Skip to main content
sharethis

มาเก๊า-เกาหลีใต้ เปิดรับสมัครแรงงานไทย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานร่วมกับสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เปิดรับสมัครคนหางานไปทำงานกับนายจ้างบริษัท Galaxy Entertainment Group (ครั้งที่ 2/2567) โดยเปิดรับสมัครถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 จำนวน 6 ตำแหน่ง 28 อัตรา ได้แก่ 1. พนักงานต้อนรับลูกค้าวีไอพี จำนวน 8อัตรา ค่าจ้าง 16,000-18,000 เหรียญมาก้า/เดือน ประมาณ 73,022-82,150 บาท 2. กัปตัน จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้าง 15,000 เหรียญมาก๊า/เดือน ประมาณ 68,459 บาท 3. หัวหน้าแผนกอาหารและเรื่องดื่ม จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้าง 18,000 เหรียญมาเก๊า/เดือน ประมาณ 82,150 บาท 4. พนักงานนวด จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้าง 13,000 เหรียญมาเก๊า/เดือน ประมาณ 59,331 บาท 5. พนักงานผ่ายต้อนรับวีไอพี จำนวน 2 อัตรา ค่าจ้าง 14,000 เหรียญมาเก๋า/เดือน ประมาณ 63,895 บาท และ 6. พนักงานอาวุโสฝ่ายบริการลูกค้า จำนวน 3 อัตรา ค่าจ้าง 22,000 เหรียญมาก๊า/เดือน ประมาณ 100,406 บาท

นายคารม กล่าวว่า สำหรับแรงงานที่ต้องการไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาล ในสาธารณรัฐเกาหลี กรมการจัดหางาน ร่วมกับอำเภอโคฮึง จังหวัดซอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี เปิดรับสมัครแรงงานไทยไปทำงาน โดยเปิดรับสมัครถึงวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ จำนวน 2 ตำแหน่ง ดังนี้ 1. ตำแหน่งคนงานเกษตรตามกดูกาล (การปลูกข้าวและการเก็บเกี่ยวส้มยูอา) 2567 จำนวน 5 อัตรา เพศชาย 4 อัตรา และเพศหญิง 1 อัตรา 2. ตำแหน่งคนงานประมงตามฤดูกาล (การทำสาหร่าย) จำนวน 7 อัตรา (เพศชาย 3 อัตรา และเพศหญิง 4 อัตรา) ค่าจ้าง 2,060,740 วอนต่อเดือน ประมาณ 53,991 บาท

“การรับสมัครครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีรัฐจัดส่งคนหางาน ไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปทำงานจะมีค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 4,000 บาท โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสอบ กำหนดการและวิธีการรับสมัคร ได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หัวข้อ “ข่าวประกาศรับสมัคร” หรือ Facebook : แรงงานไทยไปต่างประเทศโดยรัฐจัดส่ง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/6/2567

กสิกรไทย ช่วยค่าครองชีพพนักงานเป็นกรณีพิเศษ 1 หมื่นบาท จ่ายเดือน ก.ค. 67

ธนาคารกสิกรไทย ได้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กับ สหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทย และ สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 เกี่ยวกับสวัสดิการและสภาพการจ้างงานพนักงาน รายละเอียดดังนี้

จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้ทำขึ้นระหว่าง ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กับ สหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทย และ สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทย ตามหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ที่ สร.004/2567 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายไห้ดำเนินการเจรจากันบนพื้นฐานของความเข้าใจ และเป็นไปตามหลักของแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และสามารถตกลงกันได้ ดังนี้

ข้อ 1.ธนาคารจะจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานในภาวะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นมาก โดยมีลักษณะเป็นการจ่าย “เฉพาะคราว (One Time)”

จำนวนเงินคนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ให้แก่พนักงานที่มีตำแหน่งองค์กรไม่สูงกว่า “รองผู้อำนวยการฝ่าย” ที่มีสถานภาพเป็นพนักงานของธนาคารอยู่ในวันจ่ายเงินดังกล่าว ยกเว้น พนักงานที่กระทำความผิดร้ายแรง หรืออยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรง โดยกำหนดวันจ่ายเงินในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งจะได้มีประกาศแจ้งให้ทราบต่อไป

ข้อ 2. ธนาคารตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงวงเงินและดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการเพื่อที่อยู่อาศัย โดยขยายวงเงินกู้ในแต่ละช่วงให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งลดดอกเบี้ยลง ดังนี้

วงเงินกู้ 1-1,500,000 บาท ดอกเบี้ย MLR-5.50%

วงเงินกู้ 1,500,001-3,000,000 บาท ดอกเบี้ย MLR-3.75% และกรณีติดตั้ง Solar Cell Roottop(3K ขึ้นไป) ลดดอกเบี้ยเพิ่ม 1%

วงเงินกู้ 3,000,001-5,000,000 บาท ดอกเบี้ย MLR-2.00% และกรณีติดตั้ง Solar Cell Roottop(3K ขึ้นไป) ลดดอกเบี้ยเพิ่ม 1%

อนึ่ง เนื่องจากมีพนักงานที่ใช้สวัสดิการนี้และอยู่ระหว่างการผ่อนชำระเป็นจำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับแก้ไขวงเงินกู้และดอกเบี้ยให้เป็นไปตามข้างต้น จึงให้ข้อตกลงฯ ข้อนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่ถือปฏิบัติอยู่เดิม

ข้อ 3.ธนาคารยืนยันการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2558 เรื่องสิทธิการเบิกคำรักษาพยาบาล

โดยยังคงปฏิบัติตามระเบียบและอัตราการเบิกในแต่ละประเภทตามที่ธนาคารกำหนด แต่ไม่เกินปีละ 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และสามารถนำวงเงินส่วนที่เหลือยกสะสมไปใช้ในปีถัดไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี เหมือนเช่นเดิม

ข้อ 4. ธนาคารจะพิจารณาปรับตำแหน่งให้กับพนักงานบริการ ที่มีผลการปฏิบัติงาน PM Grade B ขึ้นไป

มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี หรือผู้บริหารสายงานรับรองว่ามีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สูงกว่าเดิมซึ่งได้ทดลองมอบหมายให้ทำงานใหม่มาก่อนหน้าแล้ว ให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีตำแหน่งงานรองรับ และพนักงานมีความประสงค์ขอเปลี่ยนไปทำงานดังกล่าว

ข้อ 5.ขยายขอบเขตวัตถุประสงค์เงินกู้เพื่อบรรเทาทุกข์ ให้ครอบคลุมถึงการกู้เงินบรรเทาทุกข์ เพื่อชำระหนี้สินส่วนตัวของพนักงานที่มีต่อบริษัทหรือสถาบันการเงินอื่น

โดยมีหลักฐานเอกสารการติดตามหนี้จากสำนักงานทนายความ หรือหมายฟ้องคดีจากศาล หรืออื่นๆ ตามที่ธนาคารเห็นสมควร ในวงเงินกู้ตามภาระหนี้จริงแต่ไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี และพนักงานผู้ขอกู้ต้องมีอายุงานตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงินกู้สวัสดิการพนักงาน

ข้อ 6.บรรดาประกาศ คำสั่ง ระเบียบ รวมทั้งข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันให้คงมีผลบังคับใช้ต่อไป

และธนาคารมีสิทธิที่จะปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิม

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 29/6/2567

เครือสหพัฒน์ เปิดให้พนักงานแสนคนร่วมออม ลงทุนทองคำ ‘ควอนตัม เอสดีจีเอ็ม’

นายพิภพ โชควัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอนตัม เอสดีจีเอ็ม จำกัด (SDGM) กล่าวว่า เครือสหพัฒน์ ได้จัดตั้ง บริษัท ควอนตัม เอสดีจีเอ็ม จำกัด (SDGM) สตาร์ทอัปใหม่ ที่ร่วมลงทุนในทองคำรูปแบบดิจิทัล ให้แก่พนักงาน คู่ค้า และลูกค้าของเครือสหพัฒน์ เข้ามาออมทองคำในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเป็นการร่วมมือผ่าน เอ็มทีเอส โกลด์ ได้ร่วมมาเป็นพาร์ทเนอร์ในรูปแบบเทคโนโลยี

สำหรับเครือสหพัฒน์มีพนักงานในเครือร่วมกว่า 1 แสนคน โดยเปิดให้พนักงานเข้ามาร่วมออมทอง ได้ตามความต้องการ คาดว่าจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะสินทรัพย์ทองคำ ยังมีความมั่นคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้โมเดลการเปิดลงทุนทองคำในครั้งนี้ต่อยอดมาจากปีก่อน ที่กลุ่มสหพัฒน์ได้มีการลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการออมทองในรูปแบบดิจิทัล โกลด์ เซฟวิ่ง (Digital Gold Saving) เพื่อให้พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และบริษัทในเครือสหพัฒน์ เข้าถึงการลงทุนในทองคำ การร่วมสนับสนุนระบบดิจิทัล โกลด์ เซฟวิ่ง สำหรับการออมทอง และใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์สำรองของเครือสหพัฒน์ และพันธมิตรธุรกิจ

พร้อมทำให้นักลงทุนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดทองคำมากขึ้น โดยในปีแรก ได้มีบริษัทต่างๆ ในเครือสหพัฒน์ เข้ามาร่วมออมทองคำ คิดเป็นมูลค่า 80 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการออม ทองคำแท่ง บริสุทธิ์ 99.99%

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด เป็นผู้นำด้านการนำเข้าและส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า สินทรัพย์ทองคำ ยังมีความสนใจดึงดูดการลงทุนในระดับสูง เนื่องจากธนาคารในทั่วโลกต่างให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ทองคำสูงขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 30% จากเดิมมีสัดส่วน 6% และลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ

อีกทั้งการร่วมมือกับกลุ่มสหพัฒน์ ที่เปิดให้พนักงานในเครือได้เข้ามาร่วมลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มที่บริษัทได้ออกแบบในครั้งนี้ สามารถลงทุนขั้นต่ำได้ตั้งแต่วันละ 100 บาท หรือ สามารถเลือกออมได้สูงขึ้นตามความต้องการ โดยเมื่อออมทองคำครบ 1 บาท ก็สามารถเลือกพิจารณาได้ว่าจะปรับรูปแบบลงทุนต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากประเมินแนวโน้มราคาทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์มีความมั่นคงสูง และเหมาะกับการออมในระยะยาว ทำให้ประเมินว่า ราคาทองคำในปีนี้ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ และมองโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นถึงระดับ 45,000 บาทได้ภายในช่วงปลายปี 2568

"จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มคนไทยมาออมเงินผ่านทองคำมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีเพิ่มเป็นจำนวนกว่าแสนคนแล้ว และออมตั้งแต่ 1,000 บาทต่อเดือน"

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท MTS Gold แม่ทองสุก เสริมว่า ราคาทองคำตลอด 40 ปีปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด จากราคาบาทละ 500 บาท จนปรับถึง 4 หมื่นบาทในปัจจุบัน รวมถึงเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% จึงมองแนวโน้มราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต จากทิศทางของเศรษฐกิจในโลก การสำรองทองคำของธนาคารกลางในทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และทองคำเป็นสินทรัพย์ ที่หายาก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/6/2567

กมธ.แรงงาน เล็งเรียกประกันสังคมแจงลงทุนตลาดหุ้นขาลง หวั่นผลกระทบ จ่อถกมงกุฎวัฒนะถอนตัว

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ.การแรงงาน ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการการแรงงาน แถลงข่าวถึงความห่วงใยของคณะ กมธ.การแรงงาน ถึงกรณีกองทุนประกันสังคม โดยคณะ กมธ.ได้ตั้งคณะ อนุ กมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาดูแลเรื่องการทำงานของกองทุนประกันสังคม ที่มีผู้ใช้แรงงานส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีผู้ส่งประกันจำนวน 24,633,583 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก แต่การใช้เงินของกองทุนมีการไปลงทุนในหลายส่วน เช่น การไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในช่วงขาลง หากขาดทุนมันจะกระทบต่อผู้ที่ส่งเงินประกันสังคมเกือบ 25 ล้านคน

“เรื่องนี้คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะคณะ กมธ. มีความห่วงใยว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ส่งเงินเข้ากองทุน โดยในสัปดาห์หน้า คณะ กมธ.จะเชิญผู้บริหารกองทุนประกันสังคม เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการบริหารและการลงทุนของกองทุน เพราะวานนี้ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ประกาศเตรียมถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญาประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนจำนวนมากกว่า 100,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทางกรรมาธิการจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็จะมีการนำประเด็นนี้เข้าหารือในคณะอนุ กมธ.ในวันพุธหน้า เวลา 10.00 น.” นายสามารถ กล่าว

นายสามารถ กล่าวต่อว่า กมธ.ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา วันนี้แรงงานไทยที่ได้รับใบอนุญาตไปทำงานที่ต่างประเทศถดถอยลง เพราะเมื่อปี 2562 เรามีคนหางานที่ได้รับอนุญาตไปทำงานที่ต่างประเทศ 59,561 คน แต่ในปี 2567 มีเพียง 35,406 คนเท่านั้น หมายความว่า คนไทยที่ได้อนุญาตไปทำงานที่ต่างประเทศน้อยลง ก็เพราะการพัฒนาฝีมือของเราถดถอย ปัญหาแรงงานผีน้อยที่เกิดขึ้น ก็เพราะไม่สามารถไปทำงานตามช่องทางได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน

นายสามารถ ยังกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นประธาน กมธ.จึงมีความห่วงใย และเมื่อได้ลงไปดูศูนย์พัฒนาฝืมือแรงงาน จ.สมุทรปราการ ก็พบว่า หากย้อนไป 30 ปีที่แล้ว ศูนย์นี้ก็คงจะทันสทัย แต่ปัจจุบันเครื่องมือ และเครื่องจักร ล้าหลังมาก เนื่องจากงบประมาณที่จัดสรรให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานน้อยมาก ถ้าเทียบกับกรมอื่นๆ ในกระทรวงแรงงาน กมธ.จึงกังวลกับงบประมาณดังกล่าวที่จะนำมาใช้พัฒนาฝีมือให้คนไทย ซึ่งวันนี้เราพยายามจะเร่งให้แรงงานไทยมีรายได้ที่สูงขึ้น และไม่ใช่แค่รายได้ในประเทศเท่านนั้น แต่รวมถึงรายได้จากต่างประเทศด้วย ถ้าเราสามารถส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศได้ และมีรายได้กลับมาในประเทศไทย อันนี้คือกำไร ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/6/2567

เทศบาลนครนนทบุรี ขาดแคลนคนเก็บขยะ พนักงานแห่ลาออก เหตุเงินน้อย นักโทษออกจากคุกมายังเมิน

จากกรณีที่มีขยะตกค้างภายในพื้นที่ เทศบาลนครนนทบุรี หลายจุด ส่งผลกระทบในเรื่องกลิ่นและอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นอย่างมาก

ล่าสุด นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เทศบาลได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการจัดเก็บขยะในชุมชน แทนลูกจ้างพนักงานเทศบาลที่ขาดแคลน

แต่ปรากฏว่าบริษัทที่จะเข้ามารับงาน เกิดขาดแคลนพนักงานเช่นกัน ทำให้จากที่ต้องตกลงทำสัญญาในเดือน มิ.ย. ไม่เป็นไปตามกำหนด ทางบริษัทเอกชนขอยืดเวลาไปเป็นเดือน ก.ค. แทน ทำให้ทางเทศบาลต้องยกเลิกสัญญากับทางบริษัทเอกชนรายนี้ เพื่อเปิดหาบริษัทใหม่มาแทน ทำให้ขาดแคลนพนักงานเก็บขยะในช่วงนี้ และบางจุดเกิดมีปัญหาขยะตกค้าง

ที่ผ่านมา เทศบาลนครนนทบุรี เปิดรับพนักงานเก็บขยะเข้ามาเพิ่ม 40 อัตรา ปรากฏว่ามีคนมาสมัครแค่ 5 คน ซ้ำร้าย 5 คน ที่สมัครมาทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็ลาออกกันหมด โดยออกไปเป็นไรเดอร์วิ่งรับส่งอาหารแทน ซึ่งได้ค่าตอบแทนสูงกว่า เพราะพนักงานเก็บขยะ ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บวกกับค่าครองชีพอีก 1,000 รวมเป็นเงิน 10,000 บาท ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในยุคปัจจุบัน

ตนมองว่าเรื่องนี้ รัฐบาลควรทบทวนเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานลูกจ้างเทศบาลใหม่ได้แล้ว เพราะหากยังจ่ายค่าจ้างตามเดิม คงไม่มีใครมาสมัคร ทั้งพนักงานเก็บขยะ พนักงานกวาดถนน หรือพนักงานลอกท่อ สู้ไปวิ่งขับรถส่งอาหารยังเหลือค่าตอบแทนมากกว่า ไม่ต้องมาทนกับกลิ่นเหม็นเสี่ยงกับเชื้อโรคต่าง ๆ

ก่อนหน้านี้ ตนเคยประสานไปทางเรือนจำกลางบางขวางว่า เทศบาลยินดีรับนักโทษที่พ้นโทษแล้วมาทำงานในส่วนนี้โดยได้ค่าจ้างตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังพ้นคุกออกมา ยังไม่มีนักโทษคนใดมาสมัครงานด้วยเลยสักคน เพราะค่าตอบแทนต่ำเกินไป จึงทำให้ในตอนนี้ทางเทศบาลนครนนทบุรี เจอปัญหาขาดพนักงานเก็บขยะ ที่ไม่เพียงพอกับขยะที่มีสูงถึงวันละ 400 ตันต่อวัน

ที่มา: ข่าวสด, 26/7/2567

วิจัย TDRI เผย “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” เป็นกลุ่มอาชีพไอที ที่ตลาดแรงงานต้องการ

ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ  โดยใช้ Big Data และข้อมูลประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่จัดเก็บได้ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม พ.ศ 2567 ถึงวันที่  31 มีนาคม พ.ศ 2567 จากเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 15  เว็บไซต์

10 อาชีพกลุ่มไอที ที่มีประกาศหางานมากที่สุด

เมื่อจำแนกข้อมูลตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพไอทีจำนวนทั้งสิ้น 5,893 ตำแหน่งงาน พบ 10 กลุ่มอาชีพไอทีที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้

1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 1,246 ตำแหน่งงาน (18.4%)

2.  นักพัฒนาเว็บ 788 ตำแหน่งงาน (11.6%)

3. นักออกแบบเว็บและอินเทอร์เฟซดิจิทัล 669 ตำแหน่งงาน (9.9%)

4. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ 661 ตำแหน่งงาน (9.7%)

5. เจ้าหน้าที่สนับสนุนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 653 ตำแหน่งงาน (9.6%)

6. โปรแกรมเมอร์ 622 ตำแหน่งงาน  (9.2%)

7. นักวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ 574 ตำแหน่งงาน (8.5%)

8. ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล 271 ตำแหน่งงาน (4.0%)

9. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยสารสนเทศ 243  (3.6%)

10. นักสถาปัตยกรรมเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 166 ตำแหน่งงาน (2.4%)

ทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงสุด

ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ประกาศหางาน โดยวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน ผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า 3 ทักษะอันดับแรกมีความต้องการมากที่สุดในประกาศรับ ได้แก่ทักษะ “ภาษาอังกฤษ” “การสื่อสาร” และ “การแก้ปัญหา” โดยภาษาอังกฤษปรากฏในประกาศรับสมัครงานจำนวน 27,826 ตำแหน่งงาน (19.9%) ตามมาด้วยทักษะในการสื่อสารที่พบในประกาศรับสมัครงาน 21,556 ตำแหน่งงาน (15.4%)  และทักษะในการแก้ปัญหา 19,518 ตำแหน่งงาน (14.0%)

ประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนมากที่สุด กว่าแสนตำแหน่ง

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการในประกาศ พบว่าในประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ผู้วิจัยได้รวบรวมไว้นั้น เป็นประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด

โดยมีจำนวนการว่าจ้างถึง 109,558 ตำแหน่งงาน (78.5%) ตามด้วยภาคใต้ 8,003 ตำแหน่งงาน (5.7%) ภาคตะวันออก 6,472 ตำแหน่งงาน (4.6%) ภาคเหนือ 3,945 ตำแหน่งงาน (2.8%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,845 ตำแหน่งงาน (2.8%) ภาคกลาง 3,302 ตำแหน่งงาน (2.4%)  และภาคตะวันตก 832 ตำแหน่งงาน (0.6%) ขณะที่การรับสมัครงานที่ไม่สามารถไม่ระบุสถานที่ทำงานได้ 3,616 ตำแหน่งงาน (2.6%)

จำนวนประกาศรับสมัครงานในแต่ละประเภทธุรกิจ

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมโดยใช้ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  อ้างอิงกับประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC) พบว่าเป็นประกาศรับสมัครงานในอุตสาหกรรมดังนี้

กลุ่มอุตสาหกรรมการขายส่งและการขายปลีก 22,015 ตำแหน่งงาน (15.8%)

กลุ่มอุตสาหกรรมการการผลิต 16,029  ตำแหน่งงาน (11.5%)

กลุ่มอุตสาหกรรมการกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 7,313 ตำแหน่งงาน (5.2%)

10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่ตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพตามการจำแนกจากฐานข้อมูลอาชีพของสหรัฐอเมริกา ( O*NET) พบว่ามี 10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุดดังนี้

1. พนักงานขาย 14,163 ตำแหน่งงาน (10.1%)

2. งานสนับสนุนทางการบริหาร 12,558 ตำแหน่งงาน (9.0%)

3. การสนับสนุนข้อมูลและบริการ 7,013 ตำแหน่งงาน (5.0%)

4. วิศวกรรมและเทคโนโลยี 6,858 ตำแหน่งงาน (4.9%)

5. งานด้านการตลาด 6,154 ตำแหน่งงาน (4.4%)

6. ผู้จัดการดำเนินการ 5,331  ตำแหน่งงาน (3.8%)

7. งานบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม 4,813 ตำแหน่งงาน (3.4%)

8. การบัญชี 4,342 ตำแหน่งงาน (3.1%)

9. ทรัพยากรบุคคล 3,902 ตำแหน่งงาน (2.8%)

10. การออกแบบ / การเตรียมงานก่อสร้าง 3,618  ตำแหน่งงาน (2.6%)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 26/6/2567

ก.แรงงาน จับมือ สถาบันฯ ปัญญาภิวัฒน์ สัมมนาจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนภาคเอกชน

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชน รุ่นที่ 13 โดยมี นางสาวตวงทรัพย์ ฉวีราช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี

นายไพโรจน์ กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางในการพิจารณาปรับค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของนายจ้าง ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างได้มีแนวทางส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนของตนเอง เพื่อใช้ปรับค่าจ้างให้ลูกจ้างตามความรู้ ความสามารถและผลงาน ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างตระหนักดีว่าการบริหารค่าจ้าง เงินเดือน และค่าตอบแทนเป็นเรื่องที่สำคัญของทุกองค์กร และการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร ถือเป็นภารกิจหลักขององค์กรไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนที่ดีนั้น จะทำให้นายจ้างสามารถควบคุมต้นทุนแรงงานได้ เช่น การควบคุมอัตรากำลังคนให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สามารถคาดการณ์ต้นทุนแรงงานในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นผลดีในการรักษาความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทนในระยะยาวของสถานประกอบกิจการไว้ได้ และรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ อีกด้วย ส่วนลูกจ้างก็ได้รับค่าจ้างตามประสบการณ์ทำงานและทักษะฝีมือ มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ และมีแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง อันส่งผลให้มีผลิตภาพแรงงานที่ดีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งจากการติดตามผลการฝึกอบรมที่ผ่านมา พบว่า สถานประกอบกิจการให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน โดยมีการนำความรู้ที่ได้รับไปจัดทำหรือปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน

“ผมหวังว่าท่านจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่ และการที่ท่านทั้งหลายได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่จะได้ช่วยกันสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมด้านการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนให้เกิดขึ้นในตลาดแรงงานของประเทศไทยต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าวในท้ายที่สุด

จากนั้นปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะยังได้เยี่ยมชมหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์อีกด้วย   

สำหรับโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในภาคเอกชน รุ่นที่ 13 จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับหลักการบริหารโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน ความสำคัญของการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เงินเดือน และวิธีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน รวมทั้งฝึกปฏิบัติการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนของตนเอง และนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบกิจการของตนเองได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงสื่อสารให้บุคลากรอื่นๆ ในองค์กรได้รับทราบ เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในสถานประกอบกิจการอีกด้วย

ที่มา: ThaiPR.NET, 26/6/2567

SCBX แจ้งยุติ แอปพลิเคชัน Robinhood มีผล 31 ก.ค. นี้

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด แอปพลิเคชัน Robinhood ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว จนผู้ประกอบการเหล่านั้นผ่านพ้นวิกฤต

Robinhood ยังได้ช่วยเหลือต่อจนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติได้ นอกจากนั้น Robinhood ยังช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์หลายหมื่นชีวิตในช่วงที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง และดูแลอย่างเป็นธรรมจนหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของลูกค้าผู้ใช้บริการ Robinhood ได้เป็นตัวกลางช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในราคาที่เป็นธรรมมาโดยตลอด จนกลายเป็นแพลตฟอร์มแห่งการช่วยเหลือกันในช่วงเวลาวิกฤตของประเทศ โดยการสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่จากกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

บัดนี้ เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปและธุรกิจต่างๆ เข้าสู่สภาวะปกติ แอปพลิเคชัน Robinhood จึงตัดสินใจยุติบทบาทลง และกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจในส่วนของแพลตฟอร์มอื่นๆ ของบริษัททั้งในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคตต่อไป

สำหรับผลประกอบการย้อนหลังของ ‘โรบินฮู้ด’ ตลอด 5 ปี ที่เริ่มดำเนินธุรกิจ พบว่า ในปี 2563 บริษัท ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2564 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น  1,335 ล้านบาท และ ปี 2565 ขาดทุนสูงถึง 1,986 ล้านบาท สุดท้ายปี 2566 ขาดทุนสูงสุดที่ 2,155 ล้านบาท

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/6/2567

309 แรงงานไทย ลัดฟ้าไปอิสราเอลกลุ่มแรกในรอบ 8 เดือน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในวันที่ 25 มิ.ย. 2567 ว่า ไทยได้ส่งแรงงานกลุ่มแรกไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล หลังจากชะลอกระบวนการส่งออกแรงงาน 8 เดือน หลังการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสทวีความรุนแรง โดยไทยตั้งเป้าจะส่งแรงงานให้ครบ 10,000 คนภายในสิ้นปี 2567

“กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นลำดับแรก โดยหลังจากกรมการจัดหางานประกาศ ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล ทุกวิธีการเดินทาง ภายใต้เงื่อนไขว่าแรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ล่าสุดได้เตรียมจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมแล้ว จำนวน 540 คน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ แรงงานไทยกลุ่มแรก 309 คนจะเดินทางออกจาก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในช่วงเย็นวันอังคาร และจะถึงท่าอากาศยานเบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ในช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีการทยอยเดินทางอีก ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 และวันที่ 2 – 3 ก.ค. 2567 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอลตามเป้าหมาย 10,000 คน ภายในปีนี้

“จากการพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล ทราบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุดรธานี เชียงราย นครพนม บุรีรัมย์ นครราชสีมา ซึ่งผมได้แสดงความยินดีกับทุกคน พร้อมกำชับทุกคนให้รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อดทนเพื่อครอบครัวที่รออยู่ด้านหลัง วางแผนเก็บออม เพื่อมีทุนกลับมาต่อยอด สร้างอนาคตให้ตนเองและครอบครัว” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า อิสราเอลนับเป็นประเทศแรกๆที่แรงงานไทยอยากเดินทางไปทำงาน

“อิสราเอลถือเป็นประเทศหนึ่งในห้าอันดับแรกร่วมกับ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่แรงงานไทยมีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงาน โดยทำงานภาคเกษตรเป็นลำดับแรก รองลงมา คือ ภาคบริการและร้านอาหาร ในตำแหน่ง หัวหน้าพ่อครัว และคนปรุงอาหาร ปัจจัยหลักส่วนหนึ่ง มาจากรายได้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5,880 เชคเกลอิสราเอล หรือ 50,000 – 55,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าล่วงเวลา” นายสมชาย กล่าว

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การส่งแรงงานไทยเดินทางไปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers:TIC) มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 ปี 3 เดือน ซึ่งรัฐบาลได้เช่าเหมาลำพิเศษ สายการบิน แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ เพื่อนำส่งแรงงานไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

การส่งแรงงานไทยไปยังอิสราเอลครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณกลางประจำปี 2567 เป็น 291 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล โดยปัจจุบัน ยังมีแรงงานไทยที่ถูกกองกำลังฮามาสจับเป็นตัวประกาศ และรอการช่วยเหลืออีก 6 ราย

ต่อการส่งแรงงานไทย น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (M.W.R.N) ชี้ว่า รัฐบาลไทยต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นลำดับแรกหากต้องการดำเนินโครงการนี้ต่อ

“เท่าที่ตามข่าว สงครามเองก็ยังไม่สงบดี รัฐบาลต้องสอดส่องดูข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ที่แรงงานไปเป็นพื้นที่สีแดงหรือไม่ ถ้าอยากไปจริงๆ ก็ต้องไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย และรัฐบาลจะไปซัพพอร์ตแรงงานอย่างไร ในกรณีที่แรงงานกู้เงินเพื่อเดินทางไปทำงานในอิสราเอล เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินมากนัก” น.ส. สุธาสินี กล่าว

การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. 2566 ตรงกับวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาสยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลและเป้าหมายพลเรือน ในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น หลังจากนั้นอิสราเอลได้โจมตีตอบโต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหลายพันคน

กระทรวงแรงงาน ระบุว่า มีประชาชนไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยมีแรงงานทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคการเกษตร ใกล้ฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบประมาณ 5 พันราย กระทั่งเริ่มอพยพกลับประเทศหลังการสู้รบทวีความรุนแรงในปลายเดือน ต.ค.-พ.ย. 2566 กว่า 7 พันคน โดยระหว่างการสู้รบมีแรงงานไทยที่เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน

“จริงๆ แล้วรัฐบาลเองก็ทำหน้าที่ในการส่งแรงงานออกไป แต่มันไม่ได้มีแต่ประเทศอิสราเอลที่รับแรงงานไทยไปทำงาน ยังมีประเทศอื่นอีก ลองเช็กประเทศอื่นที่คนงานไปแล้วปลอดภัย มีสวัสดิการที่ดี ได้รับความคุ้มครองก็ส่งไปก็ได้ ทำไมต้องปักหลักไปอิสราเอล” น.ส. สุธาสินี กล่าวเพิ่มเติม

ที่มา: เบนาร์นิวส์, 25/6/2567

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน และศาลแรงงานสมุทรปราการ-ระยอง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาครับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยอง 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

นายคารม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอว่า 1. เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยองมีปริมาณคดีแรงงานเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดและจำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะมีการเปิดทำการสาขาของศาลแรงงานภาค 1 (สาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และภาค 2 (สาขาจังหวัดระยอง) อยู่แล้วก็ตาม แต่การเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องเกลี่ยอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการสาขาทั้ง 2 สาขา ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเกิดความล่าช้าและไม่สะดวกแก่คู่ความในท้องที่ เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองขึ้นในจังหวัดระยอง ให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง เพื่อให้การพิจารณาแรงงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในท้องที่ได้ดียิ่งขึ้น และมีความพร้อมในด้านอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติงานในศาลจังหวัดครบถ้วนทุกส่วนงานรองรับภารกิจดังกล่าว

2. ในการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง จะทำให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในท้องที่ของศาลแรงงานภาค 1 และภาค 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ตลอดจนเพื่อให้มีความชัดเจนในการแบ่งแยกเขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาล โดยไม่รวมถึงอำนาจการบริหารงานศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาค อีกทั้งศาลแรงงานเป็นศาลคดีชำนัญพิเศษที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เห็นสมควรให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาคเข้ามารับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นในเขตท้องที่ของศาลแรงงานภาคนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของศาลแรงงานจังหวัดเป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

3. ศย. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1. รวม 2 ฉบับ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2566 วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมอบหมายให้ ศย. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและเสนอร่างกฎหมายไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 4. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ศย. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้ 1. ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 63,901,038 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10,821,312 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน จำนวน 363,955,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 438,677,710 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 6 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา และ 2.ศาลแรงงานจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 55,383,438 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 8,215,704 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (ยังไม่สามารถจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่ จึงไม่อาจระบุค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคารศาลได้) จำนวน 11,092,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 74,691,502 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 4 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/6/2567

Devas IPASON ประกาศยุติธุรกิจในไทย ระบุเหลือพนักงานแค่ 5 คน สำหรับการทำงานในขั้นตอนสุดท้าย

เพจเฟซบุ๊ก Devas IPASON โพสต์ข้อความระบุว่า น่าเสียดาย หลังจากผ่านไป 20 เดือน บริษัทของเราไม่สามารถอยู่รอดได้ในประเทศไทย จากทีมงาน 160 คน ขณะนี้เหลือพนักงานเพียง 5 คนเท่านั้นที่จะทำงานขั้นสุดท้าย เพิ่งล้มละลาย การขายทรัพย์สินในสำนักงานและการจัดการปัญหาหลังการขายบางส่วน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอดีตทีมงานหลังการขายทั้งหมดได้ลาออกแล้ว ความสามารถของเราในการจัดการหลังการขายจึงมีจำกัดสำหรับผู้บริโภคบางรายที่ไม่ตอบกลับหรือตอบกลับล่าช้า หากคุณต้องการเร่งการประมวลผลโปรดติดต่อเราที่สำนักงานเราจะจัดหาผลิตภัณฑ์หลังการขายให้กับคุณหากไม่มีผลิตภัณฑ์หลังการขายที่เกี่ยวข้องเราจะจัดเตรียมทางเลือกให้กับผู้บริโภคทุกคนที่มา ไปที่สำนักงาน เราจะเตรียมของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการแสดงความขอโทษของเรา ที่อยู่บริษัท เลขที่ 39 ซอย สุขุมวิท 101/2 บางนาเหนือ บางนา กรุงเทพฯ 10260

ที่มา: Sanook Money, 24/6/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net