Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ “The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร” (2557)


หกโมงเย็นกว่า พวกเราพากันนั่งนับเวลารอให้พระอาทิตย์แห่งเมืองอันดามันทอแสงอ่อนลงและเปิดให้ความมืดเข้ากรีดกราย ต่อให้คนดูกว่าร้อยชีวิตจะพร้อมแล้ว หากสภาพแวดล้อมยังไม่อำนวย หนังก็ยังเริ่มฉายไม่ได้ หนังกลางแปลงต้องอาศัยความเป็นจริงประกอบการฉาย มากกว่าโรงหนังที่สร้างสภาวะจำลองกล่องมืดทึบสี่ด้าน

คณะฉายหนังเร่มาจากอีกฝั่งของทะเลจาก จ.ชุมพร มูลนิธิเสมสิกขาลัย (SEM) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลภาพยนตร์ Myanmar Film Tour 2024 ตะลอนฉายหนังเร่ทั่วไทยตลอดเดือนมิถุนายน จากชายแดนฝั่งเหนือสุดที่แม่ฮ่องสอนติดกับรัฐคะเรนนี ประเทศเมียนมา สู่เชียงราย เชียงใหม่ ไล่ลงมาถึงแม่น้ำเมย ที่วางตัวเป็นเส้นพรมแดนระหว่าง จ.ตากกับรัฐกะเหรี่ยง ลงมาสู่กรุงเทพฯ และสุดที่ปลายทางแห่งนี้ ระนอง เมืองปากทางสู่คาบสมุทรมลายู

ณ ลานกว้างหน้าอาคารเรียนของมูลนิธิมาริสท์เอเชีย นักเรียนชาวเมียนมาลูกหลานแรงงานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ค่ำนี้ โรงหนังสัญจรตีตั๋วหนังอินดี้เรื่อง “The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร” (2557) สารคดีโดย โสภาวรรณ บุญนิมิตรกับพีรชัย เกิดสินธุ์ สองอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ผู้ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ สารคดีได้รับคัดเลือกฉายครั้งแรกในระดับสากลที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เกาหลีใต้

หนังถ่ายที่ระนอง ใครมาเที่ยวเมืองรองแห่งนี้ นอกจากหาเวลาแช่น้ำพุร้อนแล้วก็มักจะแวะเที่ยว “คอคอดกระ” จุดแคบสุดของแหลมมลายู ที่แม่น้ำกระบุรีกลายเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา ห่างกันเพียงแค่หนึ่งร้อยเมตร

สายน้ำกระบุรีทอดตัวยาวลงมาสู่ทะเลอันดามัน เส้นพรมแดนนี้กำหนดขึ้นช่วงหนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อน เมื่อปีพ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 4 ลงสัตยาบันกับอังกฤษ สำรวจแนวเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ทำให้อาณาบริเวณนี้พัฒนาจากความเป็นเมืองเล็กย่อยๆ หลายเมืองที่มีวัฒนธรรมร่วมกันสู่ความเป็นรัฐชาติ ขีดเส้นแบ่งไทยและเมียนมา จุดประกายเป็นชื่อภาพยนตร์ที่ดูกันค่ำวันนี้



งานฉายหนัง “The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร” เมื่อ 30 มิถุนายน 2567

สัมผัสพม่า ณ ระนอง

“The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร” เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “หอม” เด็กหญิงวัยแปดขวบที่จู่ๆ ก็ลืมภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่และพูดแต่ภาษาพม่า หลังจากพี่เลี้ยงชาวพม่า “จี” ที่สนิทกันเสียชีวิตกระทันหัน จนทำให้ “ดา” คุณแม่คิดว่าอาการผิดปกตินี้อาจเกี่ยวข้องกับความผูกพันกับวิญญาณของพี่เลี้ยง สองแม่ลูกเดินทางจากกรุงเทพมาระนอง เพื่อตามหาครอบครัวของพี่เลี้ยงชาวพม่าที่เสียชีวิต

ที่ระนอง หอมกับดาออกตามหาน้องสาวของจี ญาติคนเดียวของจี โดยสอบถามชุมชนแรงงานพม่า ผ่านความช่วยเหลือของคุณหมอพม่าที่เปิดคลินิกเป็นที่พึ่งของคนที่นี้

ความเป็นพม่าอาจไม่ได้แปลกหน้าสำหรับระนอง หากพลิกย้อนดูตำราประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษาไทยแล้ว พวกเราเรียนว่าพื้นที่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำกระบุรีอย่างทวาย มะริด ตะนาวศรี รวมถึงเกาะสอง พื้นที่ติ่งปลายสุดของฝั่งพม่าวันนี้ก็ “เป็นของไทยมาก่อน” โดยเมืองเล็กๆ แถวนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม ทว่าพม่ายกทัพมาตี ยึดเมือง สลับการปกครองกันไป จนกระทั่งยุคอาณานิคมที่อังกฤษเข้ามายึดพม่า ทำให้รัชกาลที่ 4 ตกลงเซ็นสัญญายกพื้นที่ส่วนนั้นให้นักล่าอาณานิคมตะวันตก

คนสองฟากฝั่งแม่น้ำใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำมาหากิน เที่ยวเล่น ได้แฟน โดยไม่ได้ถือสาว่าเป็นฝั่งไหน หลังพม่าประกาศเอกราชและพัฒนาพื้นที่ชายแดนมากขึ้นช่วงศตวรรษที่ 2500 และสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกับกองกำลังชาติพันธุ์ปะทุ ทำให้คนส่วนหนึ่งหนีย้ายเข้ามาอยู่ไทย รัฐบาลไทยจึงให้สถานะทางกฎหมายคนกลุ่มนี้ว่า “ไทยพลัดถิ่น” คือยังไม่มีสัญชาติไทย แต่ว่าสืบสาวเครือญาติกันได้

ยุคนี้ ความเป็นพม่าถูกสร้างให้มีหน้าตาชัดเจนขึ้นผ่านระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว คนพม่าส่วนใหญ่ที่อยู่ในระนองเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน (พฤษภาคม 2567) พบว่ามีแรงงานพม่าไม่ต่ำกว่า 35,000 คน



ตลาดเทศบาลเมืองระนองเต็มไปด้วยเสื้อผ้า อาหารและสินค้าจากเมียนมา

หนังไทยที่พูดภาษาพม่า

หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กหญิงหอมวัยแปดขวบ พูดได้ว่า “The Isthmus” เป็นหนังไทยที่ใช้ภาษาพม่าเยอะกว่าภาษาไทย  ผู้ชมหนังรอบนี้ต่างดูกันได้สบายปร๋อ ไม่ต้องพึ่งซับ เอาจริงๆ เราผู้ชมหนังคนไทยไม่กี่คนก็อาจจะนับเป็นส่วนน้อยของคนที่นี้

แอบนึกย้อนกลับไปสิบปีก่อนตอนที่หนังเรื่องนี้ฉายในโรงที่กรุงเทพฯ คนดูคงรู้สึกเหมือนกับดูหนังต่างประเทศ ความรู้สึกนั้นอาจเหมือนกับสิ่งที่ดารู้สึก เมื่อคนที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างลูกสาวกลับให้ความรู้สึกแปลกแยกมากที่สุด

หนังเล่นกับความรู้สึก “แปลกแยก” (Alienation) ด้วยการใช้ภาษาพม่าดำเนินเรื่องและเล่าเกี่ยวกับสองแม่ลูกชาวไทยที่เข้ามาทำความรู้จักสังคมแรงงานพม่า ในเวลาเดียวกัน หนังก็เหมือนกระตุกให้เราฉุกคิดว่าทำไมเรา (คนไทยหนึ่งท่าน) ถึงได้รู้สึกเป็นอื่นกับความเป็นพม่าจังเลย คิดดูแล้วก็น่าสนใจ พอพิจารณาดูว่าเราก็ใกล้กันแค่นี้

เหมือนเราจะรู้จักความเป็นพม่าน้อยมาก ทั้งที่มีพี่เลี้ยงแต้มแก้มทานาคาเลี้ยงดูเราอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกสาวของเรากลับกลายเป็นพม่าเสียงั้น ดาบอกกับหอมว่า “หนูพูดภาษาไทยได้มั้ยลูก หนูพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ ครูเค้าฟังไม่รู้เรื่อง” แม้แต่ครูในระบบการศึกษาไทยก็ไม่รู้ว่านั้นคือภาษาพม่า

ดูเหมือนสภาวะแปลกแยกนี้อาจจะเกิดเพราะการไม่ยอมรับของเจ้าตัวเอง หอมตั้งข้อสังเกตว่าแม่ของเธอเหมือนจะรู้จักเมืองระนองดีเป็นพิเศษ แม้หนังไม่ได้ให้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เราอาจเดาจากฉากที่พวกเธอไปดูคนคลุมเรือประมงได้ว่าดามีปมในใจเกี่ยวกับพ่อตนที่เป็นชาวประมงอิสลาม ถึงขั้นตัดขาดพ่อลูกกันไม่รับเงินมรดก ปมในใจทำให้ดาไม่เคยเล่าเรื่องปู่ให้ลูกฟังหรือยอมรับว่าเป็นคนระนอง

“The Isthmus” ชวนพิจารณาว่าความห่างเหินนั้นเป็นอัตวิสัย ระยะห่างนั้นใกล้มาก คนใกล้ตัวในครอบครัวกลายเป็นคนแปลกหน้า ช่องว่างระหว่างมหาสมุทรแคบๆ นับเป็นอีกประเทศหนึ่ง โลกของคนเพื่อนบ้านกลับกลายเป็นดินแดนที่เราแทบไม่รู้จักเลย



โปสเตอร์ภาพยนตร์

รอคอยวันกลับบ้าน

“พี่จีบอกว่าทุกคนมีคนที่รออยู่ที่บ้าน ถ้าเราวาดรูปร่มนะ เขาจะได้รู้ว่าเรารออยู่”

เด็กหญิงหอมสอนเด็กชายพม่าที่เสียพ่อไปกับการออกเรือประมง ความเชื่อน่ารักๆ ของเด็กผสมลงตัวกับอีกคติพื้นบ้านของพม่าที่เชื่อว่าถ้าคนในครอบครัวเสียชีวิต จะต้องเปิดประตูบ้านไว้ เขาจะได้ผ่านเทพารักษ์ประจำบ้านแล้วกลับมาบ้านได้เป็นเวลาเจ็ดวันเพื่อระลึกถึงอดีต ก่อนไปสู่สุขคติ

ความเป็นระนองช่างเข้ากันได้ดีกับความเชื่อเรื่องร่ม ฝนที่นี้ตกได้ทั้งวันและแล้งได้อย่างรวดเร็วสมกับฉายาดินแดนฝนแปด แดดสี่ สำหรับชุมชนแรงงานพม่า พวกเขาต่างเรียนรู้ที่จะอยู่กับฝน ทุกๆ วันพวกเขาพกร่ม พร้อมพกความหวังว่าจะได้เจอกับคนที่รักอีกครั้ง

เราชอบตอนจบของเรื่องที่ชุมชนแรงงานพม่าพากันติดฝนอยู่ในตึกร้างที่สร้างไม่เสร็จจนเป็นไอคอนกลางเมืองระนอง อดไปฉลองงานบุญที่วัด คุณป้าสุดเฟี้ยวผู้ซ้อมเต้นมานานหลายเดือนจึงชวนทุกคนให้กางร่ม วิ่งมารวมตัวกันที่ตึกร้าง จัดงานบุญและคอนเสิร์ตให้มันส์ถึงใจไปเลย โดยมีนักร้องเป็นคุณหมอ ผู้นักแสดงตัวจริงเป็นนักร้องชาวกะเหรี่ยงชื่อดัง

วันนี้ก็นับว่าผ่านไปสิบปีหลังจากหนังออกฉาย ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรดานักแสดงในเรื่องจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า นักแสดงแต่ละคนเป็นแรงงานตัวจริงในเมืองระนอง บางคนทำงานปั๊มตอนกลางวัน กลางคืนมาเล่นหนัง

คนพม่าหลายคนมาไทยด้วยความตั้งใจว่าจะทำงานอยู่เพียงสั้นๆ ปั๊มเงินแล้วกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่บ้าน แต่สถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้อให้ใช้ความอุตสาหะแลกความฝันได้ รัฐประหารรอบล่าสุดตอนปี 2564 ยิ่งพาสภาพเศรษฐกิจ-สังคมดิ่งลงเหว คนหน้าเก่าหน้าใหม่ปะปน บางคนคิดว่าจะอยู่ไทยแค่ห้าปี ต่อเวลาเป็นสิบปี ต่อเวลาเป็นยี่สิบปี สามสิบปี บางรายไม่ได้กลับบ้านตั้งแต่เหตุปราบปรามนักศึกษาตอนปีค.ศ.1988 หลายคนสร้างครอบครัวที่ต่างแดน



แม่น้ำกระบุรี บริเวณ ต.ปากน้ำ เมืองระนอง เป็นจุดขึ้นเรือข้ามทะเลระหว่างไทย-เมียนมา 
โดยใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่สิบนาที


ที่ว่างรอการเติมเต็ม

คุณหมอหนุ่มพม่าตกแต่งห้องที่บ้านด้วยดวงดาว อาจเพื่อพาตัวเองย้อนกลับไปความทรงจำเก่าๆ แล้วปล่อยวางความรู้สึกคับค้องใจ ท้ายที่สุดดร.เททก็ให้คำตอบชัดเจนว่าจะอยู่ที่ไทยต่อไปเพื่อช่วยเหลือคนพม่าในต่างแดน

แต่ละคนมีวิธีการจัดการกับความรู้สึกแปลกแยกในใจต่างกันออกไป ไม่รู้ว่าสองแม่ลูกคนไทยได้คำตอบให้ตัวเองไหม ดาพาหอมนั่งเรือข้ามจากระนองไปเกาะสอง ฝั่งพม่า ทำให้เธอสบายใจขึ้นว่าเหมือนได้พาวิญญาณของจี พี่เลี้ยงสาวมาส่งบ้าน ส่วนเด็กหญิงหอมไม่ได้มองอย่างนั้น เธอเลิกพูดภาษาพม่าและค่อยๆ กลับมาพูดภาษาไทย ไม่ได้เป็นเพราะเชื่อว่าภาษาไทยสำคัญกว่า แต่เพื่อแม่ผู้ร้องไห้ฟูมฟายขอร้อง

“เราสมานแผลเก่าด้วยการสร้างแผลใหม่ไม่ได้หรอก” หอมคิด มองผู้เป็นแม่ที่ยังคงเจ็บปวดจากอดีตเก่าเกี่ยวกับพ่อ

ตอนเป็นเด็ก ความแตกต่างทางภาษาหรือสัญชาติไม่ได้มีความหมายอะไรมาก แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะค่อยๆ เห็นว่าประวัติศาสตร์ร้อยเรียงความเป็นเรามาอย่างไร แล้วเรายังคงสะดุ้งเจ็บกับบาดแผลความบาดหมางในอดีตหรือปล่อยมันไป

ดากับหอมบอกลาสังคมแรงงานพม่าที่คอคอดกระ หวนคืนคอนโดติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ในที่สุดก็ไหลหลอมรวมสู่มหาสมุทร

ปรบมือให้กับ “The Isthmus” ภาพยนตร์ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ไทย-พม่าเมื่อสิบปีก่อนได้อย่างน่าสนใจ วันนี้ สิบปีให้หลัง ไม่รู้ว่าช่องแคบระหว่างมหาสมุทรที่คอคอดกระแคบลงบ้างไหม

ในวงเสวนาก่อนการฉายหนัง เมวดี รักดี และ ชเว ชเว ไน สองสาวพม่าคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ระนองมาร่วมแลกเปลี่ยนถึง “ที่ว่าง” ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นทั้งความขาดหายและโอกาสสำหรับเติมเต็ม

“คนไทยบางคนอาจจะเจอคนพม่าที่ทำนิสัยไม่ดีกับเขา เลยตัดสินไปหมดว่าคนพม่าไม่ดีไปทั้งหมด คนพม่าก็เหมือนกัน เจอคนไทยบางคนไม่ดีก็มองว่าคนไทยไม่ดีไปทั้งหมด” สาวพม่าเล่าด้วยภาษาไทยติดสำเนียงพม่า “เราน่าจะปรับความเข้าใจกัน คือความเห็นอกเห็นใจ ว่าไม่ใช่คนไทยไม่ดีทั้งหมด คนพม่าไม่ดีทั้งหมด”

เมื่อถามว่าพวกเธอหวังจะเห็นอะไรในอีกสิบปีข้างหน้า พวกเธอมองว่า “หนูอยากให้มีสถาบันสอนภาษาที่ถูกกฎหมายและเป็นระบบ สอนทั้งสองภาษา ทั้งคนไทยและพม่าเรียนด้วยกันได้”

“เราเป็นเพื่อนบ้านกัน มีอะไรคล้ายกันเยอะ”

ชีวิตสนทนากับภาพยนตร์ ณ เมืองที่มีที่ว่างระหว่างสมุทร  

 


ตัวอย่างภาพยนตร์



 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net