Skip to main content
sharethis

เมื่อ ‘วรรณกรรมเยาวชน' สามารถเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะในการปกป้องตนเองในสังคมออนไลน์ ชวนอ่าน ‘#BehindTheScreen โซเชียล ไม่รู้หน้า ไม่รู้ใจ’ รวมเรื่องสั้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้สิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยไซเบอร์แก่เยาวชน

13 ก.ค. 2567 ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเยาวชน การให้ความรู้และตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์กลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น 

‘สำนักพิมพ์เรียงรัน’ เล็งเห็นว่า 'วรรณกรรมเยาวชน' สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะในการปกป้องตนเองในสังคมออนไลน์ จึงได้จัดทำ 'โครงการวรรณกรรมเยาวชนเพื่อความตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยไซเบอร์ โดยสำนักพิมพ์เรียงรันปี 2024' มีผลผลิตคือหนังสือ ‘#BehindTheScreen โซเชียล ไม่รู้หน้า ไม่รู้ใจ’ รวมเรื่องสั้น 9 เรื่อง จากคณะนักเขียนสำนักพิมพ์เรียงรัน

โดยเรื่องราวและตัวละครในเรื่องสั้นเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนปัญหาและสถานการณ์ที่เยาวชนอาจพบเจอในโลกไซเบอร์ ทั้งยังให้คำแนะนำและแนวทางในการจัดการกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นแหล่งบันเทิงและความสนุกสนาน แต่ยังเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน

ปิญณ์ชาน์ เหล็กเพชร บรรณาธิการสำนักพิมพ์เรียงรัน ระบุว่าการสื่อสารกับเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยตรง หรืออาจจะรวมไปถึงพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกหลานในวัยติดโซเชียลด้วยเราอยากสร้าง content aware ให้รู้เท่าทันภัยคุกคามและสแกมมิ่งต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอันตรายจากการใช้โซเชียลมีเดียแบบคนที่ยังอ่อนเยาว์ต่อโลก การอ่านเรื่องสั้น ๆ นั้นดึงดูดความสนใจได้ง่ายมากกว่าการอ่านหนังสือเล่มหนา

“แต่ละเรื่องเรายังสามารถสร้างเหตุการณ์สแกมมิ่งที่แตกต่างกัน ทั้ง ฟิชชิ่ง, สแกมหลอกเงิน, บูลลี่ออนไลน์ ฯลฯ ตัวละคร เหตุการณ์และสถานการณ์จำลองในนิยายสั้น ๆ แต่สอดแทรกสาระให้รู้จักเทคนิคป้องกันตัวจากสถานการณ์อันตรายที่อาจเจอจากการใช้งานโซเชียลแบบไม่ระมัดระวัง และเป็นตำรารับมือที่ไม่น่าเบื่อด้วย” ปิญณ์ชาน์ กล่าว

ไอโกะ ฮามาซากิ หนึ่งในคณะนักเขียน ระบุว่าปัจจุบันสื่อดิจิทัลได้เข้าถึงและเข้าสู่มือของคนเกือบทุกคน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีวิจารณญาณต่อสื่อหรือข้อมูลอันหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียแตกต่างกัน ซึ่งวิธีคิดของคนแต่ละคนในระดับปัจเจก ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลให้มีวิจารณญาณที่แตกต่างกันออกไปด้วย

“เบื้องต้น งานวรรณกรรมจะช่วยฝึกวิสัยในการอ่านตัวอักษร ข้อความ หรือเนื้อหาที่มีขนาดยาวได้ ซึ่งควรเป็นสิ่งพื้นฐานของการเล่นโซเชียลมีเดีย คือการอ่านข้อความให้ครบถ้วน และใช้เวลาในการใคร่ครวญไตร่ตรอง ก่อนการลงมือกระทำใด ๆ ในโซเชียลมีเดีย” ไอโกะ กล่าว

ดาวน์โหลด/อ่าน รวมเรื่องสั้น ‘#BehindTheScreen โซเชียล ไม่รู้หน้า ไม่รู้ใจ’ ทางออนไลน์ได้ที่
https://tinyurl.com/BehindTheScreenonScribd
https://tinyurl.com/BehindTheScreenonMebmarket 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net