Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านการผลิต ปฎิเสธไม่ได้ว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย จากสถิติของกรมการจัดหางาน ปัจจุบันเรามีแรงงานข้ามชาติที่ยื่นขออนุญาตทำงานในประเทศไทยมากถึง 3,023,281 คน และ เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 4 สัญชาติ

แรงงานข้ามชาติ คือใคร สำคัญอย่างไร นิยาม แรงงานข้ามชาติ ในบทความนี้ คือ แรงงานจากประเทศบ้าน 4 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยการบริหารจัดการ ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไข 2561 

นายจ้างสามารถจ้างแรงงานข้ามชาติได้ 3 ช่องทาง คือ

  1. MOU หรือ ระบบ G to G ที่มีการนำเข้าแรงงานจากการสรรหาจากประเทศต้นทางเพื่อเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ปัจจุบันมี 611,705 คน เป็นแรงงานจากกัมพูชา 162,665 คน แรงงานจากเมียนมา 271,449 คน และแรงงานจากลาว 177,591 คน
     
  2. มติคณะรัฐมนตรี หรือกลุ่มนิรโทษทางสถานะทางกฎหมายคนเข้าเมืองที่ไม่ถูกกฎหมายให้ถูกกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจของมติคณะรัฐมนตรีในการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน แก้ไขปัญหาด้านเอกสารในสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้มีแรงงานทำงานกับนายจ้าง เป็นการบริหารจัดการฝ่ายรัฐบาลไทยฝั่งเดียวก่อนที่ให้ประเทศต้นทางเข้ามาดำเนินการรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ซึ่งแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ไขปัญหาความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติในช่วงฟื้นฟูจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นระยะ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 2,411,576 คน โดยเป็นกัมพูชา 290,678 คน เมียนมา 2,022,273 คน ลาว 94,950 คน และเวียดนาม 3,675 คน
     
  3. การจ้างงานชายแดน เป็นการจ้างงานในพื้นที่ชายแดนที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย สามารถจ้างได้ 2 สัญชาติ ตามบันทึกข้อตกลงการข้ามแดน คือ สัญชาติเมียนมา และ กัมพูชา ถือเป็นการจ้างงานระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานการขาดแคลนในพื้นที่ชายแดนและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชายแดน ในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ อนุญาตให้ใช้หนังสือผ่านแดนถาวรในการอนุญาตให้มีการจ้างงานในพื้นที่ชายแดนตามบันทึกข้อตกลงการข้ามแดน มีจำนวน 35,027 คน กัมพูชา 29,416 คน เมียนมา 5,611 คน

ทำไมแรงงานต้องออกมาเรียกร้อง เอกสารบัตรสีชมพู 

บัตรสีชมพู หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ออกโดยรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว เพื่อบันทึกและจัดทำทะเบียนประวัติของแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของไทย อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ ดูแลแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยประเทศไทยเริ่มทำบัตรชมพูมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อใช้เป็นเอกสารประจำตัวและใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และจัดทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ในประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็เปิดให้มีการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง โดยการให้มาออกเอกสารแทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองตัวบุคคลหรือ CI เพื่อใช้ในการปรับสถานะแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันไปเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ใน พ.ศ. 2558 มีการออกบัตรสีชมพูให้กับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และมีสถานะไม่ถูกกฎหมาย รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำแรงงานที่ไม่มีเอกสารผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อจัดทำใบอนุญาตทำงาน และ ทะเบียนประวัติ โดยจะได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) ก่อนประสานประเทศต้นทางให้เข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางในปี 2561

นับแต่ปี 2564 สถานการณ์ต่อเนื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลให้เกิดการปิดด่านชายแดนไทย-พม่า และสถานการณ์การรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การสู้รบที่จังหวัดเมียวดีเดือนเมษายน 2567 และพื้นที่ชั้นในประเทศเมียนมา รวมถึง ปัจจัยการออกกฎหมายการเกณฑ์ทหาร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศบังคับเกณฑ์ทหารจะบังคับใช้กับพลเมืองเมียนมาทั้งหญิงชาย สําหรับผู้ชาย ระบุช่วงอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ส่วนผู้หญิงกําหนดไว้ที่ 18-27 ปี โดยจะต้องเข้ารับใช้กองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่อัตรากำลังที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน รวมถึงมีมาตรการอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น การเรียกเก็บภาษี 2% จากค่าจ้าง หรือการบังคับให้มีการส่งเงินกลับบ้านผ่านบัญชีธนาคารที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดไว้ในอัตรา 25% ของค่าจ้าง โดยกำหนดเงื่อนไขหากไม่ปฏิบัติตามคือการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ออกเอกสารหนังสือเดินทางให้ และอาจจะมีบทลงโทษอื่น ๆ ตามมา

กลุ่มแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องทำเอกสาร เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI)  จากศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ที่ทางรัฐบาลไทยได้ตกลงดำเนินการกับรัฐบาลประเทศต้นทางเพื่อให้ดำเนินการเป็นศูนย์พิสูจน์สัญชาติ (National Verification) ต่อมาต้องดำเนินการให้มีเอกสารรับรองบุคคล (CI)ที่มีลักษณะเป็นเล่มสีเขียว จากประเทศต้นทาง ซึ่งจำนวนแรงงานเมียนมาที่จะต้องจัดทำ CI กับศูนย์ CI มีจำนวน 676,515 คน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายใน 31 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่พบในการจัดทำ CI ของแรงงานเมียนมาที่มีผลกระทบต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติก็คือ ปัญหาการจองคิวผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งมีทั้งปัญหาการจองไม่ได้เนื่องจากคิวเต็มและเปิดเป็นรอบ ๆ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติได้จ่ายค่าทำ CI เมื่อไปจองคิวแล้ว แต่เมื่อไปถึงศูนย์ CI ก็จะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจองคิว ค่าเขียนเอกสาร ที่ไม่มีการออกหลักฐานการรับเงิน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำสูงขึ้น  ภาษี 2%  รวมทั้งมีการตรวจเช็คเอกสารเข้มงวดขึ้นกว่าก่อนรัฐประหารในเมียนมา  เช่น จะต้องมีบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนมาแสดง ซึ่งก่อนหน้านั้นใช้เพียงรูปถ่าย หรือเอกสารรับรองจากชุมชน หรือผ่านการสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลเมียนมามีการปฎิเสธการดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองตัวบุคคล และมีการขอปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จทั้ง 7 แห่ง ก่อนล่วงหน้า 4 เดือน โดยให้เหลือเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดสมุทรสาคร ในการให้บริการแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 3 แสนคน ในระยะเวลา 4 เดือน โดยจะต้องดำเนินการให้แก่แรงงานเมียนมาทั่วประเทศไทย ซึ่งหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แรงงานและนายจ้างจะมีความเสี่ยงที่แรงงานจะหลุดออกจากระบบ  ซึ่งเป็นที่น่ากังวลใจว่าจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งในเรื่องการจะมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานไม่ถูกต้องมากขึ้น ผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาคการผลิตของไทย รวมทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกที่เป็นรายได้ของประเทศไทย

จากที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนถึง ความล้มเหลว ความล่าช้า การทำเอกสารรับรองตัวบุคคลที่จะให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาที่ทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย กว่า 3 ล้านคน เป็นอุปสรรคในการทำเอกสารรับรองจากประเทศต้นทาง ความขาดเสถียรภาพของรัฐบาลเมียนมาส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการจัดการด้านสถานะแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา ความมั่นคงของ  ประเทศไทย และเศรษฐกิจประเทศไทย ทางออกในวิกฤติครั้งนี้ รวมถึงระบบเวลาลูกใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อแรงงานเมียนมามากกว่า 2 ล้านคนที่ใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 การเลือกใช้วิธีการจัดการโดยกฎหมายไทยฝ่ายเดียว คือ การจัดทำบัตรชมพูซึ่งเป็นฐานข้อมูลแรงานข้ามชาติของไทย จะช่วยให้ประเทศไทยยังรักษากำลังแรงงานข้ามชาติให้ยังอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ลดปัญหาความมั่นคง และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจจะต้องถึงเวลาที่พิจารณา สถานการณ์พิเศษ เพื่อแก้ไขและพยุง จำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบ กว่า 3 ล้านคน ในการหมุนเวียนแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

0000

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net