Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจาก เมื่อ 1 ส.ค. 2567 นิกร จำนงค์ เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงผลประชุมระบุว่า กมธ. ได้มีการพิจารณารายงานส่งให้สภาผู้แทนราษฎร 

โดยประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ในรายงานของ กมธ.ไม่ได้ถูกตัดออกไปจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ว่าทำเป็นความเห็นเสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.นิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 2.นิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวอย่างมีเงื่อนไข และมีการเสนอเงื่อนไขประกอบ และ 3.ไม่นิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองไปพิจารณาร่างกฎหมายของแต่ละพรรค

ประชาไทจึงชวนคุยกับ 3 นักกิจกรรมการเมือง ประกอบด้วย กรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และธัชพงษ์ แกดำ ถึงความคิดเห็นในคำถามที่ว่า 'คิดยังไงถ้านิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แบบมี 'เงื่อนไข'' และข้อเรียกร้องที่อยากส่งถึงแต่ละพรรคการเมือง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จุดยืนของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทันที และไม่มีเงื่อนไข ในคดีดังต่อไปนี้ 1. ความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. 2. คดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศ คสช.ที่ 37/2557 และ 38/2557 3. คดีมาตรา 112 4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5. คดี พ.ร.บ.ออกเสียงประชาตมติรัฐธรรมนูญ 2559 และ 6. คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับข้อ 1-5

 

ยืนหลักการมาตรา 112 ควรได้นิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข

กรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิก DRG ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานของ กมธ.พิจารณาศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่มีการแถลงต่อสื่อของนิกร ซึ่งเรามีข้อกังวลเรื่องการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ที่แยกออกมา 3 ส่วน เพราะมองว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติบางคดีพิเศษกว่าคดีอื่นๆ ทั้งที่คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น มันทำให้หลักการที่เรามาเรียกร้องการนิรโทษกรรมมันผิดไป และไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย เพราะว่าการนิรโทษกรรมคือ "หลักประกันทางเสรีภาพ"

กรกช กล่าวต่อว่า ถ้าเรายอมรับเงื่อนไขว่ามีคดีบางคดีที่พิเศษ นั่นหมายความว่าเรายอมรับว่ามีเสรีภาพทางการเมืองบางอย่างมีเงื่อนไข และไม่ถูกนับเหมือนเสรีภาพทางการเมืองอื่นๆ ที่ได้แสดงออกมา ทาง DRG และเครือข่ายฯ จึงยืนยันว่า ถ้าคณะกรรมาธิการฯ ศึกษามาแล้วว่าผู้ที่โดนคดีมาตรา 112 หรือ 110 เข้าข่ายคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ควรได้รับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองไปเลย

กรกช แสงเย็นพันธ์ (ที่มา: แมวซาโบ)

เสนอหยุดกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศหารือทางออกเรื่องนิรโทษกรรมอย่างรอบด้าน

สมาชิก DRG เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งความเห็นให้มีการพักกระบวนการพิจารณาคดีทางการเมืองทั้งหมด เพื่อให้เกิดการพิจารณาการนิรโทษกรรมได้อย่างเต็มที่ อันนี้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ได้เหมือนกัน และจะนำมาสู่การหารือว่าทำไมเราต้องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 และผลกระทบของการนิรโทษกรรมคืออย่างไร

สมาชิก DRG ระบุต่อว่า กลายเป็นว่าตอนนี้มีแค่การเปิดเผยตัวคดีความอย่างเดียว ซึ่งคดีมาตรา 112 คือหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่เรายังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าต้องนิรโทษกรรมเพราะอะไร หรือนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขมันส่งผลอย่างไร มันยังไม่มีบรรยากาศที่จะเข้ามาสู่การพูดคุยกันได้ ทำให้ภาพที่สื่อสารออกไปคือเราพยายามนิรโทษกรรมให้คนที่พยายามโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เหรอ แทนที่เราจะได้ศึกษาเนื้อหาหรือประเด็นที่เกิดจากคดี 2 คดีนี้ (มาตรา 112 และมาตรา 110) คืออะไร มันขาดมิติตรงนี้ไป

ถ้าไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 จะยิ่งจำกัดกรอบการพูดเรื่องสถาบันพระกษัตริย์ลง

สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มักมองว่า มาตรา 112 เป็นคดีอาญา และคดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีการเมือง กรกช กล่าวว่า เขายืนยันมาตลอดว่าคดีมาตรา 112 มันเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแน่นอน เพราะว่าคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และถูกดำเนินคดี คือคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 นโยบายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์โควิด-19 ที่เกี่ยวข้องบริษัทที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และในแง่ของพระราชอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครมีความขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงหรือเป็นการส่วนตัว เราวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะบุคคลทางการเมือง และหน่วยงานที่อยู่ในกลไกของระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราเลยมองว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง และจำเป็นต้องได้รับการนิรโทษกรรม

กรกช กล่าวว่า การไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 นอกจากจะไม่จัดการปัญหาทางการเมือง และทำให้คนที่โดนมาตรา 112 เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับพระมหากษัตริย์แล้ว มันจะทำให้เสรีภาพการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลดน้อยถอยลงไปอีก

“การแก้ไข รธน.หมวด 1 หมวด 2 ในอนาคต มันจะมีปัญหา และเราจะถูกจำกัดกรอบการใช้เสรีภาพและการเคลื่อนไหวเรื่องนี้แน่นอน เพราะว่าการไม่นิรโทษกรรม 112 มันคือการสื่อสาร …ในเชิงสังคมว่าเสรีภาพไหนที่คุณใช้ไม่ได้” กรกช กล่าว และระบุว่า มันจะเป็นการสร้างบรรยากาศความกลัวอีกรูปแบบหนึ่ง และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยด้วย

ไม่เห็นด้วยมีเงื่อนไข หวั่นตีตราผู้ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออก

‘บอย’ ธัชพงษ์ แกดำ นักกิจกรรมการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับเขา ตามหลักการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยอยู่แล้วอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไข เพราะมาตรา 112 มีสารตั้งต้นมาจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คนที่โดนคดีมาตรา 112 คือคนที่ออกมาแสดงความเห็นไม่ว่าแสดงความเห็นแบบใดก็ตาม  มันมีการยัดคดีให้คนที่เห็นต่างจากรัฐ และคนที่แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ธัชพงษ์ แกดำ (ถ่ายโดยแมวส้มประชาไท)

นอกจากนี้ ธัชพงษ์ มองด้วยว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดี เขาเชื่อว่าจะเป็นประตูบานแรกของการคลี่คลายความขัดแย้งที่สังคมจมปลักมาหลายทศวรรษ นำมาสู่ความเข้าใจกัน ก้าวข้ามไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดที่จะละเว้นไม่นิรโทษฯ มาตรา 112 หรือนิรโทษฯ แบบมีเงื่อนไข

ธัชพงษ์ กล่าวว่า แม้ว่าประเด็นที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดยมีเงื่อนไข เช่น การป้องกันการกระทำผิดซ้ำ จะเป็นเจตนาดีในทางการเมือง แต่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นการตีตราผู้ถูกดำเนินคดี เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ทำผิด เขาออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะนิรโทษกรรมก็ต้องนิรโทษกรรมไปเลยโดยไม่มีเงื่อนไข

"เรายังไม่ทราบว่าทาง กมธ.เสนอเงื่อนไขอย่างไร และจะถือว่าเป็นการตีตราคนที่ถูกกล่าวหาทางการเมืองหรือไม่ ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้ทำผิด ผมเลยไม่ค่อยเห็นด้วย ถ้าจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ต้องนิรโทษกรรมไปเลย คือเอาหลักการง่ายๆ ว่า นิรโทษกรรมคดีการเมือง ก็ต้องรวมทุกคดีการเมืองทุกคดี เพราะว่าไม่งั้นมันทำลายหลักการนิรโทษกรรม มันไปต่อไม่ได้" ธัชพงษ์ กล่าว

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักกิจกรรมการเมือง และถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาแล้วกว่า 14 คดีนั้น สำหรับเธอยืนยันว่าจุดยืนของนักกิจกรรมคือต้องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะว่ามาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ใครแจ้งความก็ได้ คนที่โดนคดีทั้งที่ผลการตัดสินยังไม่สิ้นสุด แต่เข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว มีคนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวคดีนี้ และมีคนที่ติดคุกยาวนานมากๆ

"ถ้าเราไม่นิรโทษกรรมคดีนี้ (มาตรา 112) บ้านเมืองจะอยู่ในบรรยากาศของความกลัว บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่สามารถพูดอะไรได้เต็มที่ ถ้าเราต้องการเดินไปข้างหน้า ก็ต้องมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112" จุฑาทิพย์ กล่าว

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ (แฟ้มภาพ เมื่อ 4 ก.ย. 2563 ถ่ายโดย Banrasdr Photo)

อยากฝากอะไรถึงพรรคการเมืองต่างๆ  

ต่อประเด็นที่ว่ากังวลหรือไม่ว่าเรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะยากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมามีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคฯ ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 และ 110 คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย

จุฑาทิพย์ กล่าวว่า สำหรับเธอไม่ได้แปลกใจ เพราะว่ามันเป็นจุดยืนของทั้ง 2 พรรคการเมือง  และมองว่าทั้ง 2 พรรคฯ ไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกในการชุมนุมหรือการวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว แต่ว่าถ้าพวกเขาเห็นความสำคัญของประชาชน และเห็นว่าบ้านเมืองนี้จะพัฒนาต่อไปด้วยสิทธิเสรีภาพ ด้วยประชาชนที่หลากหลาย มีพื้นที่ความปลอดภัยในการพูดคุยกัน ก็อยากให้นำเรื่องของการรวมมาตรา 112 พิจารณาด้วย

กรกช กล่าวว่าเขาอยากจะฝากถึงทุกพรรคการเมืองเป็นรายประเด็นเลยว่า อยากให้พิจารณาทุกคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองว่าควรได้รับการนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข อยากให้พื้นที่สภาฯ เป็นพื้นที่พูดถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และต้องมีการพิจารณาชดเชยความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีทางการเมือง

กรกช ทิ้งท้ายว่าอยากให้พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมือง คือการทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองมีอำนาจเท่าเทียมกับผู้มีอำนาจ เพื่อนำไปสู่การเจรจาอย่างเท่าเทียม หาทางออกความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี แต่ถ้าบอกว่ามีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข มันคือการที่บอกว่าการให้อภัยแบบมีเงื่อนไข เสรีภาพมันเป็นของเราอยู่แล้ว เราไม่ได้ขอสมาชิกสภาฯ หรือพรรคการเมืองมอบให้ แต่ขอให้สมาชิกสภาฯ ทำให้เกิดบรรยากาศการแก้ไขความขัดแย้งจริงๆ ไม่ใช่ความกลัวการใช้เสรีภาพมากขึ้น

ธัชพงษ์ อยากชวนคุยว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองไม่ใช่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่มันคือการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และพร้อมจะเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การตีตราว่าใครเป็นคนผิด และอยากฝากถึงพรรคการเมืองด้วยว่า หลักการนิรโทษกรรมเราต้องใจกว้าง ผู้มีอำนาจต้องใจกว้าง ถ้าคุณทำให้สังคมมีทางออกโดยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่สะสมมาอย่างยาวนาน มันจะเป็นผลงานและได้รับการยอมรับจากสากล

"(การนิรโทษกรรมคดีการเมือง) เป็นการประกาศว่าเราพร้อมจะเดินต่อไปข้างหน้าโดยรับความเห็นต่าง แต่ถ้าหากมันยังมีคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ความขัดแย้งมันก็ดำรงอยู่ วันหนึ่งก็ต้องมีคนใช้ข้อหา 112 ดำเนินคดีคนที่ยังเห็นต่าง สุดท้าย การนิรโทษกรรมก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะว่ามันไปไม่ถึงมาตรา 112" ธัชพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เมื่อ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ทุกฉบับ ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง จึงเริ่มมีการกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน จนถึงเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 มีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 272 คนใน 304 คดี (เท่าที่ทราบข้อมูล) ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 20 คนจาก 24 คดี

ขณะที่จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ อัพเดทข้อมูลเมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า คดีมาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษารวมอย่างน้อย 152 คดี คดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษา จำนวนอย่างน้อย 78 คดี โดยแยกเป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 18 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 41 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 10 คดี, คดีที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 6 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 3 คดี

ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีลงโทษจำคุกยาวนานที่สุดในคดีมาตรา 112 คือ มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ ชาวเชียงราย อายุ 30 ปี ถูกศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เพิ่มโทษจำคุก 50 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net