Skip to main content
sharethis

สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติพม่า ประกาศต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 6 โดยอ้างเพื่อให้กองทัพพม่าสร้างความมั่นคงในประเทศก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไป ด้านสหรัฐฯ ประณามขัดขวางการพาพม่ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย

 

5 ส.ค. 2567 เว็บไซต์ เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า หรือ DVB รายงานเมื่อ 31 ก.ค. 2567 ว่า สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างการประชุมในกรุงเนปิดอ เมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าการขยายเวลาครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าทำให้ประเทศมีความมั่นคงก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไป

พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย เข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี เมื่อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก มยิ้ดส่วย ต้องลาพักรักษาตัวเพื่อรักษาอาการจากโรคทางด้านประสาทผิดปกติ และปลายประสาทอักเสบ

นี่เป็นการต่อสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 6 ของรัฐบาลทหารพม่า นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 ภายใต้รัฐธรรมนูญเมียนมา ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) โดยการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาจะต้องจัดขึ้นหลังจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินภายในระยะเวลา 6 เดือน มินอ่องหล่าย ให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2568

แมทธิว มิลเลอร์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 31 ก.ค. 2567 ระบุว่า เผด็จการทหารพม่ากำลังขัดขวางความปรารถนาของพลเมืองพม่า และความต้องการให้เปิดการเจรจากับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ เพื่อพาประเทศกลับมาสู่ประชาธิปไตย “การกระทำของกองทัพพม่าทำให้วิกฤตยืดเยื้อออกไป”

สว.สหรัฐฯ เรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศทบทวนนโยบายด้านพม่า

กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้ออกนโยบายใหม่ เพื่อช่วยยุติความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเมียนมา และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนกองกำลังประชาธิปไตยพม่า เมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย สว.จากพรรครีพับลิกัน มิตช์ แมคคอนเนลล์ และ สว.เบน คาร์ดิน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการต่างประเทศวุฒิสภา

“เนื่องจากความเสี่ยงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อดยาวนานมากขึ้น ผลคือการนำมาสู่รัฐที่แตกแยกอย่างถาวร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม และโน้มตัวไปข้างหน้าเกี่ยวกับพม่า เราขอเรียกร้องให้มีแนวทางใหม่อย่างเร่งด่วนในการสนับสนุนกองกำลังต่อต้านภายในประเทศพม่า ผู้ซึ่งกำลังยืนหยัดอย่างกล้าหาญต่อความโหดร้ายของกองทัพเผด็จการ”

สว.สหรัฐฯ เรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งรวมถึงภาคการบิน พวกเขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นในประเทศพม่า หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ลงนามกฎหมาย BURMA Act เมื่อ 8 ธ.ค. 2566 ซึ่งให้อำนาจสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือสิ่งของที่ไม่ใช่อาวุธให้กับกลุ่มต่อต้าน

เรียกร้องให้รัฐบาลจีนหยุดสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า

เมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มชุมชนชาวพม่าในเมืองนิวยอร์ก (NYCBC) เรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า เมื่อ 30 ก.ค. 2567 โดยการชุมนุมจัดขึ้นหน้าสำนักงานผู้แทนถาวรของจีนของสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ บรรยากาศการชุมนุม มีประชาชนตะโกนและชูป้ายปรากฏข้อความว่า “จีนหยุดสนับสนุนกองทัพพม่า” และ “ไม่มีโบรกเกอร์คนไหนสามารถกำหนดราคาของการปฏิวัติได้" NYBC ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ และมีการจัดการประท้วงเพื่อความสามัคคีหน้าสถานทูตจีน ประจำกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐฯ 

ชาวพม่าอพยพชุมนุมประท้วงจีน ในกรุงโซล เกาหลีใต้

เมื่อ 1 ส.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก อิรวดี รายงานว่า ชาวพม่าอพยพในเกาหลีใต้ออกมาชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตจีน ในกรุงโซล เพื่อประณามรัฐบาลปักกิ่งที่ให้การสนับสนุนเผด็จการทหารพม่า ผู้ประท้วงวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนการจัดเลือกตั้งทั่วไปของรัฐบาลทหารพม่า และพยายามบ่อนทำลายความพยายามต่อต้านรัฐบาลทหาร ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธให้กองทัพพม่า ชาวพม่าได้วิจารณ์บทบาทของจีนในการปกป้องเผด็จการพม่าในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประกาศสานต่อเจตนารมณ์แห่งการต่อต้านจนกว่าเผด็จการทหารพม่าจะถูกโค่นลง


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net