Skip to main content
sharethis

บทความของ อิกอร์ บลาเซวิค ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ประชาสังคมกรุงปรากและผู้เคยทำงานโครงการริเริ่มด้านการศึกษาในพม่ามาก่อนเป็นเวลาหลายปี เตือนกลุ่มล็อบบี้ให้เกิดการเจรจาในพม่า ว่าควรไปศึกษาวิธีการแบบที่ผู้นำรัสเซียเคยใช้ประโยชน์จากการเจรจาในการกดขี่ชนกลุ่มน้อยมาก่อน เพราะกลัวจะตกหลุมพรางแบบเดียวกันเนื่องจากผู้นำรัฐประหารพม่า มินอ่องหล่าย ดูเหมือนจะเดินเกมแบบเดียวกันกับผู้นำรัสเซีย

อิกอร์ บลาเซวิค ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ประชาสังคมกรุงปรากและเคยมีประสบการทำงานในพม่า เขียนบทความวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ลงในสื่ออิระวดี โดยเตือนว่า ใครก็ตามที่พยายามส่งเสริมและเชื่อว่ามันจะต้องมี "ทางออกด้วยการเจรจาต่อรอง" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวิกฤตหลังรัฐประหารพม่า คนกลุ่มนี้มักจะมองข้ามปัจจัยไปสองประการในยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดของผู้นำรัฐประหารพม่า มินอ่องหล่าย

ปัจจัยแรก คือ การที่มินอ่องหล่ายได้วางเดิมพันกลุ่มพันธมิตรเผด็จการอำนาจนิยมอย่างรัสเซีย, จีน, และในกรณีของพม่าก็รวมอินเดีย, อิหร่าน และเกาหลีเหนือเข้าไปด้วย โดยจัดให้เป็นกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนเขาได้อย่างพอเพียงจนทำให้เขาไม่ต้องสนใจประเทศอื่นๆ ก็ได้ ตัวของมินอ่องหล่ายเองกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของเขา กำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะปฏิสัมพันธ์และเอาอกเอาใจประเทศเหล่านี้ รวมถึงเสนอผลประโยชน์ที่คิดว่าประเทศเหล่านี้จะสนใจ

ในขณะที่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั้งเอเชียและตะวันตก กำลังระมัดระวังอย่างมากในการที่จะไม่ทำให้พม่ากลายเป็นสนามของสงครามตัวแทนระหว่าง สหรัฐฯ กับ กลุ่มประเทศพันธมิตรต่อต้านตะวันตกอย่าง จีน-รัสเซีย-อิหร่าน ซึ่งมินอ่องหล่ายกำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือพยายามดึงฝ่ายอำนาจนิยมต่อต้านชาติตะวันตกเข้าหา

มินอ่องหล่าย กำลังพยายามทำทุกวิถีทางในการที่จะลากพันธมิตรอำนาจนิยมเข้ามาสู่พม่าแล้วก็ทำให้ประเทศเหล่านั้นได้รับปัจจัยทางยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ (กรณีรัสเซีย) หรือได้เพิ่มในสิ่งเหล่านี้ (กรณีจีนกับอินเดีย) เรื่องนี้กลายเป็นเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์สำหรับประเทศอำนาจนิยมเหล่านี้ในการช่วยอุ้มกองทัพเผด็จการพม่าให้อยู่รอดในช่วงที่พวกเขากำลังอ่อนแออย่างมาก

ปัจจัยที่สอง คือ การที่มินอ่องหล่ายได้ส่งเสริมวิธีการแบบการทำลายล้าง (อย่างเต็มรูปแบบ) ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับการสงครามและการอยู่รอดของกองทัพเผด็จการ มันถึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ผู้กำหนดนโยบาย, ทูต และนักวิเคราะห์จำนวนมากพากันมองพม่าผ่านแว่นของพวกเขาที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับกรณี ยูโกสลาเวีย, อิรัก, ซีเรีย และลิเบีย มาก่อน รวมถึงการเกิดขึ้นของรัฐต่างๆ บนคาบสมุทรบอลข่าน (Balkanization) หรือเรื่อง "การขาดเอกภาพ" ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นความกังวลหลักๆ ของพวกเขา

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิเคราะห์เหล่านี้ก็ลืมไปว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ชนะสงครามครั้งที่ 2 ในเชชเนียได้อย่างไร และรัสเซียกับอิหร่านช่วยให้ผู้นำเผด็จการ บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียอยู่รอดและได้รับชัยชนะได้อย่างไร และรัสเซียได้ทำสงครามรุกรานและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครนได้อย่างไร

บลาเซวิค มองว่าการจงใจโจมตีเป้าหมายพลเรือนและการทำลายล้างอย่างเต็มรูปแบบต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนและวิถีชีวิตของผู้คนนั้น ไม่ใช่แค่เพียงผลข้างเคียงหรือลูกหลงจากความโชคร้าย แต่เป็นแก่นแกนหลักๆ ของยุทธศาสตร์ของทั้งรัสเซียและของมินอ่องหล่ายด้วย

บลาเซวิคระบุในบทความว่า หลักการหลักๆ ของยุทธศาสตร์เช่นนี้คือ "อะไรก็ตามที่พวกเราไม่สามารถควบคุมได้พวกเราก็แค่ทำลายมันทิ้งเสีย เผามันให้ราบเป็นหน้ากลอง พวกเราไม่ได้แค่สู้รบแต่กับข้าศึกที่ติดอาวุธเท่านั้น พวกเรายังจงใจโจมตีเป้าหมายพลเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ถูกตัดขาดจากอาหาร, ที่อยู่อาศัย, สุขาภิบาล, ยา และเชื้อเพลิง ให้กลายเป็นภาระต่อฝ่ายต่อต้าน"

นอกจากนี้แล้ว กองทัพพม่ายังไม่เหมือนกับกองกำลังป้องกันดินแดนในประเทศอื่นๆ กองทัพพม่ามองตัวเองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นปกครองที่คอยใช้อำนาจควบคุมโดยมีประชาชนพลเรือนเป็นเหยื่อของพวกเขา

เนื่องจากพม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากและเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงภูมิยุทธศาสตร์สำหรับทั้งจีนและอินเดีย ทำให้กองทัพพม่าไม่เห็นความจำเป็นของประชาชนตัวเอง พวกเขาแค่ต้องการยึดครองและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติแล้วใช้งบประมาณจากสิ่งเหล่านี้ไปเพื่อเป็นทุนในการปกป้องตัวเองจากกลุ่มประชาชนที่พวกเขาปราบปรามให้อยู่ใต้อำนาจ

สิ่งเหล่านี้คือกรอบความคิดฝังรากในแบบที่ไม่ได้ทำให้กองทัพพม่าพร้อมจะประนีประนอมบนโต๊ะเจรจา สำหรับมินอ่องหล่ายและกองทัพของเขาแล้ว การเจรจาต่อรองและการหยุดยิงนั้นเป็นแค่วิธีหนึ่งในการดำเนินยุทธการทางสงครามเท่านั้นเอง

 

เรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net