Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรสิทธิฯ จี้ทางการไทยสืบสวนสอบสวนปมสังหาร 'รอนิง ดอเลาะ' นักปกป้องสิทธิฯ  อย่างโปร่งใส-เป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ พร้อมทั้งเยียวยาครอบครัวของรอนิง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม

 

1 ก.ค.2567 จากกรณี รอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมถูกสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตที่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง ใน ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ออกแถลงการร่วมเรียกร้องต่อทางการไทยดำเนินการ 5 ประเด็นประกอบดว้ย  1. ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการฆาตกรรม แบนิง ด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

2.  เร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  รวมทั้งดำเนินการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน อันเป็นกฎหมายที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใดๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมใหเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง 3. รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) จะต้องดำเนินการด้วยมาตรการทาง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องปรามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายฯ ได้จริง

4.  รัฐไทยจะต้องเยียวยาครอบครัวของรอนิง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม อีกทั้งมีการขอโทษต่อครอบครัวรอนิง รวมถึงสาธารณชน  และ 5. การละเลยในการดำเนินการใดๆ ของทางการไทยอาจแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่สวนทางกับการแสดงเจตจำนงที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ร่วม กรณีการสังหาร “รอนิง ดอเลาะ” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมลายูมุสลิมและ ผู้เสียหายจากการทรมานหลังถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ

รอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม และเหยื่อจากการทรมานจากการเคยถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ถูกยิงสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตที่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง ในม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เพียงหนึ่งวันก่อนถึงวันต่อต้านการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) ข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.15 น. ชายชุดดำ 2 คน ปิดบังใบหน้า เดินเท้ามาจากหลังบ้านรอนิง ก่อนจะใช้อาวุธปืนยิงใส่รอนิง ทำให้บริเวณลำตัวและใบหน้า ถูกกระสุนปืนยิงเข้าหลายนัด และเสียชีวิตทันทีในทีเกิดเหตุ

รอนิง ดอเลาะ หรือเป็นที่รู้จักในนาม “แบรอนิง” เคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550-2560 ระหว่างการถูกควบคุมตัวแบรอนิง ถูกกระทำทรมานและปฏิบัติโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากบันทึกการตรวจสอบกรณีทรมานฯที่กลุ่มด้วยใจได้จัดทำไว้ มีการบันทึกคำบอกเล่าของแบรอนิงถึงประสบการณ์การถูกทรมานที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย การขังในห้องเย็น การให้ยืนหลายวันติดต่อกัน รวมถึงการทรมานทางด้านจิตใจ  ภายหลังจากประสบการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าว ส่งผลให้แบรอนิงต้องเข้ารับการบำบัดทางด้านจิตสังคม (Psychosocial Support) โดยการแนะนำของกลุ่มด้วยใจ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง เวลาต่อมาแบรอนิงอาสาสมัครร่วมทำงานด้านสันติภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มด้วยใจต่อไป แบรอนิงเป็นกำลังสำคัญในการเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่ประสานงานกับญาติ พูดคุยกับเหยื่อจากการถูกซ้อมทรมานจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษในพื้นที่เช่นเดียวกับที่ตนเคยประสบมา เพื่อช่วยเหลือด้านการเยียวยาและฟื้นฟู นอกจากนี้ แบรอนิงยังได้เข้าเรียนหลักสูตรนวดแผนไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยและหมอนวดแพทย์แผนไทยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย  แบรอนิง เป็นพ่อของลูก 5 คน และเป็นผู้ดูแลเด็กกำพร้าอีก 3 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เด็กกว่า 8 ชีวิตต้องสูญเสียเสาหลักในครอบครัวอย่างโหดร้ายทารุณ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรภาคประชาสังคม เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอย่างยิ่ง และตอกย้ำสถานการณ์ความรุนแรงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากว่า 20 ปี ที่ยังคงเลวร้ายและย่ำแย่ต่อไปดังกรณีการสังหารแบรอนิงซึ่งเป็นคนทำงานด้านสันติภาพและเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีดังกล่าวทำให้เกิดบรรยกาศความกลัวจากการคุกคามบุคคลใดที่ต้องการจะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และแสดงให้เห็นว่า เมื่อภาคประชาสังคมและกลไกตรวจสอบภาครัฐ ตรวจสอบการทรมานฯอย่างเข้มงวดมากขึ้น การใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการสังหารนอกระบบกฎหมาย หรือที่ประชาชนทั่วไปใช้คำว่า “การวิสามัญฆาตกรรม”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน ขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการ ดังนี้

1.       รัฐไทยต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการฆาตกรรมแบนิง ดอเลาะ ด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ เพื่อค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

2.       รัฐไทยต้องเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามที่รัฐบาลซึ่งอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนได้แสดงเจตจำนงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสามัญครั้งที่ 78 ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนร่วมกับสังคมโลก โดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน อันเป็นกฎหมายที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใดๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมใหเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง

3.       การที่คนทำงานด้านสันติภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เสียหายจากการถูกทรมาน ถูกสังหารอย่างทารุณในบริเวณบ้านของตนเองที่มีภรรยาและครอบครัวอาศัยอยู่ เพียงหนึ่งวันก่อนวันต่อต้านการทรมานสากล บ่งบอกถึงสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่ย่ำแย่ในไทย รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) จะต้องดำเนินการด้วยมาตรการทาง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องปรามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายฯ ได้จริง

4.       รัฐไทยจะต้องเยียวยาครอบครัวของรอนิง ดอเลาะ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุม อีกทั้งมีการขอโทษต่อครอบครัวรอนิง รวมถึงสาธารณชน  อนึ่งการขอโทษต่อสาธารณชน หรือ Public Apology เป็นวิธีการและเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงความสำนึกผิด และประกาศเจตจำนงถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ยอมรับว่ามีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริง เป็นอาชญากรรมที่รัฐบาลไม่อาจยอมรับได้ และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว

5.       การละเลยในการดำเนินการใดๆ ของทางการไทยอาจแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่สวนทางกับการแสดงเจตจำนงที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุดท้าย โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรภาคประชาสังคม ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัว ญาติพี่น้องและมิตรสหายของแบรอนิง พวกเราจะไม่หยุดเรียกร้องความยุติธรรมให้กับแบรอนิง และทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แถลง ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

1.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

2.       สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

3.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)

4.       มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)

5.       มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

6.       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

7.       เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net