นับตั้งแต่ “ชายชุดดำ” (ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แต่งดำกันหมด) ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 13 ปีที่แล้วในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ใช้อาวุธสงครามเข้าปะทะกับกองกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามที่กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) หรือที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” มาตั้งแต่ช่วงบ่ายวันนั้นภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
หลังจากเหตุการณ์ในคืนนั้นเรื่องได้เงียบหายไปหลายปีเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถติดตามจับกุมใครได้จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 เรื่องของชายชุดดำก็ถูกพูดถึงอีกครั้งเป็นข่าวใหญ่ว่าเจ้าหน้าที่ได้จับกุมพวกเขาสำเร็จแล้วในวันที่ 5 ก.ย.2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ทยอยจับกุมบุคคลไปเข้าค่ายทหารได้ 5 คน
กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน, ปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย, รณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ, ชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็กและปุณิกา ชูศรี หรืออร คือกลุ่มบุคคลที่ทหารเข้าจับกุมและควบคุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหารหลายวันถึงได้นำตัวพวกเขามาแถลงข่าวว่าเป็นกลุ่มชายชุดดำที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงต่อสู้บนถนนตะนาวในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553
อย่างไรก็ตามหลังการแถลงข่าวเมื่อคดีของพวกเขาเข้าสู่การพิจารณาของศาลเรื่องก็เงียบหายไปอีก 3 ปี จนวันที่ 31 ม.ค.2560 ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 3 จาก 5 คนและพิจารณาลงโทษกิตติศักดิ์และปรีชาว่ามีความผิดตามฟ้อง จากคำพิพากษานี้ทำให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ตำแหน่งในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา) ให้สัมภาษณ์ว่าเขาดีใจที่ศาลพิพากษาจำคุกกิตติศักดิ์และ ปรีชาเพราะทำให้สังคมเห็นว่าชายชุดดำมีจริง
แต่เรื่องกลับตาลปัตรเมื่อคดีชายชุดดำนี้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องกิตติศักดิ์ตามมาเนื่องจากศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่าตนอยู่ในถนนตะนาวคืนนั้นและนับเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ยืนยันว่าเห็นกิตติศักดิ์ในที่เกิดเหตุนั้นได้ให้การกลับไปกลับมาไม่เหมือนกันกับตอนที่ทหารนายนี้ไปเป็นพยานให้คดีไต่สวนการตายของฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นักข่าวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิตในถนนดินสอในคืนเดียวกัน
เมื่อคดีชายชุดดำคดีแรกนี้ศาลยกฟ้องไปทั้ง 3 ศาล คดีนี้ก็เป็นเสมือนโดมิโนตัวแรกที่เริ่มล้ม เพราะปัญหาเรื่องพยานหลักฐานที่กล่าวไปนี้ทำให้คดีชายชุดดำคดีที่สองที่อัยการฟ้องจำเลย 4 ใน 5 คนจากคดีแรกต่อคือ กิตติศักดิ์, ปรีชา, ชำนาญ และปุณิกาในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ ศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษายกฟ้องตามมาด้วย
ถึงกระนั้นพวกเขา 4 คนที่เหลืออยู่นี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากการเป็นชายชุดดำ เพราะอัยการยังส่งฟ้องคดีข้อหาก่อการร้ายพวกเขาตามมาเป็นคดีที่สามตามมาและยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีในปี 2567 ชีวิตของพวกเขาจึงยังไม่ได้เป็นอิสระจริงๆ และไม่รู้ว่าจะมีคดีเพิ่มมาอีกเมื่อไหร่
ทั้งนี้กิตติศักดิ์และปรีชา คือคนที่ได้ออกจากเรือนจำหลังคนอื่นเพราะกิตติศักดิ์เป็นจำเลยในคดีชายชุดดำที่มีคดีพ่วงมากที่สุดในกลุ่มที่รวมทั้งหมดแล้วมากถึง 7 คดีแม้ว่าศาลจะยกฟ้องไปแล้ว 6 คดีแต่กว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวออกมาเขาต้องอยู่ในคุกถึง 8 ปี 2 เดือนโดยที่รัฐไม่สามารถพิสูจน์ความผิดเขาได้ ส่วนปรีชาเลือกที่จะรับสารภาพในคดีข้อหาครอบครองอาวุธตอนศาลอุทธรณ์เพราะติดคุกอยู่นานตั้งแต่ถูกจับกุมโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาสู้คดี
ประชาไทชวนกิตติศักดิ์และปรีชา มาเล่าถึงที่มาที่ไปที่ทำให้พวกเขาถูกโยงใยเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้มาเกือบ 10 ปีแล้วและยังจะเกี่ยวต่อไปอีกนานแค่ไหนยังไม่มีใครทราบ กับสิ่งที่พวกเขาถูกกระทำจากกระบวนการยุติธรรม และชีวิตของพวกเขาหลังได้ออกจากเรือนจำ
กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน (นั่งซ้ายสุด) ปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย(นั่งถัดจากกิตติศักดิ์)
ความไม่เป็นธรรม
“ความไม่เท่าเทียม ทุกครั้งที่เกิดการชุมนุมของ 2 สีเสื้อ มองเข้าไปลึกๆ สีเสื้อฝั่งนู้น เขาทำอะไรไม่มีความผิด ทำอะไรก็ง่ายไปหมด แต่ฝั่งด้านที่เรามีใจอะไรหน่อยก็ผิด มันไม่เกิดความเป็นธรรม อยากเห็นอะไร อยากเห็นความเท่าเทียม ก็เลยเข้าไปตรงนั้นว่าแท้จริงคืออะไรกันแน่ จนมาหลังๆ ก็เข้าใจมากขึ้นว่ามันคือการสืบทอดอำนาจ”
ปรีชา อยู่เย็น ปัจจุบันอายุ 34 ปี ทำงานเป็นช่างกระจกเล่าถึงความรู้สึกที่ทำให้การจับผลัดจับผลูเข้าไปเป็นการ์ดให้กับ นปช.เมื่อปี 2553 เพราะเพื่อนชวนและความอยากได้เงินพิเศษเพิ่มจากงานช่างไฟฟ้าที่เป็นงานหลักที่ไม่ค่อยจะพอใช้เลี้ยงดูลูกเล็ก 2 คนของเขาทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมและสนใจเรื่องราวการเมืองของประเทศนี้มากขึ้น
แม้ปรีชาจะไม่ปฏิเสธว่าการมาสนใจเรื่องทางการเมืองของเขาจะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามมาเกี่ยวเพราะการมีชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำของเขาถ้านายจ้างไม่มีงานเขาเองก็ไม่มีงานทำไปด้วยเหมือนกัน แต่เขาก็รู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรมด้วยเช่นกัน
ปรีชารู้สึกว่าความสนใจเรื่องการเมืองของเขาก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปและคิดว่าการมาเป็นการ์ดผู้ชุมนุมก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไร เขาอยู่เป็นการ์ดในที่ชุมนุมจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2553 วันที่กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ตั้งช่วงสายของวันจนถึงค่ำ เขาบอกว่าวันนั้นเขาก็อยู่ที่จุดตรวจของตัวเองแล้วก็ถูกถ่ายภาพไป และภาพที่จุดตรวจของเขาก็กลายเป็นหลักฐานที่ถูกเอามาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับเขาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชายชุดดำที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงตอบโต้กับทหารในคืนนั้น
ลำดับเวลาเสื้อแดงชุมนุม 53 จากขอ 'ยุบสภา' สู่การปราบคืนพื้นที่ ปิดท้าย ส.ว.สายพิราบแถลงถูกรบ.หักหลัง
กิตติศักดิ์ สุ่มศรี อายุ 54 ปี อดีตคนขับวินรถตู้ย่านสีลม บอกว่าได้ไปร่วมชุมนุมตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการชุมนุมในปี 2553 เพราะติดตามแฟนที่อยากไปฟังปราศรัยของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อและจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. โดยเขาไปแค่ช่วงศุกร์กับเสาร์หลังจากแฟนเลิกขายของในตอนบ่ายและตัวเขาเองเลิกจากงานขับวินรถตู้ย่านสีลม
กิตติศักดิ์เองไม่ชอบรัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่แล้วเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิท์ทำกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2552 ที่ดินแดงนั้นรุนแรงเกินไปจากการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนเข้าสลายการชุมนุม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนี้ทำให้มีเพื่อนของเขาที่ไปร่วมชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ส่วนตัวเขาเองก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย หลังจากนั้นมาพอมีการชุมนุมที่ไหนเขาก็ไปร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม กิตติศักดิ์เล่าว่าหลังจากเข้าร่วมการชุมนุมมาเรื่อยๆ พอถึงวันที่ 10 เม.ย.2553 เมื่อเขาไปถึงที่ชุมนุมตนอบ่ายโมง เขาได้เห็นว่าทหารเริ่มสลายการชุมนุมมาตั้งแต่ช่วงกลางวันแล้วและติดต่อกับน้องชายที่เข้าร่วมชุมนุมก็ไม่ได้ ทำให้เขาตัดสินใจกลับบ้านที่ย่านบางนาเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยเกรงจะเกิดอันตรายกับลูก 2 คนและหลานที่ไปด้วยกัน แม้ว่าหลังจากเหตุการณ์สลายชุมนุมวันนั้นแล้วเขาก็ยังไม่ไปร่วมชุมนุมต่อที่ราชประสงค์แต่ก็ไม่ได้อยู่จนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วง 13-19 พ.ค.
ชีวิตสะดุด
กิตติศักดิ์เล่าว่าตั้งแต่หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะถูกจับกุมแบบนี้ แม้ว่าจะเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาถามหา ไก่ ธนเดช เอกอภิวัชร์ กับเขาที่วินรถตู้หนึ่งครั้งซึ่งเขาก็เอาสมุดบันทึกการเข้าออกวินให้ตำรวจดูว่าธนเดชไม่ได้เข้ามาขับรถวินเลย ครั้งนั้นตำรวจแค่แจ้งว่าถ้าธนเดชกลับมาให้โทรศัพท์แจ้งด้วยแล้วก็กลับไป แต่พอมาอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2557 ทหารก็เข้าจับกุมระหว่างไปจากที่ทำงานของเขาที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งย่านรามอินทราซึ่งเขาไปรับจ้างขับรถรับส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวต่อหน้าลูกสาวที่อยู่บนรถ และลูกสาวของเขาถูกเจ้าหน้าที่ไล่พร้อมขู่ไม่ให้อยู่ในบริเวณดังกล่าว
กิตติศักดิ์เล่าว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาล็อคตัวกดเหยียบไว้ก่อนถูกพาขึ้นรถตู้ ภายหลังเขาถึงทราบจากลูกสาวว่าวันรุ่งขึ้นหลังเขาถูกจับ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเอาภาพกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพการจับกุมเขาไปจากหน่วยงานดังกล่าวด้วย และเมื่อภรรยาไปแจ้งความที่ สน.โคกครามก็มีทหารตามไปขู่ให้ถอนแจ้งความไม่เช่นนั้นจะไม่ได้เจอกิตติศักดิ์อีก แล้วก็ให้เขาคุยทางโทรศัพท์กับภรรยาเพื่อให้เขาบอกถอนแจ้งความด้วย หลายอย่างที่เกิดขึ้นนนี้ก็ทำให้เขารู้สึกกังวลความปลอดภัยของภรรยาและลูก
“โอ้โห มันทุกอย่างเลย ครั้งแรกเลยมันก็เอาปืนจ่อใส่หัวผม ชักปืนจ่อ ผมตีนเย็นไปเลยตอนนั้น คือในมโน เราปิดตาก็ไม่รู้ว่ามันอะไร เราก็พูดตลอดว่าจะฆ่าก็ฆ่า มันก็ตบไปมา มึนหัวหมด มันบอกนวดไปเรื่อยๆ เอาอะไรมาลองตีเรา มันคงอายมั้ง ปิดตาเรา กลัวเราเห็นหน้ามัน”
“ปิดตาตลอด ปิดตาตั้งแต่คุมตัวมา จริงๆ ออกหมายเรียกผมยังได้เลย จะได้รู้ว่าหน่วยงานไหน มาแบบนี้ ผมตายไปวันนั้นไม่มีใครรู้เลย”
กิตติศักดิ์เล่าถึงตอนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบสวนคลุมหัวเขาไว้ตลอดทำให้ไม่เห็นว่าคนที่มาสอบสวนเป็นใครบ้างมีการทำร้ายร่างกาย มีการเอาปืนจ่อหัว ไปจนถึงการเกลี่ยกล่อมให้รับสารภาพไปก่อน แล้วค่อยไปกลับคำให้การทีหลัง ส่วนเนื้อหาในการสอบสวนก็ยังคงมีการถามถึงธนเดชอีก และยังให้เขาเล่าเหตุการณ์ตามโพยที่มีอยู่ จนกระทั่งถูกนำตัวไปแถลงข่าวในเวลาต่อมา
ส่วนปรีชาก็ประสบเหตุไม่ต่างกันนัก หลังจากการชุมนุมในปี 2553 เขากลับไปทำงานสังกัดกองช่างที่เทศบาลแถวบ้านที่เชียงใหม่ จนกระทั่งถึงวันที่ถูกจับกุมเขาก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจากตำรวจมาก่อน
ปรีชาเล่าว่าวันที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเป็นวันที่เขาไปทำงานตามปกติวันนั้นมีขบวนรถฟอร์จูนเนอร์ 3 คันมาที่ทำงาน เจ้าหน้าที่ที่จับกุมไม่แสดงตัว ไม่มีหมายจับ
“มาถึงก็ถีบผมเลย เหมือนเขาเฝ้าจนมั่นใจว่านี่คือเป้าหมายเขา วันที่เข้าจับกุมก็ใช้ยุทธการทางทหาร เหมือนผมเป็นผู้ร้ายมหาภัยมาก มาถึงมันก็ถีบเลย ผมหน้าคว่ำลง มันก็กดเราลงที่พื้น แล้วก็เก็บของทุกอย่างเราไปหมดเลย น้องชายผมต้องไปตามเอาที่หลัง ไม่มีการแจ้งเลย น้องผมถามคนที่ทำงาน เขาก็บอกอย่ายุ่งกับเรื่องนี้ คือมันก็เป็นสิ่งที่ค้างอยู่ในใจเรามาตลอดว่าทำไมถึงทำแบบนี้ได้ กฎหมายอยู่ไหน” ปรีชาสะท้อน
“ตลอดการเดินทางตั้งแต่เชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ ก็ทำร้ายผมตลอด มีการถามว่ารู้มั้ยมึงไปทำอะไรมา พอตอบไม่รู้ก็โดนตบ ตบด้วยกระบอกปืนบ้าง เอากระบอกปืนกดหน้าผาก ท้ายทอยบ้าง อย่างนี้ตลอดการเดินทาง 12 ชม. ถึงกรุงเทพฯ” ปรีชาเล่าถึงสภาพการเดินทางก่อนถูกส่งเข้าค่ายทหารในกรุงเทพเพื่อสอบสวนต่อ แต่เขาพอจะเดาได้ว่าคนที่ทำเขาเป็นทหารเพราะระหว่างทางขอสูบบุหรี่แล้วทหารเปิดผ้าที่คลุมหัวไว้เห็นชุดท่อนล่างของคนที่มาจับกุม
หลังจากปรีชาถูกนำตัวถึงค่ายทหารในกรุงเทพเขาถูกสอบสวนต่อ ถ้าเรื่องไหนที่เขาถูกถามแล้วเขาตอบไม่รู้ หรือปฏิเสธว่าไม่ได้ทำหรือไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเจ้าหน้าที่ก็จะไม่พอใจ มีการขู่ว่าจะทำให้หายไปบ้าง หรือทำร้ายด้วยวิธีที่ไม่เกิดแผลมีเพียงรอยฟกช้ำเล็กๆ บ้างเช่น เอาผ้าแช่น้ำแล้วเอามาพัน เขาบอกว่ารอยช้ำจะเล็กเหมือนไปเดินชนอะไรมา ส่วนแผลที่ใหญ่หน่อยก็อ้างว่าเป็นแผนตอนจับกุมเพราะมีการขัดขืน เขาก็อยู่ในค่ายทหารราวๆ 3-4 วันก่อนถูกนำตัวส่งให้ตำรวจที่กองปราบฯ แต่ก่อนส่งก็จะมีการให้ยารักษามีแพทย์ทำการตรวจเฉพาะร่างกายภายนอกก่อน
นอกจากเรื่องการทำร้ายระหว่างการจับกุมสอบสวนแล้วสิ่งที่พวกเขาทั้งสองเจอเหมือนกันอีกคือ ไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วยทั้งระหว่างการสอบสวนในชั้นทหารและตำรวจทำให้พวกเขาถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือทางคดีที่กำลังรอพวกเขาอยู่
คดีอันไม่จบสิ้น
“มันก็ไม่ยุติธรรมนะ มันไม่จบ เราสู้ชนะแล้ว แต่เอาทีมคนนั้นนี้มา พยานก็คนเดิม เหมือนก๊อปปี้คดีก่อนๆ มาทนายซักถามจนตอบไม่ได้ มันก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผม”
กิตติศักดิ์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ตัวเองตกเป็นจำเลยซ้ำซาก โดยเขาเป็นคนที่มีคดีเยอะที่สุดในกลุ่มเขาถูกฟ้องรวมทั้งหมด 7 คดีจากเหตุการณ์ต่างๆ (มี 3 คดีที่ศาลอนุญาตให้มัดรวมการพิจารณาคดีเป็นคดีเดียวกัน) และเป็นคนที่ติดคุกอยู่นานที่สุดในกลุ่มถึง 8 ปี 2 เดือนโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตลอดตั้งแต่วันที่ทหารของ คสช.เข้าจับกุมเมื่อกันยายน 2557 จนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้เมื่อ 21 พ.ย.2565 หลังจากคดีชายชุดดำภาค 2 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน
แม้ว่าเขาจะโดนคดีต่อเนื่องกันมาหลายคดี แต่เขาก็เลือกสู้คดีต่อเพราะลูกสาวบอกกับเขาว่าไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วจะรับทำไมถ้าไม่ได้ทำแล้วยอมรับก็เท่ากับทำผิดแล้ว เขาเลยได้สู้ต่อจนศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องในคดีชายชุดดำ 1 แล้วมีคำสั่งปล่อยตัวจากเรือนจำทันที แต่เขาก็ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 3 คดีในเวลานั้นและศาลไม่ให้ประกัน
คดีก่อการร้ายนี้ กิตติศักดิ์เล่าว่าฝ่ายอัยการก็ยังคงใช้พยานหลักฐานในคดีชายชุดดำทั้งสองภาคมาใช้ดำเนินคดีกับพวกเขาอีก
ภาพขณะพวกเขายังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีชายชุดดำคดีแรก
อย่างไรก็ตาม ความอยากลำบากที่จะได้สิทธิประกันตัวส่งผลให้ปรีชาที่สู้คดีกับกิตติศักดิ์มาจนถึงชั้นอุทธรณ์สุดท้ายต้องเลือกรับสารภาพและถอนอุทธรณ์คดีไปเพราะโทษที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 10 ปี แต่เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่คดียังไม่เข้าสู่ศาลจนรวมเวลาที่เขาอยู่ในเรือนจำเสมือนถูกลงโทษมาครึ่งทางแล้วกลายเป็นเหตุให้เขาเลือกที่จะหยุดสู้คดีไปเพื่อให้คดีสิ้นสุดตามเกณฑ์ของผู้ต้องขังที่จะได้ลดโทษตามวาระซึ่งจะทำให้เขาเหลือเวลาที่ต้องอยู่ในเรือนจำอีกไม่นาน เบ็ดเสร็จแล้วเขาก็อยู่ในเรือนจำไป 6 ปี 4 เดือน 29 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว
แม้ว่าการรับสารภาพในคดีข้อหาครอบครองอาวุธเพื่อให้คดีจบของปรีชาจะทำให้เขาต้องรับโทษไป แต่ในคดีข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ซึ่งทางฝ่ายโจทก์ก็ใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกันในการฟ้องคดีต่อศาลซ้ำกับพวกเขา ศาลก็ได้พิจารณาพิพากษายกฟ้องไปเนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานชุดนี้ไม่น่าเชื่อถือพยานบุคคลให้การต่อศาลขัดกัน ก็เป็นการพิสูจน์ว่าปรีชาไม่ได้มีความผิดไปด้วย
“วันที่อ่านคำพิพากษานี่กลัวตรงนั้น คดีแรกนี่ชัดเจนเลย ตรวจลายนิ้วมือที่ปืนไม่ตรงกัน หลักฐานวิทยาศาสตร์ชัดเจน แต่ทำไมถึงยังโดน 10 ปี เขาไปค้นบ้านผมที่บ้านนอก ที่ห้องพักผม ไม่เจออะไรสักอย่างที่ส่อเป็นอาวุธ ก็ยังโดนครอบครอง ตอนนั้นที่ห้องมีแม่ของลูก กับลูกยังเป็นทารก 2 คน แต่มันไม่มีอะไร ทีวีเครื่องหนึ่ง พัดลมตัวหนึ่ง ที่นอน เสื้อผ้าลูก ห้องแถวเช่า 800 บาท บ้านน้องชายก็บ้านเดี่ยว 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ เอาอะไรไปงัดโถส้วม ไปค้นหมด แต่ไม่เจอ มันก็ต้องให้เขาซ่อม มันต้องรับผิดชอบอยู่แล้วมันรื้อ”
ทั้งนี้เรื่องคดีที่มีปัญหายืดเยื้อไม่จบทนายความของพวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อว่า ในความเห็นของเขาการดำเนินคดีที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ทั้ง 3 คดี คดีแรกที่เป็นข้อหาครอบครองอาวุธ คดีที่สองข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ที่ทั้งสองคดีศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วและคดีที่สามที่เป็นคดีใหม่ข้อหาก่อการร้าย ถูกนำมาฟ้องพวกเขาด้วยพยานและหลักฐานชุดเดิมลักษณะนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ถือเป็นการฟ้องซ้ำซึ่งขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อย่างไรก็ตามศาลก็มองว่าเป็นการฟ้องคนละข้อหากันสามารถทำได้ โดยเฉพาะในคดีที่สามศาลระบุว่าจะมีผลคำวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องนี้ในคำพิพากษาทำให้คดีของพวกเขายังเดินหน้าต่อไป
ครอบครัวขาดที่พึ่ง บ้านแตกสาแหรกขาด
สิ่งที่พวกเขาต้องประสบพบเจอที่ผ่านมานอกจากเรื่องคดีความแล้วชีวิตหลังออกจากคุกมาใช่ว่าจะราบรื่น
สำหรับกิตติศักดิ์การเข้าไปอยู่ในเรือนจำยาวนานเกือบทศวรรษ ตอนออกจากเรือนจำมายังได้ใช้ชีวิตธรรมดากับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา และได้รับความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดที่ช่วยหางานขับรถให้ทำหัวหน้างานเข้าใจสิ่งที่เขาต้องเจอ แม้จะมีเรื่องขลุกขลักบ้างที่ระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา
แต่ระหว่างที่กิตติศักดิ์อยู่ในเรือนจำครอบครัวของเขาก็ต้องเจอกับมรสุมชีวิต เนื่องจากเดิมทีกิตติศักดิ์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวร่วมกับภรรยาที่ทำกับข้าวขาย เมื่อถูกจับก็ทำให้ภาระทางการเงินตกไปอยู่กับภรรยาและลูกทั้งสองคนของเขาที่ตอนนั้นยังอยู่ในวัยเรียนอยู่แทน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้เขากังวล
“ผมชีวิตลำบากแต่เด็ก (ในคุก) ผมอยู่ได้ แต่กังวลว่าลูกจะเรียนจบมั้ยแล้วก็มีอาจารย์คนนึงเขายอมเซนกู้ กยศ.ให้เลยนะ ลูกคนเล็กก็เรียนจบได้ทำงานแล้ว ที่กังวลในช่วงนั้นคือ บ้านเราจะผ่อนไหวมั้ย แฟนเนี่ย ลูกจะเรียนจบไหม ตอนนั้น ถ้ามีการช่วยเหลือซักนิดนึง นะ (เสียงสั่น) ดูแลเขาหน่อย คนที่โดนการเมืองในคุก ดูแลเขาดีๆ หน่อย ตอนนั้นคนเล็กเรียนปวช./ปวส.อยู่ คิดไรไม่ออก”
จากการที่กิตติศักดิ์ถูกจับกุม ทำให้ลูกของกิตติศักดิ์ทั้ง 2 คนต้องออกมาทำงานไปพร้อมกับเรียนไปด้วย คนโตทำงานเซเว่นแล้วก็มารับช่วงรถตู้ของพ่อไปขับวินแทน คนเล็กช่วยแม่ขายของ บ้านเอื้ออาทรที่ยังผ่อนไม่หมด รถที่เอามาใช้วิ่งวินก็เป็นการยืมเงินคนอื่นมาดาวน์รถ
“(วันตำรวจแถลงข่าว) พวกผมที่โดนจับวันนั้น 4 คน รวย มีเงินเยอะมาก นักข่าวถามว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าบอกไม่ได้ แต่จำนวนเยอะมากๆ มันไม่ตรวจบัญชีผมเลย” กิตติศักดิ์ตัดพ้อ
กิตติศักดิ์ (ซ้าย) และ ปรีชา (ขวา)หลังได้รับการประกันตัว
แต่ปรีชาที่ติดคุกโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้เขาต้องแยกทางกับภรรยาและลูกเนื่องจากปัญหาทางการเงินในครอบครัว ทำให้ภรรยาที่ตอนนั้นต้องเลี้ยงลูกสองคนอยู่คนเดียวและทำงานไปด้วยเลือกจะแยกทางไปสร้างครอบครัวใหม่ แต่นอกจากเรื่องปัญหาทางการเงินและชีวิตครอบครัว สิ่งที่ปรีชาเผชิญยังมีมากกว่านั้น
“เขาไม่ได้ชนะผมเลย ศาลยกฟ้องหมด แต่ครอบครัวผมก็แตกไป ผมไม่มีเงินที่จะสู้แล้ว เพื่อจะได้ออกมาทำงานหาเงิน ผมยอมจบตรงนั้น ผมยอมเขา เขาไม่ได้ชนะผมเลย แล้วการที่เขาไม่ชนะตรงนั้นนี่มันถึงเกิดการอุ้มหาย ตรงนี้ที่ระแวงทุกวันนี้ กฎหมายเอาอะไรไม่ได้ เขาอยู่เหนือกฎหมาย นอกกฎหมายไปแล้ว เวลาผมไปอะไรตรงไหน ผมขอที่คนเยอะๆ ไว้ก่อน” ปรีชากล่าว
อย่างไรก็ตามการที่ปรีชายอมรับสารภาพในคดีแรกและรับโทษจำคุกไป ยังมีผลต่อเนื่องมาด้วยคือการที่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวทำให้เขาไม่สามารถหางานทำได้มากนักและถึงจะสามารถสมัครงานได้แต่ถึงวันที่ต้องไปขึ้นศาลต้องลางานบ่อยเขาก็ถูกไล่ออกจากงานที่หามาได้หลังออกจากคุกอยู่ดี
ปรีชาเล่าความรู้สึกหลังได้ออกจากเรือนจำมาทำให้เขาต้องคอยระแวงอยู่ตลอดว่าจะถูกจับกลับไปอีกและเขาคิดว่าถ้ามีอีกครั้งก็คงจะเป็นการอุ้มหายไปเลย และความระแวงนี้ยังส่งผลให้เขายุติกิจกรรมทางการเมืองไปด้วย แม้ว่าเขาจะรู้สึกอยากเข้าร่วมการชุมนุมกับม็อบเยาวชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้เขาเลือกที่จะคอยเฝ้าดูด้วยความเป็นห่วงเพียงอย่างเดียว ไม่แม้แต่จะแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะเกรงว่าหากพลาดก็จะถูกจับและถูกถอนประกันในคดีข้อหาก่อการร้ายที่ยังค้างคาอยู่จนทำให้ต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้ง
กิตติศักดิ์ก็ต้องเจอผลกระทบทางจิตใจเช่นกัน เพราะตั้งแต่ออกมาเขาเองก็รู้สึกกังวลว่าจะถูกทหารเอาตัวไปอีกครั้งหรือไม่และก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องระแวง เพราะว่าหลังจากศาลยกฟ้องในคดีชายชุดดำภาคสองซึ่งเป็นคดีที่ 6 ของเขาและกำลังจะได้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งก็มาอายัติตัว และตอนที่อยู่ในเรือนจำเขาก็เคยรับรู้มาว่ามีการส่งตัวต่อให้ทหาร ทำให้วันนั้นเขากังวลว่าถูกส่งตัวให้ทหารอีกและได้โทรหาลูกสาวและทนายความจนไปถึง สน.แล้วทางตำรวจถึงบอกว่าเป็นหมายจับที่ค้างอยู่ 2 หมายอ้างว่าเป็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำให้คืนนั้นหลังจากได้ปล่อยตัวจากเรือนจำแล้วกว่าจะได้กลับถึงบ้านจริงๆ ก็เข้าวันใหม่ไปแล้ว
“คิดตลอดว่ามันไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้” คือสิ่งที่กิตติศักดิ์นึกถึงต่อเรื่องราวที่เขาเจอนับตั้งแต่ถูกนำตัวไปค่ายทหารเมื่อ 9 ปีก่อนและติดอยู่ในคุกอยู่นาน แม้กระทั่งตอนที่พ่อของเขาเสียชีวิตก็ไม่สามารถไปทำพิธีให้ได้ แม้จะเคยทำเรื่องขอออกไปงานศพแต่ไม่ได้รับอนุญาต
กิตติศักดิ์บอกว่าถ้ามีโอกาสเขาก็อยากที่จะดำเนินคดีกลับกับเจ้าหน้าที่ที่ทำกับเขาเช่นนี้ แต่ก็เหมือนจะยังเป็นเรื่องอีกยาวในเมื่อพวกเขายังคงมีคดีมาใหม่และไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอีกหรือไม่
ความช่วยเหลือ เยียวยา
“ผมหวังว่าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เศรษฐกิจจะดีขึ้น แล้วกระบวนการยุติธรรมอยากเห็นที่เป็นธรรมกว่านี้ ตรงกว่านี้ ส่วนหวังอะไรจากรัฐบาลใหม่ ผมก็อยากให้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงนี้อย่างจริงจัง ผมอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ อยากเห็นการช่วยเหลือที่เป็นเนื้อๆ จริงๆ” ปรีชาสะท้อน
ปรีชาเล่าว่าก่อนหน้านั้นมีคณะกรรมการปรองดองเข้าไปคุยกับเขาในเรือนจำว่าจะช่วยเหลือจะช่วยเรื่องให้ได้ออกจากเรือนจำแต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขาเล่าด้วยว่านอกจากตัวเขาเองแล้วผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ ที่เขารู้จักในเรือนจำก็เผชิญปัญหาทางการเงินหลังออกจากเรือนจำเพราะมีประวัติคดีอาญาเหมือนกับเขา ส่วนตัวเขาเองพอมีโชคอยู่บ้างได้ไปทำงานร้านกระจกกับเพื่อนร่วมคุกที่ออกมาก่อนและเข้าใจปัญหาของเขา แต่เขาก็อดกังวลเรื่องที่เขายังมีคดีซึ่งการต้องลางานไปขึ้นศาลก็อาจทำให้เขาต้องตกงานอีกครั้ง
“อันนี้ก็เปิด ป.วิ มาเรื่องการฟ้องซ้ำ ผมสู้ในเรื่องนี้ แต่ทำไมผมไม่ได้รับสิทธิตรงนั้น ทำไมผมยังต้องเสียเวลามาขึ้นศาลเรื่องเดิมๆ ยังไงผลที่ออกมาก็เรื่องเดิม ไม่ว่าจะพยานกี่ปาก มันก็ออกมาเหมือนเดิม เอกสารอันเดิม คำให้การอันเดิม ทนายก็แย้ง คดีทุกวันนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย แค่แลกเปลี่ยนเอกสารกันดู แล้วก็พูดเรื่องเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย แต่มีที่เพิ่มมาล่าสุด มีทหารผู้เสียหายมาฟ้อง ถูกยิงด้วย เอ็ม16 เขาเห็นหน้าว่าใครยิงเขา พอศาลถามว่าใช่ 2 คนนี้มั้ย ก็บอกไม่ใช่ ไม่เคยเห็นหน้า เอ้า แล้วทำไมมาฟ้องผม ผมไม่เข้าใจ” ปรีชากล่าว
ส่วนกิตติศักดิ์เพียงขอสั้นว่าๆ อยากให้มีความช่วยเหลือคนที่โดนคดีการเมืองลักษณะนี้บ้าง และก็อยากให้เรื่องคดีของเขาจบลงเสียที
- 'อ่าน' เปิดปม 'แม่ค้าข้าวแกงเสื้อแดง' เกือบถูกอุ้มหลังรัฐประหาร สุดท้ายติดคุกฟรี 3 ปี แถมเจอคดีใหม่อีก
- 10 ปีล้อมปราบเสื้อแดง: บทเรียน(?) จากแกนนำ - นักสันติวิธี - คอป.- ส.ว.
- 10 ปีสลายเสื้อแดง: กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง(ศาลโลก) เมื่อความยุติธรรมต้องรอการเมืองเปลี่ยน
-
รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน
สถานะคดีของพวกเขาในปัจจุบัน
คดี/จำเลย |
กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน |
ปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย |
รณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ |
ชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็ก |
ปุณิกา ชูศรี หรืออร |
ยกฟ้องชั้นอุทธรณ์และฎีกา |
รับสารภาพชั้นอุทธรณ์ ติดคุกครบกำหนดโทษ |
ยกฟ้อง 3 ศาล |
ยกฟ้อง 3 ศาล |
ยกฟ้อง 3 ศาล |
|
ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้อง |
- |
- |
- |
- |
|
วางระเบิดหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ (กิตติศักดิ์ถูกฟ้องร่วมกับคนอื่นนอกกลุ่มคดีชายชุดดำ) |
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
- |
- |
- |
- |
ระเบิดแสวงเครื่องหน้าบ้านในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (กิตติศักดิ์ถูกฟ้องร่วมกับคนอื่นนอกกลุ่มคดีชายชุดดำ) |
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
- |
- |
- |
- |
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
- |
- |
- |
- |
|
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง |
- |
รอพิจารณา |
รอพิจารณา |
|
ชายชุดดำ 3 คดีก่อการร้าย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 |
รอการพิจารณาคดี ปี 67 |
รอการพิจารณาคดี ปี 67 |
- |
รอการพิจารณาคดี ปี 67 |
รอการพิจารณาคดี ปี 67 |
หมายเหตุ 1 – เครื่องหมาย “-” หมายถึงบุคคลนั้นไม่ได้ถูกฟ้องร่วมเข้ามาในคดีนั้นๆ
หมายเหตุ 2 - รณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ ไม่ถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกหลังจากคดีชายชุดดำคดีแรกจบ จากคำบอกเล่าของทนายความในคดีทราบว่าเขาถูกกันไว้เป็นพยานฝ่ายโจทก์