Skip to main content
sharethis

บทความจาก The Conversation ชี้ว่ามีเด็ก ๆ เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬามากขึ้น อย่างไรก็ตามองค์กรกีฬากลับล้มเหลว ในการปกป้องเด็กจากเรื่องอื้อฉาว ทุจริต และละเมิดสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้มีการคุ้มครองนักกีฬาเด็ก บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องจากการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ


ที่มาภาพ: giac_au/Flickr (CC BY-NC-ND 2.0)

เว็บไซต์ The Conversation ได้เผยแพร่บทความ With the Olympics approaching, it’s time to recognize children as a protected class in sport โดย Peter Donnelly และ Marcus Mazzucco เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2024 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ...

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์สมมตินี้: เด็กอายุ 15 ปี ถูกจับได้ว่าเสพกัญชาในที่สาธารณะและถูกตั้งข้อหา หากเด็กถูกตัดสินว่ามีความผิด ศาลมีดุลพินิจในการสั่งปล่อยตัวโดยไม่มีโทษ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินลง หรืออาจยกเว้นการลงโทษภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีการห้ามเผยแพร่ข้อมูลเพื่อปกป้องตัวตนของเด็ก

แต่ถ้าเด็กเป็นนักกีฬาที่ถูกจับได้ว่าเสพกัญชา ในการแข่งขันกีฬาซึ่งละเมิดกฎการต้านการใช้สารเสพติด?

หากพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง นักกีฬาจะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน และถูกสั่งห้ามแข่งขันกีฬาตามระยะเวลาที่กำหนด จะไม่มีการห้ามเผยแพร่ข้อมูลเพื่อปกป้องตัวตนของนักกีฬาเด็กจากการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ

ภายใต้สถานการณ์สมมตินี้ แสดงให้เห็นถึงการปกป้องนักกีฬาเด็กในวงการกีฬาที่มีไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่น ๆ ของสังคม ตัวอย่างคล้าย ๆ กันที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติต่อเด็กภายในและภายนอกวงการกีฬา สามารถพบได้ในการสืบสวนการทารุณกรรมและการกำหนดอายุสำหรับกิจกรรมที่เสี่ยง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายทางจิตใจและร่างกายต่อเด็ก

เมื่อโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสใกล้เข้ามา คำถามเกี่ยวกับนักกีฬาเด็กที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาจะถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง นี่เป็นโอกาสสำหรับแวดวงการกีฬา ที่จะแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องนักกีฬาเด็ก

ธรรมาภิบาลด้านกีฬา

ทุกประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม 'พิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก' (Convention on the Rights of the Child)

ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายที่รับรองว่าเด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง โดยมีการกำหนดข้อผูกพันให้กับสถาบันต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก

องค์กรกีฬาคาดหวังว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายในการดูแลเด็ก แต่ต่างจากสถาบันอื่น ๆ องค์กรกีฬามักไม่มีความรับผิดชอบทางกฎหมายเมื่อพวกเขาล้มเหลวในการปฏิบัติ เนื่องจากการขาดกำกับดูแล องค์กรกีฬามักจะปกครองตนเอง มีอิสระ พวกเขาดำเนินงานโดยมีการแทรกแซงจากรัฐน้อยมาก

เดิมที องค์กรกีฬาได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการโดยผู้ใหญ่เพื่อผู้ใหญ่ ควบคุมการแข่งขันสำหรับนักกีฬาสมัครเล่น บนสมมุติฐานที่ว่าจะปกครองด้วยผลประโยชน์สูงสุดของสมาชิกและกฎระเบียบเป็นของตนเอง

สโมสรและองค์กรกีฬาได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาเป็น "องค์กรที่เป็นอิสระอย่างเต็มที่จากหน่วยงานภาครัฐ" ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ความเป็นอิสระนี้ยังคงอยู่ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในวงการกีฬาเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

วงการกีฬาที่เปลี่ยนไป


ที่มาภาพ: Rachel/Unsplash 

มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในวงการกีฬาตลอด 70 ปี ที่ผ่านมา ประการแรก คือเด็ก ๆ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามากขึ้นในหลายประเทศ

ประการที่สอง เนื่องจาก 'การเมืองกีฬา' ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลหลายประเทศมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมในการให้ทุนและการกำกับดูแลกีฬา บางประเทศใช้เงินจำนวนมาก เพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ นักกีฬาเด็กจึงถูกดึงเข้าไปในการแข่งขันกีฬาระดับโลกเหล่านี้

ประการสุดท้าย การเติบโตแบบพึ่งพาธุรกิจในวงการกีฬา และการรายงานข่าวกีฬาที่แพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ได้สร้าง 'อุตสาหกรรมกีฬา' ที่ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการกีฬาระดับโลก แต่องค์กรกีฬา (ที่ควรจะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ) ยังคงรักษาความเป็นอิสระของตนอย่างมั่นคง และขาดการกำกับดูแลที่ดี

องค์กรกีฬาไม่สามารถปกป้องเด็กได้


ที่มาภาพ: Vane Caos/Unsplash

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานมากมายเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาว การทุจริต ผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความล้มเหลวในการกำกับดูแล และการทารุณกรรมต่อนักกีฬา

เด็กไม่ได้รับการปกป้อง จากความล้มเหลวขององค์กรกีฬา ส่วนใหญ่กฎระเบียบและกระบวนการทางวินัยขององค์กรกีฬามักไม่ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

การบังคับใช้สถานะ “กลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง” สำหรับเด็กที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาจะเป็นก้าวสำคัญ ในการบรรลุประเด็นสิทธิเด็กอย่างแท้จริง

คำแถลงขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เกี่ยวกับ "งานที่มีคุณค่าในกีฬา" ยอมรับนักกีฬาเด็กและให้แนวทางการคุ้มครองเด็กในวงการกีฬา ได้ระบุถึงความจำเป็นดังต่อไปนี้:

- การคุ้มครองพิเศษจากการถูกทารุณกรรม การบาดเจ็บและความเจ็บป่วยที่เกิดจากกีฬา
- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อปกป้องนักกีฬาเด็ก จากการแสวงประโยชน์ และให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
- นโยบาย โปรแกรม และการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และมาตรฐานการคุ้มครองเด็กระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันขององค์กรกีฬา ความล้มเหลวในการกำกับดูแลภายในองค์กรกีฬา ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่มุ่งเน้นไปที่ 'การประสบความสำเร็จ' และ 'การปกป้องชื่อเสียง' มากกว่า 'การกำกับดูแลในลักษณะที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเป็นประชาธิปไตย'

การปกป้องเด็กในวงการกีฬา


ที่มาภาพ: Wikimedia

เริ่มเห็นแนวโน้มที่นักกีฬาเด็กจะได้รับการคุ้มครอง ปัจจุบันมีความพยายามร้องเรียนเกี่ยวกับการทารุณกรรม โดยหน่วยงานอิสระจากองค์กรกีฬา เช่นใน แคนาดา สหรัฐฯ เยอรมนี และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มการจำกัดอายุขั้นต่ำในประเภทการแข่งขันแบบเปิด และใช้กฎต่อต้านการใช้สารกระตุ้น ที่ปฏิบัติต่อนักกีฬาเด็กอย่างรุนแรงน้อยกว่านักกีฬาที่เป็นผู้ใหญ่

แม้ว่าตัวอย่างเหล่านี้จะมีจำนวนน้อย มีขอบเขตจำกัด และมีข้อบกพร่องของตัวเองอยู่ แต่ก็ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาสิทธิเด็กในวงการกีฬา

ปัญหาที่เด็กพบเจอในวงการกีฬา เป็นปัญหาเชิงระบบ และยิ่งเด็กถูกนำออกจากการควบคุมขององค์กรกีฬาและได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเด็กในสถาบันอื่น ๆ ก็จะยิ่งทำให้วงการกีฬามีการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม

ในอนาคตนักกีฬารุ่นใหม่ ๆ จะไม่ต้องถูกข่มขู่ แสวงประโยชน์ หรือทารุณกรรมโดยผู้มีอำนาจในวงการกีฬา และได้รับการคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์

ตามที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านการต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศเด็กได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมของสภาสิทธิมนุษยชนในปี 2019:

"หลักการความเป็นอิสระและลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นหัวใจของสถาบันกีฬา ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการละทิ้งความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรเหล่านี้"


ที่มา:
With the Olympics approaching, it’s time to recognize children as a protected class in sport โดย Peter Donnelly และ Marcus Mazzucco
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net