Skip to main content
sharethis

 

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ด้านระหว่างประเทศที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

1 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์โครงการ 112WATCH เผยแพร่บทสัมภาษณ์ อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ด้านระหว่างประเทศที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ปัจจุบันทำแคมเปญเรื่องการแก้ไขวิกฤตปัญหากฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เผยว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะคืนนักโทษการเมืองให้กับครอบครัวของพวกเขาได้กลับบ้านหลังจากที่ต้องจากคนรักไปหลายปี

โดยมีรายละเอียดดังนี้

112WATCH ในปัจจุบัน สถานการณ์ของปัญหากฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไรบ้าง?

อัครชัย : สถานการณ์เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ในประเทศไทยน่ากังวลมาก ตั้งแต่มีการปราบปรามการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยของเยาวชน ประชาชนเกือบ 270 คน (20 คนในนั้นเป็นเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี) ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 โทษจากคดีนี้ทำให้ติดคุกได้ถึง 3-15 ปี คดีทั้งหมดในนั้นมี 127 คดีได้ถูกตัดสินไปแล้ว ใน 127 มี 101 คดีที่ศาลตัดสินว่าผิด 101 คดีนั้นคิดเป็นร้อยละ 80 ที่ศาลจะตัดสินลงโทษผู้ถูกดำเนินคดี ถ้าเรามองให้กว้างกว่ากฎหมายหมิ่นสถาบันฯ มีผู้คนถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา 2,000 กว่าเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม

จำนวนคดีที่เยอะขนาดนี้ถือได้ว่าเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แม้ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ปกครองโดยเผด็จการทหาร 5 ปี มีเพียง 169 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่านั้น แต่การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อปิดกั้นผู้เห็นต่างทางการเมืองในช่วง 3 ปีหลังมีผู้ถูกดำเนินคดีนี้มากกว่าช่วงเหลือการทหารกว่า 100 คดี

อีกสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตคือ การดำเนินคดีต่อเยาวชนที่อายุต่ำหว่า 18 ปี สิ่งนี้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นรัฐภาคีด้วย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2023 และตอนนี้มีรัฐบาลที่นำโดยฝ่ายพลเรือน ปัญหาของกฎหมายหมิ่นสถาบันฯก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะว่าองค์ประกอบของรัฐบาลผสม ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยมีพรรคฝั่งทหารมาอยู่ในรัฐบาลด้วย พรรคเหล่านี้ก็ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมที่นิยมประชาธิปไตยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ในรัฐบาลชุดนี้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึง 15 คดี ในช่วงเวลาเดียวกัน ศาลไทยก็ได้มีคำตัดสินกว่า 60 คดี 53 คดีในนั้นตัดสินว่ามีความผิด คิดเป็นร้อยละ 88 จากคดีทั้งหมดที่ตัดสินว่าผิดทั้งหมด    มีคดีที่น่ากังวลเป็นพิเศษ 2 คดี คือ นักกิจกรรมไทยถูกตัดสินให้จำคุก 50 ปีจากการแชร์คลิปของ John Oliver รายการ Last Week Tonight และสารคดีของ BBC และคดีของอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นแกนนำคนสำคัญ ถูกตัดสินให้จำคุก 8 ปีจากการเรียนร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อานนท์ยังถูกดำเนินคดีอีก 12 คดี

ในช่วงเวลาที่เขียนบทสัมภาษณ์นี้อยู่ มีคนถูกจำขังกว่า 27 คนจากคดี 112 3 คนในนั้นกำลังอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัว จำนวนนี้ถูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้จากการที่จะมีคำตัดสินของศาลในอนาคต

ในส่วนของการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ดูเหมือนว่าจะล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนมกราคม 2024 ว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเป็นความพยายามเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น พรรคก้าวไกลก็มีแนวโน้มจะถูกยุบ นักวิเคราะห์ทางการเมืองเชื่อว่า พรรคก้าวไกลจะมีชะตากรรมเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการพยายามปิดประตูในการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินว่าการที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ของกฎหมายหมิ่นสถาบันฯแย่ลงทุกวัน ตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย การที่ประเทศไทยตั้งใจจะไปเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้รัฐบาลเลิกมองข้ามช้างที่อยู่ในห้องเสียที และเริ่มจัดการกับปัญหาของกฎหมายหมิ่นสถาบันฯที่สร้างปัญหาให้ประเทศยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ

อะไรคือบทบาทและหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำงานเป็นแนวหน้าในการช่วงเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เราก่อตั้งศูนย์ทนายฯ เพียง 2 วันหลังจากการรัฐประหาร เป้าหมายหลักของเราคือการฟื้นฟูหลักนิติรัฐ ปกป้องสิทธิของนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และคุ้มกันประชาธิปไตย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายฯ ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทนายความก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้ากับความแข็งกร้าวเพื่อคุ้มครองหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย”

ตั้งแต่ปี 2020 ศูนย์ทนายฯได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนกว่า 1,000 คดีที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อเทียบกับช่วงปี 2014 ถึงต้นปี 2020 ที่คดีมักจะไม่เกิน 30-40 คดี ถือได้ว่าคดีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

ศูนย์ทนายและเครือข่ายได้เข้าไปช่วยเหลือทางด้านกฎหมายต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ เกือบ 300 คดี

ทนายความของศูนย์ทนายฯเข้าไปช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของคดี ทนายความของเราพาพวกเขาไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ ทนายความยังได้พาพวกเขาไปศาลเพื่อไปช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 สำหรับผู้ที่ถูกกักขังในเรือนจำ ทนายของเราจะไปเยี่ยมและสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาต่อสาธารณะเพื่อไม่ให้เรื่องราวของพวกเขาถูกลืม ผู้ถูกคุมขังที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของสาธารณชนจะต้องไม่ถูกทำให้หายไปจากความคิดของสาธารณชน

ศูนย์ทนายฯดูแลคดีกฎหมายหมิ่นสถาบันฯอย่างใกล้ชิดเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณคดี และนำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่สู่สาธารณะ เช่น มีการละเมิดสิทธิประชาชนในชั้นศาลหรือไม่ ศาลได้ปฏิบัติตามกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสมหรือไม่ ในบางคดี ศาลยืนกรานที่จะสืบพยานแม้จะไม่มีทนายเข้าไปฟังอยู่ด้วย เราเชื่อว่าข้อมูลที่เก็บมาแบบนี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรรู้

งานของเราถูกขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมันต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเราตั้งใจจะยกระดับมันทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ เราจะทำให้ทุกสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถและควรถูกวิจารณ์ได้อย่างถูกกฎหมาย ในแง่นี้ การแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ควรถูกคุมขัง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เป้าหมายของศูนย์ทนายคือการเป็นตัวแทนทางกฎหมายที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ

ในงานของคุณได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นหรือไม่ และอะไรเป็นอุปสรรคที่เด่นชัดที่สุดสำหรับคุณ?

เมื่อเราเป็นตัวแทนทางด้านกฎหมายช่วยประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกประชาชน เราย่อมไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาล ทว่า ในกรณีของกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ อุปสรรคที่สำคัญสำหรับเราคือรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประเทศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับต่อผู้ชุมนุม การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมที่สนับสนุนประชาธิปไตยและนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็รุนแรงมากขึ้น แม้ว่าจะมีรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย การดำเนินคดีมาตรา 112 ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม เราหวังว่าคนสำคัญในพรรคเพื่อไทย เช่น คุณเศรษฐา ทวีสิน และคุณแพทองธาร ชินวัตร ผู้ที่เคยให้สัญญาไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้งว่า การพูดคุยเกี่ยวกับการแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯควรเกิดขึ้นจะรักษาสัญญาที่ตัวเองเคยให้ไว้

ศูนย์ทนายฯทำงานในบริบทที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (หรือบางทีประชาธิปไตยอาจจะถดถอย)และต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม ในแง่นี้ เราเลยให้ความช่วยและได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักการนิติรัฐ เราออกแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกดทับสิทธิมนุษยชน เราจัดสัมมนาและทำแคมเปญร่วมกันกับองค์กรพันธมิตรของเรา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถทำด้วยองค์กรเดียวได้

ศูนย์ทนายฯได้รับความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างชาติ เพื่อจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยหรือไม่?

ศูนย์ทนายฯใช้ทั้งกลไกภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย เช่น เราสื่อสารในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ปิดกั้นการใช้เสรีภาพทางการเมืองให้แก่ UN Special Rapporteurs ในทางกลับกันองค์กรนี้ก็ร่วมมือกับเราส่งจดหมายร่วมกับเราไปถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายที่ละเมิดการแสดงออกอย่างสันติ เช่นเดียวกัน หน่วยงานเฉพาะของ UN ที่ทำเรื่องการจับกุมโดยพลการได้อธิบายว่า การละเมิดเสรีภาพภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการจับกุมโดยพลการและไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น งานอีกส่วนของศูนย์ทนายฯคือ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศ เช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่างประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ประเทศไทยสมัครเพื่อเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และในเดือนตุลาคมปี 2024 รัฐสมาชิก UN จะตัดสินว่าจะโหวตให้ประเทศไทยหรือไม่ หลายประเทศมีนโยบายหรือแนวทางเฉพาะเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรัฐที่เป็นสมาชิก EU ที่มีนโยบายเชิงรุกต่อนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ศูนย์ทนายฯช่วยให้ประเทศอื่นไม่มีพันธะต่อประเทศไทยในการโหวตให้เป็นคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ขณะนี้ ศูนย์ทนายฯมีแคมเปญอะไรที่สัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน?

ขณะนี้ เราได้ออกแคมเปญ “นิรโทษกรรมประชาชน” ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ เราได้รวบรวมชื่อกว่า 35,000 รายชื่อเพื่อยื่นร่างกฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเข้าสู่รัฐสภา เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้คือให้รัฐบาลนิรโทษกรรมต่อเหยื่อที่ถูกดำเนินคดีทางาการเมืองจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ที่สำคัญ กฎหมายฉบับนี้ไม่เหมือนกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาก่อนหน้าที่ทั้งหมด กฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้จะนิรโทษกรรมให้ทุกคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112

เราเชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการประนีประนอมทางการเมือง ขณะที่เรากำลังตอบคำถามนี้ มีคดีอาญากว่า 800 คดีที่กำลังดำเนินอยู่ ถ้ารัฐบาลยืนกรานว่า จะปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปเองจนถึงสิ้นสุด วงจรของคดีทั้งหลายจะสิ้นสุดในเมื่อกี่ปีข้างหน้า ถ้ารัฐบาลไม่ยอมดำเนินการอะไร สิ่งนี้เป็นอุปสรรคให้กับการเดินหน้าของประเทศไปอีกหลายปี ความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่มีวันถูกแก้ไข ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้มีการดำเนินคดีจากความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง การดำเนินคดีก็เหมือนกับออกซิเจนที่ไปจุดไฟความขัดแย้งทางการเมืองให้รุนแรงขึ้น

การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในอดีตมีการนิรโทษกรรมให้กับ “คนที่กระทำผิด” การนิรโทษกรรมในอดีตมักจะได้ประโยชน์กับแค่คนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โดยพวกเขาเลือกที่จะรัฐประหารให้ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีต คนที่จะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมคือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เราไม่เชื่อว่าการนิรโทษกรรมควรผูกขาดอยู่กับแค่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะคืนนักโทษการเมืองให้กับครอบครัวของพวกเขา อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์จะได้กลับบ้านไปหาลูก ๆ ของเขา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่น ๆจะได้กลับบ้านหลังจากที่ต้องจากคนรักไปหลายปี หลายคนมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากเกินไปจากการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ไม่มีสิ่งใดจะชดเชยกับเวลาที่ต้องอยู่คนรักที่สูญเสียไป กฎหมายนิรโทษกรรมของเราจะไม่ได้คืนเวลาที่เสียไป แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้พวกเขากลับไปอยู่กับคนที่รักเหมือนเดิม 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net