.ย.2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของกลุ่มจำเลย “ชายชุดดำ” 2 คน ในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ที่อัยการฟ้องกิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรือ อ้วน และ ปรีชา อยู่เย็น หรือ ไก่ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ออกจากสารบบของศาลทำให้การพิจารณายุติไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทนายความในคดีมีคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาในประเด็นทางกฎหมายว่าคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำที่จะต้องระงับการฟ้องเป็นคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 หรือไม่

ธำรงค์ หลักแดน 1 ในทีมทนายความของจำเลยในคดีนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า จำเลยในคดีนี้เคยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีชายชุดดำครั้งแรกที่มีจำเลยร่วมกันทั้งหมด 5 คนด้วยข้อหาครอบครองอาวุธสงครามมาก่อนและในเวลาต่อมาศาลฎีกาก็มีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว ต่อมาพวกเขายังถูกฟ้องจากเหตุการณ์และหลักฐานอาวุธชุดเดียวกับคดีแรกมาอีกเป็นคดีที่สองด้วยข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหารโดยคดีที่สองนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างรอฟังผลการอุทธรณ์คดี

ทนายความกล่าวว่าสำหรับคดีที่สามที่ศาลมีคำสั่งในวันนี้นั้นเป็นคดีที่อัยการฟ้องมาด้วยเหตุเดิมอีกด้วยข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ทนายความเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีซ้ำจึงมีการยื่นคำร้องต่อศาลให้ตีความในประเด็นข้อกฎหมายว่าเป็นการฟ้องซ้ำในคดีที่มีคำพิพากษาไปแล้วหรือไม่ เพราะถ้าจะต้องฟ้องข้อหาก่อการร้ายนี้ก็ต้องฟ้องมาตั้งแต่ในคดีเดียวกับคดีข้อหาครอบครองอาวุธที่ศาลฎีกาพิพากษาไปแล้ว ซึ่งศาลก็เห็นว่าเป็นการฟ้องคดีร่วมกันก่อการร้ายนี้เป็นการฟ้องคดีซ้ำจึงสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบคดีของศาล ทำให้การพิจารณาคดีนี้จบไป

อย่างไรก็ตาม ธำรงค์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีที่เกี่ยวกับกรณีชายชุดดำ 10 เม.ย.2553 ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลยังมีอีก 1 คดี คือคดีของ ชำนาญ ภาคีฉาย และปุณิกา ชูศรี หรือ อร ที่อัยการฟ้องข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกับคดีที่สองของกิตติศักดิ์ และปรีชา แต่ชำนาญและปุณิกาถูกแยกฟ้องออกมาเป็นอีกคดี โดยที่ 2 คนนี้เคยเป็นจำเลย 2 ใน 5 คนคดีชายชุดดำคดีแรกที่เป็นข้อหาครอบครองอาวุธด้วย ซึ่งจะมีการสืบพยาน 28-29 ส.ค.ที่จะถึงนี้ นอกจากนั้นเท่าที่เขาทราบชำนาญและปุณิกายังมีแนวโน้มที่อาจจะถูกฟ้องในข้อหาก่อการร้ายด้วยเช่นกันแต่ขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องมา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อศาลมีคำสั่งมาแบบนี้จะมีผลอย่างไรต่อกับคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือยังไม่มีการฟ้องมาหรือไม่ ทนายความตอบว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้องมาตั้งแต่ต้นแล้วและทั้งที่อัยการคนเดิมในคดีจะเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องมาก่อนแต่ก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใดถึงยังมีการฟ้องคดีกันมาอีก

อย่างไรก็ตาม ธำรงค์ก็มีข้อสังเกตว่าในการพิจารณาคดีชายชุดดำของกิตติศักดิ์และปรีชาที่ผ่านมา ก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเฝ้าติดตามการพิจารณาตลอด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จำเลยดีใจคดีจบหลังตกเป็นจำเลยชายุดดำซ้ำๆ มาเป็น 10 ปี

ปรีชา อยู่เย็น จำเลยในคดีชายชุดดำ กล่าวว่าเขาก็รู้สึกดีใจที่คดีจบเสียที เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาต้องทุกข์ทรมานที่ทำอะไรก็ไม่ได้แต่เมื่อศาลเมตตาแล้วตอนนี้ก็คงใช้ชีวิตง่ายขึ้นนิดหนึ่ง แต่การต้องตกเป็นจำเลยสังคมยากที่จะทำให้ลุกขึ้นมาได้เพราะก็ไม่ได้เป็นคนเด่นดังอะไร

“กับที่เขาทำกับผมตั้งแต่เริ่มต้นจับผมมา เขาไปทำข่าวกันใหญ่โตมโหฬารทำให้ชีวิตผมมันยาก แต่ ณ วันนี้ ศาลมีคำพิพากษาออกมาแบบนี้ทุกคดียกฟ้องไปหมด วันที่ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีสำนักข่าวไหน ไม่มีข่าวช่องใดมาทำ มีแต่ทำให้โลกรู้ว่าผมเป็นคนชั่ว แต่วันที่ผมบริสุทธิ์แล้วผมพิสูจน์ตัวเองเข้าสู่กระบวนการ ไม่มีใครมาเสนอให้” ปรีชาสะท้อนแม้ว่าเขาจะรู้สึกว่าคำสั่งศาลในวันนี้ก็ถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นกับเขา

ปรีชากล่าวว่าตอนนี้นอกจากคดีข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์หลังจากฝ่ายอัยการโจทก์อุทธรณ์มาแล้ว คดีอื่นๆ ของเขาก็จบหมดแล้วซึ่งคิดว่าศาลอทุธรณ์ก็น่าจะพิพากษาไปในแนวทางเดียวกับศาลชั้นต้น

ปรีชาชี้แจงถึงคดีชายชุดดำคดีแรกข้อหาครอบครองอาวุธซึ่งเป็นคดีที่จำเลยอีก 4 คนศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมดด้วยว่า แม้จะเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษก็ตามแต่ตอนนั้นเขารู้สึกสู้ไม่ไหวแล้วเนื่องจากไม่ได้สิทธิประกันตัวนับตั้งแต่ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารจนชั้นพิจารณาคดีทำให้การติดคุกของเขาเกินโทษที่ศาลพิพากษาแล้วเขาจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เขาจึงเป็นคนเดียวที่มีคำพิพากษาลงโทษในคดีครอบครองอาวุธนี้ และในช่วงเวลาเดียวกันเขาตกอยู่ในสภาพที่ครอบครัวแตกแยกภรรยาขอเลิกและเอาลูกไปเลี้ยง เขารู้สึกหมดแรงที่จะสู้คดีจึงเลือกที่จะยอมไม่สู้คดีนี้ต่อ

ปรีชากล่าวต่อว่าหลังจากนี้คงต้องหางานที่มั่นคงกว่านี้ทำเนื่องจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อย่างวันนี้มาศาลเขาก็ต้องขาดรายได้ และที่ผ่านมาก็มีปัญหากู้เงินเพื่อซื้อบ้านเอื้ออาทรก็ยังทำไม่ได้ แม้ว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขอกู้จะมีรายได้เพียงแค่ 12,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปก็ตามแต่พอไปยื่นกู้ก็ติดเงื่อนไขว่าไม่มีประกันสังคมอีก แต่การจะไปหางานที่มั่นคงกว่านี้ทำก็คงต้องรอให้ประวัติอาชญากรรมถูกลบ แต่อายุตอนนี้ก็ 35 แล้วก็คงจะรอไม่ได้ต้องไปหางานที่มั่นคงกว่านี้ทำ

“ตั้งแต่โดนเรื่องนี้ ผมเหมือนกับเป็นคนไม่มีประโยชน์อะไร ลอยไปวันๆ” ปรีชากล่าวถึงผลกระทบจากคดีของเขาทั้งหมดที่มีมูลเหตุทั้งหมดมาจากเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย.2553 จนกระทั่งมาถูกจับในยุครัฐบาลจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

สำหรับกิตติศักดิ์ จำเลยอีก คนในคดีก็บอกว่าเขารู้สึกดีใจที่คดีได้สิ้นสุดลงไปหลังจากที่ก่อนหน้านี้เริ่มสืบพยานไปแล้ว 1 ปาก แต่ศาลก็รับฟังข้อโต้แย้งเรื่องการฟ้องซ้ำ พยานก็ปากเดิม ศาลก็เลยเห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำก็มีคำสั่งยุติคดีไป 

กิตติศักดิ์สะท้อนว่าตลอดที่ผ่านมาเขามีคำถามว่าทำไมเขาจะต้องมาโดนดำเนินคดีซ้ำๆ หลายคดีแบบนี้ แต่หลังจากนี้เขาก็คงได้กลับไปทำงานหาเงินเพื่อกลับไปสร้างบ้าน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net