Skip to main content
sharethis

คุยเรื่องปัญหาเด็กเกิดในไทยแต่ไม่ได้สัญชาติ สู่ข้อเสนอให้สัญชาติเพื่อสร้างประชากรคุณภาพ แก้ปัญหาสังคมสูงวัย-ขาดแคลนแรงงาน กับ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group)

เด็กเกิดในไทยแต่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แบ่งได้กี่กลุ่ม

เด็กเกิดในไทยแต่ไม่ได้สัญชาติ ส่วนตัวคิดว่าแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ

  1. กลุ่มที่พ่อแม่มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มที่ได้รับการสำรวจตามนโยบายของประเทศไทยไปแล้ว

ในเชิงกฎหมายจะได้สัญชาติง่ายหน่อย เพราะสามารถใช้หลักการที่พ่อแม่อยู่ประเทศไทยมาขอสัญชาติได้เลย แต่เข้าใจว่าปัญหาที่ติดขัดกันอยู่คือเรื่องขั้นตอนและกระบวนการในการตรวจสอบของรัฐที่มีความล่าช้าค่อนข้างมาก

2. ลูกของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกฎหมาย 

โดยหลักกฎหมายจะขอสัญชาติค่อนข้างยากกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย เพราะมีเกณฑ์ว่าจะต้องจบปริญญาตรีก่อนจึงจะสามารถยื่นขอสัญชาติได้ แต่จะได้สัญชาติหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

3. ลูกของแรงงานข้ามชาติ

กลุ่มนี้มีเงื่อนไขคล้ายกับกลุ่มที่ 2 คือต้องจบปริญญาตรีก่อนจึงจะมีสิทธิยื่นขอสัญชาติได้ 

4. กลุ่มที่พ่อแม่ไม่มีเอกสาร หรือเป็นกลุ่มที่รัฐมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น ผู้ลี้ภัย

กลุ่มนี้มีเงื่อนไขคล้ายกับกลุ่มที่ 2 และ 3 คือต้องจบปริญญาตรีก่อนจึงจะมีสิทธิยื่นขอสัญชาติได้ แต่ข้อจำกัดของกลุ่มนี้คือรัฐพร้อมจะให้สัญชาติแก่พวกเขาหรือไม่ 

ทำไมการให้สัญชาติจึงดีกว่าไม่ให้

เนื่องจากสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้วัยไปแล้ว มีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขของคนไทย-กำลังแรงงานไทย จะหายไปประมาณ 6 ล้านกว่าคนในปี 2583 แต่ต่อมามีการคาดการณ์ว่า อีกสัก 10-15 ปีสถานการณ์นี้ก็น่าจะเกิดขึ้นแล้ว ประกอบกับประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าอัตราการตายมาตั้งแต่ปี 2564 หรือ 3 มาปีแล้ว ฉะนั้น การที่จะมีกำลังแรงงานเพื่อมาดูแลคนสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นประเด็นใหญ่  

เราจึงมองไปที่กลุ่มคนที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย มีชีวิตที่ผูกพันกับประเทศไทยไปแล้ว เวลาไปถามเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยส่วนใหญ่ว่าตอนนี้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนอะไร เด็กจะบอกว่าตัวเองเป็นคนไทยหมด นี่จึงเป็นการลงทุนที่ง่ายและเร็วกว่ารูปแบบอื่น

ทางเลือกมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. นำแรงงานข้ามชาติเข้ามา ให้สัญชาติไทย ให้สิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทย
  2. กระตุ้นการเกิด
  3. ให้สัญชาติคนที่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้วแต่ไม่มีสัญชาติไทย 

อุปสรรคที่เด็กไม่มีสัญชาติแต่ละกลุ่มต้องเจอมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

4 กลุ่มจะมีอุปสรรคที่ต่างกันพอสมควร

เอากลุ่มแรกก่อน กลุ่มที่เราคิดว่าน่าจะง่ายกว่ากลุ่มอื่น คือกลุ่มที่พ่อแม่มีหลักฐานว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ผ่านการสำรวจจากประเทศไทยแล้ว ประเด็นที่เป็นอุปสรรคหลักของคนกลุ่มนี้คือเรื่องระเบียบและขั้นตอนของรัฐ เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการขาดความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางการยื่นขอสัญชาติ เราเจอเคยเคสที่ยื่นขอสัญชาติเป็นปีแล้ว แต่พบว่าตัวพื้นที่ไม่ได้ส่งเรื่องเข้าไปที่ส่วนกลาง 

ข้อเสนอจากหลายส่วนก็คือ การทำให้ขั้นตอนการขอสัญชาติจบที่จังหวัดนั้นๆ ได้หรือไม่ และการให้มีระบบติดตามเรื่อง ก็จะมีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามได้ว่ายื่นเรื่องถึงขั้นไหนแล้ว ซึ่งมันก็ยังไม่ได้แก้ปัญหามากนักในทางปฏิบัติในพื้นที่ เพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน งานจึงไปกองอยู่ที่งานทะเบียนราษฎร ประกอบกับพอต้องมีเรื่องการให้สัญชาติก็กลายเป็นมีประเด็นเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้กระบวนการล่าช้า หรือถ้าเป็นในเคสผู้ใหญ่ที่ยื่นขอสัญชาติก็จะมีกระบวนการตรวจประวัติอาชญากรรมเพิ่มเข้ามาอีก

จากช่องโหว่เหล่านี้ เราจึงเสนอให้มีการทำ One Stop Service สำหรับการยื่นขอสัญชาติโดยเฉพาะ หากว่ามีหลักฐานที่ต้องขอในด้านงานทะเบียนก็สามารถดึงหลักฐานจากระบบทะเบียนออนไลน์มาได้เลย

สำหรับลูกของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทยโดยตรง หรือกลุ่มผู้ลี้ภัย จะมีความยากตรงที่เงื่อนไขที่ว่าต้องจบปริญญาตรีก่อนจึงจะยื่นขอสัญชาติได้

ในบางกรณี พบปัญหาทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลไร้สัญชาติ หรือ การใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตของเงื่อนไขทางกฎหมาย ทำให้ ณ ปัจจุบันแม้จะมีนโยบายตามกฎหมายออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ในระดับพื้นที่ก็ยังปรากฏเด็กไร้สัญชาติที่ยังเข้าไม่ถึง หรือหากเข้าถึงก็เป็นไปอย่างล่าช้า

ที่ผ่านมาเคสที่เราพบบ่อยคือเรื่อง “การออกหลักฐานการเกิด” กฎหมายระบุว่าถ้าเด็กเกิดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะต้องออกหนังสือรับรองการเกิดเพื่อยืนยันว่าเกิดที่ดังกล่าวจริง ที่เราเจอคือพ่อแม่ไม่มีเอกสาร โรงพยาบาลก็ไม่ออกใบรับรองการเกิดให้ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ที่โรงพยาบาลต้องทำ ไม่ว่าพ่อแม่จะมีเอกสารหรือไม่ก็ตาม 

พอไปถึงอำเภอก็เจอปัญหาใหม่ บางอำเภอก็บอกว่าให้ไปหาทะเบียนบ้านของคนไทย หรือทะเบียนบ้านนายจ้างมาแสดงเพื่อจะยืนยันว่าคนไทยจะรับเด็กคนนี้เข้าในระบบทะเบียนบ้าน แม้ว่าตัวกฎหมายจะมีช่องทางให้ขึ้นทะเบียนประวัติในระบบทะเบียนบ้านกลางก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ก็ยังยืนยันว่าต้องมีทะเบียนบ้านคนไทยอยู่ เรื่องหลักฐานการอยู่ในไทยจึงเป็นอุปสรรคแรก

ต่อมาคือเรื่องการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเอกสารและไม่มีสัญชาติไทย แม้ว่ากฎหมายไทยจะระบุให้รับเด็กทุกคนเข้าเรียนไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ แต่กระบวนการรับเด็กเข้าเรียนก็มีความยากพอสมควร  เราพบว่าเด็กที่เรียนจบในระดับประถมหรือมัธยมต้นไปแล้ว โอกาสที่พวกเขาจะเรียนต่อจนจบปริญญาตรีเริ่มมีน้อยลง เห็นสัดส่วนการออกนอกระบบการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งเราเข้าใจว่ามันเกิดจาก 2 ส่วน

หนึ่ง: ฐานะทางเศรษฐกิจ ที่เมื่อพ้นการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้วเขาก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด

สอง: ความเข้าใจผิดของสถานศึกษาที่มองว่าเด็กไม่มีสัญชาติไทยจะเรียนต่อไม่ได้ หรือเรียนต่อก็ทำงานไม่ได้ ถูกกีดกันออกจากระบบ

สาม: ความยากลำบากของเด็กในเรื่องการเดินทาง ไปสอบ หรือสมัครเรียน

ถ้าไม่มีหลักฐานการเกิดตั้งแต่แรกก็จะไม่สามารถนำมาแสดงตัวว่าตัวเองเกิดที่ไทยได้ หรือว่าถ้าไม่สามารถเรียนจนจบปริญญาตรีได้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญในแง่ของการยื่นขอสัญชาติ

ประเด็นสุดท้ายคือความเข้าใจและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ไทยแต่แรก ดังนั้นถ้าจะเป็นไทยก็ต้องพิสูจน์กันมากหน่อย หรือความคิดที่ว่าถ้าพ่อแม่เป็นคนต่างชาติ ลูกต้องมีสัญชาติตามพ่อแม่ ซึ่งจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป ทำให้มีปัญหาพอสมควรในเรื่องการให้สัญชาติเด็กกลุ่มนี้

เกณฑ์จบปริญญาตรี ปรับให้ยืดหยุ่นกว่านี้ได้ไหม   

ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ตนมองว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติได้ต้องอาศัยเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจน เช่น ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่จะยกเว้นหรือใช้บางมาตราของกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งหลังจากที่ออกมาตรการมาแล้ว ในระดับการปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การให้สัญชาติไทยมี 2 แบบ 

1. ยื่นขอสัญชาติตามปกติ ซึ่งกระบวนการยุ่งยากและใช้เวลานาน

2. ให้สัญชาติตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ชนกลุ่มน้อย ที่จะง่ายกว่าข้อแรก

ถามว่าในทางกฎหมายมันให้สัญชาติได้เลยไหม ถือว่าให้ได้ค่อนข้างง่าย แต่ปัญหาหลักคือทัศนคติที่เรายังไปไม่พ้นเรื่องความมั่นคงแบบเดิมที่ยังมองว่าประเทศไทยไม่ควรให้สัญชาติไทยง่าย

ถ้าลูกแรงงานข้ามชาติเรียน กศน. จะยื่นขอสัญชาติได้ไหม

ได้แต่ต้องจบปริญญาตรี ต้องเรียน กศน.ให้จบปริญญาตรี

จริงๆ การเรียน กศน. สามารถไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิดได้ เช่น ม.รามคำแหง, ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ได้ ในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่าจบ ม.รามคำแหงแล้วะขอสัญชาติไทยไม่ได้ ยังได้อยู่ เพียงแต่ว่าปัญหาจริงๆ มันคือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับอุดมศึกษาขึ้นไปมากกว่า เวลาเจอเคสอย่างนี้เขาไม่ค่อยอยากจะรับเด็กเข้าเรียน หรือว่ารับก็จะตีความเป็น “นักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียนสูงกว่าปกติเป็นเท่าตัว

มีตัวอย่างต่างประเทศที่น่าสนใจไหม

ภาวะการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นตัวเร่งให้หลายประเทศเริ่มปรับตัว นานแล้วที่หลายประเทศมีการให้สัญชาติโดยการเกิด ส่วนไทยตัดเรื่องนี้ออกจากกฎหมายไปและเพิ่งจะกลับมาตอนแก้ไข พ.ร.บ. สัญชาติรอบล่าสุด หลายประเทศแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการทำให้กฎหมายมีความชัดเจนตั้งแต่แรก เข้าใจว่าเขามองในแง่การลงทุน เด็กคนหนึ่งเกิดในประเทศหนึ่ง ได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพ การศึกษา แล้วอยู่ๆ จะปล่อยให้เขาหลุดมือไปก็เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าเท่าไร    

เท่าที่เราดูเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงวัย พบว่าประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องการให้สัญชาติอย่างญี่ปุ่นก็เริ่มปรับท่าทีมากขึ้น ญี่ปุ่นมีอัตราประชากรลดลงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือไทย และสเปน แต่ว่าเหลือแค่ไทยที่ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์เรื่องนี้

เราพยายามเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญในรัฐสภาเพื่อทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย แต่ว่าในทางการเมืองก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ส่วนมาตรการกระตุ้นการเกิดก็ทำได้ไม่ไว ต้องแก้ไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถ้าเราไปดูแผนของกระทรวงสาธารณสุขหรือของสภาพัฒน์ จะไปเน้นที่การคลอดปลอดภัยซึ่งยังไม่พอ เราจึงมองไปที่กลุ่มคนที่อยู่ในไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีประมาณ 5-6 แสนคน และเด็กที่เกิดในไทยเป็นระยะๆ ถ้าเกิดกลุ่มนี้ได้สัญชาติไทย เราก็จะมีประชากรเพิ่มขึ้นได้รวดเร็ว อีกทางเลือกก็คือไปดึงดูดประชากรที่มีศักยภาพมาเป็นคนของประเทศตัวเองคล้ายการให้สัญชาตินักกีฬา ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการแก้กฎหมายและเป้าหมายทางการเมืองมากพอสมควร

 

หมายเหตุ: ตามข้อมูลจากรายงานของ UNHCR พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 (ข้อมูลจนถึงปลายเดือนมิถุนายน) มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 553,969 คน และข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยในปี 2563 ระบุว่า มีบุคคลไร้สัญชาติมากกว่า 539,000 โดยเป็นเด็กราว 297,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งจำนวนที่สรุปมานี้คือจำนวนผู้ที่ได้มาลงทะเบียนกับทางการเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net