Skip to main content
sharethis

สส.มานพ 'ก้าวไกล' แถลงแนวทางการช่วยแก้ไขกรณีเด็กที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากความไม่สงบในเมียนมา หลังรัฐประหารปี'64 โดยทาง สมช. และ สตช.รับไม่มีการกักขังเด็ก คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ด้าน ศธ.รับเด็กไม่มีเอกสารเข้าเรียน 

 

12 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (11 ก.ค.) มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่แถลงการณ์ หัวข้อ "แนวทางแก้ไขกรณีเด็กที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากความไม่สงบในเมียนมา 11 กรกฎาคม 2567" โดยมีสาระสำคัญจากผลการประชุมระหว่างหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรระหว่างประเทศ 'UNICEF' เข้าร่วมประชุม และได้ผลสรุปดังต่อไปนี้

  1. สมช. และ สตช. ยืนยันว่าจะไม่มีการกักขังเด็กผู้อพยพ ตามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ และยืนยันว่าจะคำนึงถึงสิทธิเด็ก
  2. ศธ. ต้องรับเด็กไม่มีเอกสารเข้าเรียนในระบบโรงเรียนไทย และสนับสนุนการจัดการสอนภาษาไทยใน ศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว (MLCs) พร้อมจัดทำเลข 13 หลักให้เด็กที่อยู่สถานศึกษา
  3. ยูนิเซฟ ยืนยันว่าจะช่วยสนับสนุนรัฐไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กอย่างเต็มที่

"แม้เราจะยังมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนทำให้เด็กผู้อพยพลี้ภัยถูกกำกับโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่รัฐบาลต้องอย่าลืมว่าเราหน้าที่ต้องส่งเสริมสิทธิพวกเขาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงให้ศึกษาพวกเขาเพื่ออนาคตเด็กและสังคมไทย" แถลงการณ์ ระบุ

รายละเอียแถลงการณ์

เนื่องจากสถานการณ์ความสงบในเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่น่ากังวลคือมีเด็กๆ เป็นจำนวนมากที่หนีเข้ามาประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ที่พักพิงและคุ้มครองแก่ผู้อพยพหนีภัยจากความขัดแย้งโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน หลายปีมานี้ประเทศไทยกำลังพัฒนากฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ครอบคลุมสิทธิของกลุ่มผู้ลี้ภัยควบคู่กับการดำเนินการตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

แม้เราจะยังมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนทำให้เด็กผู้อพยพลี้ภัยถูกกำกับโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่รัฐบาลต้องอย่าลืมว่าเราหน้าที่ต้องส่งเสริมสิทธิพวกเขาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงให้ศึกษาพวกเขาเพื่ออนาคตเด็กและสังคมไทย

เมื่อวาน กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ จึงได้พิจารณาแนวทางแก้ไขกรณีเด็กที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากความไม่สงบในเมียนมาในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ UNICEF ประเทศไทย เข้าร่วมประชุม และสรุปได้ว่า

สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการจับกุมกักขังเด็กผู้อพยพ ตามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ที่จัดทำขึ้นระหว่าง 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยืนยันการดำเนินการตามกฏหมายโดยจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิเด็กเป็นสำคัญ

กระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการจัดทำประวัติเด็กที่อยู่ในสถานศึกษายังไม่มีเลข 13 หลัก

กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กศน.) จะเร่งดำเนินการรับนักเรียนที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวเข้าสถานศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบกระทรวงศึกษา ปี 2548 รวมถึงเร่งดำเนินการจดแจ้ง และช่วยเหลือพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาไทยในศูนย์การเรียนรู้

และทาง UNICEF ประเทศไทยก็ยืนยันว่ายินดีที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กอพยพลี้ภัยเหล่านี้

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net